Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

บุตรที่เกิดในประเทศมาเลเซียจากมารดาสัญชาติไทย+บิดาตามกฎหมายสัญชาติมาเลเซีย ต้องขอวีซ่าเข้าประเทศไทยหรือไม่ ? อย่างไร ?


กรณีศึกษานางสาวสายชล : การกำหนดสิทธิเข้าเมืองไทยของบุตรที่เกิดในประเทศมาเลเซียเมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๓ จากมารดาสัญชาติไทยกับบิดาตามกฎหมายสัญชาติมาเลเซีย

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๙

------------

ข้อเท็จจริง

-------------

ปรากฏข้อเท็จจริงว่า[1] นางสาวสายชล คนสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายมาเลเซียกับนายฮาซิค คนสัญชาติมาเลเซียในทะเบียนราษฎรมาเลเซีย ณ เมืองจอร์จทาวน์ รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย ใน พ.ศ.๒๕๕๐ และบุคคลทั้งสองมีบุตรด้วยกัน ๑ คน ซึ่งมีชื่อว่า “เด็กชายอามิน” ซึ่งเกิด ณ เมืองจอร์จทาวน์ รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๓

เด็กชายอามินได้รับการแจ้งการเกิดในทะเบียนราษฎรมาเลเซียในสถานะคนสัญชาติมาเลเซีย แต่ไม่ได้มีการแจ้งการเกิดของเด็กชายผู้นี้ในทะเบียนราษฎรไทย อนึ่ง กฎหมายมาเลเซียยังห้ามการถือสองสัญชาติ เด็กชายอามินจึงถือเอกสารรับรองสถานะคนสัญชาติมาเลเซียที่ออกโดยทางราชการมาเลเซียเท่านั้น

ส่วนนางสาวสายชลไม่เคยร้องใช้สิทธิในสัญชาติมาเลเซียโดยการสมรสกับชายสัญชาติมาเลเซีย และไม่เคยร้องขอเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐมาเลเซีย เธอร้องขอเพียงสิทธิอาศัยไม่ถาวรกับครอบครัว กล่าวคือ สามีตามกฎหมาย และบุตร ซึ่งมีสถานะเป็นคนสัญชาติมาเลเซีย การต่อวีซ่าครอบครัวเป็นไปแบบปีต่อปี

ในราว พ.ศ.๒๕๕๕ นางสาวสายชลมีปากเสียงกับนายฮาซิคอย่างรุนแรง เธอจึงตกลงแยกทางกับนายฮาซิค แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนหย่ากัน เพราะยังตกลงกันในเรื่องการเลี้ยงดูเด็กชายอามินไม่ได้ ทั้งนางสาวสายชลและนายฮาซิคต่างก็อยากเป็นผู้เลี้ยงดูเด็กชายอามินแต่ผู้เดียว แต่อย่างไรก็ตาม ในวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๕ นางสาวสายชลตัดสินใจเดินทางกลับประเทศไทยแต่ผู้เดียว ส่วนเด็กชายอามินยังคงอาศัยอยู่กับบิดาในเมืองจอร์จทาวน์ รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย เขาไม่เคยเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเลย

ในเดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๕๖ นางสาวสายชลพยายามจะเจรจากับนายฮาซิคเพื่อขอสิทธิเลี้ยงดูเด็กชายอามิน และขอนำเด็กชายอามินมาอาศัยกับตนเองในประเทศไทย แต่การเจรจาก็ไม่ประสบผลสำเร็จ นายฮาซิคไม่ยินยอมรับข้อเสนอของนางสาวสายชล แต่ยอมรับที่จะจดทะเบียนหย่าขาดจากนางสาวสายชล และยอมรับที่จะจ่ายค่าเลี้ยงดูให้แก่นางสาวสายชล จนกว่าเธอผู้นี้จะมีคู่สมรสใหม่

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๙ นางสาวสายชลตัดสินใจที่จะร้องขอต่อศาลเพื่อขอใช้สิทธิเลี้ยงดูเด็กชายอามินแต่ผู้เดียว เธอจึงเริ่มต้นหารือกับสำนักงานกฎหมายที่มีชื่อเสียงหลายแห่งเพื่อการนี้ เธอยังลังเลว่า จะร้องขอต่อศาลไทย หรือศาลมาเลเซีย หรือทั้งสองศาล ทั้งนี้ เพื่อที่จะนำคำสั่งศาลไปขอรับตัวบุตรชายมาอยู่กับเธอในประเทศไทย

----------

คำถาม

----------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ถามว่า ในระหว่างที่เด็กชายอามินยังมิได้รับรองสถานะคนสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย และในกรณีที่เด็กชายอามินจะมาเยี่ยมนางสาวสายชล ตลอดจนตาและยายในประเทศไทย เขาจะต้องร้องขอวีซ่าเพื่อการเดินทางเข้าประเทศไทยหรือไม่ ? เพราะเหตุใด ?[2]

----------------

แนวคำตอบ

----------------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล สิทธิในการเข้าเมืองย่อมเป็นไปภายใต้กฎหมายคนเข้าเมืองของรัฐเจ้าของดินแดนซึ่งเป็นรัฐคู่กรณี ทั้งนี้ เพราะเรื่องการเข้าเมืองเป็นเรื่องตามกฎหมายมหาชนย่อมเป็นไปภายใต้กฎหมายมหาชนภายในของรัฐเจ้าของดินแดน ซึ่งเป็นรัฐคู่กรณี แต่อย่างไรก็ตาม รัฐที่เกี่ยวข้องอาจจะมีการกำหนดเป็นอย่างอื่น

ในข้อเท็จจริงนี้ กฎหมายมหาชนของรัฐคู่กรณี ก็คือ กฎหมายไทยว่าการเข้าเมืองไทย ในปัจจุบัน บทกฎหมายหลัก ก็คือ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ จึงต้องใช้กฎหมายนี้พิจารณาปัญหาการเข้าเมืองไทยของเด็กชายอามิน

โดยหลักกฎหมายสากลว่าด้วยการเข้าเมือง การเข้าเมืองของคนชาติเป็นสิทธิที่เด็ดขาด ในขณะที่การเข้าเมืองของคนต่างด้าวเป็นสิทธิที่มีเงื่อนไข จะเห็นว่า บทบัญญัติใน พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ก็ยอมรับแนวคิดดังกล่าวเช่นกัน โดยผลของมาตรา ๔ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ คำว่า “คนต่างด้าว” หมายถึงบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย และคำว่า “คนเข้าเมือง” หมายถึงคนต่างด้าวเท่านั้น เมื่อเด็กชายอามินมีมารดาเป็นคนสัญชาติไทย เขาจึงมีสิทธิในสัญชาติไทยตามมารดา เขาจึง “น่า” จะมิใช่คนต่างด้าวและคนเข้าเมืองในสายตาของรัฐไทย เธอจึง “น่า” จะมีสิทธิเข้าเมืองไทยโดยไม่มีเงื่อนไข

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่มีการร้องขอเพิ่มชื่อเด็กชายอามินในทะเบียนราษฎรไทย รัฐไทยจึงยังไม่มีโอกาสรับรองสิทธิในสัญชาติไทยให้แก่เด็กชายผู้นี้ แม้ว่าเขาน่าจะมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยผลอัตโนมัติของกฎหมาย จึงอาจใช้สิทธิได้โดยพลัน แต่หากเขายังไม่ใช้สิทธิในสัญชาตินี้ เขาจึงยังไม่ได้รับการรับรองว่า มีสถานะเป็นคนสัญชาติไทย โดยผลต่อไป เด็กชายอามินจึงถูกถือว่า “คนต่างด้าว” โดยมาตรา ๕๗ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ จนกว่าจะพิสูจน์ความเป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทย ทั้งนี้ เป็นตามบัญญัติแห่งมาตรา ๕๗ วรรคแรก ซึ่งบัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์แห่งพระราชบัญญัตินี้ ผู้ใดอ้างว่าเป็นคนมีสัญชาติไทย ถ้าไม่ปรากฏหลักฐานอันเพียงพอที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะเชื่อถือได้ว่าเป็นคนมีสัญชาติไทย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นเป็นคนต่างด้าวจนกว่าผู้นั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสัญชาติไทย

ดังนั้น ตราบเท่าที่เด็กชายอามินยังไม่อาจได้รับการรับรองสิทธิในสัญชาติไทย เขาก็จะต้องเดินทางเข้ามาในประเทศไทยโดยใช้หนังสือเดินทางมาเลเซียในสถานะคนสัญชาติมาเลเซีย ในสถานการณ์นี้ เขาก็จะต้องร้องขออนุญาตเข้าเมืองตามมาตรา ๑๒ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ซึ่งรัฐไทยบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวนี้ต่อคนต่างด้าวในสถานการณ์ทั่วไป

โดยสรุป เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทยโดยผลอัตโนมัติของกฎหมายย่อมทำให้เด็กชายอามินมีสิทธิเข้ามาในประเทศไทยอย่างเด็ดขาดและไม่มีสิ้นสุด ตราบเท่าที่ยังไม่เสียสิทธิในสัญชาติไทย แต่อย่างไรก็ตาม การที่เขาไม่มีเอกสารรับรองสถานะคนสัญชาติไทยที่ออกโดยรัฐไทยอาจทำให้เขามีปัญหาในการผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองไทย การขอวีซ่าเข้าเมืองไทยดังเช่นคนต่างด้าวจึงเป็นการจัดการปัญหาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

-------------------------------------------------------------



[1] เป็นข้อเท็จจริงที่สร้างขึ้นจากเรื่องจริงที่หารือเข้ามาโดยประชาชนเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๙ ยังโครงการบางกอกคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[2] เป็นข้อสอบในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล หลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต ภาคปกติ ศูนย์รังสิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา ๒๕๕๗ ภาคที่ ๒

หมายเลขบันทึก: 607735เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2016 08:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2016 08:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท