สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ
มูลนิธิสยามกัมมาจล สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ มูลนิธิสยามกัมมาจล

ทุกคนสามารถเป็น “พี่เลี้ยง หรือ โคช” ได้จริงหรือ..?


ผู้ที่เป็น “พี่เลี้ยงหรือโคช” ไม่จำเป็นต้องเป็นคนเก่งที่สุด มีความรู้มากที่สุด มีประสบการณ์มากที่สุด หรือรู้เรื่องนั้นๆดีที่สุด แต่พี่เลี้ยงหรือโคชต้องรู้จักเข้าถึงจิตใจผู้ถูกโคช โดยผ่านการฟัง การถาม การสังเกต การวิเคราะห์ เพราะพี่เลี้ยงหรือโคช คือ ผู้ทำหน้าที่เปรียบเสมือนกระจกสะท้อนตัวตนของผู้ถูกโคช ทำให้เขาเกิดการตระหนักรู้ ค้นพบตนเอง และก้าวข้ามพ้นกับดักหรืออุปสรรคของตนเอง แต่นั่นคงยังไม่เพียงพอเพราะการเป็นพี่เลี้ยงหรือโคชก็ต้องทำหน้าที่สร้างกระบวนการเรียนรู้ของตนเองด้วยเช่นกัน

บรรยากาศถอดบทเรียนต้นน้ำพี่เลี้ยงโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก


บทบาทสำคัญของคนเป็น“พี่เลี้ยงหรือโคช” คือ ผู้ที่ถ่ายทอดกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้เรียนแบบโดยตรง ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การให้คำแนะนำ ให้แนวคิด รวมถึงการให้กําลังใจในการทํางาน เพื่อให้ผู้ถูกสอนสามารถทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างมีประสิทธิภาพ และมีโอกาสได้พัฒนาศักยภาพของตนเองเพื่อเดินไปสู่เป้าหมายได้สำเร็จ ซึ่งพี่เลี้ยงหรือโคชจะต้องมีทักษะสร้างการเรียนรู้ที่ดีให้แก่ผู้ถูกฝึกด้วย แต่ก่อนจะมาถึงเส้นทางของการสร้างการเรียนรู้ที่ดีให้แก่ผู้ถูกฝึก“พี่เลี้ยงหรือโคช”เองก็ต้องรู้จักที่จะเรียนรู้และพัฒนาทักษะของตนเองยู่ตลอดเวลาด้วยเช่นกัน และต้องมีเทคนิคหรือเครื่องมือที่ช่วยให้การ Coaching มีประสิทธิภาพ


ดังเช่น 6 ขุนพลของโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก ดำเนินงานภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น ที่นำทีมโดย นายชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ ผู้บริหารโครงการฯ นางสาวพวงทอง เม้งเกร็ด นายสุทธิลักษณ์ โตกทอง นายคำรณ นิ่มอนงค์ นายชนนท์ ภู่ระหงษ์ และนายอรรถชัย ณ บางช้าง ทีมโคชประจำโครงการฯ ได้เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างกระบวนการเรียนรู้ของพี่เลี้ยงและโคช ที่นอกเหนือจากการเปิดพื้นที่สร้างการเรียนรู้ให้เยาวชน


­

นายชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ ผู้บริหารโครงการฯ


นายชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ ผู้บริหารโครงการฯ กล่าวว่า การเป็นพี่เลี้ยงหรือโคชนั้นนอกจากจะเป็นผู้ที่รางการเรียนรู้ให้เยาวชนแล้ว พี่เลี้ยงและโคชก็ต้องยกระดับความรู้ ความสามารถของตนเองด้วย ซึ่งกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในตัวพี่เลี้ยงนั้นต้องมาจากการลงมือปฏิบัติจริง เพื่อพัฒนาทักษะต่างๆก่อนที่จะลงไป Coaching กับน้องๆ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคำถาม ชวนคิด ชวนคุย การออกแบบกิจกรรม การถอดบทเรียนหรือแม้กระทั่งการสังเกตพฤติกรรมของน้อง สิ่งเหล่านี้พี่เลี้ยงหรือโคชต้องหมั่นฝึกฝนอยู่บ่อยๆ ให้เกิดความชำนาญ เพื่อจะได้นำมาประเมินสถานการณ์สำหรับการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้น้องได้ขบคิดแก้ปัญหาของตนเอง รวมถึงการมองเห็นแก่นและเห็นคุณค่าในสิ่งที่เขาทำ และนำไปสู่เรื่องของการมีจิตสำนึกพลเมือง”

นอกจากนี้เวลาที่ทีมโคชลงพื้นที่ไปพบน้องจะต้องรู้จักางแผน และเตรียมตัวให้ดี เพราะการวางแผนที่ดีจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยลำดับความสำคัญในการทำงาน และมองเห็นรายละเอียดของโครงการได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งขั้นตอนนี้ถือว่าเป็นการฝึกทักษะและปลูกฝังการทำงานที่มีความรอบคอบที่เริ่มจากตัวพี่เลี้ยงแล้วส่งต่อไปยังเยาวชนที่ทำโครงการ

­

นายคำรณ นิ่มอนงค์ โคชประจำโครงการฯ


นายคำรณ นิ่มอนงค์ โคชประจำโครงการฯ กล่าวว่า การทำงานกับเด็ก เราต้องสังเกตในพฤติกรรมของเขา ซึ่งผมจะใช้วิธีจดพฤติกรรมของเด็กใส่สมุดบันทึกเพื่อนำมาออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับช่วงวัย หากเป็นเด็กเล็กก็ต้องออกแบบกระบวนการเรียนรู้ผ่านการเล่นเกมโดยนำตัวการ์ตูนมาสื่อสร้างความเข้าใจ หรือถ้าเป็นเด็กที่โตหน่อย ก็จะใช้การตั้งคำถามจากชุดคำถามที่น้องลงไปเก็บข้อมูลในชุมชนของตนเองว่าเขารู้อะไรบ้าง หลังจากนั้นก็จะชวนน้องถอดบทเรียนตั้งคำถาม ที่สามารถสร้างการเรียนรู้ที่ลึกซึ้ง กระตุ้นให้น้องคิดวิเคราะห์สถานการณ์ในชุมชนของตนเอง และการที่น้องทำแบบนั้นได้พี่เลี้ยงก็ต้องรู้ข้อมูลและรู้จักสังเกตในพฤติกรรมของเด็ก ซึ่งเป็นข้อค้นพบที่ได้จากบทเรียนปีที่แล้ว”

นายสุทธิลักษณ์ โตกทอง โคชประจำโครงการฯ


ทางด้านนายสุทธิลักษณ์ โตกทอง โคชประจำโครงการฯ กล่าวว่า ปัญหาที่พบจากการสร้างการเรียนรู้ให้เด็กนั้น หากเรายังใช้กระบวนการแบบเดิม จะทำให้น้องจะจับทางถูกว่าเราจะถามอะไร และคำตอบที่ได้มักไม่เป็นไปตามความจริง เราจึงต้องยกระดับการถอดบทรียนกับน้อง ต้องหากลยุทธ์ และคำถามใหม่ๆ เพื่อไม่ให้เขาจับทางถูก อย่างปีก่อนเราชวนน้องสรุปบทเรียน แต่เป็นการพูดคุยแบบไม่มีหลักการ แต่ปีนี้เป็นการชวนน้องคุยเพื่อยกระดับความคิดน้องมากขึ้นให้น้องเห็นว่าทำอะไรไปบ้างและจะเกิดผลอย่างไรต่อตัวเขาและชุมชน”

ดังนั้น “พี่เลี้ยง หรือ โคช” จะต้องหมั่นศึกษาหาหนทางสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่น่าสนใจ ที่ท้าทาย ให้แก่ผู้ถูก Coaching รู้สึกความอยากรู้อยากเห็น และต้องเป็นการกระบวนการเรียนรู้ที่ไม่ได้มุ่งแต่เอา Content เพียงอย่างเดียว แต่ต้องเชื่อมโยงการเรียนรู้ระหว่างทางและทักษะเรื่องอื่นได้ด้วย เช่น การฟัง การพูด ความอดทน และการเรียนรู้กับชุมชม ที่ผ่านกระบวนการคิดแบบเชิงระบบ (system thinking) เพื่อให้ผู้ถูก Coaching เดินไปถึงเป้าหมายปลายทาง แล้วตัวคุณล่ะ ….คิดว่ามีทักษะของความเป็นพี่เลี้ยงและโคชบ้างรึยัง
หมายเลขบันทึก: 609296เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2016 10:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มิถุนายน 2016 10:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท