CADL ขับเคลื่อน ปศพพ. ใน มมส. _ ๑๖ : รายวิชา ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาอาจารย์ผู้สอน ๒๕๕๙ (๓)


บันทึกที่ (๑)

บันทึกที่ (๒)

กิจกรรมที่ ๓ ถอดบทเรียน จากประสบการณ์ที่สำเร็จของตนเอง

อ.ศศินี ท่านได้มอบหนังสือไว้เล่มหนึ่งชื่อ "ตัวอย่างการจัดการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างอุปนิสัย "พอเพียง" (ดาวน์โหลดได้ที่นี่) นอกจากหนังสือเล่มนี้แล้ว ศูนย์พัฒนาวิชาการเพื่อการเรียนรู้ หรือ CADL ยังได้รับการสนับสนุนเป็นเอกสารหนังสือที่จัดแสดงไว้ ณ มูลนิธิสยามกัมมาจล และเผยแพร่ออนไลน์ไว้ (ดูได้ทีนี่) ... อาจารย์ท่านใดสนใจ แวะมาเลือกดู ยืมไปอ่านได้ครับ ...

หน้าที่ ๑๒-๑๗ ของหนังสือเล่มนี้ เผยแพร่กระบวนการ "เคลียร์คอนเซ็ป" (ท่านใช้คำว่า หัวใจแห่งการเรียนรู้) ของ ดร.ฉลาด ปาโส ครูโรงเรียนเชียงขวัญพิทยาคม จ.ร้อยเอ็ด (ผมเคยเผยแพร่คลิปการอธิบายกระบวนการนี้ของท่านไว้ที่นี่ และเอารูปแบบของท่านมาดันแปลงและใช้ในการขับเคลื่อนฯ ในลักษณะคล้ายกันและได้บันทึกไว้ที่นี่)...แนะนำให้ทุกท่านที่กำลังจะสอนเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา คลิกเข้าไปศึกษาดูครับ ขั้นตอนกิจกรรม (ที่สามารถนำไปใช้สอนได้)

อ.ศศินี ท่านนำเอาวิธีการนั้น มาใช้กับการอบรมอาจารย์ครั้งนี้ สรุปพอเข้าใจโดยอาจกำหนดเป็น ๓ ขั้น ดังนี้

ขั้นที่ ๑ เกริ่นนำและวาดรูป

เกริ่นนำถึงสิ่งที่ได้สรุปร่วมกันมา(ในบันทึกแรก)ว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาฯ ที่นำไปสู่ความสุข ความสำเร็จ เป็นหลักคิดและหลักปฏิบัติในการดำเนินชีวิต ในชีวิตของตนผ่านความยากลำบาก ต้องฝึกฝน ฟันฝ่ามากมาย มีกิจกรรมใดไหม? ที่เราได้ทำสำเร็จแล้ว ทำให้เรามีความสุข ให้คิดมาหลายๆ กิจกรรม

ให้ทุกคนวาดรูป "หัวใจ" ไว้ตรงกลางกระดาษ A4 แล้ววงกลมใหญ่ๆ เหนือรูปหัวใจ และวงกลม (หรือวงรี) ให้มีขนาดเท่ากันไว้ด้านซ้ายล่างและล่างขวา ดังรูปด้านล่าง



ขั้นที่ ๒ เขียนเตรียมเล่าเรื่อง

ให้ทุกคนเขียนตอบคำถาม ตามประเด็นๆ ที่กำหนดไว้ดังนี้

  • ให้เขียนกิจกรรมที่ตนเองเคยทำ ซึ่งมีลักษณะ ๓ ประการ ได้แก่ ๑) ทำสำเร็จ ๒)รู้สึกภูมิใจมาก และ ๓) อยากจะบอกต่อเผยแพร่แบ่งปันกับผู้อื่น โดยเขียนเฉพาะชื่อกิจกรรมนั้นสั้นๆ
  • ในวงกลมด้านบน ให้เขียนเป็นประเด็นๆ ให้เห็นวิธีการหรือขั้นตอนในการกระทำกิจกรรมนั้นๆ รวมถึงเขียนโน๊ตไว้สั้นๆ ด้วยว่า ทำทำไม? โดยเดลือกเอาเหตุผลที่สำคัญที่สุด และผลดีหรือประโยชน์ที่สำคัญที่สุดไว้สั้นๆ ... เป็นการเตรียมเนื้อหาไว้มาแลกเปลี่ยนตอนเล่าเรื่อง ในขั้นตอนต่อไป
  • วงรีด้านซ้าย ให้เขียนบอกว่า การจะทำกิจกรรมนั้นๆ ให้ได้ดี จะต้องมีความรู้อะไรบ้าง
  • วงรีด้านขวา ให้เขียนบอกว่า กิจกรรมนั้นๆ จะสำเร็จได้ใช้คุณธรรมข้อไหน หรือต้องมีเจตคติที่ดีอย่างไร ... ควรเขียนแบบเน้นๆ ว่า ถ้าขาดสิ่งนั้นๆ จะไม่สำเร็จแน่นอน

ขั้นที่ ๓ เล่าเรื่องแลกเปลี่ยน

ให้จับคู่กัน แล้วเล่าเรื่องกิจกรรมของตน แล้วสลับกับเล่าเรื่องอย่างละเอียด โดยใช้กระดาษที่ตนเขียนไว้เป็นสื่อประกอบ ผู้เล่าเรื่องเล่าอย่างซื่อตรง เล่าความจริง (ไม่ใส่ไข่ เติมสี) ผู้ฟังก็ฟังอย่างชื่นชม ตั้งใจ อาจใช้คำถามซักให้เข้าใจในแต่ละขั้นตอนได้ อาจใช้ ๗ คำถามของ รศ.ดร.ทิศนา แขมมณี (อ่านได้ที่นี่ หรือที่นี่) ที่ทางมูลนิธิฯ ขับเคลื่อนฯ และได้ผลดี

ขั้นที่ ๔ สะท้อนและสรุปบทเรียน

เครื่องมือที่ อ.ศศินี ใช้ในการอบรมคือ "คำถาม" แม้ขั้นตอนสรุปสาระสำคัญ ท่านก็ยังใช้คำถามว่า "กิจกรรมที่เราทำมานี้ มีเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ตรงไหนบ้างคะ?..." ก่อนจะสรุปตอนท้าย และแนะให้ระวัง การยึดติดกับรูปแบบมากเกินไป ซึ่งมักใช้คำถามตรงๆ เช่น เหตุผลคืออะไร พอประมาณคืออะไร ภูมิคุ้มกันคืออะไร ฯลฯ ตามตารางที่เราใช้ถอดบทเรียนในเอกสารประกอบการสอน และสรุปด้วยแนวทางการถอดบทเรียน ตามสไลด์นี้



หลังกิจกรรม ผม AAR ว่า

  • กิจกรรมนี้ เป็นกิจกรรมเดียวกันกับกิจกรรมที่ ๒ ของเอกสารประกอบการสอนที่เราใช้อยู่ อาจารย์ท่านใดจะเอากิจกรรมนี้ไปใช้ ก็ไม่น่าจะมีปัญหา
  • นิสิตที่ทำกิจกรรมที่แล้ว จะเข้าใจและสามารถอธิบายว่า จะเอาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในชีวิตกิจกรรมได้อย่างไร
  • กิจกรรมการเรียนรู้น่าจะเป็นไปอย่างสนุก นิสิตน่าจะมีความสุข เพราะได้เล่าเรื่องที่ตนชอบ ทำเสร็จ และอยากแบ่งปัน ซึ่งเป็นเรื่องเงื่อนไขให้เลือกกิจกรรมนั้นๆ อยู่แล้ว





ท่านอาจารย์ธวัช ชินราศรี ท่านอาสาออกมาเล่าเรื่องแลกเปลี่ยนการนำเอาหลักปรัชญาฯ ไปใช้ในการดำเนินชีวิตเป็นท่านแรก ท่านทำเกษตรผสมผสาน คาดว่าในอนาคต เราจะยกพลผู้สอนไปศึกษาดูงานบ้านท่านให้ได้ครับ... ขอบคุณท่านที่มาร่วมประชุมตลอด ทุกครั้ง และเสริมพลังให้กับกลุ่มตลอด ...

หมายเลขบันทึก: 603824เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2016 16:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มีนาคม 2016 21:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท