Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

บุตรที่เกิดในประเทศมาเลเซียจากมารดาสัญชาติไทยและบิดาตามกฎหมายสัญชาติมาเลเซีย มีสิทธิในสัญชาติไทยหรือไม่ ? เพียงใด ?


กรณีศึกษานางสาวสายชล : การกำหนดสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดาของบุตรที่เกิดในประเทศมาเลเซียเมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๓ จากมารดาสัญชาติไทยกับบิดาตามกฎหมายสัญชาติมาเลเซีย

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๙

------------

ข้อเท็จจริง

-------------

ปรากฏข้อเท็จจริงว่า[1] นางสาวสายชล คนสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายมาเลเซียกับนายฮาซิค คนสัญชาติมาเลเซียในทะเบียนราษฎรมาเลเซีย ณ เมืองจอร์จทาวน์ รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย ใน พ.ศ.๒๕๕๐ และบุคคลทั้งสองมีบุตรด้วยกัน ๑ คน ซึ่งมีชื่อว่า “เด็กชายอามิน” ซึ่งเกิด ณ เมืองจอร์จทาวน์ รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๓

เด็กชายอามินได้รับการแจ้งการเกิดในทะเบียนราษฎรมาเลเซียในสถานะคนสัญชาติมาเลเซีย แต่ไม่ได้มีการแจ้งการเกิดของเด็กชายผู้นี้ในทะเบียนราษฎรไทย อนึ่ง กฎหมายมาเลเซียยังห้ามการถือสองสัญชาติ เด็กชายอามินจึงถือเอกสารรับรองสถานะคนสัญชาติมาเลเซียที่ออกโดยทางราชการมาเลเซียเท่านั้น

ส่วนนางสาวสายชลไม่เคยร้องใช้สิทธิในสัญชาติมาเลเซียโดยการสมรสกับชายสัญชาติมาเลเซีย และไม่เคยร้องขอเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐมาเลเซีย เธอร้องขอเพียงสิทธิอาศัยไม่ถาวรกับครอบครัว กล่าวคือ สามีตามกฎหมาย และบุตร ซึ่งมีสถานะเป็นคนสัญชาติมาเลเซีย การต่อวีซ่าครอบครัวเป็นไปแบบปีต่อปี

ในราว พ.ศ.๒๕๕๕ นางสาวสายชลมีปากเสียงกับนายฮาซิคอย่างรุนแรง เธอจึงตกลงแยกทางกับนายฮาซิค แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนหย่ากัน เพราะยังตกลงกันในเรื่องการเลี้ยงดูเด็กชายอามินไม่ได้ ทั้งนางสาวสายชลและนายฮาซิคต่างก็อยากเป็นผู้เลี้ยงดูเด็กชายอามินแต่ผู้เดียว แต่อย่างไรก็ตาม ในวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๕ นางสาวสายชลตัดสินใจเดินทางกลับประเทศไทยแต่ผู้เดียว ส่วนเด็กชายอามินยังคงอาศัยอยู่กับบิดาในเมืองจอร์จทาวน์ รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย เขาไม่เคยเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเลย

ในเดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๕๖ นางสาวสายชลพยายามจะเจรจากับนายฮาซิคเพื่อขอสิทธิเลี้ยงดูเด็กชายอามิน และขอนำเด็กชายอามินมาอาศัยกับตนเองในประเทศไทย แต่การเจรจาก็ไม่ประสบผลสำเร็จ นายฮาซิคไม่ยินยอมรับข้อเสนอของนางสาวสายชล แต่ยอมรับที่จะจดทะเบียนหย่าขาดจากนางสาวสายชล และยอมรับที่จะจ่ายค่าเลี้ยงดูให้แก่นางสาวสายชล จนกว่าเธอผู้นี้จะมีคู่สมรสใหม่

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๙ นางสาวสายชลตัดสินใจที่จะร้องขอต่อศาลเพื่อขอใช้สิทธิเลี้ยงดูเด็กชายอามินแต่ผู้เดียว เธอจึงเริ่มต้นหารือกับสำนักงานกฎหมายที่มีชื่อเสียงหลายแห่งเพื่อการนี้ เธอยังลังเลว่า จะร้องขอต่อศาลไทย หรือศาลมาเลเซีย หรือทั้งสองศาล ทั้งนี้ เพื่อที่จะนำคำสั่งศาลไปขอรับตัวบุตรชายมาอยู่กับเธอในประเทศไทย

----------

คำถาม

----------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ถามว่า จะต้องใช้กฎหมายใดบ้างกำหนดสิทธิในสัญชาติไทยของเด็กชายอามิน ? เพราะเหตุใด ? และด้วยข้อกฎหมายนี้ เขามีสิทธิในสัญชาติไทยหรือไม่ ? เพราะเหตุใด ? อย่างใด ?[2]

----------------

แนวคำตอบ

----------------

ประเด็นของเรื่อง เป็นคำถามเพื่อให้กำหนดสิทธิในสัญชาติไทยของมนุษย์/บุคคลธรรมดา จึงเป็นเรื่องของการพิจารณาสัมพันธภาพระหว่างรัฐอธิปไตยและบุคคลตามกฎหมายเอกชน เป็นกรณีของนิติสัมพันธ์ของเอกชนตามกฎหมายมหาชนภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ จึงเป็นเรื่องของกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล สิทธิในสัญชาติของมนุษย์/บุคคลธรรมดา ย่อมเป็นไปตามกฎหมายมหาชนภายในของรัฐเจ้าของสัญชาติ ทั้งนี้ เว้นแต่จะมีการกำหนดเป็นอย่างอื่น โดยทางปฏิบัติของนานารัฐ รัฐมักยอมรับรองสิทธิในสัญชาติของตนให้แก่มนุษย์ที่มีจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงกับตน ซึ่งอาจจะเป็นจุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิด หรือเป็นจุดเกาะเกี่ยวภายหลังการเกิด และหลักคิดที่นานารัฐมักใช้ในการกำหนดสัญชาติไทย ก็คือ (๑) หลักบุคคล (Personal Principle) และ (๒) หลักดินแดน (Territorial Principle)

โดยพิจารณาหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลและทางปฏิบัติของนานารัฐ เพื่อกำหนดสิทธิในสัญชาติไทยของเด็กชายอามิน เราจึงต้องเริ่มต้นพิจารณาจากกฎหมายไทยว่าด้วยสัญชาติไทยที่มีผลในขณะที่เด็กชายอามินเกิด อันได้แก่ พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒ และ ๓) พ.ศ.๒๕๓๕ รวมถึง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ทั้งนี้ เพราะเป็นกฎหมายสัญชาติไทยลายลักษณ์อักษรที่มีผลในเด็กชายอามินเกิด กล่าวคือ ในวันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๓

เราพบว่า หลักกฎหมายไทยว่าด้วยสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดดังปรากฏในกฎหมายไทยลายลักษณ์อักษรว่าด้วยสัญชาติไทยดังกล่าว บุคคลย่อมมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดในสถานการณ์ทั่วไป หากมีข้อเท็จจริงที่แท้จริงกับประเทศไทยใน ๔ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(๑) เป็นบุคคลที่เกิดจากบิดาทั้งตามข้อกฎหมายและตามข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นคนสัญชาติไทย ทั้งนี้ เป็นไปตาม มาตรา ๗ (๑) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ ประกอบกับมาตรา ๗ วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ และ พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ จะเห็นว่า สัญชาติไทยในสถานการณ์นี้จึงเรียกกันว่า “สัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดา”

(๒) เป็นบุคคลที่เกิดจากมารดาซึ่งเป็นคนสัญชาติไทย ทั้งนี้ เป็นไปตาม มาตรา ๗ (๑) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ จะเห็นว่า สัญชาติไทยในสถานการณ์นี้จึงเรียกกันว่า “สัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดา”

(๓) เป็นบุคคลที่เกิดในประเทศไทย โดยบิดาและมารดาเป็นคนที่มีสิทธิอาศัยถาวรในประเทศไทย หากบุพการีทั้งสองเป็นคนต่างด้าว ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะต้องไม่เป็นบุคคลที่มีเอกสิทธิ์และความคุ้มกันตามกฎหมายระหว่างประเทศ และทั้งสองฝ่ายจะต้องเป็นคนต่างด้าวที่มีลักษณะการเข้าเมืองแบบถาวร ทั้งนี้ เป็นไปตาม มาตรา ๗ (๒) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ โดยไม่ตกอยู่ภายใต้ มาตรา ๗ ทวิ วรรค ๑ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ และมาตรา ๘ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ฉบับดั้งเดิม จะเห็นว่า สัญชาติไทยในสถานการณ์นี้จึงเรียกกันว่า “สัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักดินแดนโดยผลของกฎหมาย”

(๔) เป็นบุคคลที่เกิดในประเทศไทย โดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาในประเทศไทยในลักษณะไม่ถาวร โดยบุพการีต่างด้าวฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะต้องไม่เป็นบุคคลที่มีเอกสิทธิ์และความคุ้มกันตามกฎหมายระหว่างประเทศ แต่มีมติคณะรัฐมนตรีกำหนดหลักเกณฑ์การได้สัญชาติไทยนี้ และมีคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอนุญาตให้ใช้สัญชาติไทยนี้ ทั้งนี้ เป็นไปตาม มาตรา ๗ ทวิ วรรค ๒ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ โดยไม่ตกอยู่ภายใต้มาตรา ๘ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ฉบับดั้งเดิม จะเห็นว่า สัญชาติไทยในสถานการณ์นี้จึงเรียกกันว่า “สัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักดินแดนแบบมีเงื่อนไข”

โดยพิจารณาข้อเท็จจริงของเด็กชายอามินแล้ว จะเห็นว่า เขาย่อมมีสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติเป็น “คนสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดา” ทั้งนี้ เพราะ นางสาวสายชล ผู้เป็นมารดา เป็นคนที่ได้รับการรับรองสิทธิในสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย ขอให้ตระหนักว่า เด็กชายอามินจึงมีสิทธิในสัญชาติไทยประเภทนี้ตั้งแต่เกิด และเป็นสัญชาติไทยโดยผลอัตโนมัติของกฎหมาย จึงเป็นสัญชาติไทยในลักษณะที่ไม่มีเงื่อนไข

แต่อย่างไรก็ตาม จะเห็นจากข้อเท็จจริงว่า บุพการีของเด็กชายอามินยังไม่ได้แจ้งการเกิดของเขาในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย ซึ่งเป็นเจ้าของสัญชาติ ดังนั้น จึงทำให้เด็กชายอามินจึงยังไม่ได้ใช้สิทธิในสัญชาตินี้ แม้ว่า จะมีสิทธิในสัญชาตินี้มาตั้งแต่เกิด

ขอให้ตระหนักต่อไปว่า บุพการีอาจใช้สิทธิในสัญชาติไทยนี้เพื่อเด็กชายอามินเมื่อใดก็ได้ หรือเมื่อเด็กชายผู้นี้เติบโตขึ้นจนอาจใช้สิทธิในสัญชาตินี้ได้เอง เขาก็อาจจะมาใช้สิทธิที่จะร้องขอให้เขต/เทศบาล/อำเภอ ซึ่งทำหน้าที่นายทะเบียนตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรไทย เพื่อบันทึกเขาในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยในสถานะคนสัญชาติไทยได้ ทั้งนี้ เป็นไปภายใต้มาตรา ๓๖ วรรค ๑ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งบัญญัติว่า “ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนบ้านไว้ทุกบ้าน สำหรับผู้มีสัญชาติไทยและคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยแต่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร”

ในกรณีที่เขต/เทศบาล/อำเภอปฏิเสธหน้าที่ที่จะบันทึกรายการสถานะบุคคลของเด็กชายอามินในทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) ในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยในสถานะคนสัญชาติไทยโดยการเกิด เด็กชายอามินก็อาจใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรมทั้งนอกหรือในศาล ซึ่งกระบวนการยุติธรรมที่มักใช้ในสถานการณ์นี้มีได้ ๒ ทาง อันได้แก่ (๑) เด็กชายอามินอาจร้องทุกข์ไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็อาจใช้อำนาจตามกฎหมายรัฐธรรมนูญที่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ดังกล่าวต่อศาลปกครองได้แทนเด็กชายอามิน หรือ (๒) เด็กชายอามินอาจฟ้องเจ้าหน้าที่ดังกล่าวต่อศาลปกครองได้โดยตัวของเขาเอง และหากฟังว่า เจ้าหน้าที่ดังกล่าวคนใดมีเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่ดังกล่าวก็ย่อมมีความผิดตามมาตรา ๑๕๗ แห่งประมวลกฎหมายอาญาในฐานเจ้าพนักงานไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย และหากเด็กชายอามินมีความเสียหายอันเกิดจากการไม่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว เด็กชายอามินก็อาจฟ้องเจ้าหน้าที่ดังกล่าวฐานละเมิดเพื่อเรียกค่าเสียหายได้อีก

นอกจากนั้น แม้เด็กชายอามินจะได้รับการรับรองสถานะคนสัญชาติมาเลเซียในทะเบียนราษฎรของรัฐมาเลเซียแล้ว และกฎหมายของประเทศดังกล่าวห้ามการถือสิทธิในสองสัญชาติก็ตาม ข้อเท็จจริงดังกล่าวก็ไม่ทำให้เด็กชายอามินเสียสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดา และเป็นข้อจำกัดการใช้สิทธิในสัญชาตินี้ ขอให้เราตระหนักว่า กฎหมายไทยมิได้ห้ามการถือสิทธิในสองสัญชาติ

แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อมิให้เด็กชายอามินตกเป็นผู้ละเมิดกฎหมายมาเลเซีย ซึ่งห้ามการถือสิทธิในสองสัญชาติ เขาก็อาจกลับไปสละสิทธิในสัญชาติมาเลเซีย ก่อนที่จะมาใช้สิทธิในสัญชาติไทย อย่างไรก็ดี เราพบว่า นานารัฐมีแนวโน้มที่จะปฏิรูปกฎหมายของตนให้ยอมรับเสรีภาพในการถือสิทธิในสัญชาติ โดยเฉพาะในทางปฏิบัติของนานารัฐในระบบประชาคม เราพบด้วยว่า เวียดนามและกัมพูชา ซึ่งเคยห้ามการถือสองสัญชาติ ก็ได้ยกเลิกข้อจำกัดนี้แล้ว ดังนั้น ในอนาคต ก็มีความเป็นไปได้ที่มาเลเซียจะยกเลิกการห้ามถือสองสัญชาติเช่นกัน

โดยสรุป ท่ามกลางอุปสรรคที่อาจมีตามกฎหมายมาเลเซียในปัจจุบัน เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เด็กชายอามินมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดาโดยผลอัตโนมัติของกฎหมาย ทั้งนี้ ไม่ว่า เขาจะใช้สิทธิในสัญชาตินี้หรือไม่ ก็ตาม

-------------------------------------------------------------



[1] เป็นข้อเท็จจริงที่สร้างขึ้นจากเรื่องจริงที่หารือเข้ามาโดยประชาชนเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๙ ยังโครงการบางกอกคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[2] เป็นข้อสอบในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล หลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต ภาคปกติ ศูนย์รังสิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา ๒๕๕๘ ภาคที่ ๒

หมายเลขบันทึก: 607734เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2016 07:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2016 07:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท