ประวัติเมืองสงขลา (31) เขาบันไดนาง


เมื่อมีเหมืองก็ต้องมีพนักงาน คนงานประจำเหมือง ซึ่งเป็นผู้โดยสารขาประจำที่ขึ้นลงสถานีเขาบันไดนางแห่งนี้นั่นเอง

หลายสิบปีก่อน เมื่อครั้งรถไฟสายหาดใหญ่-สงขลายังให้บริการอยู่นั้น เมื่อออกจากสถานีชุมทางหาดใหญ่มาแล้ว สถานีแรกที่รถไฟหยุดรับส่งผู้โดยสารคือ สถานีเขาบรรไดนาง

สถานีนี้อยู่ห่างจากหาดใหญ่ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือราว 7 กิโลเมตร แม้จะเป็นสถานีเล็ก ๆ ที่ว่ากันอย่างเป็นทางการแล้ว เป็นที่หยุดรถไฟเสียมากกว่า คือมีแต่ศาลาที่พักผู้โดยสาร ไม่มีนายสถานี ไม่มีรางให้ขบวนรถไฟสับหลีกกัน แต่เขาบรรไดนางก็มีเรื่องราวที่น่าสนใจไม่น้อย

ชื่อสถานีเขาบรรไดนาง ตั้งตามภูเขาที่อยู่ทางด้านทิศใต้ของทางรถไฟ เป็นเทือกเขาเล็ก ๆ สูงราว 300 เมตร ต่อเนื่องกับเขาคอหงษ์ที่รู้จักกันดี

ต่อมาทางราชการได้เปลี่ยนตัวสะกดการันต์เสียใหม่ บรรได เปลี่ยนเป็น บันได และหงษ์ เปลี่ยนเป็นหงส์ และใช้อย่างนี้ตลอดมา ต่อไปนี้ผมจึงขอสะกดให้ถูกต้องตามแบบปัจจุบัน

ที่จริงแล้วสถานีเขาบันไดนางไม่ได้มีมาตั้งแต่แรกสร้างทางรถไฟสายสงขลา ซึ่งเปิดเดินรถในปี พ.ศ. 2456 แรกสร้างนั้น สถานีรายทางระหว่างชุมทางอู่ตะเภากับสงขลามีเพียงสถานีควนหิน น้ำน้อย และน้ำกระจายเท่านั้น

เพิ่มสถานีขึ้นมาใหม่ สาเหตุมิใช่จากการขยายตัวของชุมชนแต่อย่างใด ด้านทิศเหนือของเขาบันไดนาง ส่วนที่ใกล้ทางรถไฟมีการทำเหมืองแร่ดีบุกและเหมืองหิน

เหมืองหินนี้ เป็นของการรถไฟฯ มีชื่อว่าหมวดศิลาเขาบันไดนาง มีทางแยกสั้น ๆ 200-300 เมตรเข้าสู่เหมือง เพื่อนำหินที่จำเป็นในการซ่อมบำรุงทางรถไฟออกมาใช้

เมื่อมีเหมืองก็ต้องมีพนักงาน คนงานประจำเหมือง ซึ่งเป็นผู้โดยสารขาประจำที่ขึ้นลงสถานีเขาบันไดนางแห่งนี้นั่นเอง

เหมืองหินแห่งนี้ เลิกกิจการไปตั้งแต่เมื่อใดยังค้นหลักฐานไม่พบ แต่ผู้ที่เดินทางด้วยรถยนต์ไปกลับระหว่างหาดใหญ่-สงขลาเป็นประจำในยุคสามสิบปีก่อน คงจำได้ว่า ที่เขาบันไดนางนี้ถนนกาญจนวนิชจะตัดกับทางรถไฟเป็นแบบซิกแซกหักศอกคล้ายตัวเอส โดยมีทางรถไฟผ่านถึงสองราง คือรางหลักและรางที่แยกเข้าเหมือง

ต่อมาเมื่อหมดยุคของเหมืองแร่และเหมืองหิน สถานีเขาบันไดนางก็หมดความจำเป็น ราวช่วง พ.ศ. 2510 การรถไฟได้ปรับปรุงการเดินรถไฟชานเมืองระหว่างหาดใหญ่กับสงขลา ให้มีป้ายหยุดรถรายทางมากขึ้น ตรงกับตลาด ชุมชนและสถานศึกษา เช่น ป้ายหยุดรถคลองแห คลองเปล บ้านเกาะหมี ตลาดน้ำน้อย เป็นต้น

เมื่อรถไฟสายสงขลายกเลิกการเดินรถไปในปี 2521 ทางโค้งเขาบันไดนางแห่งนี้จึงไม่มีขบวนรถผ่าน ไม่กี่ปีต่อมา กรมทางหลวงก็ได้ปรับแก้โค้ง สร้างถนนตามแนวใหม่ให้เป็นทางตรงมากขึ้น การจราจรจะได้ไม่ชะลอตัว

ปัจจุบันโค้งแห่งนี้อยู่ใกล้กับศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ตรงข้ามกับศูนย์ฯ คือทางรถไฟที่แยกเข้าเหมืองหินนั่นเอง

ส่วนชื่อเขาบันไดนางก็คงจะค่อย ๆ เลือนหายไป ชาวหาดใหญ่เรียกเขานี้รวมกันทั้งหมดว่าเขาคอหงส์ ด้านหลังสวนสาธารณะเทศบาลนครหาดใหญ่ มีทางขึ้นไปสักการะเจ้าแม่กวนอิมและพระพุทธมงคลมหาราช

หากมีโอกาสขึ้นไปแล้ว ลองมองไปทางทิศเหนือ คงจะเห็นร่องรอยแห่งอดีตอย่างชัดเจน

คำสำคัญ (Tags): #สงขลา#รถไฟ
หมายเลขบันทึก: 607818เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2016 19:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2016 06:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท