ประวัติเมืองสงขลา (32) ผีเสื้อและดอกไม้


ในปัจจุบันนี้ ขบวนการขนข้าวสารและน้ำตาลทรายข้ามเขต ก็ได้เลิกไปแล้ว

มีข่าวดีเกี่ยวกับนวนิยายเรื่องผีเสื้อและดอกไม้ ว่าจะนำมาสร้างเป็นละครฉายทางโทรทัศน์ช่องทีวีไทย

หนังสือเล่มนี้เขียนโดย นิพพานฯ เป็นนามปากกาของ มกุฎ อรฤดี ซึ่งเกิดที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เรียนหนังสือที่นั่น และจบวิชาครูประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาขั้นสูง จากวิทยาลัยครูสงขลา

นิพพานฯ เขียนเรื่องผีเสื้อและดอกไม้ เมื่อกว่า 30 ปีมาแล้ว พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2521 และได้รับรางวัลหนังสือแห่งชาติ

หนังสือได้รับการแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นและภาษาจีน ต่อมาได้สร้างเป็นภาพยนตร์ไทย ผลงานกำกับโดย ยุทธนา มุกดาสนิท ออกฉายเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2528

ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองบทประพันธ์ยอดเยี่ยม และรางวัลอื่น ๆ รวม 7 รางวัล

นิพพานฯ ศึกษาชีวิตของเด็ก ๆ ที่ทำมาหาเลี้ยงชีพอยู่กับการขนข้าวสารข้ามเขตแดนไทย-มาเลเซีย ที่เรียกกันว่า กองทัพมด ในสมัยนั้นเป็นช่วงที่ข้าวสารและน้ำตาลทรายเป็นสินค้าควบคุม ราคาข้าวสารและน้ำตาลทรายในประเทศมาเลเซียแพงกว่าเมืองไทย

จึงมีการลักลอบขนไปขายตามเมืองชายแดน จุดเริ่มต้นอยู่ที่อำเภอเทพา ซึ่งเป็นอำเภอเล็ก ๆ

เหตุที่เริ่มต้นที่เทพาก็เพราะมีสถานีรถไฟที่ขบวนรถหยุดจอดนานถึง 2 นาที และหาซื้อข้าวสารและน้ำตาลทรายได้ง่าย ปลายทางคือสถานีรถไฟสุไหงโก-ลก

นิพพานฯ กล่าวไว้เมื่อปี 2528 ว่า ชีวิตที่ปรากฏในผีเสื้อและดอกไม้ บางคนมีตัวตนจริง และยังมีชีวิตอยู่ บางคนได้ตายไปแล้ว และในปัจจุบันนี้ ขบวนการขนข้าวสารและน้ำตาลทรายข้ามเขต ก็ได้เลิกไปแล้ว แต่ยังมีนักขนสินค้าหนีภาษีจากชายแดนมาเลเซียข้ามมายังประเทศไทย

พฤติกรรมคล้ายคลึงกัน แต่มีเนื้อแท้ที่ต่างกันมาก เด็กหนุ่ม ๆ ในเรื่องผีเสื้อและดอกไม้ส่วนใหญ่ทำผิดกฎหมายเพื่อให้มีชีวิตอยู่ แต่ขบวนการค้าของหนีภาษีหรือค้าของเถื่อนในปัจจุบัน เป็นไปในลักษณะของการค้าที่เลี่ยงกฎหมาย มีการลงทุนจำนวนมาก บางคนมีฐานะร่ำรวย และเลี้ยงสมัครพรรคพวก ดำเนินงานในลักษณะแก๊ง

รัศมี เผ่าเหลืองทอง เขียนวิจารณ์ไว้ในนิตยสารโลกหนังสือ ฉบับที่ 9 ประจำเดือนมิถุนายน 2521 ว่า นิพพานฯ เป็นชาวจังหวัดสงขลา เคยทำงานสอนหนังสืออยู่ระยะหนึ่ง ดังนั้น สายตาสังเกตสังกาของเขาจึงบันทึกเอาภาพชีวิตของผู้คนที่นั่น และความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ ประมวลกัน เรียบเรียงขึ้นเป็นนวนิยายขนาดสั้น มี ฮูยัน เด็กชายลูกกรรมกรรับจ้างแบกของตามสถานีรถไฟเป็นตัวชูโรง

การต่อสู้ดิ้นรน ความรู้สึกนึกคิดและเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับเขาเป็นเนื้อเรื่องส่วนใหญ่

หนังสือเล่มนี้ได้รับเลือกเป็นหนังสืออ่านนอกเวลา ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย วิชาภาษาไทยบังคับอีกด้วย

เมื่อครั้งสร้างเป็นภาพยนตร์นั้น กองถ่ายของยุทธนา มุกดาสนิท ได้ปักหลักถ่ายทำโดยใช้สถานที่จริงที่สอดคล้องกับในบทประพันธ์ ทั้งที่โรงเรียนบ้านเทพา และภายในตลาด บางส่วนถ่ายทำที่จังหวัดพัทลุง และมีฉากที่ต้องใช้ขบวนรถไฟ เห็นการปีนขึ้นหลังคาโบกี้รถไฟ การซุกซ่อนถุงข้าวสาร

เมื่อหนังสือเล่มนี้ กำลังจะได้รับการถ่ายทอดในรูปละครโทรทัศน์ มี สถาพร นาควิไลโรจน์ เป็นผู้กำกับการแสดง ผมไม่ได้คาดหวังว่าจะได้เห็นการถ่ายทำในสถานที่จริง เพราะงบประมาณและสถานการณ์บ้านเมืองคงไม่เอื้ออำนวยให้ แต่คงเก็บรายละเอียดจากบทประพันธ์ได้มากขึ้น ไม่ต้องจำกัดเพียง 2 ชั่วโมงอย่างในภาพยนตร์

หมายเลขบันทึก: 607820เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2016 19:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2016 06:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท