เรียนรู้จากการถอดบทเรียน DHS เขตสุภาพที่ 12


การเป็นกระบวนกรวันนี้ทำให้ผมหวนคิดถึง เมื่อสองปีที่แล้ว หลังจากเสร็จงานที่ตรัง ผมหอบร่างกายอันอ่อนล้า กลับมาบ้านที่สงขลา ผมนอนหนาวสั่นอยู่กลางบ้าน แถมมีอาการปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัวร่วมด้วย รู้สึกไม่มีแรง ความรู้เดิมที่เคยมีคือถ้ามีอาการแบบนี้ร่างกายก็น่าจะฟื้นตัวได้ถ้าพักผ่อน ดื่มน้ำ และทานยาลดไข้ paracetamol แต่เมื่อผ่านไป 2 วัน อาการก็ยังไม่ทุเลาลง จึงตัดสินใจไปหาหมอที่โรงพยาบาล

คุณหมอดูจากอาการ แล้วให้ผมไปตรวจเกล็ดเลือด แล้ววินิจฉัยว่าผมเป็น “ไข้เลือดออก” คุณหมอคงใช้วิจารญาณแล้วว่าอาการผมไม่วิกฤติมากจึงอนุญาตให้ผมกลับบ้านได้ แล้วนัดมาเจาะเลือดซ้ำอีกครั้งพร้อมกับให้ยามาจำนวนหนึ่งซึ่งก็หนีไม่พ้น paracetamol ที่เป็นพระเอก และแนะนำให้สังเกตอาการด้วยตนเองว่ามีความเปลี่ยนแปลงบนเนื้อหนัง อาการอาเจียน การถ่ายอุจจาระที่มีสีผิดปกติไปจากเดิมหรือไม่ หากมีอาการดังกล่าวก็ให้รีบกลับมาโรงพยาบาล

ข้าวต้มร้อน ๆ น้ำผลไม้ที่คั่นสด ๆ พยาบาลกิตติมศักดิ์ ที่ดูแลผมมาตั้งแต่เกิด เสริฟให้ผมได้บำรุงกำลังวังชา พยาบาลของผมบอกด้วยน้ำเสียงสั่นเครือบนสีหน้าที่แฝงไปด้วยความเป็นห่วงระคนกับความภาคภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่นี้ “กินเยอะ ๆ นะลูก จะได้หายเร็ว ๆ ข้าวต้มกับน้ำผลไม้ แม่ทำด้วยหัวใจ แข็งแรงนะลูก”

อาหารที่เป็นเสมือนยาวิเศษ ซึ่งผู้หญิงที่ผมรักที่สุดปรุงให้รับประทาน เป็นเสมือนโอสถทิพย์ที่ทำให้ผมฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกลับไปตรวจอีกครั้งตามคำนัดหมายของหมอ ปรากฏว่าผมมีอาการดีขึ้น ไม่มีปัญหาอะไรแล้ว จะกล่าวอีกนัยก็คือ “ผมหายแล้ว”



กระทั่งวันนี้มีโอกาสไปเป็นกระบวนกรถอดบทเรียน การขับเคลื่อนงาน DHS (District Health System)ผ่านประเด็น “ไข้เลือดออก” ทำให้ฉุกคิดว่า โชคดีจริง ๆ ที่ผมเป็นไข้เลือดออกครั้งนั้นไม่ได้ทำให้คนที่ผมรักอีก 3 คน ที่อยู่ภายใต้ชายขาเดียวกับผมติดไข้เลือดออกไปด้วย เพราะขาดมาตรการควบคุมโรคที่ได้มาตรฐาน

วันนี้ทั้งพี่มาตร พี่อุ้ย จากอำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง พี่เปิ้ล จากอำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส และพี่แดง พี่จิบ จากอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งทั้ง 5 ท่าน เป็นบุคลากรด้านสาธารณสุขที่ทำงานแก้ปัญหาเรื่องไข้เลือดออกผ่านการขับเคลื่อนงาน DHS ช่วยกันเล่าให้ฟังว่า ถ้าพบใครเป็นไข้เลือดออก ต้องรีบทำการสอบสวนโรค ว่าเขาคนนั้นเป็นใคร มาจากที่ไหน และที่สำคัญคือต้องรีบกำจัดยุงลายด้วยการพ่นเคมีกำจัดยุงลาย ในและนอกครัวเรือนผู้ป่วยรวมทั้งรอบรัศมี 100 เมตร ภายใน 24 ชั่วโมง และต้องพ่นอย่างน้อย 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 7 วัน สำหรับกรณีพัทลุงพ่นอย่างน้อย 3 ครั้ง คือวันที่พบ หลังจากนั้นอีก 3 วัน และในวันที่ 7 อีก 1 ครั้ง ควบคู่กับการให้สุขศึกษา เช่น เรื่องการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย การสังเกตอาการของผู้ป่วย หรือผู้ที่อยู่ในละแวกนั้น และหากมีผู้ป่วยเกิดขึ้นอีกภายใน 28 วัน (2 เท่าของระยะฟักตัว)ต้องพ่นแบบปูพรมคือพ่นทุกหลังคาเรือน ทั้งชุมชน

ทว่าในตอนนั้น สิ่งที่พี่ทั้ง 3 ท่าน ช่วยกันเล่า ไม่ได้เกิดที่บ้านของผม เอ! หรือว่าไปเกิดที่ตรังหนอ???? แต่นับว่าเป็นโชคดีที่ผมไม่ได้เป็นตัวการแพร่เชื้อให้คนที่ผมรัก และคนในละแวกบ้าน


อย่างไรก็ตามในวันนี้ทำให้ผมได้เรียนรู้ว่า ผมควรสำรวจตรวจตราที่บ้านของผมว่าเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุลายหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนนี้ผมและแม่นิยมชมชอบกับสับปะรดสี ซึ่งนี่ก็เป็นอีกแหล่งที่มีแนวโน้มให้ที่พักพิงลูกน้ำยุงลาย หากมีก็ทำลายเสีย นอกจากนั้นเมื่อมีใครเป็นไข้เลือกออกต้องรีบแจ้ง อสม. หรือ จนท.รพ.สต. และเมื่อผ่านไป 24 ชั่วโมง ถ้ายังไม่มีกระบวนการใด ๆ ถือว่า ระบบการทำงานดังกล่าวมีปัญหา ผมจะแจ้งไปที่ สสอ. หรือ สสจ. ที่เป็นหน่วยเหนือกว่าระดับตำบลให้ช่วย ไม่เพียงเท่านั้นพรุ่งนี้ผมจะบอกญาติพี่น้องของผม และเพื่อนบ้านให้เข้าใจถึงบทบาทที่แต่ละคนจะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเรื่องนี้

ไม่ทราบว่าจะจบอย่างไรดี แต่อยากจะบอกว่า 1 วันที่นั่งอยู่ในฐานะกระบวนกรและฟังพี่ ๆ แลกเปลี่ยน ถอดบทเรียน ช่างมีคุณค่า และสร้างแรงบันดาลใจให้อยากทำอะไรอีกมากโข

หมายเลขบันทึก: 604179เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2016 23:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มีนาคม 2016 09:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ชอบใจการทำงาน

จะไปสงขลา

แล้วจะแวะไปหานะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท