เตรียมพร้อมการเงินในวัยเกษียณ


การจัดการการเงินเพื่อเตรียมตัวเกษียณอายุของข้าพเจ้าแบ่งออกเป็น 4 ชั้นตอน ดังนี้

1. คำนวณเงินออมตอนเกษียณ ว่าเราควรที่จะมีเท่าไหร่ ณ วันที่ต้องเกษียณ

เงินออมตอนเกษียนคำนวณง่ายๆ นะครับ แค่ลองประมาณค่าใช้จ่ายต่อเดือนหลังเกษียณ (70% ของค่าใช้จ่ายปัจจุบัน*) x 12 เดือน เพื่อคิดเป็นค่าใช้จ่ายต่อปี และจากนั้นก็คูณด้วยจำนวนปีที่คาดว่าจะมีชีวิตอยู่หลังเกษียณ เพียงเท่านี้เราก็จะได้จำนวนเงินออมที่ต้องมี ณ วันที่เกษียณครับ

(70% ของค่าใช้จ่ายปัจจุบัน*) x 12 x จำนวนปีหลังเกษียณ = จำนวนเงินที่ต้องมี ณ วันเกษียณ

ยกตัวอย่างเช่น

  • ผมตั้งเป้าไว้ว่าเกษียณตอนอายุ 60 ปี และคาดว่าจะมีชีวิตอยู่หลังเกษียณอายุไปอีก 20 ปี (อายุ 80)
  • โดยผมเองมีค่าใช้จ่ายปัจจุบันอยู่ที่ 25,000 บาทต่อเดือน ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณของผมจะเท่ากับ 17,500 บาทต่อเดือน(70% x 25,000) หรือ 210,000 บาทต่อปี
  • จากนั้นก็คูณกับจำนวนปีที่คาดว่าจะใช้ชีวิตหลังเกษียณอายุ หรือ 210,000 x 20 ปี ออกมาเป็น 4,200,000 บาทถ้วน

* ที่มาของสูตรคำนวณ : TSI Thailand

2. คำนวณเงินออมเฉลี่ยต่อเดือน เพื่อให้มีพอใช้ยามเกษียณ

ต่อมาเมื่อเราได้เงินเกษียณเป็นที่เรียบร้อย เราก็มาดูว่าเราจะต้องเก็บเงินต่อเดือนเท่าไหร่กันครับ อันนี้ก็ง่ายๆ เพียงแค่เอาเงินเกษียณที่คำนวณได้จากข้อที่ 1 มาตั้ง แล้วหารด้วยจำนวนเดือนตั้งแต่วันนี้จนถึงเมื่อเราเกษียณครับ

จำนวนเงินที่ต้องมี ณ วันเกษียณ/จำนวนเดือนตั้งแต่วันนี้จนถึงเราเกษียณ

ยกตัวอย่างเช่น

  • เงินเกษียณที่ต้องการ = 4,200,000 บาท
  • และสมมติว่าผมอายุ 25 ปี หรือมีเวลาอีก 420 เดือน(35 ปี) ก่อนเกษียณ
  • ดังนั้นผมจะต้องเก็บเงินต่อเดือนประมาณ (4,200,000/420) = 10,000 บาท (โอ้!)

เห็นไหมครับว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงทีเดียว ทั้งนี้ก็เพราะว่าเราเก็บเงินเพียงอย่างเดียว ไม่ได้ลงทุนหรือทำเงินให้งอกเงยขึ้นนั่นเอง แต่ถ้าเราเริ่มลงทุนเมื่อไหร่ละก็ เรามาดูกันครับว่าจะเกิดอะไรขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น

  • ถ้าเราลงทุนด้วยเงิน 1,000 บาททุกเดือน กับกองทุนรวมที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยแค่ 4% ต่อปี แล้วละก็ ในระยะเวลา 35 ปี ก็จะมีเงินถึง 883,827 บาทครับ

และถ้าเราเพิ่มเป็นเก็บเดือนละ 5,000 บาททุกเดือน ก็แค่เอาเลข 5 ไปคูณกับ 883,827 ก็จะได้เป็น 4,419,135 บาทครับ เห็นไหมครับว่าการลงทุนทำให้เราเก็บเงินลดลงครึ่งนึง แต่กลับบรรลุเป้าหมายเกษียณเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ดังนั้น จะเห็นได้ว่ายิ่งมีเวลาออมมากเท่าไหร่เราก็ยิ่งมีโอกาสที่จะเกษียณได้ง่ายขึ้นเท่านั้น และถ้าเราหผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีได้ ก็จะยิ่งทำให้เรามีเงินเกษียณที่มากขึ้นไปอีก หรือเราสามารถเกษียณรวย เกษียณเร็วได้นั่นเองครับ

คราวนี้เมื่อได้เงินที่ต้องออมในแต่ละเดือนแล้ว จากนั้นก็มาสำรวจกันนะครับ ว่าเรายังจะได้เงินเพิ่มจากที่ไหนบ้างที่จะมีไว้ใช้ยามเกษียณ ไม่ว่าจะเป็น

  • เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
  • เงินจากกองทุนประกันสังคม ซึ่งถ้าเราจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนมา 15 ปี พออายุ 55 ปี ก็จะได้รับเงินบำนาญชราภาพ ซึ่งถ้ายิ่งทำงานเกิน 15 ปี ก็มีโอกาสได้เงินที่มากขึ้นไปด้วยครับ
  • เงินจากกองทุน กบข. แน่นอนครับว่าเฉพาะผู้ที่เป็นราชการเท่านั้น
  • เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 600 บาทต่อเดือน

แหล่งเงินเหล่านี้ ถ้ามีเก็บไว้รวมกับที่เก็บเองในแต่ละเดือนแล้วละก็ ผมรับรองว่าเกษียณได้อย่าสบายใจแน่นอนครับ

3. แบ่งเงินออมเกษียณไปลงทุนเพื่อให้งอกเงย

หากคิดอย่างรอบคอบแล้ว เงินออมเกษียณนั้นควรแบ่งไปลงทุนตามความเสี่ยงที่ยอมรับได้ในแต่ละช่วงอายุกันด้วย เพื่อให้มีโอกาสรับผลตอบแทนที่ชนะเงินเฟ้อ แล้วจะได้เกษียณแบบชิลๆ สมใจครับ ซึ่งผมก็ได้รวบรวมตัวอย่างมาให้แล้ว นั่นก็คือ

  • การลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF ซึ่งผมคิดว่าเป็นตัวหลักในเรื่องของแหล่งเงินเกษียณเลยก็ว่าได้ เพราะกองทุนรวม RMF นั้นจะต้องลงทุนอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปี และต้องลงทุนไปจนถึงอายุ 55 ปี ทำให้เรามีวินัยในการลงทุน และข้อดีอีกอย่างของ RMF ก็คือเราสามารถสับเปลี่ยนการลงทุนจากความเสี่ยงสูงไปยังความเสี่ยงต่ำได้ ระหว่างหน่วยลงทุนของกองทุนรวม RMF ซึ่งมีหลากหลายประเภทให้เราเลือกได้ตามต้องการ ซึ่งวิธีนี้จะเหมาะกับการจัดพอร์ตการลงทุน โดยลดความเสี่ยงลงเมื่อใกล้เกษียณ
  • แน่นอนครับ นอกจาก RMF แล้ว ยังมีกองทุนรวมประเภทอื่นที่น่าสนใจให้ลงทุนเพื่อต่อยอดเงินเกษียณให้งอกเงยได้ดีแต่ความเสี่ยงไม่สูงมากนัก เช่น กองทุนรวม B-SENIOR ซึ่งเมื่อลงทุนแล้ว ก็สามารถเลือกได้ว่าจะทยอยรับเงินกลับคืนอย่างสม่ำเสมอตามระยะเวลา หรือจะรับเป็นครั้งคราวก็ได้ เพื่อนำมาใช้จ่ายตามความต้องการในรูปแบบต่างๆ เลือกทำในสิ่งที่ชอบ เติมเต็มความสุขให้กับทั้งตนเองและครอบครัวเลยคร้าบ
  • หลายๆ ท่านอาจจะบ่นว่า ไม่ค่อยได้สนใจเรื่องลงทุน และไม่ค่อยชอบความเสี่ยง มีแบบที่ไม่ต้องเสี่ยงอะไรมากมาย และได้เงินชัวร์ๆ ไหม ผมขอตอบให้เลยครับว่า “มี” นั่นก็คือ การทำประกันแบบบำนาญ เช่น ประกันชีวิต สมาร์ทเฟิสต์ ซึ่งถึงแม้ว่าผลตอบแทนจะไม่มากเท่ากับกองทุน แต่การทำประกันแบบนี้ก็มีข้อดีหลายข้อครับ หลักๆ ก็คือ ช่วยให้เราเตรียมพร้อมไว้อย่างมั่นใจ ได้รับเงินคืนตามที่แบบประกันการันตีให้ พร้อมผลตอบแทนคุ้มค่า และยังได้ความคุ้มครองชีวิต และสิทธิลดหย่อนภาษีอีกต่างหากด้วยครับ

4. วางแผนและสำรองค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพหลังเกษียณ

ค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลนั้น มักจะเพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปี และยิ่งปีท้ายๆ ของการเกษียณ จะยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวทีเดียวครับ ว่ากันว่าประมาณ 60-70% ของเงินในแต่ละเดือนนั้น คือค่ารักษาพยาบาล ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้ละก็ ในช่วงที่อายุยังไม่มาก เราก็ควรที่จะวางแผนหรือสำรองค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลไว้ เช่น การทำประกันสุขภาพ เนื่องจากค่าเบี้ยประกันยังไม่แพง และช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ดี ถ้าเรารอให้ป่วยก่อนที่จะเตรียมพร้อมไว้ ก็จะทำให้เราต้องเสียเงินมากกว่าการวางแผนและสำรองเงินไว้แน่ๆ ครับ

สุดท้ายนี้ผมขอทิ้งท้ายไว้ซักเล็กน้อยว่า การวางแผนเกษียณนั้น อาจจะต้องใช้เวลาหลายปี แต่ถ้าเรามีวินัยทางการเงิน ผมรับรองว่าไม่ยาก ยิ่งเรารู้จักแบ่งเงินมาลงทุน ยิ่งเริ่มต้นเร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งเกษียณเร็วขึ้นเท่านั้น และถ้าเราเกษียณเร็ว และเกษียณได้อย่างมีสุขภาพทางการเงินที่ดี ก็มีโอกาสได้พักผ่อน หรือท่องเที่ยวไปยังที่ต่างๆ ในขณะที่ยังแข็งแรง มีสุขภาพที่ดีอยู่ แค่คิดก็มีความสุข สนุกขึ้นเป็นเท่าตัว ดังนั้นมาเริ่มต้นเสียตั้งแต่วันนี้กันนะครับ

วางแผนเกษียณให้รวย “ไม่ยาก” แค่เริ่มต้นดี เริ่มต้นเร็ว เท่านั้นเองคร้าบ^___^

อ้างอิง:http://www.aommoney.com

คำสำคัญ (Tags): #เกษียณ
หมายเลขบันทึก: 604266เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2016 01:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มีนาคม 2016 01:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท