​กรุงเทพฯ : มหานครแห่งความหวัง หรือหนทางสู่ทางตัน : ภายใต้บริบทการพัฒนาของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


ความศิวิไลของแสงสีแสง ล่อหลอกให้ชาวชนบทหอบเอาความหวังที่จะมีชีวิตที่ดีกว่า มุ่งหน้าสู่เมืองหลวง พร้อมๆกับทิ้งบ้านและครอบครัวไว้เบื้องหลัง

กว่า 234 ปีที่กรุงเทพฯถูกสถาปนาขึ้นเป็นราชธานีประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2325[1] กรุงเทพได้เติบโตและเป็นพื้นที่ในการเปลี่ยนผ่านวาทกรรมมากชุดหลายยุคสมัยตามบริบทของความพัฒนาเมือง โดยมีเป้าหมาย เพื่อทะยานไปสู่การเป็นมหานครที่เปี่ยมด้วยความมั่งคั่ง เป็นศูนย์รวมของเงินตราที่จะนำพาผู้คนและชื่อเสียงประเทศไทยไปสู่เวทีระดับโลก รวมถึงการเป็นเมืองสวรรค์บนดินของมนุษย์ทุกคนที่ใฝ่ฝันอยากมาเยือนสักครั้ง

“มหานครของโลก” กับดักทิศทางที่ชี้นำกรุงเทพฯให้เปลี่ยนแปลงมาอย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน กรุงเทพฯซึ่งมีสถานะของการเป็นเมืองหลวงนับร้อยปี เต็มไปด้วยธุรกิจในระบบทุนนิยมเสรีที่สร้างการหมุนเวียนเงินตรามหาศาล เกิดตึกระฟ้าที่มากที่สุดเป็นอันดับ 12 ของโลก เป็นศูนย์กลางการปกครอง เศรษฐกิจ การศึกษา การคมนาคมขนส่ง การเงินการธนาคาร การพาณิชย์การสื่อสาร รวมถึงสภาพภูมิประเทศที่เอื้อต่อการลงทุน อันเป็นการดึงดูดผู้คนทั้งในภาคการลงทุน รวมทั้งผู้ขายแรงงาน ให้มาพบปะกันในพื้นที่แห่งเดียวกันนี้เอง

อีกด้านหนึ่งจากความเจริญที่ไม่ได้ถูกกำหนดและวางแผนผังตั้งแต่แรก จึงส่งผลให้เมืองโตขึ้นและขยายออกไปเรื่อยจนไม่สามารถกำหนดกฎกติกาได้ ความศิวิไลของแสงสีแสง ล่อหลอกให้ชาวชนบทหอบเอาความหวังที่จะมีชีวิตที่ดีกว่า มุ่งหน้าสู่เมืองหลวง พร้อมๆกับทิ้งบ้านและครอบครัวไว้เบื้องหลัง เช่นเดียวกับ ภาพสะท้อนจากครอบครัวของน้องเมย์ จุฑารัตน์ ทองบ้านโข้ง[2] ที่ตัดสินใจอพยพจากต่างจังหวัด มุ่งหน้าสู่เมืองหลวง เพื่อหวังว่าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่แท้จริงแล้ว ครอบครัวของน้องเมย์ก็เป็นได้เพียงคนจนเมืองที่สมาชิกทุกคนในบ้านต่างต้องทำงานหนัก เพราะต้องแบกรับค่าครองชีพและการแข่งขันเพื่อให้อยู่รอดไปวันๆ ธรรมชาติและทัศนียภาพที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตเน่าเสีย เช่น คลองแสนแสบ ปัญหารถติดอันเป็นมลพิษ โครงสร้างสังคมที่เลื่อมล้ำที่ทำให้เราเห็นภาพคนขอทานและคนเร่ร่อนเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ภาพสะท้อนที่ตามมา คือ มหานครแห่งการเก็บเกี่ยวความมั่งคั่งในจินตนาการ แท้จริงแล้วกลับกลายเป็นเพียงพื้นที่ที่ต้องแก่งแย่งแข่งขันเพียงเท่านั้น

ในบริบทการพัฒนาเมืองของกรุงเทพฯ ยังเป็นเหรียญสองด้านที่เป็นไปด้วยกัน คนจำนวนมากในพื้นที่แห่งนี้ จึงปะปนไปด้วยความหลากหลายทางชีวิตภาพของสมาชิกในสังคมเช่นกัน นโยบายและแผนพัฒนาที่เน้นสร้างวัตถุนิยม กีดกันและทำลายวิถีธรรมชาติไปอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง จนกว่าผู้ที่เกี่ยวข้องจะเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นและตระหนักในวิถีการพัฒนาที่ยั่งยืน


ส่วนหนึ่งของงานเขียนส่งอาจารย์

21/04/2016



[1] กรุงเทพมหานคร. “กรุงเทพฯวันนี้” จาก http://www.bangkok.go.th/main/page.php?2-Bangkok%20Info, 10 เมษายน 2559.

[2] ไทยพีบีเอส. “คนจนเมือง” จาก https://www.youtube.com/watch?v=L-Eof-G_HYE, 10 เมษายน 2559.

หมายเลขบันทึก: 605493เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2016 04:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 เมษายน 2016 04:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท