จุดดำ


ผมไม่ได้เข้า gotoknow มาหลายเวลาแล้ว วันนี้อยากบันทึกเรื่องนี้ไว้ในประวัติศาสตร์ชีวิต ต้องขออภัยและขออนุญาตผู้ที่ผมเอ่ยนามและนำข้อความของท่านมาลงไว้ หากข้อความดังกล่าวไม่เหมาะสมอย่างไร ได้โปรดตักเตือน

เมื่อสองวันก่อน ผู้มีนามว่า เมส วัชรา อิทสุวรรณ์ ได้เขียนข้อความลงในเฟสบุ๊ค พร้อมด้วยรูปของอาจารย์สังคม (อดีตพระมหาสังคม,พระครู...) อดีตผู้ก่อตั้งโรงเรียนปริยัติสามัญวัดสระเรียง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราชและอาจารย์แคล้ว (ปัจจุบันน่าจะได้รับสมณศักดิ์ พระครู...) ที่ผมเคยรู้จักมาก่อน ข้อความที่เมสได้เขียนลงคือ "วัดสระเรียง คือสถานที่ สร้างคนมามากมาย วัดสระเรียงให้โอกาสผู้ที่ด้อยโอกาสอย่างผมและพี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆ มาแล้วมากมาย ถ้าไม่มีวัดสระเรียง คงไม่มีผมอย่างทุกวันนี้ วัดสระเรียงทำให้คนได้ดีมามากมาย มาวันนี้เจอจุดดำอยู่จุดนึง ก็อย่าเพิ่งมองว่า วัดสระเรียงไม่ดี เพราะทุกวงการ ทุกสังคม ล้วนแล้วแต่มีจุดดำทั้งนั้น 100 พ่อ 1000 แม่ จะให้ดี 100% คงจะยาก ขอให้มองถึงเรื่องดีๆ เหมือนที่หลวงพ่อพุทธทาสท่านได้กล่าวไว้ว่า "เขามีส่วน เลวบ้าง ช่างหัวเขา จงเลือกเอา ส่วนที่ดี เขามีอยู่ เป็นประโยชน์ โลกบ้าง ยังน่าดู ส่วนที่ชั่ว อย่าไปรู้ ของเขาเลย จะหาคน มีดี โดยส่วนเดียว อย่ามัวเที่ยว ค้นหา สหายเอ๋ย เหมือนเที่ยวหา หนวดเต่า ตายเปล่าเลย ฝึกให้เคย มองแต่ดี มีคุณจริง"

ผมไม่รู้ที่ไปที่มาของข้อความนั้น และไม่ได้อยากรู้เพราะทุกอย่างที่เกิดขึ้น ไม่นานก็ผ่านดับหายไปเหลือไว้เพียงความจำหากจะจำไว้ แต่ผมได้เขียนตอบลงไปว่า " ขอแสดงความขอบคุณที่ทำให้ระลึกถึงอาจารย์สังคมผู้ทำเพื่อพระพุทธศาสนาและหมายถึงเด็กตัวน้อยๆที่เป็นประชาชนคนไทยเฉกเช่นคนไทยทุกคนที่ได้รับการหล่อหลอมจากสถานบันการศึกษาแห่งนี้ ผมยังจำภาพวันที่อาจารย์สังคมไปหาผมถึงกุฏิที่วัดวังตะวันตก เพื่อขอให้ผมไปช่วยสอนภาษาบาลีแก่พระเณรที่โรงเรียนปริยัติธรรมสามัญวัดสระเรียง ผู้ใหญ่น้อยคนนักที่จะเดินไปหาผู้น้อยถึงที่...ขอบคุณครับ" และ "เดินหน้าต่อไปครับ ดีและไม่ดีล้วนแต่สมมติทางสังคม สถาบันแห่งนี้มีประโยชน์ต่อสังคมไทยมากมาย"

หลังจากที่ผมไปปฏิบัติงานที่จังหวัดชุมพรและเดินทางชีวิตไปเรื่อยจนทุกวันนี้ ผมยังคงแวะเวียนไปนครศรีธรรมราช ล่าสุดเดือนที่แล้วผมพาเด็กน้อยปฐมวัยคนหนึ่งไปเที่ยวน้ำตกและทุ่งท่าลาด เพราะไม่อยากให้เด็กน้อยต้องหยุดเรียนเสาร์อาทิตย์แล้วอยู่แต่หน้าคอมพิวเตอร์จิ๋วแบบพกพา การได้ไปในสถานที่ประวัติศาสตร์ชีวิต ทำให้เราคิดถึงอดีต การได้เห็นภาพที่เมส วัชรา เขียนลงไปก็ทำนองเดียวกัน อาจารย์สังคมก่อตั้งโรงเรียนปริยัติธรรมสามัญวัดสระเรียง เพื่อให้พระเณรได้มีโอกาสเรียนหนังสือ เข้าถึงการศึกษาและเดินออกไปสู่สังคมอย่างมั่นใจ ผมสังเกตว่า การบริหารจัดการโรงเรียนแบบสังคมสงเคราะห์นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เรื่องดังกล่าวก็ผ่านไปได้เพราะความสามารถของอาจารย์สังคม ในปีหนึ่งๆ เด็กไทยจบการศึกษาระดับสามัญจากโรงเรียนปริยัติฯเหล่านี้ไม่น้อย เด็กก็คือเด็ก เราเรียนจิตวิทยาเด็กกันเราก็น่าจะเข้าใจเด็กเหล่านี้ ยิ่งเด็กคนไหนที่เติบโตมาแบบสังคมมองว่าครอบครัวมีปัญหา การเข้ามาสู่ร่มเงาผ้าเหลืองจะช่วยตีกรอบเด็กเหล่านี้ดีกว่าการอยู่ภายนอกวัด แต่วัดก็มีภาระหนักที่จะโอบอุ้มเด็กเหล่านี้ไว้ ปัญหาที่น่าถามคือ ถ้าไม่ทำแล้วใครจะทำ? คุณูปการของวัดต่อการสร้างอนาคตของประเทศมักถูกมองข้าม เพราะเป็นการทำ อุทิศ ระดับรากหญ้า เป็นการปิดทองหลังพระ ปัจจุบันผลผลิตของวัดสระเรียง เด็กเหล่านี้จำนวนมากได้มีโอกาสเข้าถึงความสง่างามทางสังคม แต่บางคนก็ไปไม่ถึงฝั่ง ผมขอเล่าเรื่องราวของเณรตัวน้อยรูปหนึ่งไว้ในบันทึกนี้ ซึ่งผมยังคงจำเขาได้จนบัดนี้

ปี ๒๕๓๖-๒๕๓๗ ผมไปสอนที่โรงเรียนปริยัติธรรมสามัญวัดสระเรียง ในวิชาภาษาบาลี วุฒิการศึกษาที่ผมได้รับมาอย่างยากลำบากเป็นตัวนำให้ผมได้รับความไว้วางใจจากผู้ก่อตั้งโรงเรียน ในห้องเรียนหนึ่ง ผมยังจำหน้าสามเณรตัวน้อยๆคนหนึ่งได้ บุคลิกนิ่งๆ ยิ้มอย่างมีนัยบางอย่าง มักเข้ามาถามความรู้เกี่ยวกับวิชาที่ผมสอน รู้สึกว่าเณรคนนี้มีจิตใจดี ตั้งใจเรียนหนังสือ แต่ในเชิงลึกผมไม่ทราบ เป็นความบกพร่องของผู้รับผิดชอบวิชาอย่างผม ที่ไม่ได้รอบคอบกับการทำความเข้าใจรายบุคคล เพราะมุ่งแต่ "จะทำอย่างไรให้เณรตัวน้อยทั้งห้องมีความรู้ในวิชาที่รับผิดชอบ" ผมยังคงทำหน้าที่เป็นปกติ ปลายปีผมทราบว่า เณรรูปนี้ผูกคอตาย ผมได้ทราบว่า เณรรูปนี้อยากเรียนหนังสือ จึงบวชเข้ามาเรียนหนังสือที่วัดสระเรียง แต่ในบางช่วงของชีวิตในผ้าเหลือง เขาถอดจีวรออกแล้วใส่ชุดฆราวาสเพื่อไปทำงานรับจ้างในช่วงกลางคืน จากนั้นก็ใส่ผ้าเหลืองมานั่งเรียนหนังสือ ผมไม่ได้สอบถามว่าเขาทำกี่ครั้งกี่หน แต่สิ่งที่ผมรับรู้จากการได้อยู่ในชั้นเรียนคือ เขาอยากเรียนหนังสือ

สมัยนั้น ผมอาจถูกจารีตบัญญัติในสมองว่า การทำอย่างนั้นไม่ใช่สิ่งถูกต้อง จะสึกก็จงสึก จะบวชก็จงบวชให้ชัดเจน เวลาผ่านไปในปัจจุบันผมมองว่า ผ้าเหลืองคือผ้าสีเหลืองไม่ได้วิเศษไปกว่าผ้าสีอื่น อะไรคือคุณูปการหรือประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการสวมใส่ผ้าเหลือง (โปรดใช้วิจารณาในการไตร่ตรองเรื่องนี้) ถ้าการใส่ผ้าเหลืองแล้วทำประโยชน์สุขให้แก่ชีวิตอื่นในเชิงคุณค่า ผมขอมองเรื่องประโยชน์สุขมากกว่าการแอบกินมาม่าในตอนค่ำ ที่ทุกชีวิตต้องมีอาหารประทังชีวิตเพื่อดับความหิวกระหาย และความอยาก ความสนุกสนานที่กระตุ้นชีวิตจนลืมสถานภาพ แต่อย่าเข้าใจว่าผมสนับสนุนในเรื่องดังกล่าว เพราะชีวิตจะต้องผ่านกรอบบางอย่างมาก่อน เณรที่ผมกล่าวถึงนี้ทำผิดกรอบที่สังคมวางไว้ แต่เณรก็พยายามที่จะยืนบนกรอบที่สังคมวางไว้เช่นกัน นั่นคือการพยายามเรียนหนังสือ เพียงแต่กรอบที่สังคมมองว่าไม่ดีคอยกัดกร่อนจิตใจให้รู้สึกผิด ทั้งที่การทำงานเพื่อหาเงินมาหล่อเลี้ยงชีวิตตนและคนรอบข้างเป็นเรื่องที่สังคมยอมรับ แต่ถ้าใครไม่ทำงานต่างหากจะถูกมองว่าเป็นชีวิตไร้ประโยชน์

เวลาผ่านไป เราได้รับรู้อะไรเยอะขึ้น ในบ้านเมืองของเรามีจุดดำมากมาย จุดดำที่เกิดขึ้นมานั้นไม่ได้มีเฉพาะในหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเป็นการเฉพาะ หากแต่มีอย่างทั่วไป ที่รอการพัฒนาให้ดีขึ้นต่อไป แต่ที่สำคัญคือ จุดดำในใจ เราจะลบมันออกไปหรือเราจะให้เป็นรอยด่างดำอย่างนั้นตลอดชีวิต

หมายเลขบันทึก: 608648เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2016 07:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 สิงหาคม 2016 09:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านแล้ว รู้สึกว่าการตัดสินอะไรนั้นไม่ง่ายเลยนะคะ เราไม่มีสิทธิไปตัดสินอะไรใครจริงๆ ชีวิตช่างมีเรื่องลึกๆรอบด้านที่เราไม่มีทางจะเข้าใจจริงๆถ้าไม่ใช่ตัวเราเอง ขอบคุณเรื่องราวที่เตือนให้คิดในบันทึกนี้นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท