การจัดการประชากรของ อปท.


การจัดการประชากรของ อปท.

7 เมษายน 2559

ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

วันนี้มาเล่าเรื่อง “การจัดการประชากร” หรือ “การจัดการทะเบียนคน” หรือ “การจัดการสถานะบุคล” หรือ “งานทะเบียนราษฎร” หรือ ตามแต่ที่จะเรียกกัน เพราะ เป็นงาน “การทะเบียนราษฎร” ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่ได้แบ่งมอบภารกิจส่วนหนึ่ง ให้แก่ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” หรือ อปท. ดำเนินการ คือ เทศบาล เมืองพัทยา และ กรุงเทพมหานคร (กทม.)

ประชาชนชาวบ้านหลายคนอาจสงสัย ไม่เข้าใจว่า อปท. มีอำนาจหน้าที่ หรือบทบาทในภารภารกิจนี้ด้วยหรือ จึงขอนำมาถ่ายทอดอย่างง่ายเพื่อทำความเข้าใจกัน

ท้องถิ่นกับงานตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร

ตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 และแก้ไขเพิ่มเติมถึง ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2551 [2] มาตรา 4 [3] มาตรา 8 [4] ประกอบพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2552 มาตรา 50 (9) [5] ได้กำหนดให้ท้องถิ่นมีนายทะเบียนท้องถิ่นได้

ตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 ได้บัญญัติการจัดการประชากร โดยมีการจัดทำทะเบียนคนอยู่ 2 ส่วน คือ

(1) การจัดทำทะเบียนคนเกิด ตามมาตรา 18 [6] (เมื่อมีคนเกิดให้แจ้งการเกิด) และ

(2) การจัดทำทะเบียนคนในบ้าน (ทะเบียนบ้าน) ตามมาตรา 36 [7] และมาตรา 38 [8]

กลุ่มบุคคลที่ต้องจัดทำทะเบียนราษฎร

ในการจัดทำทะเบียนคน หรืออาจเรียกอีกอย่างว่า “การจัดการสถานะบุคคล” นั้น ได้แยกคนเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

(1) การจัดการกลุ่มคนไทย และบุคคลต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 36 โดยการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน ท.ร. 14 (ทะเบียนบ้านเล่มสีน้ำเงิน)

(2) การจัดการกลุ่มคนที่ไม่มีสัญชาติไทย หรือยังไม่ได้สัญชาติไทย ตามมาตรา 38 วรรคแรก (ทะเบียนฯ จัดทำทะเบียนบ้าน) โดยการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน ท.ร. 13 (ทะเบียนบ้านเล่มสีเหลือง)

(3) การจัดการกลุ่มคนที่ไม่มีสัญชาติไทย ที่เรียกว่า “แรงงานต่างด้าวสามสัญชาติ” (เมียนมา ลาว และกัมพูชา) [9] และ “บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน” [10] ตามมาตรา 38 วรรคสอง (ผู้อำนวยการทะเบียนกลางจัดให้มีทะเบียนประวัติสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยอื่น) โดยการเพิ่มชื่อใน ท.ร. 38 และ ท.ร. 38 ก (บัตรประวัติทะเบียนบุคคลฯ) ซึ่งไม่เรียกว่า “ทะเบียนบ้าน”

ซึ่งการจัดการประชากรทั้งสามกลุ่มนี้ จะโยงไปถึงเรื่องหลักสัญชาติ ตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึง ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2555 [11] ด้วย

ท้องถิ่นสามารถช่วยเหลือแก้ไขปัญหาการจัดการสถานะบุคคลได้เพียงใด

ว่าหลักกฎหมายมาถึงตรงนี้ อาจมีผู้สงสัยว่าแล้วท้องถิ่น หรือ อปท. ไปเกี่ยวข้องอะไรกับหน้าที่ตรงนี้ของกรมการปกครอง ก็ขอบอกเลยว่าเกี่ยวข้องจริง ๆ และเกี่ยวข้องโดยตรง โดยเฉพาะ อปท. ที่มี “สำนักทะเบียนท้องถิ่น” ได้แก่ เทศบาล เมืองพัทยา และ กรุงเทพมหานคร (เรียก “สำนักทะเบียนท้องถิ่นเขต”) และ มีข้อพิจารณาฝากพี่น้องชาว อปท. ให้ช่วยกันรณรงค์ส่งเสริมในเรื่องตรงนี้ด้วย เพื่อการจัดการประชากรที่สอดคล้องและส่งเสริมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC ยุคใหม่ด้วย ดังนี้

(1) ฐานข้อมูลประชากรในพื้นที่ ตามความเห็นกฤษฎีกา ให้หมายรวมถึง “ประชากรที่ไม่มีสัญชาติไทย” [12] ด้วย ซึ่งในบาง อปท. ที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจหรือชายแดน จะมีบุคคลต่างด้าว และหรือบุคคลที่ยังไม่มีสัญชาติไทยพักอาศัยหรือทำงาน อยู่เป็นจำนวนมาก ได้แก่ เทศบาลนครแม่สอด เทศบาลต่าง ๆ ในเมืองใหญ่ เช่น ในเขตจังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร เมืองพัทยา เป็นต้น

(2) ท้องถิ่นทุกแห่งต้องอาศัยฐานข้อมูลประชากรจากการทะเบียนราษฎร เพื่อการจัดสวัสดิการต่าง ๆ ตามกฎหมาย ได้แก่ การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ผู้เบี้ยยังชีพคนพิการ เบี้ยยังชีพผู้ป่วยโรคเอดส์ การจัดการศึกษาเด็กก่อนวัยเรียน (เด็กปฐมวัย) การจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด [13] รวมตลอดถึงการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในด้านต่าง ๆ ที่ต้องอาศัยฐานข้อมูลประชากรในพื้นที่ เช่น เรื่องการจ้างแรงงานประชาชนโครงการตำบลละ 5 ล้าน เรื่องกองทุนหมู่บ้านเงินล้าน กองทุนพัฒนาสตรีฯ การสำรวจข้อมูลครัวเรือนความจำเป็นขั้นพื้นฐาน (จปฐ.) [14] การสำรวจข้อมูลแรงงานฯ ข้อมูลประชากรทุกอย่างในพื้นที่ เป็นต้น

(3) การแก้ไขปัญหาการจัดการสถานะบุคคล ซึ่งปัจจุบัน กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครองได้เร่งรณรงค์ในกลุ่มนักเรียนนักศึกษาก่อน รวมทั้ง การจัดทำทะเบียนสำหรับ “บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน” หรือ “บุคคลเลข 0” ซึ่งจากการดำเนินที่ผ่านมาพบว่ายังมีปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ อาทิเช่น การขาดความเข้าใจในกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้ง และไม่กล้าที่จะดำเนินการเนื่องจากเกรงว่าจะกระทำผิดขั้นตอน [15]

(4) เรื่องการจัดการสถานะบุคคล หรือเรื่องการทะเบียนราษฎร เป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อน คนที่ไม่เข้าใจก็จะไม่เข้าใจ มีคนที่เข้าใจเรื่องนี้น้อยมาก ๆ เพราะว่า ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของระเบียบกฎหมาย ที่คนธรรมดาทั่วไปมักไม่ค่อยเข้าใจ ฉะนั้น การมอบหมายประชาสัมพันธ์ให้ท้องถิ่นชี้แจง ประชาสัมพันธ์ในพื้นที่จึงน่าจะกระทำให้ชาวบ้านมีความเข้าใจได้ง่ายกว่า และทั่วถึงกว่า

(5) เป็นการส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมระหว่างประเทศที่ประชาคมอาเซียนกำลังรณรงค์อยู่ ในเวทีประชุมระดับภูมิภาคที่ประเทศไทย เพื่อการสนับสนุนและส่งเสริมความรู้เรื่องการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย และนำเสนอร่างกฎหมายว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการสร้างหลักประกันต่อการเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมของทุกคน [16]

ที่กล่าวมาคร่าว ๆ ข้างต้น เพื่อกระตุ้นเตือนให้ภาครัฐ และทุกส่วนได้เห็นความสำคัญของการจัดการประชากรของท้องถิ่นว่า อปท. สามารถที่จะแก้ไขปัญหา และจัดการในเรื่องนี้ได้ดีมีประสิทธิภาพมากกว่าหน่วยงานราชการหน่วยอื่น



[1] Phachern Thammasarangkoon & Ong-art saibutra, Municipality Officer ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน 2559 ปีที่ 66 ฉบับที่ 22991 หน้า 10, การเมืองท้องถิ่น & ดู ภารกิจสำคัญงานทะเบียนท้องถิ่น, 17 มีนาคม 2559, http://www.gotoknow.org/posts/603572

& ดู สรณะ เทพเนาว์, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม 2558 คอลัมน์การเมืองท้องถิ่น หน้า 10 ‪‎บทความพิเศษ & สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 62 ฉบับที่ 37 วันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม - วันพฤหัสบดีที่ 4 มิถุนายน 2558, เจาะประเด็นร้อนอปท., หน้า 80, & สรณะ เทพเนาว์, การปฏิรูประบบสวัสดิการสังคมที่เหมาะสมกับประเทศไทย, 28 พฤษภาคม 2558, http://www.gotoknow.org/posts/590619

& ดู สังคมชนบท คนชราพึ่งพาลูกหลาน สังคมเมือง คนชราพึ่งพาเมือง , 15 ตุลาคม 2558, http://www.gotoknow.org/posts/596215

& ดู ท้องถิ่นกับการปฏิรูประบบสวัสดิการสังคมที่เหมาะสมกับประเทศไทย, 28 พฤษภาคม 2558, http://www.gotoknow.org/posts/590619

[2] พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 108 ตอนที่ 203 ฉบับพิเศษ หน้า 97-120 วันที่ 22 พฤศจิกายน 2534, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2534/A/203/97.PDF & ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอนที่ 38 ก หน้า 13-22 วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2551, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2551/A/038/13.PDF

[3]มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้

“ท้องถิ่น” หมายความว่า กรุงเทพมหานคร เทศบาล เมืองพัทยา และหน่วยการปกครองท้องถิ่นอื่นที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางโดยอนุมัติรัฐมนตรีกำหนดให้เป็นท้องถิ่นตามพระราชบัญญัตินี้

“นายทะเบียน” หมายความว่า นายทะเบียนประจำสำนักทะเบียนกลาง นายทะเบียนประจำสำนักทะเบียนกรุงเทพมหานคร นายทะเบียนประจำสำนักทะเบียนจังหวัด นายทะเบียนประจำสำนักทะเบียนอำเภอ นายทะเบียนประจำสำนักทะเบียนท้องถิ่น นายทะเบียนประจำสำนักทะเบียนสาขา นายทะเบียนประจำสำนักทะเบียนเฉพาะกิจ และนายทะเบียนผู้รับแจ้งและให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากนายทะเบียนหรือผู้ช่วยนายทะเบียน

“นายทะเบียนผู้รับแจ้ง” หมายความว่า นายทะเบียนอำเภอ นายทะเบียนท้องถิ่นและผู้ซึ่งผู้อำนวยการทะเบียนกลางได้กำหนดให้มีหน้าที่เกี่ยวกับการแจ้งการเกิด การตาย การย้ายที่อยู่ การสร้างบ้านใหม่ การรื้อบ้าน และการกำหนดเลขประจำบ้าน โดยได้กำหนดขอบเขตหน้าที่ดังกล่าวไว้

[4]มาตรา 8 ภายใต้บังคับมาตรา 8/1 ให้มีสำนักทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ ดังนี้

(5) สำนักทะเบียนท้องถิ่น มีนายทะเบียนท้องถิ่นและผู้ช่วยนายทะเบียนท้องถิ่นเป็นนายทะเบียนประจำสำนักทะเบียนท้องถิ่น มีหน้าที่รับผิดชอบและควบคุมการปฏิบัติงานการทะเบียนราษฎรในเขตปกครองท้องถิ่นนั้น ๆ

*** มาตรา 8 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551

[5]มาตรา 50 ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย เทศบาลตำบลมีหน้าที่ต้องทำในเขตเทศบาลดังต่อไปนี้

*** มาตรา 50 แก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 336 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515

(9) หน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของเทศบาล

*** มาตรา 50 (9) เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2542

[6] มาตรา 18 เมื่อมีคนเกิดให้แจ้งการเกิด ดังต่อไปนี้

(1) คนเกิดในบ้าน ให้เจ้าบ้านหรือบิดาหรือมารดาแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่คนเกิดในบ้านภายในสิบห้าวันนับแต่วันเกิด

(2) คนเกิดนอกบ้าน ให้บิดาหรือมารดาแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่มีคนเกิดนอกบ้านหรือแห่งท้องที่ที่จะพึงแจ้งได้ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันเกิด ในกรณีจำเป็นไม่อาจแจ้งได้ตามกำหนด ให้แจ้งภายหลังได้แต่ต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันเกิด

การแจ้งตาม (1) และ (2) ให้แจ้งตามแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด พร้อมทั้งแจ้งชื่อคนเกิดด้วย

ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน การแจ้งตามวรรคหนึ่งจะแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่อื่นก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

*** มาตรา 18 วรรคสาม เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551

[7]มาตรา 36 ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนบ้านไว้ทุกบ้าน สำหรับผู้มีสัญชาติไทยและคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยแต่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร

การจัดทำทะเบียนบ้านให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด

*** มาตรา 36 วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551

[8]มาตรา 38 ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนบ้านสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และบุตรของบุคคลดังกล่าวที่เกิดในราชอาณาจักร ในกรณีผู้มีรายการในทะเบียนบ้านพ้นจากการได้รับอนุญาตหรือผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักร ให้นายทะเบียนจำหน่ายรายการทะเบียนของผู้นั้นโดยเร็ว

ให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางจัดให้มีทะเบียนประวัติสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้ตามวรรคหนึ่งตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

รายการและการบันทึกรายการตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด

*** มาตรา 38 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551

[9] การจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวในปี 2546 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2546 เห็นชอบให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และทำงานต่อไปได้อีกไม่เกิน 1 ปี สิ้นสุดวันที่ 25 กันยายน 2547 จำนวน 409,339 คน

& ดู ดารารัตน์ อินทโสภา, การจัดระบบการจ้างแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา (พม่า) ลาว และกัมพูชา ปี 2551, มีนาคม 2551, http://www.cabinet.soc.go.th/soc/Program1-4.jsp?t_ser=14906

การดำเนินการจัดระบบการจ้างแรงงานต่างด้าวปี 2551 โดยต่ออายุใบอนุญาตทำงาน, การตรวจสุขภาพ, การจัดทำทะเบียนประวัติและพิมพ์ใบอนุญาตทำงาน ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2551

& ดู “สรุปประเด็นข้อเสนอและความคิดเห็นประเด็นสำคัญของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 3 มีนาคม 2558 เรื่อง การจัดระบบแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา”, http://www.cabinet.soc.go.th/soc/Program2-3.jsp?top_serl=99312671

(1) การจัดระบบแรงงานต่างด้าวสัญชาติ กำหนดแนวทางการจัดระบบแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา หลังวันที่ 31 มีนาคม 2558, การแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงทะเล, การปรับปรุงบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการจ้างแรงงานระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลเมียนมา-ลาว-กัมพูชา

(2) กระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับการตรวจสุขภาพและออกใบรับรองแพทย์ รวมการพัฒนาระบบและดำเนินงานด้านการตรวจสุขภาพและการประกันสุขภาพคนต่างด้าวทั้งระบบ

(3) กำหนดมาตรการในการจัดระบบแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนให้ครบถ้วนและเป็นระบบ โดยให้ครอบคลุมถึงแรงงานสัญชาติเวียดนาม บังกลาเทศ เนปาล และชาวไทยภูเขา

& ดู “การจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559”, จดทะเบียนแรงงานเป็นเวลา 120 วัน ระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2559 ถึงวันที่ 29 กรกฎาคม 2559 แรงงานที่มาจดทะเบียน จะได้รับอนุญาตทำงานตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2559 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2561, http://www.doe.go.th/th/services/การจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว-ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่-23-กุมภาพันธ์-2559

[10] ดู “ผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน”, http://www.senate.go.th/w3c/senate/pictures/comm/56/file_1382602801.doc

มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2549 : อนุมัติในหลักการให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการตามโครงการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติและเอกสารแสดงตนสำหรับบุคคลที่ไม่มีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนราษฎร และตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล เพื่อผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยในลักษณะชั่วคราวอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นการจัดทำทะเบียนประวัติและเอกสารแสดงตนสำหรับบุคคลที่ไม่มีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนราษฎร และกำหนดให้อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่กำหนดเพื่อให้พิสูจน์สถานะของตนเอง โดยกำหนดสถานะเป็น ผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน เลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข “0”

[11] พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 แก้ไขถึงฉบับที่ 5 พ.ศ. 2555, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 82 ตอนที่ 62 ฉบับพิเศษ หน้า 1 วันที่ 4 สิงหาคม 2508, http://www.mediafire.com/download/07jy0l1k3nmp1dg/พระราชบัญญัติสัญชาติ2508ถึงฉ5-2555update9short.doc

[12] “กฤษฎีกาฟันธงแม่สอดยกฐานะเป็นเทศบาลนครได้ ใช้เกณฑ์ ราษฎร 5 หมื่นรวมต่างด้าว”, สำนักข่าวอิศรา, 13 สิงหาคม 2555, http://www.isranews.org/กระแสชุมชน/ข่าวการเมือง/4-politic/15720--5-.html

[13] คนท้องเตรียมเฮ รับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด เพิ่มเป็น 600 บาท/เดือน, 22 มีนาคม 2559, http://th.theasianparent.com//เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด/

[14] ข้อมูลพื้นฐาน คือข้อมูลในระดับครัวเรือนที่แสดงถึงสภาพความจำเป็นพื้นฐานของคนในครัวเรือนในด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตที่ได้กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำเอาไว้ว่า คนควรจะมีคุณภาพชีวิตในแต่ละเรื่องอย่างไรในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ๆ ดู “คูมือการจัดเก็บขอมูลพื้นฐานป 2557-2559”, http://www.rdic.cdd.go.th/BMN2557/6.คู่มือการจัดเก็บข้อมูลพื้นฐาน.pdf

[15] กระทรวงมหาดไทยแก้ไขปัญหาสัญชาติให้กับเด็กนักเรียนทุนพระราชทานที่ไม่มีสถานะบุคคล มีผลการดำเนินงานในปี 2558 ให้สัญชาติไทยไปแล้วกว่า 5,000 ราย, 12 มีนาคม 2559, http://www.thaigov.go.th/index.php/th/news-ministry/2012-08-15-09-42-33/item/101078-id-101078

[16] เวทีประชุมระดับภูมิภาค “การเข้าถึงความยุติธรรมและความช่วยเหลือด้านกฎหมายในอาเซียน: สถานการณ์ ความท้าทาย และอนาคต”, โดยสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.), 4 เมษายน 2559, http://www.lrct.go.th/th/?p=19461

หมายเลขบันทึก: 604646เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2016 14:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 เมษายน 2016 18:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท