รองศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ทยศยิ่งยง
รองศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ทยศยิ่งยง Assoc. Dr.Yongyootdha Tayossyingyong

ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับการวิจัย (Introduction to Research)


  1. วามหมายของการวิจัย(Research Meaning)มีนักวิชาการหลายท่านทั้งไทยและเทศได้ให้คำนิยามอธิบายความหมายเกี่ยวกับการวิจัยไว้อย่างน่าสนใจ (อารมณ์ สนานภู่ : 2545, ศิริรัตน์ วีรธาตยานุกูล : 2545, บุญธรรม กิจปรีดาบริสุทธิ์.2546, สุรางค์ จันทวานิช.2546 : 2, Best, and Kahn 1989 : 17, Mertens, D.M., 1998 : 2,Kerlinger and Lee 2000 : 14, Gay and Airasiam, 2000 : 3, และgraziano, A.M., 2000 : 28 )สามารถสรุปความคิดที่เป็นจุดร่วมได้ว่า การวิจัย หมายถึง กระบวนการค้นคว้า แสวงหาหรือพัฒนาความรู้ ข้อเท็จจริง หรือปรากฏการณ์ธรรมชาติ อย่างมีระบบ ระเบียบ แบบแผน น่าเชื่อถือ หรือโดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์


2. จุดมุ่งหมายของการวิจัย(Research Purpose)จุดมุ่งหมายที่สำคัญของการวิจัย สามารถสรุปได้ ดังนี้ (พิชิต ฤทธิ์จรูญ,2547: 16-17และสุวิมล ติรกานันท์, 2548: 7)

    1. เพื่อการแก้ปัญหา (Problem Solving Research) เนื่องจากมนุษย์ประสบปัญหารอบด้าน มนุษย์จึงทำการวิจัยเพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานในองค์การหรือหน่วยงาน หรือปัญหาในชีวิตประจำวัน
    2. เพื่อการปรับปรุงพัฒนา (Improvement and Development) มนุษย์มีความอยากรู้อยากเห็น และมีความคิดสร้างสรรค์ จึงทำการวิจัยเพื่อมุ่งปรับปรุงและพัฒนาวิธีการทำงานและวิถีชีวิต ให้มีประสิทธิภาพและมีความก้าวหน้ามากขึ้น
    3. เพื่อพิสูจน์ทฤษฎี (Theory Testing Research) เนื่องจากความไม่จีรังของความจริงและทฤษฎี กล่าวคือความจริงและทฤษฎีต่าง ๆที่สร้างขึ้นมานั้น สามารถเปลี่ยนแปลงได้ภายใต้กฎเกณฑ์ของธรรมชาติ มนุษย์จึงทำการวิจัยเพื่อตรวจสอบว่าทฤษฎีที่ค้นพบจากการทำวิจัยครั้งก่อน ๆนั้น ยังคงเป็นความจริงอยู่หรือไม่เมื่อเวลาเปลี่ยนไปหากไม่จริง ทฤษฎีนั้นก็ไม่สามารถนำไปใช้ได้
    4. เพื่อสร้างทฤษฎี (Theory Development Research) มนุษย์ต้องการการจัดระบบของความจริง จึงทำการวิจัยเพื่อมุ่งสร้างทฤษฎีใหม่ที่จะนำไปช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆใช้เพื่อการอ้างอิง (generalization) การบรรยาย (Description) การอธิบาย (explanation) การทำนาย (prediction) และการควบคุม (control) ปรากฏการณ์ต่าง ๆทั้งทางธรรมชาติและพฤติกรรมของมนุุษย์


3. ประโยชน์ของการวิจัย (Research Benefits) การวิจัยมีประโยชน์ สรุปได้ คือ

    1. ช่วยส่งเสริมความรู้ทางด้านวิชาการและศาสตร์สาขาต่าง ๆ ให้มีการค้นคว้าข้อเท็จจริงมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพราะว่าการวิจัยจะทำให้มีการค้นคว้าหาความรู้ใหม่ ๆ เพิ่มเติมซึ่งทำให้วิทยาการต่าง ๆ เจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ทั้งตัวผู้วิจัยและผู้นำเอาเอกสารการวิจัยไปศึกษา
    2. นำความรู้ที่ได้จากการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติ หรือแก้ปัญหาโดยตรง ช่วยทำให้ผู้ปฏิบัติได้เลือกวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุด ก่อให้เกิดการประหยัด
    3. ช่วยในการกำหนดนโยบาย หรือหลักปฏิบัติงานต่าง ๆ เป็นไปด้วยความถูกต้อง เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
    4. ช่วยให้ค้นพบทฤษฎีและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ เพื่อให้มนุษย์ได้ดำเนินชีวิตอยู่ในโลกอย่างมีความสุขสบาย
    5. ช่วยพยากรณ์ผลภายหน้าของสถานการณ์ ปรากฏการณ์และพฤติกรรมต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง


4. ประเภทของการวิจัย (Research Types) การวิจัยแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ (สวัสดิ์ สุคนธรังสี, 2517: 5-9)

    1. การวิจัยทางวิทยาศาสตร์
    2. การวิจัยทางสังคมศาสตร์


การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ (Science Research) เป็นผลของการวิจัยปรากฏการณ์ทั้งหลายของธรรมชาติ หรือสิ่งต่าง ๆที่เกิดขึ้นในโลก ตลอดไปจนถึงในระบบสุริยจักรวาล และสุริยจักวาลอื่น ๆ ปรากฏการณ์ของธรรมชาตินี้มีลักษณะ อาทิ

      • ทั้งสิ่งที่มองเห็น เช่น ต้นไม้ ดวงดาว ฯลฯ
      • สิ่งที่มองไม่เห็น เช่น ลม เสียง ฯลฯ
      • สิ่งที่มีชีวิต เช่น สัตว์ พืช ฯลฯ
      • สิ่งที่ไม่มีชีวิต เช่น ก้อนหิน โลหะ ฯลฯ

นักวิจัยได้วิจัยได้แบ่งการวิจัยออกเป็น 2 พวกใหญ่ๆ คือ

    • วิจัยสิ่งที่ไม่มีชีวิต หรือที่เรียกว่า วิทยาศาสตร์ทางกายภาพผลการวิจัยทำให้โลกรู้สิ่งที่ไม่มีชีวิตที่เล็กที่สุดไปจนถึงสิ่งที่ใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่โปรตอนไปจนถึงระบบทางช้างเผือก
    • วิจัยสิ่งที่มีชีวิต หรือที่เรียกว่า วิทยาศาสตร์ทางชีวภาพนักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบจุลินทรีย์ที่มองไม่เห็น ตลอดจนแยกแยะส่วนต่าง ๆของร่างกายมนุษย์ไว้อย่างละเอียดละออ

ผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์

    1. ทำให้มนุษย์ฉลาดกว่าสัตว์ประเภทอื่น เพราะได้รู้จักวิชาการแขนงต่าง ๆมากมาย เช่น เคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ แพทยศาสตร์ ธรณีวิทยา เภสัชศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ ฯลฯ
    2. ทำให้มนุษย์ได้รับความสะดวกสบายและความผาสุกต่าง ๆในการดำรงชีวิต เช่น มีไฟฟ้า น้ำประปา โทรทัศน์ ตู้เย็น เครื่องบิน ฯลฯ
    3. ทำให้มนุษย์สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ เช่น การเจ็บป่วย ผลของการวิจัยทางการแพทย์สามารถรักษาโรคต่าง ๆได้
    4. ทำให้มนุษย์สามารถควบคุมธรรมชาติได้ดียิ่งขึ้น


การวิจัยทางสังคมศาสตร์ (Social Research) เป็นผลการวิจัยในเรื่องต่าง ๆที่เกี่ยวกับชุมชนและสังคมมนุษย์ที่อยู่รวมกันเป็นสังคม มีแนวความเชื่อ ประเพณีนิยม ระบบวิธีการปฏิบัติตนต่อกัน ตลอดจนวิธีการที่จะช่วยเหลืออุดหนุนเกื้อกูลให้กันและกันอยู่อย่างมีความสุข สิ่งต่าง ๆที่เกี่ยวข้องกับการอยู่ร่วมกันในสังคมดังกล่าว เป็นเรื่องที่นักวิจัยทางสังคมศาสตร์นำมาวิจัยเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้คนได้มีชีวิตอยู่อย่างสมบูรณ์พูนสุข ผลของการวิจัยทางสังคมศาสตร์ทำให้มนุษย์ได้รู้จักวิชาการทางสังคมหลายแขนง เช่น ปรัชญา นิติศาสตร์ จิตวิทยา รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ บริหารธุรกิจ บริหารการศึกษา สังคมสงเคราะห์ ฯลฯ


การวิจัยสามารถแบ่งประเภทย่อยตามมิติของการวิจัย สรุปได้ 13 มิติ คือ (ศักดิ์ไทย สุรกิจบวร,2549: 32 – 35 สุจิตรา บุณยรัตพันธุ์, 2546: 15-17 และสุวิมล ติรกานันท์, 2548: 7)


มิติด้านเหตุผลของการวิจัย หรือตามประโยชน์ของการใช้ จำแนกออกได้ 3 ประเภท คือ

    1. การวิจัยพื้นฐาน หรือการวิจัยบริสุทธิ์ (Basic or Pure Research) เป็นการวิจัยที่มุ่งแสวงหาข้อเท็จจริงหรือความสัมพันธ์ระหว่างข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่ศึกษา เพื่อให้เกิดความเข้าใจพื้นฐาน หรือเพื่อนำไปใช้ทดลองหรือสร้างทฤษฎีอธิบายปรากฏการณ์นั้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะนำผลการวิจัยหรือข้อค้นพบไปเป็นประโยชน์ทันทีในชีวิตจริง การวิจัยเบื้องต้นเป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการและการวิจัยในขั้นต่อ ๆไป อย่างไรก็ตามผลของการวิจัยอาจมีผู้นำไปใช้ประโยชน์ได้ในภายหลัง
    2. การวิจัยประยุกต์ (Applied Research) เป็นการวิจัยที่มุ่งแสวงหาข้อเท็จจริง หรือค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูล หรือตัวแปรโดยมีความมุ่งหมายก่อนเริ่มทำการวิจัยว่าจะนำผลการวิจัยหรือข้อค้นพบนั้นไปใช้ประโยชน์ในชีวิตจริง อาทิ เพื่อการแก้ปัญหาการตัดสินใจ เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาโครงการหรือวิธีการ หรือเพื่อประเมินโครงการและวิธีการ ฯลฯ
    3. การวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) เป็นงานวิจัยที่มีวิธีการกำหนดประเด็นปัญหาการวิจัยจากปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างการดำเนินงาน แต่มีลักษณะพิเศษตรงที่เป็นการทำการวิจัยควบคู่ไปกับการปฏิบัติงาน และเป็นการวิจัยที่มีลักษณะเป็นวงจรตามด้วยวงจรอย่างต่อเนื่อง แต่ละวงจรจะประกอบด้วยการวางแผน การปฏิบัติตามแผน การประเมินผล และการสะท้อนผลที่ได้ไปสู่การวางแผนใหม่ เช่น การวิจัยเพื่อปรับปรุงการผลิตในทางอุตสาหกรรม การศึกษาแนวทางการดำเนินงานทางธุรกิจของกิจการอุตสาหกรรมในครัวเรือน การวิจัยในชั้นเรียนเพื่อการปรับปรุงการเรียนการสอน เป็นต้น


มิติด้านวัตถุประสงค์ของการวิจัย ประกอบด้วย 3 ประเภท คือ

  1. การวิจัยเชิงอธิบาย (Explanatory Research) เป็นการวิจัยที่มีวัตถุประสงค์ที่จะมุ่งตอบปัญหาว่าทำไมและอย่างไรปรากฏการณ์นั้นจึงเกิดขึ้น หรืออธิบายความสัมพันธ์ระหว่างปรากฏการณ์ โดยมุ่งอธิบายความสัมพันธ์เชิงเหตุและผล เช่น การศึกษาการปฏิวัติรัฐประหารในประเทศไทย การลาออกของพนักงานในบริษัท เป็นต้น
  2. การวิจัยเชิงวินิจฉัย (Diagnostic Research) เป็นการวิจัยที่มีเป้าหมายในการศึกษาถึงสาเหตุของปรากฏการณ์ต่าง ๆ เช่น ปัจจัยที่ก่อให้เกิดการขยายตัวทางการศึกษาของไทย หรือปัจจัยที่ก่อให้เกิดการขยายตัวของตลาดรถยนต์ เป็นต้น
  3. การวิจัยเชิงพยากรณ์ (Predicting Research) เป็นการวิจัยที่มุ่งศึกษาจากสภาพและเหตุการณ์ในอดีตจนถึงปัจจุบัน เพื่อใช้ในการทำนายอนาคต เช่น การศึกษาแนวโน้มค่านิยมทางการศึกษาของคนไทย การศึกษาแนวโน้มการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์การ การศึกษาแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก เป็นต้นลักษณะความแตกต่างของวัตถุประสงค์การวิจัยทั้ง 5 ประเภทนี้ ส่งผลกระทบต่อสิ่งต่อไปนี้ ได้แก่ ข้อมูลที่จัดเก็บ วิธีการเก็บข้อมูล และวิธีการสังเคราะห์ข้อมููล


มิติด้านวิธีการเก็บข้อมูล จำแนกได้ 6 ประเภท คือ

  1. การวิจัยเอกสาร (Documentary Research) เป็นการวิจัยที่เก็บรวบรวมข้อมูลจากเอกสารต่าง ๆ เช่น บันทึก หนังสือ ตำรา จดหมาย รายงาน เช่น การจัดการศึกษาไทยในรัชกาลที่ 5 ฯลฯ
  2. การวิจัยจากการสังเกต (Observatory Research) เป็นการวิจัยที่เก็บรวบรวมข้อมูลจากการสังเกต เช่น การสำรวจพฤติกรรมการเล่นในชั้นเรียนของเด็กไทย ฯลฯ
  3. การวิจัยแบบสำมะโนประชากร (Census Research) เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลจากทุกหน่วยของประชากร เช่น การจัดทำทะเบียนการประกอบอาชีพของคนไทยในปัจจุบัน ฯลฯ
  4. การวิจัยแบบสำรวจจากตัวอย่าง (Sample Research) เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มประชากรตัวอย่างที่เป็นตัวแทนของประชากรที่ต้องการศึกษา เช่น การสำรวจการจ้างงานในแหล่งอุตสาหกรรม ฯลฯ


มิติด้านตามแบบวิจัยหรือตามการควบคุมตัวแปรแทรกซ้อน จำแนกได้ 2 ประเภท คือ

  1. การวิจัยที่อาศัยการทดลอง (Experimental Research) หมายถึงการวิจัยที่มีการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายใต้การควบคุมดูแล มีการวางแผนอย่างรอบคอบและมีการเฝ้าสังเกตผลที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ แม้ว่าการวิจัยโดยอาศัยการทดลองเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของศาสตร์กายภาพและชีวภาพ แต่ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่สังคมศาสตร์ใช้ทั้งที่มีการทดลองโดยตรงและไม่ได้โดยตรง เช่น วิธีการสอน การให้ปุ๋ย และการควบคุมตัวแปรแทรกซ้อน แบ่งตามระดับการควบคุมตัวแปรแทรกซ้อนเป็น 3 รูปแบบ คือ
    1. Pre-experimental Research เป็นการวิจัยเชิงทดลองที่ใช้กลุ่มตัวอย่างเพียงกลุ่มเดียว และไม่มีการ Randomization
    2. Quasi-experimental Research เป็นการวิจัยเชิงทดลองที่ใช้กลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่มที่มีลักษณะใกล้เคียงกันมาก โดยมีกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับวิธีทดลอง แต่ยังไม่มีการ Randomization
    3. True-experimental Research เป็นการวิจัยเชิงทดลองที่ใช้กลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่มมีกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับวิธีการทดลอง เพื่อใช้เปรียบเทียบกับกลุ่มทดลอง และมีการ Randomization

2. การวิจัยที่ไม่ได้อาศัยข้อมูลทดลอง หรือการวิจัยที่อาศัยความสัมพันธ์ (Correlation Research) เป็นการวิจัยที่นักสังคมศาสตร์นิยมใช้กันมาก การเก็บรวบรวมข้อมูลกระทำตามสภาพที่เป็นอยู่โดยไม่ได้มีการจัดกิจกรรมหรือกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เช่น

a. การวิจัยเชิงบรรยาย หรือการวิจัยเชิงพรรณนา เช่น สภาพการค้ารถยนต์ในประเทศไทย ฯลฯ

b. การวิจัยเชิงความสัมพันธ์ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างค่านิยมของคนไทยกับการใช้สินค้าต่างประเทศ ฯลฯ

c. นอกจากนี้ยังมีการวิจัยประเภทอื่นๆ อีก เช่น การวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ การวิจัยเชิงอนาคตการวิจัยแบบมีส่วนร่วม เป็นต้น


    มิติด้านที่ตั้งของการศึกษาวิจัย จำแนกได้ 2 ประเภท คือ

    1. การวิจัยในห้องทดลอง หมายถึงการวิจัยในห้องทดลอง มักเป็นการวิจัยที่ศึกษาปรากฏการณ์ในสภาวการณ์ที่อยู่ภายใต้การกำหนด หรือการควบคุมของผู้วิจัยและต้องอาศัยแบบวิจัย คือ แบบทดลอง
    2. การวิจัยในสนาม หมายถึงการวิจัยที่ศึกษาปรากฏการณ์ในสภาวการณ์ที่อยู่นอกเหนือจากการกำหนดหรือการควบคุมของผู้วิจัย และแบบวิจัยมักจะเป็นแบบวิจัยแบบไม่ทดลอง หรือแบบกึ่งทดลอง เป็นต้น


มิติด้านระดับหน่วยวิเคราะห์ข้อมูล จำแนกได้ 2 ประเภท คือ

  1. การวิจัยระดับจุลภาค การวิจัยระดับนี้เป็นการศึกษาหาความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะต่าง ๆของบุคคล ซึ่งเป็นการวิจัยที่ใช้บุคคลเป็นหน่วยวิเคราะห์ เช่น ปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับลักษณะด้านต่าง ๆของบุคคล ซึ่งอาจจะเป็นพฤติกรรมของบุคคล เจตคติของบุคคลที่มีต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ฯลฯ การวิจัยทางสังคมศาสตร์และทางจิตวิทยาหลายสาขานิยมใช้การวิจัยลักษณะนี้
  2. การวิจัยระดับมหภาค เป็นการวิจัยที่ต้องศึกษาคุณลักษณะหรือคุณสมบัติรวม ๆ ซึ่งเป็นข้อมูลระดับรวมราเรียกว่า ข้อมูลหลายจุดเวลา หรืออนุกรมเวลา เช่น คุณสมบัติด้านเศรษฐกิจ สังคม และประชากรในระดับประเทศ เป็นคุณลักษณะหรือคุณสมบัติภาพรวม แล้วนำไปศึกษาหาความสัมพันธ์คุุณลักษณะและคุณสมบัติดัง
  3. ล่าว เช่น การศึกษาหาความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการเกิดกับอัตราส่วนของประชากรที่ประกอบอาชีพด้านการเกษตร และอัตราส่วนผู้จบการศึกษาสูงกว่าประถมศึกษา ณ หลายจุดเวลาจาก พ.ศ. 2531 – 2548 เป็นต้น การวิจัยลักษณะนี้จะใช้ข้อมูลต่าง ๆทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และหรือการเมืองเป็นลักษณะของประเทศ ณ แต่ละจุดเวลาเป็นหน่วยวิเคราะห์



มิติด้านแหล่งข้อมูล จำแนกได้ 2 ประเภท คือ

  1. การวิจัยที่อาศัยข้อมูลปฐมภูมิ เป็นการวิจัยที่อาศัยข้อมูลที่ผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลเองในสนาม
  2. การวิจัยที่อาศัยข้อมูลทุติยภูมิ เป็นการวิจัยที่อาศัยข้อมูลการวิจัยที่ผู้อื่นเก็บรวบรวมมาแล้ว และผู้ผู้วิจัยนำมาวิเคราะห์ต่อ ข้อมูลทุติยภูมิ รวมไปถึงข้อมูลที่ได้จากเอกสารสิ่งตีพิมพ์ต่าง ๆด้วย


มิติด้านผู้กระทำวิจัย จำแนกได้ 2 ประเภท คือ

  1. การวิจัยที่ทำโดยคนเพียงคนเดียว โดยทั่วไปย่อมง่ายกว่าและเล็กกว่างานวิจัยที่ทำโดยกลุ่มบุคคลที่ต้องอาศัยความรู้ความชำนาญของนักวิชาการในสาขาต่าง ๆ การวิจัยที่ทำโดยคนเพียงคนเดียวส่วนใหญ่เป็นการวิจัยที่ทำโดยคณาจารย์ภายในมหาวิทยาลัย นักวิชาการแต่ละคนในหน่วยงานต่าง ๆ และนักศึกษาที่ทำวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก
  2. การวิจัยประเภทกลุ่มบุคคล ได้แก่ การวิจัยที่ทำขึ้นโดยบุคคลหลายคน หรือโดยองค์การที่ตั้งขึ้นมาเพื่อการวิจัยโดยเฉพาะ เช่น งานวิจัยที่ทำในนามของสภาวิจัยแห่งชาติหรือในนามของสำนักวิจัยของมหาวิทยาลัย สำนักงานสถิติแห่งชาติ หรือหน่วยงานวิจัยในสถาบันการศึกษาอื่น ๆ ตลอดจนหน่วยวิจัยขององค์การปฏิบัติงาน และบริหารอื่น ๆเช่น หน่วยวิจัยของโรงพยาบาล ของกระทรวง ของกรม ของสำนักงาน และของสมาคมอาชีพต่าง ๆ


มิติด้านความลึกและความกว้างของข้อมูล แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

  1. การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research)เป็นการวิจัยที่ไม่เน้นข้อมูลที่เป็นตัวเลขเป็นหลัก เป็นการวิจัยที่เน้นการหารายละเอียดต่าง ๆของกลุ่มประชากรที่ทำการศึกษาที่จะก่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในเรื่องนั้น ๆ ข้อมูลหรือข้อค้นพบอาจได้มาจากการสังเกตหน่วยที่ต้องการศึกษาเพียงไม่กี่หน่วย หรือเพียงไม่กี่กลุ่มหรือชุมชน การวิจัยเชิงมานุษยวิทยา หรือการวิจัยเจาะลึกเป็นการวิจัยประเภทเชิงคุณภาพชนิดหนึ่ง แต่งานแต่ละชิ้นอาจจะมีคุณภาพหรือไม่มีคุณภาพก็ได้ การวิจัยเชิงคุณภาพเป็นมิติของการวิจัยที่สามารถจำแนกเป็นการวิจัยหลายลักษณะ อาทิ เทคนิคการศึกษารายกรณี การวิจัยเชิงวิเคราะห์ และการวิจัยชาติวงศ์วรรณา
  2. การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) เป็นการวิจัยที่เน้น 2 ประเด็นสำคัญคือ 1) การใช้ข้อมูลที่เป็นตัวเลขเป็นหลักฐานที่ความถูกต้องของข้อค้นพบและข้อสรุปต่าง ๆของเรื่องที่ทำการศึกษาและวิจัย 2) การใช้ได้กว้างขวางของข้อค้นพบ การวิจัยเชิงปริมาณ สามารถจำแนกเป็นการวิจัย 2 ลักษณะใหญ่และย่อย ได้แก่ การวิจัยแบบทดลอง และการวิจัยไม่ใช้แบบทดลอง ประกอบด้วยการวิจัยแบบสำรวจ การวิจัยย้อนข้อเท็จจริง และการวิจัยเพื่อแสวงหาความสัมพันธ์ของตัวแปร


มิติด้านความสามารถในการควบคุมสภาพการณ์ที่จะศึกษา แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

  • การวิจัยที่ผู้วิจัยสามารถควบคุมหรือบังคับได้ เช่น ผู้วิจัยศึกษาผลิตภาพของพนักงานในการผลิตหลอดไฟ โดยควบคุมบรรยากาศสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ เช่น อุณหภูมิแสงสว่าง ตลอดจนการจัดให้มีการพักรับประทานกาแฟ เป็นต้น
  • การวิจัยที่เป็นไปตามสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เช่น การศึกษาการบริหารงานของสำนักงานการบริหารเพื่อพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาโดยศึกษาโครงการสร้างงานให้แก่กลุ่มบุคคลที่ยากจน โดยเลือกกรณีตัวอย่างของเมืองโอ๊คแลนด์ของเพรสแมน และวิลดัฟสกี้ ซึ่งเป็นเรื่องของการศึกษาการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ


มิติด้านสาขาวิชา แบ่งออกเป็น3 ประเภท คือ

  1. การวิจัยเชิงประเมิน (Evaluation Research) เป็นการวิจัยประยุกต์ที่นำระเบียบวิธีวิจัยไปใช้ในการดำเนินการประเมินผล เช่น การประเมินโครงการแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง ฯลฯ
  2. การวิจัยเชิงนโยบาย (Policy Research) เป็นการวิจัยประยุกต์ที่นำระเบียบวิธีการวิจัยไปใช้ เพื่อให้ได้สารสนเทศที่เป็นประโยชน์ในการจัดทำนโยบาย เช่น การศึกษาผลกระทบของนโยบายการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน เป็นต้น
  3. การวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ (Historical Research) เป็นการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตจากหลักฐานที่ยังอยู่ในปัจจุบัน เช่น การเก็บภาษีอากรในรัชกาลที่ 5 เป็นต้น


มิติด้านระยะเวลาของการวิจัย แบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ

  1. การวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ (Historical Research) เป็นการวิจัยที่มุ่งบรรยายเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต เช่น วิถีชีวิตคนในยุคบ้านเชียง เป็นต้น
  2. การศึกษาแนวโน้ม (Trend Study) เป็นการศึกษาสภาพของสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาใช้ในการพิจารณาแนวโน้มการเกิดเหตุการณ์ในอนาคต เช่น สินค้าเกษตรกรรมของไทยในตลาดโลก เป็นต้น
  3. การวิจัยภาคตัดขวาง (Cross-Sectional Study) เป็นการวิจัยเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันกับกลุ่มเป้าหมายจำนวนมาก เช่น ผลกระทบของการขึ้นราคมน้ำมันกับค่าครองชีพของคนไทย เป็นต้น
  4. การวิจัยระยะยาว (Longitudinal Study) เป็นการวิจัยเหตุการณ์เดียวติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เช่น พัฒนาการอุตสาหกรรมขนาดย่อมในประเทศไทย เป็นต้น
  5. การวิจัยแบบต่อเนื่อง (Panel Study) เป็นการวิจัยอย่างต่อเนื่อง มีการสรุปผลแต่ละช่วงก่อนการทำการศึกษาในช่วงต่อไป เช่น การพัฒนาชนบทตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฯลฯ


มิติด้านความซับซ้อนของการวิจัย แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ

  1. การวิจัยแบบบุกเบิก (Exploratory Research) เป็นการวิจัยที่มุ่งที่จะให้ความกระจ่างในลักษณะที่เป็นการบุกเบิกหาความรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่ยังไม่เคยมีการศึกษามาก่อน
  2. การวิจัยพรรณนา (Descriptive Research) เป็นการวิจัยที่มุ่งศึกษาพรรณนาสภาพที่เป็นอยู่ของปรากฏการณ์เชิงประจักษ์เท่านั้น เช่น การสำรวจสำมะโนครัวการรายงานเกี่ยวกับทัศนคติ ฯลฯ
  3. การวิจัยเชิงความสัมพันธ์ (Correlation Research) เป็นการวิจัยที่มุ่งจะอธิบายความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ และข้อค้นพบที่ได้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร สามารถนำไปใช้ในการทำนายหรือการควบคุม ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาอาจต้องเก็บข้อมูลย้อนหลังไปในอดีต หรือใช้ข้อมูลที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็ได้ การวิจัยในลักษณะนี้ ได้แก่ การวิจัยเชิงพยากรณ์ เป็นต้น
  4. การวิจัยเชิงเหตุและผล (Causal Research) เป็นการศึกษาที่ต้องการอธิบายถึงความเป็นเหตุเป็นผลมากกว่าความสัมพันธ์ มีการศึกษา 2 ลักษณะ คือ
    1. การศึกษาความเป็นเหตุเป็นผลด้วยโมเดลการสร้างของความสัมพันธ์ตามทฤษฎี แนวคิด และผลงานวิจัย และมีการพิสูจน์ด้วยการเก็บรวบรวมข้อมูลจริงมาวิเคราะห์ด้วยเทคนิคทางสถิติที่ใช้วิเคราะห์ความสัมพันธ์ในเชิงโครงสร้าง ได้แก่ Path Analysis, Linear Structure Equation Modeling
    2. การศึกษาความเป็นเหตุเป็นผลด้วยการทดลอง ซึ่งเป็นลักษณะการวิจัยที่มีการควบคุมตัวแปรแทรกซ้อนและสถานการณ์ในการวิจัย ทำให้สามารถบอกความเป็นเหตุเป็นผลได้อย่างชัดเจนและมีความแม่นยำของผลการศึกษามากกว่าการวิจัยประเภทอื่น


หมายเลขบันทึก: 606570เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2016 08:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2016 09:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท