เลี้ยงลูกยิ่งใหญ่ ๔. เลี้ยงให้ประสบความสำเร็จในการเรียนรู้



บันทึกชุดเลี้ยงลูกยิ่งใหญ่นี้ ตีความมาจากหนังสือ Raise Great Kids : How to Help Them Thrive in School and Life ซึ่งเป็นหนังสือชุดรวบรวมบทความเด่นจากนิตยสาร Scientific American Mind หนังสือเล่มนี้เพิ่งออกจำหน่ายในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๙

บันทึกที่ ๔ เลี้ยงให้ประสบความสำเร็จในการเรียนรู้ ตีความจากบทความชื่อ How to Build a Better Learner (http://www.scientificamerican.com/article/how-to-build-a-better-learner1/) โดย Gary Stix บอกว่า มีความก้าวหน้าในการวิจัยวิทยาศาสตร์ทางสมอง ช่วยให้เข้าใจความบกพร่อง ทางสมองที่ซ่อนอยู่ในเด็กบางคน และมีการพัฒนาเครื่องมือฝึกสมอง สำหรับแก้ปัญหาให้แก่เด็กเหล่านั้น มีหลักฐานว่าได้ผลดี และมีคนพยายาม สร้างเครื่องมือฝึกสมองเด็กทั่วไปออกสู่ตลาด เกิดข้อขัดแย้งว่า เป็นเครื่องมือที่ได้ผลดีจริงหรือไม่ สำหรับเด็กปกติ

ผู้เขียนให้ข้อสรุปที่เข้าใจง่ายๆ ๓ ข้อ แก่ผู้อ่าน

  • ผลงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ทางสมอง (neuroscientist) เริ่มไขความกระจ่าง ว่าสมองเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เมื่อมนุษย์เรียนรู้สิ่งใหม่
  • เมื่อความรู้ด้านนี้ก้าวหน้าต่อไป อาจมีการพัฒนาชุดฝึกสมองแก่เด็กก่อนวัยเรียน หรือแม้กระทั่งแก่ทารก เพื่อเตรียมความพร้อมทางสมอง ต่อการเรียน ให้เด็กพร้อมจริงๆ
  • หากก้าวหน้าไปในทางที่กล่าว จะมีผลต่อระบบการศึกษาหรือการเรียนรู้ของมนุษย์ อย่างมากมาย แต่นักวิทยาศาสตร์ นักการศึกษา และพ่อแม่ พึงระวังอย่าให้ถูกหลอก โดยธุรกิจขายบริการฝึกสมอง หรือขายชุดฝึกสมองเพิ่มความฉลาด ที่ยังไม่มีหลักฐาน ชัดเจนว่าใช้ได้ผล

ปัญหาในการเรียนรู้ที่รู้จักกันแพร่หลายมี ๓ อย่าง

  • โรคสมาธิสั้น (ADHD – Attention Deficit Hyperactivity Disorder)
  • มีปัญหาในการอ่าน (dyslexia)
  • มีปัญหาในการคิดเลข หรือคำนวณ (dyscalculia)

สมองมนุษย์ที่เกิดมาไม่ได้สมบูรณ์ไปทุกคน บางคนมีความบกพร่องที่สมองบางจุด (หรือบางพื้นที่) ซ่อนอยู่ ทำให้เกิดปัญหาในการเรียนรู้บางด้าน ในสมัยก่อนเราก็สรุปว่าเด็กคนนั้นเกิดมาโง่ และจะโง่ไปตลอดชีวิต แต่ในสมัยนี้เราเริ่มมีวิธีตรวจหาความบกพร่องนั้นตั้งแต่อายุน้อยๆ (เช่น ๖ เดือน - ๑ ปี) แล้วใช้เครืองมือฝึกสมอง ดำเนินการแก้ไขเสีย เด็กคนนั้นก็จะเรียนรู้ได้เหมือนเด็กปกติ


ความก้าวหน้า ๒ ด้าน

  • มีวิธีตรวจพบเด็กที่มีความผิดปกติของสมอง ที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้
  • มีวิธีฝึกสมองที่บกพร่อง ให้กลับมาปกติ โดยอาศัยธรรมชาติความยืดหยุ่นของสมอง (brain plasticity)


ความก้าวหน้าในระดับเปลี่ยนกระบวนทัศน์

มีหลักฐานชัดเจนว่า ข้อเสนอของปรมาจารย์ทางจิตวิทยา ฌอง เปียเจ (Jean Piaget) ที่เชื่อถือ กันมานานมาก ว่าสมองทารกเปรียบเสมือนผ้าขาว หรือกระดาษขาว จะเป็นอย่างไร ขึ้นกับประสบการณ์ การเรียนรู้ในภายหลัง ไม่เป็นความจริง ทารกเกิดมาพร้อมกับความสามารถ ในการรับรู้จำนวน แต่เป็นความสามารถในระดับง่ายๆ (จำนวน ๓ - ๔) รวมทั้งสามารถประเมินกลุ่มสิ่งของจำนวนมาก ว่ากลุ่มไหนจำนวนมากกว่า

เขามีหลักฐานจากผลงานวิจัยหลายชิ้น สนับสนุนข้อสรุปนี้ รวมทั้งมีข้อมูลว่าสัตว์อื่นอีกหลายชนิด ได้แก่โลมา หนู นกพิราบ สิงโต ลิง มีความสามารถนี้ รวมทั้งมีคำอธิบายว่าเป็นความสามารถที่มาจาก การส่งต่อทางวิวัฒนาการ เพื่อให้สามารถตัดสินใจได้ว่าพบศัตรู จะสู้หรือหนี โดยอาศัยความสามารถในการ ประเมินกำลังของศัตรู รวมทั้งใช้ประเมินว่าต้นไม้ต้นไหนมีลูกดกกว่า คู่ควรกับการปีน หรือบินไปหา

เขามีวิธีตรวจพบทารกที่สมองขาดความสามารถในการรับรู้จำนวนในระดับง่ายๆ และพัฒนาวิธี ฝึกสมองให้งอกงามทักษะนั้นได้ ทำให้เกิดความหวังว่า ต่อไปเราจะสามารถแก้ปัญหาเด็กที่เป็น dyscalculia ได้ เด็กกลุ่มนี้มีถึงร้อยละ ๓ - ๗ ของเด็กทั้งหมด


ความเข้าใจผิดห้าประการ เกี่ยวกับสมองกับการเรียนรู้

  • มนุษย์ใช้พลังสมองเพียงร้อยละ ๑๐
  • มนุษย์แบ่งออกเป็น left brain leraner กับ right brain learner
  • เด็กต้องเรียนภาษาแรกให้พูดคล่องก่อน แล้วจึงเรียนภาษาที่สอง
  • สมองผู้ชายกับสมองผู้หญิงแตกต่างกัน ทำให้ความสามารถในการเรียนรู้แตกต่างกัน
  • เด็กแต่ละคนมีสไตล์การเรียนรู้จำเพาะตน

ความเข้าใจผิดข้อนี้มีต้นเหตุจากภาพยนตร์เรื่อง Limitless ที่อ้างว่าสามารถ ใช้ยากระตุ้นให้มนุษย์มีพลังความคิดและความจำได้

ในความเป็นจริง ไม่มียาหรือเทคนิคพิเศษใดๆ ที่จะเข้าไปเปิดสวิตช์ของเครือข่าย ใยสมองที่ยังไม่ได้ใช้เพื่อเพิ่มพลังสมองได้

เป็นความเข้าใจผิดว่าสมองซีกซ้ายของมนุษย์ใช้คิดเชิงเหตุผล ส่วนซีกขวาใช้คิดเชิง ปัญญาญาณและศิลปะ

ความรู้จากการทดลอง brain imaging บอกว่ามนุษย์ใช้สมองทั้งสองซีก ร่วมกันในการเรียนรู้ทุกด้าน

ความเข้าใจผิดนี้ มาจากสมมติฐานว่าการเรียนสองภาษาพร้อมกัน จะแย่งสมองกัน ซึ่งผลการวิจัยพิสูจน์ว่าไม่จริง แต่พบว่ากลับมีผลตรงกันข้าม คือทำให้เข้าใจเรื่องทั่วๆ ไปได้ดีขึ้น

เป็นความจริงว่าสมองของคนเพศชาย กับสมองของคนเพศหญิงแตกต่างกัน และสรีรวิทยา (แปลว่ากลไกการทำงาน ไม่ได้แปลว่าโครงสร้างอย่างที่คนมักเข้าใจผิด) ของร่างกายที่แตกต่างกัน อาจทำให้สมองของคนต่างเพศทำงานแตกต่างกัน

แต่ไม่มีผลการวิจัยใดๆ ที่พบว่า การเชื่อมต่อเส้นใยประสาทที่เกิดขึ้นเมื่อมี การเรียนรู้ใหม่ๆ ในสมองของผู้ชาย แตกต่างจากในสมองของผู้หญิง การกล่าวอ้างว่าคนเพศหนึ่งเรียนรู้บางสิ่งได้ดีกว่าอีกเพศหนึ่งจึงไม่มีหลักฐานยืนยัน

หากในอนาคต ค้นพบความแตกต่างในการเรียนรู้ในต่างเพศ ก็จะเป็นความแตกต่าง รวมๆ ไม่สามารถเอามาใช้ในระดับปัจเจกได้

คำพูดว่าเด็กคนหนึ่งเรียนรู้ไดีกว่าโดยการฟัง เด็กอีกคนหนึ่งเรียนรู้ได้ดีกว่าโดยการใช้ตา ไม่มีหลักฐานจากการวิจัยสนับสนุน


วิธีตรวจหาความผิดปกติของสมอง

เทคนิคบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG – Electro-Encephalography) หาวินาทีสว่างวาบของสมอง ซึ่งนักวิจัยอธิบายว่าเป็นสัญญาณ บอกการเรียนรู้สิ่งใหม่ เห็นได้จากคลื่นไฟฟ้าสมองขยับเป็นคลื่นใหญ่ เมื่อทารกได้ยินเสียงที่ทดสอบ และมีเครื่องสวมศีรษะบันทึกคลื่นไฟฟ้าจากส่วนต่างๆ ของสมอง ตามรูปที่แสดงในลิ้งค์ที่ให้ไว้คู่กับชื่อบทที่ ๔ ในหนังสือ

ทารกที่ทดสอบแบบเดียวกัน แต่คลื่นไฟฟ้าสมองราบเรียบ แสดงว่ามีความผิดปกติที่จุดใดจุดหนึ่ง ของวงจรรับรู้และเรียนรู้จากเสียงกระตุ้น หากมีการติดตามทารกที่มีความผิดปกตินี้เมื่อโตขึ้น และพบว่า ความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าสมองระหว่างที่มีการกระตุ้น เป็นสัญญาณที่ถูกต้อง ว่าเด็กมีความผิดปกติใน การเรียนรู้ เราก็จะสามารถดำเนินการแก้ไขได้ตอนเด็กอายุยังน้อยมาก ในช่วงที่สมองมีความยืดหยุ่น สามารถ ปรับตัว (brain plasticity) ได้สูง


วิธีฝึกสมอง แก้ความบกพร่อง

ตัวอย่างเครื่องมือแก้ไข dyscalculia เป็นเกมคอมพิวเตอร์ ชื่อ Number Race (http://www.thenumberrace.com/nr/home.php) ที่ให้ดาวน์โหลดฟรี และมีครูนำไปใช้จำนวนมาก

เครื่องมือ Fast ForWord (http://www.scilearn.com/products/fast-forword/language-series) สำหรับแก้ปัญหา dyslexia

เครื่องมือฝึก executive function (EF) ชื่อ Tools of the Mind (http://toolsofthemind.org) ใช้ฝึกความพร้อมในการเรียน เพื่อให้มีสมาธิจดจ่อ ฝึกความจำใช้งาน และฝึกทักษะบังคับใจตนเอง เนื่องจากเป็นที่รู้กันว่าเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีเศรษฐฐานะต่ำ มักมี EF อ่อนแอ จึงมีการนำเครื่องมือ Tools of the Mind ไปทดลองในเด็กกลุ่มด้อยโอกาสและมีรายงานว่าได้ผลดี คือช่วยเพื่ม EF ได้จริง

ฝึกสมองด้วยดนตรี (Musical training) เป็นอีกแนวทางหนึ่ง ที่มีการวิจัยกันมาก ข้อเน้นคือต้องเล่นดนตรี ไม่ใช่ฟังดนตรี และเชื่อกันว่ามีผลกระตุ้น EF ช่วยเพิ่มพลังการเรียนรู้พื้นฐานทั่วไป ที่มักใช้คำว่า 3Rs (Reading, wRiting, aRithmetics) และมีผู้เพิ่มว่า EF ที่เข้มแข็งเพิ่มพลังเรียนรู้ 4Rs คือเพิ่ม R ที่ 4 Regulation ซึ่งหมายถึง Self-Regulation หรือการควบคุมตนเอง ไม่ให้ถูกชักจูงโดยความคิดแบบ หุนหันพลันแล่นตัวอย่างของการทดลองฝึกสมองด้วยดนตรีคือ Harmony Project (https://www.harmony-project.org/program/) ที่ผลการทดลองในเด็กจากครอบครัวรายได้ต่ำ ช่วยให้เด็กจำนวนมากมีผลการเรียนดี และมีแรงจูงใจ ได้เรียนต่อในมหาวิทยาลัยเป็นคนแรกในครอบครัว


ฝึกสมองให้เป็นเด็กอัจฉริยะ

ใครๆ ก็อยากให้ลูกของตนเป็นเด็กอัจฉริยะ จึงมีการโฆษณา เครื่องมือฝึกสมองสำหรับเด็กทั่วไป สำหรับให้นำไปใช้ในชั้นเรียนปกติ ดังกรณี Fast ForWord ที่ให้ลิ้งค์ไว้แล้วข้างต้น

มีประเด็นให้ระมัดระวังคือ (๑) เครื่องมือที่โฆษณา ได้ผลตามที่อ้าง จริงหรือไม่ บทความบอกว่า งานวิจัยเชิง meta-analysis รายงานผลการวิจัยผลกระทบต่อเด็กของเครื่องมือฝึกสมองต่างๆ ไม่พบผลดี ที่เชื่อถือได้ ซึ่งบริษัทหรือองค์กรที่หากินกับเครื่องมือนั้นก็ออกมาโต้แย้งความน่าเชื่อถือของ meta-analysis นั้น (๒) การโหมกระตุ้นเด็ก มีผลดีจริงหรือ เด็กต้องการการเรียนรู้และพัฒนาที่สมดุลรอบด้าน ผ่านกระบวนการ ที่หลากหลาย


ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อธุรกิจ

ปัญหาอยู่ที่การช่วงชิงโอกาสทำธุรกิจจากข้อค้นพบทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เกิดการศึกษาแบบที่เรียกว่า neuroeducation เอาผลการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สมอง ไปสร้างชุดฝึกสมอง ขายเป็นสินค้าหารายได้ โดยยังมีหลักฐานไม่ชัดเจนว่าได้ผลจริงหรือไม่ ออกสู่ตลาด ตอบสนองลูกค้า โดยใช้คำ science-based เป็นตราโฆษณาชวนเชื่อ

neuroeducation ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ต่อไปเมื่อเทคนิคการทดสอบ มีความแม่นยำเชื่อถือได้แน่นอน เราก็จะสามารถตรวจพบความบกพร่องทางสมอง ที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ได้ตั้งแต่ช่วงอายุปีแรก และหากมีวิธีการฝึกสมองแบบที่จำเพาะต่อความบกพร่องนั้นอย่างได้ผลน่าเชื่อถือ ก็จะเกิด การเรียนรู้หรือ บทเรียนแบบจำเพาะบุคคล (individualized) หรือแบบสั่งตัด (customized) ขึ้น ในทำนองเดียวกันกับ individualized medicine ที่กำลังพัฒนาขึ้นเช่นเดียวกัน

ผมขอเสนอความเป็นจริงมุมกลับ ที่เป็นจริงในสังคมไทย คือเด็กปกติ แต่ระบบการศึกษาทำให้โง่ และมีผลกว้างขวางมาก ในวงการแพทย์มีโรคหมอทำ (iatrogenic illness) ในเรื่องการเรียนรู้ ก็มีสภาพเด็กโง่ เพราะครูทำ หรือระบบการศึกษาทำ เช่นเดียวกัน กล่าวด้วยถ้อยคำที่ไพเราะได้ว่า สภาพของระบบการศึกษาไทย ในปัจจุบันสร้างพลเมืองคุณภาพต่ำให้แก่ประเทศ ก่อผลร้ายรุนแรงและกว้างขวางกว่าโรคหมอทำมากมาย

ขอย้ำว่าเรื่องราวที่เล่าในบันทึกนี้ ยังอยู่ในขั้นการวิจัย ยังไม่มาสู่การใช้งานตามปกติ ดังนั้น หากพบการอ้างชุดฝึกสมองให้บริการเก็บเงิน หรือขายชุดฝึกสมอง เพิ่มความฉลาดให้แก่เด็ก โปรดใช้วิจารณญาณให้ดี



วิจารณ์ พานิช

๘ พ.ค. ๒๕๕๙


หมายเลขบันทึก: 609683เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2016 12:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กรกฎาคม 2016 12:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท