สื่อคือโรงเรียนของสังคม



การประชุม เวทีการศึกษากับการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๙ เรื่อง สื่อคือโรงเรียนของสังคม ประเทืองปัญญามาก คือกระตุ้นความคิด ให้มีคำถามว่า จะใช้สื่อเพื่อยกระดับ คุณภาพการเรียนรู้ในสังคมไทยได้อย่างไร ข้อเสนอของคุณศรีดา ตันทะอธิพานิช ผู้จัดการมูลนิธิ อินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ชี้ให้เห็นว่า เทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศมีพลังมาก สามารถนำมาใช้อำนวยความสะดวกต่อการเรียนรู้ได้มากมายหลากหลายรูปแบบ

ในเวทีนี้ มีกติกาว่าจะไม่ตำหนิติเตียนใครหรือหน่วยงานใด มุ่งใช้เวทีเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ นำไปสู่การลงมือร่วมกันทำ เพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง

โดยที่เป็นที่ละไว้ในฐานเข้าใจว่า ในปัจจุบันสื่อตกเป็นจำเลยอยู่มาก ในด้านการมอมเมาสาระเชิงลบ ที่ก่อผลลบด้านการสร้างนิสัยของคนในสังคม แต่ก็มีความพยายาม ที่จะใช้สื่อในเชิงบวก ในเวทีนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมร่วมกันคิดว่าจะใช้สื่อเพื่อการนี้ ได้อย่างไร

รศ. ดร. จุมพล รอดคำดี ชี้ว่า สื่อต้องทำงานร่วมกับแหล่งสาระ และภาคีที่หลากหลาย โดยที่สื่อไม่ใช่ตัวหลัก

ก่อนจบ รศ. ดร. ประวิต เอราวรรณ์ ได้สรุปประเด็น ซึ่งอ่านได้ ที่นี่

ผมสรุปกับตัวเอง ว่า มี ๓ ประเด็นสำคัญที่เรายังไม่มีเวลาพูดกันคือ

  • ในยุค ICT 2.0 ผู้รับสารกับผู้สื่อมีโอกาสเป็นผู้เดียวกัน การศึกษาไทยควรจับประเด็นนี้ นำมาสร้างสรรค์การปฏิรูปการศึกษา
  • การใช้ Big Data Technology ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้จากการปฏิบัติ ตามด้วยการไตร่ตรองสะท้อนคิด
  • การวิจัยประเมินผลกระทบต่อสังคมจากสื่อ ที่เป็นผลกระทบด้านบวก และด้านลบ ทำเป็นดัชนีที่รายงานสังคมเป็นรายปี เพื่อให้สื่อปรับตัว ลดด้านลบ เพิ่มด้านบวก

๓ ประเด็นนี้ผมไม่ได้เสนอต่อที่ประชุม

ผมถูกจับให้พูดโดยไม่ได้ยกมือขอพูด จึงให้ความเห็นสั้นๆ เพราะเวลามีน้อย ว่าควรเอาประเด็นของคุณสุภาวดี หาญเมธี เป็นตัวตั้ง คือในการประชุม ผู้จัดเชิญท่านมาเล่าเรื่อง Executive Function Partnership กับการสร้างสื่อเพื่อการเรียนรู้ โดยหลักการคือรูปแบบของการเรียนต้องไม่ใช้วิธี ถ่ายทอดความรู้สำเร็จรูป ต้องเรียนแบบ Active Learning จึงจะเกิดการพัฒนา EF เทคโนโลยีการสื่อสาร และสารสนเทศจะช่วยอำนวยความสะดวกต่อการเรียนรู้แบบ Active Learning และ Team Learning ได้ในหลายหลายรูปแบบ

โดยผมเข้าใจว่า เรื่องการเรียนรู้ฝึกฝน EF ไม่ใช่เรื่องของเด็กเล็กเท่านั้น แต่ควรดำเนินการในสถานศึกษา ทุกแบบ ทุกระดับ อย่างบูรณาการกับการเรียนรู้ประจำวัน รวมทั้งมนุษย์ทุกคนต้องฝึกฝนตลอดชีวิต โดยสังคมไทย ต้องเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้ในทุกเรื่อง ทุกบริบท ให้เน้นการเรียนจากการปฏิบัติ (Action Learning) และเรียนรู้ เป็นทีม ตามด้วยการไตร่ตรองสะท้อนคิด (Reflective Learning) ซึ่งจะนำไปสู่การเรียนรู้ขั้นสูงสุด คือ การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) เครื่องมือ ICT สมัยใหม่ จะช่วยให้การเรียนรู้แนวใหม่นี้ ทำได้ง่าย และเกิดการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ได้อย่างกว้างขวาง

ผมเสนอให้คุณสุภาวดี ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ด้านสมอง ทำโครงการวิจัยวัดระดับ EF ของนักเรียนโรงเรียน สัตยาศัย และโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา เปรียบเทียบกับนักเรียนในโรงเรียนใกล้เคียง ที่นักเรียนมาจากครอบครัว ที่มีเศรษฐฐานะใกล้เคียงกัน เพื่อพิสูจน์ว่า วิธีการจัดการเรียนการสอนที่มีจิตศึกษา เป็นการฝึก EF ที่ได้ผล เพื่อหาทางขยายผลไปสู่โรงเรียนอื่นๆ ทั่วประเทศ

ต่อไปนี้เป็นความเห็นที่ผมไม่ได้เสนอในที่ประชุม

ผมมีความเห็นว่า ควรใช้สื่อเพื่อการศึกษาใน ๒ รูปแบบ คือ (๑) ใช้ในการศึกษาในรูปแบบ (๒) ใช้สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนทุกคน โดยมีเป้าหมาย ๓ ประการคือ (๑) เพื่อการเรียนรู้วิชา (๒) เพื่อการพัฒนาอุปนิสัย และ (๓) เพื่อปฏิรูประบบการศึกษาของประเทศ

จากการอภิปรายของท่านอดีตรัฐมนตรี คุณปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ผมได้รู้จัก Project Lead the Way ของสหรัฐฯ ที่มุ่ง empower นักเรียนระดับ K – 12 ให้เรียนรู้เพื่ออยู่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไม่หยุดยั้ง

ดร. ดนัย หวังบุญชัย แห่งคณะนิเทศศาตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ชี้ให้เห็นว่า การทำงานร่วมกันระหว่างศิลปินต่างด้าน สามารถกระตุ้นให้เกิดมุมมองใหม่ๆ ต่องานศิลปะ และนำไปสู่การสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานเพื่อประโยชน์ของสังคมได้มากอย่างไม่น่าเชื่อ จะเห็นว่า สื่อสามารถทำงานสร้างสรรค์ร่วมกับนักวิชาการ หรือวิชาชีพได้หลากหลายด้าน

ในที่ประชุม มีการแจกหนังสือ

  • สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม แนวคิด หลักการ และแนวทางพัฒนา โดย ศ. สุกัญญา สุดบรรทัด และ ผศ. ดร. เกศินี จุฑาวิจิตร
  • พัฒนาทักษะสมอง EF ด้วยการอ่าน โดยสุภาวดี หาญเมธี
  • การศึกษาเปลี่ยนประเทศไทย ประเทศไทยเปลี่ยนการศึกษา โดย ศ. นพ. ประเวศ วะสี
  • ระบบปฏิรูปการเรียนรู้ เพื่อการเรียนรู้ที่ดีของคนทั้งมวล โดย ศ. นพ. ประเวศ วะสี


วิจารณ์ พานิช

๑๔ มี.ค. ๕๙


หมายเลขบันทึก: 604947เขียนเมื่อ 12 เมษายน 2016 15:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 เมษายน 2016 15:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

กราบสวัสดีปีใหม่ กับอาจารย์หมอวิจารณ์ครับ

ด้วยความเคารพรัก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท