เรื่องรักๆ หนักใจมั้ย (บทที่ 1 ความรักคืออะไร)


บทที่ ๑ ความรักคืออะไร

สวัสดีค่ะ

เมื่อคุณเรียกบันทึกนี้ขึ้นมาอ่าน ก็ขอสันนิษฐานว่า คุณอยากรู้ว่าความรักคืออะไร มีความหมายมากแค่ไหน รักในชายหญิงคืออะไร รักแล้วได้อะไร ทำไมใครๆจึงอยากมีรัก

รักแล้วหากต้องเลิกรา การมีสุขเพราะรักจะคุ้มกับความเสียใจที่อาจจะเกิดขึ้นในภายหลังหรือไม่ ถ้าคนรักแบ่งปันรักไปให้ใคร หรือแปรใจไป ชีวิตเราจะเป็นอย่างไรต่อไป

ที่คุณอยากรู้อย่างนี้ ก็เพราะความรักมีความสำคัญต่อมนุษย์มากนั่นเองค่ะ

ถ้าจะถามว่าความรักคืออะไร มีความหมายหลายแง่มุมที่เคยมีการบันทึกไว้ สามารถให้คำตอบแก่เราได้

ในความหมายที่เราคุ้นเคยกัน หรือก็คือในความหมายในทางโลก มีการเปรียบความรักอันเป็นสภาพที่มองไม่เห็นด้วยตา ว่าคือความพึงพอใจ ความผูกพัน ความเอื้ออาทร ความงดงาม สิ่งที่สร้างและทำให้โลกดำรงอยู่ได้ แสงสว่าง หรืออื่นๆ

หรือในทางวิทยาศาสตร์ มีการให้ความหมายของความรักว่าเป็นสภาพที่เกิดมาจากวิวัฒนาการของสัญชาตญาณการเอาตัวรอดและการสืบพันธุ์

เพราะมนุษย์เป็นสัตว์โลกที่อ่อนแอมาก จึงต้องมีการอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเพื่อช่วยเหลือ ป้องกันอันตรายให้กันและกัน เพิ่มกำลังในการต้านทานสิ่งคุกคามจากภายนอกกลุ่ม และสิ่งที่จะทำให้กลุ่มมีความมั่นคงอยู่ได้ ก็คือการเอื้ออาทร ความผูกพัน การสร้างสรรค์สิ่งดีๆให้แก่กันและกัน การดูแลซึ่งกันและกัน และ การเพิ่มจำนวนสมาชิก

เมื่อมีสิ่งเหล่านี้ สมาชิกก็รู้สึกถึงความปลอดภัยและมีความสุข ความรู้สึกทั้งสองนี้เอง ทำให้กลุ่มดำรงอยู่ได้ เมื่อกลุ่มอยู่ได้ สมาชิกกลุ่มก็อยู่รอด

ในทางศาสนา บางศาสนาเปรียบความรักด้วยเมตตาเพราะนำมาซึ่งประโยชน์เกื้อกูล

สำหรับศาสนาพุทธ มีการแยกความรักออกเป็นลักษณะต่างๆและมีการระบุคุณโทษของความรักแต่ละลักษณะไว้อย่างชัดเจน มีคำที่ใช้เรียกหาหลายคำ เช่น เมตตา เปมะ สิเนหะ โดยที่แต่ละคำมีความหมายยักเยื้องกันอยู่บ้าง (จะขอเล่าในภายหลังค่ะ)

ในบันทึกนี้และอีกสองบันทึกต่อจากนี้ แม้จะเล่าถึงความรักในหลายๆรูปแบบ แต่ก็จะขอเล่าเน้นความรักในแบบชายหญิง ซึ่งมักมีการแต่งงาน การใช้ชีวิตเป็นคู่ สิ่งที่คู่ชีวิตต้องประสบเมื่อมีการเดินทางบนโลกร่วมกัน ทั้งในแนวทางที่เราคุ้นเคยและแนวทางในพุทธศาสนานะคะ


มีการสันนิษฐานกันว่า ความรักมาคำว่า ราคะ ซึ่งมาจากรากศัพท์คือ รญฺช ที่แปลว่ากำหนัด ยินดี ย้อมติด (โดยท่านให้เห็นภาพว่า เหมือนสีของน้ำย้อมที่ติดกับผ้านั่นเองค่ะ) ติดใจ

ข้อที่น่าสงสัยตามมาคือ การย้อมติดนั้นคืออะไรย้อมติดกับอะไร

ที่น่าสงสัย ก็คือคำสอนในพุทธศาสนาเองนั่นแหละค่ะ

เนื่องจากคำสอนในพุทธศาสนานั้นแยกเป็นระดับๆ ในเบื้องต้น ท่านสอนให้บุคคลที่ยังเต็มไปด้วยกิเลส ยังยึดมั่นในนั่น โน่น นี่ ยังเห็นแต่ตัวของตน ให้รักตนในทางที่ถูกให้ได้ก่อน นั่นคือ เมื่อรักตน ก็อย่าทำอะไรที่ทำให้ใจตนคุ้นชินกับความไม่ดีงาม อันนำไปสู่การพูด ทำ ที่ทำให้ตนต้องเดือดร้อน เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น เมื่อตนยังเต็มไปด้วยสิ่งต่างๆทั้งดีงามและไม่ดี จึงมีการสอนให้คลายการยึดมั่นในสิ่งที่ไม่ดีเป็นอันดับแรก

ให้น้อมเข้าหาการยึดมั่นในสิ่งดี ความดี เพื่อหันเหออกจากการยึดมั่นในความไม่ดีอันทำให้เกิดความทุกข์ น้อมเข้าหาการคลายความเห็นว่าเป็นตน เป็นของตน

ต่อเมื่อบุคคลค่อยๆกลายการกระทำในสิ่งที่ไม่ดีงามแล้ว จึงสอนให้ค่อยๆคลายการยึดมั่นในความดีที่ยึดไว้เพราะแม้แต่ความดี หากยึดไว้ก็ก่อให้เกิดทุกข์ได้เช่นกัน พยายามคลายความยึดมั่นในความเห็นว่าเป็นตนให้มากยิ่งขึ้น พยายามให้เห็นว่าแท้ที่จริง สรรพสิ่งในโลกล้วนเป็นหน่วยใหญ่ที่เกิดจากการรวมกันขึ้นของหน่วยย่อยๆที่ทั้งไม่ขึ้นต่อกัน ที่พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ที่เป็นเหตุปัจจัยของสิ่งอื่นๆ เมื่อเป็นการรวมตัวเข้าด้วยกันของหน่วยย่อยๆจึงหาตัวตนที่แท้จริง หาตัวตนที่ถาวรไม่ได้

และเพราะหน่วยใหญ่เกิดจากหน่วยย่อยๆ หากหน่วยย่อยผันแปรไป หน่วยใหญ่ก็ต้องแปรตาม การปรวนแปรจึงเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และ แม้ใจเราอยากให้ไม่มีการแปรปรวน ก็ไม่สามารถเป็นไปตามใจเราได้ เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นไปตามเหตุปัจจัยไม่ใช่เป็นไปตามใจ

ดังนั้นคำสอนในเบื้องต้นจึงตรัสสอนให้รักตน อย่าทำตนให้ตกต่ำด้วยการกระทำผิดๆ เมื่อจะทำอะไรก็ให้เอากายใจเรานี้เข้าเปรียบว่าถ้าเราอยากให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อตนเองอย่างไร ก็ควรปฏิบัติต่อเขาอย่างนั้น คำสอนในแง่นี้ก็พอเข้าใจค่ะ ว่าตัวเรานั่นเองที่ย้อมติดกับสิ่งต่างๆ หรือการที่สิ่งต่างๆภายนอก ทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น มาย้อมติดกับกายและใจอันเป็นตัวตนของเรา

แต่ในระดับที่สูงขึ้นไปที่สอนให้คลายความเห็นว่าเป็นตน ว่ามีตัวตนอย่างถาวรนี้ไปเสีย ที่เห็นว่าเป็นตน เป็นเรา เป็นเขา แท้ที่จริงเป็นเพียงความเห็นที่ยึดหน่วยย่อยๆที่มารวมกันเข้าเป็นกลุ่มก้อนจนเติบโต เคลื่อนไหว รุ้สึกนึกคิดได้นี้ว่าเป็นตัวตนไปเอง ก็ในเมื่อแม้แต่ตนคือตัวเราก็ไม่มี แล้วอย่างนี้จะมีตัวเราให้ไปย้อมติดกับอะไร

ขออธิบายถึงตัวเรานี้ในแง่ที่เป็นการรวมตัวของสิ่งต่างๆจนเกิดเป็นตัวตนในทางพุทธศาสนาก่อนนะคะ คำสอนในพุทธศาสนามีอยู่ว่า ตัวเราอันประกอบขึ้นด้วยกายและใจนี้ แท้จริงแล้วเป็นเพียงการรวมตัวกันของธาตุหรือก็คือสภาวะที่มีอยู่จริง ที่ผันแปรไม่ได้ต่างๆคือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ธาตุอากาศ และ วิญญาณธาตุ โดยธาตุดินน้ำลมไฟอากาศก่อให้เกิดรูปกาย เกิดอวัยวะน้อยใหญ่ที่ถูกหุ้มห่อจนรวมเป็นก้อนเดียวกันด้วยผิวหนัง มีช่องทางติดต่อกับโลกภายนอกอยู่ 5 ช่องทาง คือทางตา หู จมูก ลิ้น ละผิวกายเองกาย ส่วนวิญญาณธาตุหรือธาตุรู้ ทำหน้าที่ในทางรับรู้ในช่องทางที่ 6 คือทางใจเองและรับรู้ตามช่องทางที่รูปกายมีไว้ติดต่อกับโลกภายนอก ประมวลผลการรับรู้เพื่อให้รู้ยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อการจดจำ หรือเพื่อแสดงออก

เช่น รับรู้ว่าสิ่งที่ตาเห็นเป็นอะไร สิ่งที่หูได้ยินเป็นอะไร เป็นต้น เมื่อรับรู้แล้วก็มีการแปลความหมายของสิ่งที่เห็นที่ได้ยิน อันก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์กับสิ่งเหล่านั้น มีความรู้สึกต่อสิ่งหรือสภาวะนั้นๆ หากสิ่งนั้นๆเป็นสิ่งที่น่ายินดีสำหรับบุคคลทั่วไป สำหรับใจตน ก็มีการปลงใจว่าชอบ หรือมีการปลงใจว่าไม่ชอบหากสิ่งนั้นๆมีสภาพในทางตรงข้าม มีเจตนาที่จะทำอะไรต่อไปกับสิ่งที่ได้รับรู้ ที่ชอบ ที่ไม่ชอบนั้นๆ

เมื่อทำแล้วก็มีการจำ มีการประเมินผล มีการคิดแก้ไขหากผลที่ไม่น่ายินดีเกิดขึ้นหรือผลที่น่ายินดียังไม่ถึงความน่ายินดีอย่างที่สุด กระทั่งคิดแก้ไขเพื่อให้พ้นจากความยินดียินร้ายในสิ่งที่ได้รับรู้ และเพราะมีความคิดจะแก้ไข จึงมีการกำหนดจับในสิ่งที่ช่องทางต่างๆได้รับรู้เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้ใจรู้ คิด ในทางที่ผิด มี ฯลฯ

เพราะวิญญาณธาตุมีการทำหน้าที่หลายอย่าง หน้าที่ต่างๆจึงถูกเรียกในชื่อที่ต่างกันออกไปเพื่อแยกให้เห็นได้อย่างชัดเจน เช่น มโนหรือใจหรือผู้น้อมไปทำบ้าง ปัญญาหรือความรู้ทั่วบ้าง สติหรือความระลึกได้บ้าง เจตนาหรือความจงใจบ้าง สัญญาหรือความทรงจำ สังขารหรือการคิดปรุงแต่ง เวทนาหรือความรู้สึกต่างๆ มโนหรือใจ จิตหรือผู้ก่อให้เกิดการกระทำต่างๆทางใจนั้นทั้งหมด

เมื่อพุทธศาสนาให้ความหมายของกาย ใจ ด้วยผลรวมของธาตุต่างๆอย่างนี้ ก็เลยไม่สามารถบอกได้ ว่าธาตุไหนคือตัวเรา ส่วนไหนของร่างกายหรือใจหรือหน้าที่ไหนของใจคือตัวเรา

คิดดูง่ายๆนะคะ วิทยาศาสตร์บอกเราว่า ร่างกายเรานี้ประกอบขึ้นด้วยเซลล์เล็กๆนับล้านๆ เซลล์เหล่านี้ต่างก็มีชีวิต มีหน้าที่ที่ต้องทำแตกต่างกันออกไป การทำหน้าที่ของเซลล์ก็ไม่อยู่ในการบังคับบัญชาของตัวเรา เซลล์ต่างๆล้วนทำหน้าที่ของตนโดยที่เราไม่ต้องสั่ง

เซลล์ที่สามารถยกมาพูดถึงเพื่อให้เห็นได้ชัดคือเซลล์ผิวหนัง เซลล์ผิวของเราเกิด ตาย ถูออกเป็นไคลอยู่ได้ทุกวัน แล้วเราจะบอกได้ไหม ว่าเซลล์เซลล์ไหนเป็นตัวเรา ทำไมเราจึงไม่รู้สึกว่าเราเกิดแล้วตายซ้ำแล้วซ้ำเล่า

แน่นอนค่ะ เราไม่สามารถบอกได้ เพราะ “ตัวเรา” แท้จริงแล้วไม่มีอยู่จริง ที่เราเห็นว่าเป็นตัวเรา เป็นเพียงการยึดการรวมตัวของเซลล์ต่างๆ หรือก็คือผลจากการรวมตัวของธาตุ ซึ่งธาตุทั้งหมดนั้นรวมเข้าด้วยกันจนปรากฏเป็นกายที่สามารถมองเห็นและจับต้องได้และมีใจหรือจิตที่ไม่สามารถมองเห็น จับต้องไม่ได้ เท่านั้น

เห็นความคล้ายคลึงของคำสอนในพุทธศาสนากับสิ่งที่วิทยาศาสตร์ค้นพบมั้ยคะ

ในเมื่อตัวเราไม่พึงมี แล้วของเราจะมาแต่ที่ไหน แล้วที่ว่ารักคือการย้อมติด จะมีอะไรมาติดกับสิ่งที่ไม่เป็นตัวตนได้คะ

ดังนั้น ความรักจึงหมายถึงการที่ใจได้รับรู้โลกภายนอกตามช่องทางของร่างกายและรวมถึงทางใจเองแล้วเกิดความพึงพอใจ เกิดความรู้สึกเป็นสุข จึงเกิดความผูกพันกับคุณสมบัติของสิ่งของภายนอกตามที่รับรู้ จึงย้อมติดหรือติดใจ จนอยากได้การรับรู้อย่างนั้นซ้ำๆ

นั่นคือ ตาและใจได้รับรู้คุณสมบัติต่างๆที่ประกอบเข้ากับรูปร่างของสิ่ง สัตว์ บุคคลที่ตาเห็น เช่น สีสัน ความงดงาม ความมีสัดส่วนสมดุล ความกล้าหาญ ความรื่นเริง ความนุ่มนวล ความเข้มแข็ง ความซื่อสัตย์ การได้รับความยกย่อง ความเมตตา ความร่าเริง ความเคร่งขรึม ความเพียร ฯลฯ

หูและใจได้รับรู้คุณลักษณะต่างๆของเสียงที่ได้ยิน เช่น ความมีท่วงทำนองที่ไพเราะ ความนุ่มนวล ความหมายที่น่ายินดี ความดังที่พอเหมาะ ฯลฯ

จมูก ลิ้น กาย ก็รับรู้ในทำนองเดียวกัน

กล่าวโดยรวมก็คือ เมื่อมีการรับรู้คุณสมบัติต่างๆที่น่ายินดีของสิ่งที่รับรู้แล้วก็พึงพอใจ

เมื่อพึงพอใจ มีความสุข ก็ปักใจในสิ่งนั้นๆจนอยากได้รับรู้คือเห็น ได้ยินอย่างนั้น อยากได้รับความสุขจากการรับรู้ซ้ำๆ เราจึงผูกพันกับสิ่งนั้นๆ จึงไขว่คว้าสิ่งนั้นๆเพื่อให้ได้มี ได้เป็น ได้อยู่ กับสิ่งนั้นๆ

และเพราะความดีงามของสิ่งนั้นคือความสุขของเรา และเพราะความเราผูกพันกับสิ่งนั้น จึงอยากให้สิ่งนั้นๆคงความงาม คงความดีอย่างที่เป็นอยู่ตลอดไป หรือถ้าเป็นไปได้ ก็อยากให้สิ่งนั้นยิ่งดี ยิ่งงาม มากยิ่งขึ้น

เราจึงสร้างสิ่งดีๆเพื่อวัตถุประสงค์นี้แก่สิ่งนั้นๆเท่าที่ความสามารถเราจะทำได้ และเพราะเหตุนี้ ความรักจึงสร้างและจรรโลงโลก

จนในที่สุด การกระทำต่างและสิ่งต่างๆเหล่านั้นก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของใจ

อันที่จริง ความรักหรือราคะ เป็นกิเลสประเภทหนึ่งค่ะที่ทำให้บุคคลวนเวียนพบทุกข์สุขอยู่ในโลก แต่ความรักก็มีข้อดีคือ ทำให้บุคคลในโลกอยากอยู่เพื่อสร้างสิ่งดีๆเพื่อสิ่งที่ตนรักเสมอ

แล้วเราก็ไม่ได้ย้อมติดหรือติดใจแต่ในสิ่งที่ดีเท่านั้นค่ะ บางทีเราก็ติดใจกับสิ่งที่ให้โทษ เพราะสิ่งที่เป็นโทษ ก็ก่อให้เกิดความสุขได้เช่นกัน ความย้อมติด หรือติดใจ หรือความรักในสิ่งต่างๆก็เช่น

-ติดใจในธรรมชาติที่งดงาม ในต้นไม้บางชนิด ในการดูแลธรรมชาติเพื่อให้ธรรมชาติคงความงดงามสืบไป

-ติดใจหรือรักในการมีชื่อเสียงเกียรติยศ รักบ้าน รักครอบครัว รักการทำครัว รักความรู้สึกว่าเป็นผู้ปกป้อง

-ติดใจหรือรักในความแตกต่างของความคิด รักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย รักการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ รักการสละ รักการอ่าน

-รักการพูดเล่น รักการนินทา รักการได้รับรู้ว่ามีผู้หลงใหลในตัวของตน รักการได้นำตนไปเปรียบเทียบกับคนอื่นแล้วรู้สึกว่าตนเหนือกว่า รักที่จะได้บังคับบัญชาผู้อื่น

-รักการทำร้ายสัตว์ รักการเห็นสัตว์ทุรนทุรายเพราะความเจ็บปวด

-รักการอยู่ในที่สงัด รักการสละ รักการพิจารณาให้เห็นตรงตามที่ปรากฏการณ์ต่างๆเป็นไป รักการที่ได้รู้ว่าตนสามารถทำการสละอะไรที่ไม่สมควรแก่ใจ แก่การที่ใจจะได้ชื่อว่าเป็นใจที่ดีออกไปได้บ้าง รักการที่ได้รู้ว่าตนได้ทำสิ่งที่ควรทำ

เหล่านี้เป็นต้น

จึงจะเห็นได้ว่า แท้จริงแล้ว ความรักไม่ได้มีตัวตนถาวรแต่อย่างใด

วิทยาศาสตร์บอกว่า ความรักเป็นวิวัฒนาการของการเอาชีวิตรอดและการสืบเผ่าพันธุ์ สำหรับดิฉัน มองว่า ความรักหมายถึงความผูกพันของใจกับคุณสมบัติและสภาวะต่างๆอันเป็นแรงขับในการแสวงหา การสร้าง การรักษา การทำให้มากยิ่งขึ้นของความสุข อันทำให้ตัวเราผูกพันเข้ากับสิ่งที่มีคุณสมบัติหรือคงภาวะนั้นๆด้วย และเพราะความรัก ตัวเรา สังคม และสภาพแวดล้อมจึงดำรงอยู่ได้ ความรักที่เป็นสากลและควบคุมได้ทำให้โลกงดงาม

ทำไม ดิฉันจึงให้ความเห็นอย่างนั้นหรือคะ ก็เพราะแม้รักให้คุณแก่โลกเป็นอย่างมากจนเรียกได้ว่าเป็นพลังในการขับเคลื่อนโลก รักก็ทำลายโลกได้เช่นกัน เช่น รักในเผ่าพันธุ์ตนจนรังเกียจเผ่าพันธุ์อื่นจึงเป็นเหตุให้ทำลายล้างเผ่าพันธุ์อื่น รักพรรคพวกตน อยากช่วยเหลือดูแลพวกตนจนเบียดเบียนชนกลุ่มอื่น เป็นต้น

ดังนั้นจึงต้องมีการเรียนรู้ ควบคุม และลดทอนลักษณะที่ไม่ใช่คุณของรักไว้ด้วย

สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฒฺฑโน) ถึงกับตรัสสอนไว้ว่า

“วิสัยโลกจะต้องมีรัก แต่ต้องมีสติคอยควบคุมใจ อย่าให้รักมีอำนาจเหนือสติ”

รักที่ให้คุณจึงสามารถให้โทษอย่างนี้ แต่ถึงกระนั้น รักก็ยังจำเป็นสำหรับโลกเพราะรักนำความสุขมาให้ ความสุขนี้เอง คือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของชีวิตมนุษย์และสรรพสิ่งในโลก

ทราบไหมคะ ทำไมมนุษย์เรามีชีวิตอยู่บนโลกได้

ก็เพราะกายและใจได้รับอาหารค่ะ

อาหารของกาย คือสิ่งที่เราทานเข้าไป อาหารใจ ก็คือปีติ สุข นี่เอง

ปีติและสุขจึงสำคัญต่อการมีชีวิตของเรามากเพราะคอยหล่อเลี้ยงใจ ให้อาหารแก่ใจ ดังนั้น บุคคลใดๆเมื่อยังมีชีวิตอยู่ในโลก และชาวพุทธที่ยังไม่บรรลุธรรมสูงสุดในพุทธศาสนา อย่างไรเสียก็ต้องมีรัก ต้องได้ความสุขจากรักไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งคอยเป็นอาหาร

สมดังที่สมเด็จพระสังฆราชท่านตรัสไว้ ว่าวิสัยโลกจำเป็นต้องมีรักนั่นแหละค่ะ

ดังที่เรียนไว้แล้วว่าในหนังสือเล่มนี้จะขอนำแต่ความรักของชายหญิงมาเล่าสู่กันฟัง เพราะสิ่งที่ทำให้ชายหญิงในโลกมีสุขมากที่สุดก็คือความรัก และสิ่งที่นำความทุกข์มาสู่ชายหญิงมากที่สุด ก็คือการสูญเสียความรัก ดังนั้น เรื่องของรักจึงเป็นเรื่องที่เราชาวโลกพึงรู้เท่าทัน

เผื่อว่าสักวัน หากต้องพบรัก ต้องพบการแปรผัน ต้องพบการสูญเสียความรัก จะได้อยู่กับความเป็นจริงได้โดยไม่ทุกข์ร้อนใจเกินไปนักไงคะ

หมายเลขบันทึก: 609435เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2016 09:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มิถุนายน 2016 09:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อยากทำหนังสือสักเล่มเกี่ยวกับความรักที่อิงหลักธรรมในพุทธศาสนาค่ะ เพิ่งเขียนได้ 3 ตอน ขออนุญาตบันทึกไว้เป็นการชิมลางนะคะ

ว่าถ้าเขียนออกมาในแนวนี้ พอจะมีโอกาสได้รับความสนใจ จนพิมพ์เป็นเล่ม เป็นเรื่องเป็นราว กับเขาได้มั้ย

พิมพ์เลยค่ะ..จะเป็น..ลูกค้าคนแรก..เจ้าค่ะ..(แต่อย่าเพิ่งทำเป็นสินค้า..หาผู้สนใจ..ที่จะอ่านหรือซื้อมาเพื่อ..สะสม..เป็นต้น..พิมฑ์แค่พิมพ์ได้ไปก่อน..ดีไหมคะ...)..

ความรักที่ไม่ถูกเขียนให้เป็นนิยาย น้ำเน่า..หรือแบบ ตลาดๆ..คงอยู่ในตลาด..การซื้อ..ขาย..ยาก..สักหน่อย..นะเจ้าคะ..

"ชอบ"..คำบรรยาย..ที่ว่า..ปิติสุข..เป็น..อาหาร..กายและใจ..
ความคิด..ยายธี..การกักขังความทุกข์ใว้ในจิตที่ส่งผลลบต่อร่างกาย..ก็เป็นอาหารหนึ่ง..ประเภทหนึ่ง..ต่อกายและใจ..ที่ประกอบ..เป็นตัวตน..ที่เรียก..อัตตา..

อัตตาจบด้วยอนัตตา..ความเปลี่ยนแปลง..ที่เกิดจากเหตุ..อันมี..รัก..โลภโกธร หลง..เป็นที่ตั้ง..และมลาย..ไปในที่สุด..(ที่เรียก..ว่า..อนิจจัง)......พุทธวิถี..วิถี..ธรรม..อันมี..เหตุ..และผล..อันเป็น..สัจจธรรม..ที่เถียง(กันไม่ได้.)..(และทุกวันนี้..ก็เถียงกันอยู่...อิอิ..)...

เอวังคงเป็นเช่นนั้นเอง..นะเจ้าคะ...ด้วย..คาระวะ..จาก..ยายธี

ขอให้มีความปิติสุข..เสมอไป..ในชีวิต..เจ้าค่ะ

ขอบพระคุณคุณยายธีมากค่ะ

สำหรับเรื่องการกักขังทุกข์ไว้ในใจ ขออนุญาตเรียนว่าก็คือการ "เพลินไปในทุกข์" ค่ะ คิดแล้วเพลิน แม้จะทำให้ใจเจ็บปวด แต่ก็มีความเพลินอยู่ เลยยิ่งคิด ยิ่งทำร้ายตน ยิ่งคิดก็ยิ่งเจ็บแต่ก็ยิ่งเพลิน

เลยกลายเป็นว่ากำลังซ้ำเติมตน ทำตนให้ลำบาก (อัตตกิลมถานุโยค) นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท