เจ้าเมืองคนแรกของจังหวัดชัยภูมิ


เจ้าพ่อพระยาแลเป็นพ่อเมืองของจังหวัดชัยภูมิซึ่งเป็นจังหวัดที่ข้าพเจ้าเกิดท่านเป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวชัยภูมิที่ชาวชัยภูมิเคารพและศรัทธาท่านเป็นผู้ที่สร้างเมืองชัยภูมิคนแรกและท่านทำให้บุคคลภายนอกให้รู้ได้ทราบถึงความจงรักภักดีและซื่อสัตย์ของเจ้าเมืองชัยภูมิของข้าพเจ้าข้าพเจ้าจึงอยากจะถ่ายทอดประวัติและความเป็นมาของผู้สร้างบ้านเมืองของจังหวัดที่ข้าพเจ้าเกิดให้บุคคลที่สนใจได้ทราบซึ่งตัวของข้าพเจ้ารู้สึกภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ข้าพเจ้าเกิดในผืนแผ่นดินนี้ที่จังหวัดชัยภูมิข้าพเจ้าเคารพและศรัทธาในเจ้าพ่อพยาแลเป็นอย่ามากข้าพเจ้าได้ฟังเรื่องเล่าของท่านจากตาทวดของข้าพเจ้าตั้งแต่ยังเล็กข้าพเจ้าจะชอบฟังมากเป็นพิเศษเมื่อตาทวดของข้าพเจ้าเล่าเรื่องท่านเมื่อตอนท่านโดนประหารชีวิตที่ใต้ต้นมะขามใหญ่เนื่องจากตาทวดเล่าให้ฟังว่าท่านอยู่ยงคงกระพันฟันแทงไม่เข้าทำให้การประหารนั้นไม่เป็นผลสำเร็จแต่ท่านก็ต้องเสียชีวิตด้วยการทำร้ายอย่างอื่นพอตาทวดเล่ามาถึงตอนนี้ทีไรทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกเศร้าใจทุกครั้งที่ได้ฟังแต่ข้าพเจ้าก็ดีใจและภูมิใจมาตลอดที่ได้เกิดเป็นลูกหลานเจ้าพ่อพยาแล

เมืองชัยภูมิเป็นเมืองเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจ ถือได้ว่าเมืองชัยภูมิเป็นเมืองผ่านของขอม มีหลักฐานหลงเหลือปรากฏให้เห็นคือ พระธาตุหนองสามหมื่น, ปรางกู่ และพระธาตุกุตจอก เป็นต้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมืองชัยภูมิปรากฏในทำเนียบเมืองแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชว่าเป็นเมืองที่ขึ้นกันนครราชสีมา แต่ต่อมาผู้คนได้อพยพไปตั้งหลักแหล่งทำมาหากินที่อื่น ปล่อยเมืองชัยภูมิเป็นเมืองร้าง เมืองชัยภูมิกลับมาปรากฏชื่ออีกครั้งหนึ่งในสมัยรัชกาลของสมเด็จพระพุทธเลิศหน้านภาลัยแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ราวปี พ.ศ. 2360 เมืองเวียงจันทน์เป็นเมืองขึ้นของไทย มีการส่งเครื่องราชบรรณาการต่างๆ ให้แก่ไทย นายแล ซึ่งมีตำแหน่งเป็นพี่เลี้ยงราชบุตรในราชสำนักของเจ้าอนุวงศ์เมืองเวียงจันทน์ได้ลาออกจากราชสำนัก และพานางบุญมี ซึ่งเป็นเป็นภรรยาอพยพครอบครัวพร้อมทั้งสมัครพรรคพวกรวมร้อยครอบครัวเศษ เดินทางข้ามแม่น้ำโขงที่เมืองชัยบุรีแขวงหลวงพระบาง เพราะบริเวณนี้น้ำตื้นเขิน สะดวกแก่การลำเลียงผู้คน จนกระทั่งเดินทางมาถึงหนองบัวลำภู (จังหวัดหนองบัวลำภูในปัจจุบัน) พำนัก ณ ที่แห่งนี้เป็นเวลาหนึ่งเดือน นายแลเห็นว่าหนองบัวลำภูเป็นสถานที่ไม่เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐาน จึงพาสมัครพรรคพวกออกเดินทางต่อไปจนถึงบ้านน้ำขุ่นหนองอีจาน, ลำตะคอง ซึ่งอยู่ในพื้นที่อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมาในปัจจุบัน ณ ที่แห่งนี้นายแลตั้งรกรากทำมาหากินอยู่นานถึง 2 ปี เพราะเห็นว่ามีน้ำอุดมสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2363 การทำมาหากินที่บ้านน้ำขุ่นหนองอีจาน, ลำตะคอง เริ่มฝืดเคือง, นายแลจึงได้เสาะแสวงหาทำเลใหม่ ปรากฏว่าได้ไปพบที่บ้านโนนน้ำอ้อม เป็นบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์จึงได้อพยพครอบครัวและสมัครพรรคพวกไปตั้งถิ่นฐานที่นี่แทน (ปัจจุบันคือบ้านชีลอง ตำบลชีลอง อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ) การปกครองของนายแลต่อราษฏรนั้น นายแลปกครองในลักษณ์พี่ปกครองน้อง สั่งสอนให้ราษฏรมีความสามัคคีปรองดองกัน ต้องช่วยกันทำมาหากิน โดยให้เหตุผลว่าการสร้างเมืองนั้น ถ้าราษฏรมีอยู่มีกินและเป็นสุขแล้ว การสร้างเมืองก็จะสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีได้ ฝ่ายนางบุญมี ซึ่งเป็นภรรยาของนายแลก็ได้มิได้นิ่งดูดาย ได้พยายามที่จะอบรมฝึกสอนหญิงชาวบ้านให้รู้จักการทอผ้า ไม่ว่าจะเป็น ผ้าขาว, ผ้าดำ และผ่านซิ่นหมี่(ผ้ามัดหมี่) ชาวบ้านก็อยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุขเรื่อยมาต่อมาเมื่อนายแลเห็นว่าราษฏรของตนอยู่ดีมีสุขแล้ว ก็มิได้เคยลืมบุญคุณของเจ้านายเดิม จึงนำเครื่องราชบรรณาการไปถวายเจ้าอนุวงศ์เมืองเวียงจันทน์ ซึ่งเจ้าอนุวงศ์เมืองเวียงจันทน์ได้เห็นความดีความชอบของนายแล จึงแต่งตั้งให้นายแลเป็น "ขุนภักดีชุมพล (แล)"ต่อมาขุนภักดีชุมพล(แล)เห็นว่าบ้านโนนน้ำอ้อมเริ่มอึดอัดและขาดแคลนน้ำ จึงต้องหาที่ตั้งถิ่นฐานใหม่บริเวณใกล้เคียงกับที่ตั้งเดิม ซึ่งในปีพ.ศ. 2365 ขุนภักดีชุมพลก็ได้อพยพผู้คนมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านหลวง ซึ่งเป็นบริเวณบ้านหนองหลอดและหนองปลาเฒ่าในปัจจุบัน ณ ที่แห่งนี้

ชื่อเสียงของขุนภักดีชุมพลเริ่มเป็นที่ศรัทธาเชื่อถือแก่คนทั่วไปจนคนเริ่มอพยพเข้ามาสมัครเป็นพรรคพวกของขุนภักดีชุมพลมากมาย จนเป็นเหตุทำให้เจ้าอนุวงศ์ฯเกิดความสงสัยว่าขุนภักดีชุมพลจะแข่งข้อไม่ขึ้นกับเจ้าอนุวงศ์เช่นเดิม แต่ขุนภักดีชุมพลก็อาศัยความชาญฉลาดฑูลให้เจาอนุวงศ์ฯหายสงสัยได้ในเวลาต่อมาชาวบ้านได้ขุดพบทองคำในบริเวณภูขี้เถ้า ปรากฏว่าได้ทองคำเกือบชั่ง ชาวบ้านจึงหลั่งไหลไปขุดทองและนำกลับมาให้ขุนภักดีชุมพลเมื่อปี 2367 ขุนภักดีชุมพลเห็นว่าเวียงจันทน์ก็เป็นประเทศราชของประเทศสยามซึ่งขึ้นต่อกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จึงจะไม่ยอมนำเครื่องบรรณาการไปถวายเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์อีกต่อไป และจึงได้เข้าหาพระยาราชสีมา เจ้าเมืองนครราชสีมา อาสาเก็บส่วยเร่งผลส่งกรุงรัตนโกสินทร์แทน ได้มีการนำเครื่องบรรณาการมี ผ้าขาว ซิ่นหมี่ และทองคำ ไปถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเห็นความดีความชอบ จึงโปรดเกล้าฯให้ยกบ้านหลวงเป็น "เมืองชัยภูมิ" และโปรดให้เลื่อนบรรดาศักดิ์จากขุนภัคดีชุมพลเป็น "พระยาภัคดีชุมพล (แล)" และให้เข้ารับตำแหน่งเจ้าเมืองชัยภูมิ ปกครองบ้านเมืองสืบไป จึงถือได้ว่าพระยาภัคดีชุมพลเป็นเจ้าเมืองชัยภูมิคนแรก ได้ปกครองรักษาบ้านเมืองไว้ด้วยดี

ต่อมาเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์เห็นว่าพระยาภัคดีชุมพลตีตัวออกห่าง และคิดว่าจะก่อกบฏ มีส้องสุมผู้คน เสบียงอาหาร และอาวุธยุทโธปกรณ์ และในปี 2369 นี้เอง เจ้าอนุวงศ์ฯจึงได้ก่อการกบฏยกทัพหมายเข้าตีกรุงเทพโดยหลอกหัวเมืองต่างๆ ว่าที่เดินทัพผ่านเข้ามาก็เพื่อจะเข้ามาช่วยกรุงเทพรบกับอังกฤษ จนกระทั่งเจ้าอนุวงศ์ยึดนครราชสีมาได้ความจึงแตกเมื่อความแตกเจ้าอนุวงศ์ฯ จึงได้กวาดต้อนผู้คนชาวเมืองนครราชสีมาเพื่อนำกลับไปเมืองเวียงจันทน์ เมื่อถึงทุ่งสมฤทธิ์ หญิงชายชาวเมืองนครราชสีมาที่ถูกจับไปนำโดยคุณหญิงโมภรรยาเจ้าเมืองนครราชสีมาได้ลุกฮือขึ้นต่อสู้ พระยาภัคดีชุมพลพร้อมด้วยเจ้าเมืองใกล้เคียงได้ยกทัพออกไปช่วยคุณหญิงโมรบกับเจ้าอนุวงศ์ฯ ทัพของเจ้าอนุวงศ์เมืองเวียงจันทน์จึงแตกพ่ายไปในปีเดียวกันนั้นเอง เจ้าอนุวงศ์ฯ ได้นำกองทัพเข้าตีเมืองชัยภูมิอีกครั้งโดยงได้พยายามเกลี้ยกล่อมให้พระยาภัคดีชุมพลเข้าร่วมเป็นกบฏด้วย แต่พระยาภัคดีชุมพลไม่ยอมจึงถูกจับและทำร้ายร่างกายจนถึงแก่ชีวิตที่ต้นมะขามใหญ่ริมหนองปลาเฒ่า ซึ่งในภายหลังชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างศาลขึ้นไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์และเป็นที่ระลึกถึงคุณความดีของประยาภัคดีชุมพล และเป็นที่เคารพกราบไหว้มาจนถึงทุกวันนี้

อ้างอิงเนื้อหาจาก

ประวัติพระยาภักดีชุมพล (เจ้าพ่อพระยาแล)

  • โดย Siriwat Maneewan
  • เขียน 25 December 2012
หมายเลขบันทึก: 608889เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2016 19:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กรกฎาคม 2016 01:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท