วงจรชีวิตแมลงเต่าทอง Ladybug


วงจรชีวิตแมลงเต่าทอง Ladybug


แมลงเต่าทอง,Ladybug, Ladybird, ด้วงเต่าทอง หรือที่เราเรียกกันว่า เต่าทอง เป็นแมลงปีกแข็ง จัดอยู่ในประเภทสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง มีหลายชนิดและหลายสี มีเต่าทองเป็นจำนวนมากที่เป็นตัวห้ำแมลง แต่บางชนิดก็ไม่ใช่ตัวห้ำแมลง แต่กลับกลายเป็นแมลงศตรูพืชเสียเอง เต่าทองชนิดที่เป็นตัวห้ำแมลง จะเริ่มเป็นนักล่าตั้งแต่ออกจากไข่ระยะเป็นตัวอ่อนเลยทีเดียว มันจะกิน เพลี้ยอ่อน ไร แมลงหวี่ขาว แมลงขนาดเล็ก และไข่แมลง


เราจะมาตามไปดูกันว่าเต่าทองชนิดนี้จะเป็นแบบไหน มีพฤติกรรมเป็นอย่างไร เจอคู่นี้ที่ต้นมะแว้ง จู๋จี๋กันนานทีเดียว





ประมาณหนึ่งอาทิตย์ต่อมา พบว่ามีเต่าทองมาวางไข่ที่ใต้ใบมะแว้ง ไม่แน่ใจว่าจะเป็นตัวเดียวกันกับตัวที่ผสมพันธุ์กันในภาพก่อนหน้านี้หรือไม่ ก็หน้าตามันเหมือนกันทุกต้วเลยนิ





ไม่ได้วางไข่แค่กลุ่มเดียวนะ

ยังมีไข่อีกกลุ่มหนึ่งด้วย

อยู่บนต้นมะแว้งต้นเดียวกัน





สามวัน ไข่ก็ฟักออกมา

เป็นตัวอ่อนตัวจิ๋ว

ปล.ภาพที่ต้องนอนหงายนอนตะแคงถ่ายภาพนี่ช่างทรมานจริงๆเลยเนาะ จัดแสงแฟรชก็ลำบากพอควรทีเดียว





ตัวอ่อนอายุสี่วัน เมื่อออกมาจากไข่ ตัวอ่อนก็ตั้งหน้าตั้งตากัดแทะกินผิวของใบมะแว้ง จนใบมะแว้งเฉาคล้ำไปเลย มันไม่ใช่เต่าทองชนิดที่เป็นตัวห้ำแมลง แต่กลับเป็นชนิดที่กินใบพืชเป็นอาหาร





ตัวอ่อนอายุ 5 วัน ตอนนี้ตัวอ่อนต่างกระจายกันไปตามใบมะแว้ง มันไต่ไปใบละตัว สองตัวบ้าง บางใบก็มีหลายตัว มันกัดแทะกินผิวของใบมะแว้งจนแหว่งเหลือเพียงร่องรอยการกัดแทะเอาไว้เป็นเส้นใยเล็กๆ ใบมะแว้งเกือบทั้งต้นเริ่ม เฉา เหี่ยว และใบเริ่มแห้ง





ตัวอ่อนเต่าทองอายุ 7 วัน

เริ่มมีขนยาวขึ้นรอบตัว

กัดกินผิวใบมะแว้งจนใบเฉาแห้งลงเรื่อยๆ





วันนี้เต่าทองมีอายุได้ 8 วัน มันตั้งหน้าตั้งตากัดแทะกินผิวของใบมะแว้ง เมื่อใบหนึ่งถูกกินจนหมด มันก็เปลี่ยนไปกินอีกใบหนึ่ง จะเห็นรอยกัดแทะด่างเป็นรอยอยู่ทั่วทั้งต้น





เมื่อตัวอ่อนของเต่าทองมีอายุได้ 10 – 12 วัน ก็เริ่มเข้าสู่ระยะดักแด้แล้ว เต่าทองตัวนี้มีอายุ10 วัน มันเริ่มเปลี่ยนแปลงแล้ว กำลังเดินเพื่อหาที่เหมาะสมที่จะเข้าระยะดักแด้ หากินเรื่อยมาจนถึงระยะการเปลี่ยนแปลงนี้ ยังไม่เห็นร่องรอยของปีกเต่าทองเลย





การเข้าดักแด้ของเต่าทอง ขนที่ขึ้นยาวๆอยู่เต็มตัว จะค่อยๆหดหายไป เหลือไว้เฉพาะส่วนทางก้นเท่านั้น ผิวหนังเริ่มแห้ง จนเห็นจุดสีชัดเจนขึ้น





และตอนนี้เจ้าเต่าทองก็ได้เข้าสู่ระยะดักแด้อย่างสมบูรณ์แล้ว

มันยึดตัวเองเกาะติดอยู่กับใบมะแว้ง

ซึ่งส่วนใบนั้นเหี่ยวเฉา

แต่ก้านใบยังเขียวสดอยู่

ที่ใบนี้มีดักแด้อยู่สองตัว





ตัวอ่อนเต่าทองเข้าดักแด้อยู่ประมาณ 5 – 10 วัน ก็จะเริ่มออกจากดักแด้ ภาพที่นำมาแสดงนี้เป็นภาพที่ตัวอ่อนเริ่มออกจากดักแด้ โดยดักแด้จะปริแยกออกทางด้านหัวของเต่าทอง ตัวนี้ใช้เวลาเป็นดักแด้ 5วันก็ออกจากดักแด้





คราบดักแด้จะปริแยกออกทางด้านหัวของเต่าทอง เต่าทองตัวเต็มวัยก็ค่อยๆเดินออกมา ตอนออกมาใหม่ๆ ยังมีสีอ่อนๆ มีจุดจางๆ และมีปีกออกมาด้วยแล้ว





ถ่ายมาให้เห็นกันจะจะ ภาพทางด้านซ้ายมือ เป็นภาพในวินาทีแรกที่เต่าทองเริ่มโผล่ส่วนหัวออกมาจากคราบดักแด้ ส่วนภาพทางขวามือ เป็นภาพที่เต่าทองหลุดออกมาจากคราบดักแด้จนหมดทั้งตัว





ให้ชมอีกมุมหนึ่ง

เต่าทองกำลังเดินออกจากคราบดักแด้

ตอนออกมาใหม่ๆเต่าทองยังมีสีอ่อนๆอยู่





เมื่อเต่าทองออกมาจากคราบดักแด้ สีของเต่าทองก็จะค่อยๆเพิ่มความเข้มมากขึ้น จุดสีก็เข้มขึ้น และเต่าทองก็เริ่มออกกัดแทะกินใบมะแว้งต่อไป หมดใบหนึ่ง ก็ย้ายไปกัดกินอีกใบหนึ่ง





เมื่อเต่าทองกินอาหารจนหมด ใบมะแว้งทั้งต้นถูกกัดกินจนไม่เหลือ เต่าทองก็จำต้องย้ายที่ เพื่อหาแหล่งอาหารใหม่ เต่าทองก็ค่อยๆทะยอยบินออกจากต้นมะแว้งนั้นไปทีละตัวสองตัว





เต่าทองพากันไปหาแหล่งอาหารใหม่กันหมดแล้ว เหลือเพียงคราบดักแด้ ใบไม้ที่เฉาแห้ง และต้นมะแว้งต้นนี้ไว้ รอให้ต้นไม้ดูดกินอาหารจากดิน เพื่อผลิใบเติบโตขึ้นมาแทนใบใหม่





เราจะตามไปดูเต่าทองที่ต้นมะแว้งต้นใหม่กัน เต่าทองที่บินย้ายมาต่างก็หากัดกินใบมะแว้งกินเป็นอาหาร พอหมดใบหนึ่ง ก็ย้ายไปอีกใบหนึ่ง เต่าทองตัวนี้เป็นเต่าทองเพศเมีย เมื่อใช้ชีวิตมาสักระยะหนึ่ง ก็ถึงวัยเจริญพันธุ์





เดินไปเดินมา

เดินมาเจอกับเต่าทองเพศผู้เข้าแล้ว





เจ้าเต่าทองตัวผู้ไม่รอช้า พอเจอหน้าตัวเมีย ก็โดดขึ้นขี่ทันที เห็นมาแบบนี้จริงๆนะครับไม่ได้แกล้งมาเขียนให้หัวเราะกันเล่น และมันก็เป็นธรรมชาติของแมลง ที่จะต้องมีการผสมพันธุ์ เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ของตัวเองเอาไว้ เป็นวัฏจักร วงจรชีวิตของเต่าทอง





ไม่ได้เจอการผสมพันธุ์เพียงแค่คู่เดียวหรอกนะ เจอหลายคู่เลย วงจรชีวิตของเต่าทองก็จะหมุนวนกลับมาอีก จากวางไข่ ประมาณ 3 วัน ไข่ก็ฟักเป็นตัวอ่อน ตัวอ่อนหากินไปประมาณ 10-12 วัน ก็เข้าสู่ระยะดักแด้ เป็นดักแด้อยู่ประมาณ 5-10 วัน ก็ออกมาเป็นเต่าทองมีปีกตัวเต็มวัย ทำมาหากินแล้วผสมพันธุ์ เริ่มวงจรชีวิตใหม่





ขอขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาให้กำลังใจ
ขอบคุณ gotoknow
ที่ให้พื้นที่ดีๆในการแบ่งปัน
ขอบคุณครับ



หมายเลขบันทึก: 607744เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2016 12:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2016 12:18 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ได้ความรู้ดีดี มากเลยค่ะ

โอ้โห ขอบคุณมากๆ เลยค่ะ ภาพสวยมากๆ ได้เห็นวงจรชีวิตแมลงเต่าทองชัดเจน จะให้ลูกชายดูค่ะ ที่ผ่านมาเคยเห็นแต่วงจรชีวิตยุง กบ ผีเสื้อ ค่ะ

Dr. Ple
สวัสดีครับอาจารย์
ผู้อ่านได้ประโยชน์จากการอ่าน
เป็นสุดยอดความสุขของคนเขียนแล้วครับ
ขอบคุณครับ

จันทวรรณ
สวัสดีครับอาจารย์
ยินดีมากครับอาจารย์
ขอขอบคุณอาจารย์มากครับ

ได้ใกล้ชิดธรรมชาติสวยงาม...เรียนรู้ธรรมชาติไปในตัวนะค

Pojana Yeamnaiyana

สวัสดีครับอาจารย์

ขอขอบคุณอาจารย์มากครับ

ที่แวะมาเยี่ยมเยียนลุงชาติ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท