ชีวิตการทำงาน


ห่างหายจากการทำบล๊อกไปนาน อันที่จริงก็คือนานมาก ทำครั้งแรกเมื่อ 10 ปีที่แล้วตอนกำลังเรียนวิชาสารสนเทศตอนปี 2 ตอนนั้นก็เขียนเล่าเรื่องสนุกๆไว้แบ่งน้องๆอ่าน รวมทั้งเก็บไว้อ่านเองเป็นความทรงจำที่ดี เวลาผ่านไปทุกๆปี จะมีอีเมลล์มาเตือนว่ามีคนมาอ่านบล๊อก มีคนมาคอมเมนต์ก็ยังคงรู้สึกประหลาดใจว่า เอ๊ะ มันคนมาอ่านอีกด้วยหรอ ก็รู้สึกดีใจที่ประสบการณ์ของเราเป็นที่น่าสนใจ วันนี้เลยคิดว่าคงต้องกลับมาเล่าเรื่องอีกแล้วหล่ะ

เดี๋ยวจะค่อยๆย้อนกลับไปเล่าอดีตตอนเรียนเรื่อยๆนะคะ แต่ตอนนี้เล่าเรื่องปัจจุบันก่อน

หลังจากเรียนจบก็เริ่มเข้าทำงานในโรงพยาบาลรัฐบาลของมหาวิทยาลัย ก็ที่คณะที่เรียนจบมานี่แหล่ะ ตอนจบใหม่ๆก็จะมีการให้เราเลือกว่าอยากจะทำงานที่แผนกไหน ส่วนตัวเป็นคนชอบเด็ก รู้สึกว่าเด็กๆ ถึงแม้จะเจ็บป่วย แต่เค้าก็ยังคงมีความน่ารักสดใสในวัยเด็กอยู่ดี ก็เลยเลือกที่จะอยู่แผนกเด็ก ตอนแรกเลือกเด็กเล็ก แต่พอตอนสัมภาษณ์อาจารย์เสนอให้อยู่ที่หอผู้ป่วยเคมีบำบัดและปลูกถ่ายไขกระดูกเด็ก ก็ค่อนข้างตัดสินใจยาก เพราะเป็นแผนกที่เพิ่งเปิดในปีนั้น ตัวเราไม่มีประสบการณ์เรื่องโรคมะเร็งเลย แต่ชอบความแปลกใหม่ ก็เลยตัดสินใจอยู่ที่แผนกนี้ อย่างน้อยๆ เราก็ได้อยู่กับเด็กที่เราชอบ

ชีวิตในการทำงานแตกต่างกับการเรียนอย่างสิ้นเชิง ตอนเรียนจะมีอาจารย์คอยดูแลให้กำลังใจ คอยสอน คอยบอก คอยเตือนเราว่าควรทำอะไร ไม่ควรทำอะไร แต่พอมาทำงานเข้าจริงๆ ก็ต้องอยู่กับพยาบาลรุ่นพี่ มันเป็นความโชคดีที่ได้เจอกับพี่ๆที่ใจดี คอยสอน และฝึกให้เราคิดเองได้ ทำเองได้ โดยไม่ต้องมีใครมาบอกว่าต้องทำอย่างนู้นอย่างนี้ อาจมีบางครั้งที่พี่ดุบ้าง ก็เข้าใจดี เพราะการทำงานคือการที่เราต้องรับผิดชอบชีวิตผู้อื่น ถ้าเราพลาดคือการผิดพลาดกับชีวิตคน ซึ่งคนทุกคนมีครอบครัว มีคนรัก ไม่ดีแน่ถ้าเราจะพลาด มันจะทำให้ตัวเราเสียใจเอง และคนอื่นก็เสียใจด้วย

ก่อนที่จะรับเวรเพื่อดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ก็จะมีการราวน์ผู้ป่วยที่เตียง คือการเดินไปดูผู้ป่วยว่าวันนี้เป็นอย่างไร สัญญาณชีพดีหรือไม่ มีไข้หรือเปล่า ถ้ามีไข้ได้ให้ยา เช็ดตัว แล้ววัดซ้ำหรือไม่ มีน้ำเกลือกี่สาย ตอนนี้ให้เป็นชนิดไหน อัตราการหยดเท่าไหร่ เส้นเลือดที่ให้น้ำเกลือยังดีอยู่หรือไม่ เวรก่อนหน้ารวมปริมาณสารน้ำถูกต้องหรือไม่ ผู้ป่วยปัสสาวะเท่าไหร่ ปริมาณน้ำเข้า-น้ำออก สมดุลหรือไม่ กินข้าวได้หรือเปล่า นอนหลับดีมั้ย ก็ควรใช้เวลาต่อเตียงไม่นานจนเกินไป เดี๋ยวจะไปราวน์ชาร์ทไม่ทัน ดังนั้นโดยส่วนตัวก็จะไปถึงที่ทำงานก่อนเวลาซักครึั่งชั่วโมงกำลังดี จะได้ดูผู้ป่วยได้ละเอียด

ราวน์ผู้ป่วยที่เตียงเสร็จก็มาราวน์ชาร์ท ดูว่าผู้ป่วยได้ยาเป็นอะไร มีคำสั่งแพทย์อะไรบ้างของเวรก่อนๆ และเวรก่อนหน้าได้ทำครบแล้วหรือไม่ หรือมีบางอย่างที่เราจำเป็นต้องทำต่อจนครบจะได้เข้าใจอย่างคร่าวๆก่อนที่จะรับเวร ตรวจสอบเอกสารของเวรก่อนว่าทำเสร็จเรียบร้อยหรือไม่

จากนั้นก็รับเวร การรับ-ส่งเวรของพยาบาลเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเราต้องดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง มีเหตุการณ์สำคัญอะไรในเวรของเรา ก็ต้องบอกให้เวรต่อไปรับรู้ สิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เช่น ผู้ป่วยต้องได้ยานี้ทุก 6 ชม. วันนึ่งก็ต้องได้ 4 ครั้ง นั่นหมายความว่า ในเวรเราแค่ 8 ชั่วโมง ไม่สามารถให้ยาผู้ป่วยจนครบได้ เราจึงต้องส่งต่อให้เวรต่อไปมาให้ยาต่อ เป็นต้น นอกจากเรื่องการรักษาพยาบาลที่ต้องต่อเนื่องแล้ว ปัญหาผู้ป่วยบางอย่าง เช่น เรื่องความวิตกกังวล ก็ต้องมีการส่งต่อและดูแลกันต่อ หรือผู้ป่วยมีปัญหาการเงิน ทางพยาบาลก็จะมีการส่งสังคมสงเคราะห์เพื่อให้การช่วยเหลือ เป็นต้น นอกจากนี้การดูแลผู้ป่วยต้องเป็นทีมสหวิชาชีพ อาจมีการติดต่อ หมอรังสี ผ่าตัด กายภาพ จิตเวช เภสัช ฯลฯ ก็เป็นพยาบาลที่จะคอยเป็นผู้ประสานงาน เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ดีที่สุด

รับเวรมาแล้วก็ต้องทำหน้าที่ในเวรเราให้สมบูรณ์ ไม่หลงลืมหรือทิ้งงานไว้ให้เวรถัดไปมารับผิดชอบ ทำอะไรเสร็จได้ในเวรก็ทำไปเลย ยิ่งเป็นน้องใหม่ยิ่งต้องขยัน จะได้ทำให้เราเก่งได้เร็วขึ้น มีหัตถการอะไรเราก็เสนอตัวขอทำ การฝึกฝน ทำบ่อยๆ ทำจนชิน จะช่วยเพิ่มทักษะได้ดีมากๆเลยค่ะ

วันนี้คงต้องจบไว้แค่นี้ก่อน เมื่อมีเวลาจะมาอัพเดทอีกหลายเรื่องราวเกี่ยวกับพยาบาล ทั้งความก้าวหน้าในการทำงาน โอกาสในการศึกษาต่อเนื่องนะคะ

คำสำคัญ (Tags): #การทำงาน, พยาบาล
หมายเลขบันทึก: 610812เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2016 13:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กรกฎาคม 2016 13:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท