"อัศจรรย์ ..." : กานดาวศรี ตุลาธรรมกิจ


อาจารย์เอก (นามสมมติ) เป็นผู้ป่วยชายไทย อายุ 61 ปี ศาสนาพุทธ อาชีพรับราชการเป็นอาจารย์ด้านวิศวกรรรมในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ป่วยเป็นมะเร็งผิวหนังระยะสุดท้าย มีการแพร่กระจายไปกระดูกและปอด มารับการรักษาโดยการผ่าตัดฉายรังสี และเคมีบำบัด

ฉันได้รู้จักและมีโอกาสดูแลอาจารย์เอกตั้งแต่เมื่อประมาณ 3 ปีก่อน ตอนมาฉายรังสีแบบหายขาด จนถึงครั้งนี้ที่มาฉายรังสีแบบบรรเทาอาการ สัมพันธภาพระหว่างฉัน แพทย์รังสีรักษาและอาจารย์เอกจึงแน่นแฟ้น มีหลายๆ เรื่องที่อาจารย์เอกไม่เคยเล่าให้ใครฟัง แต่จะมาเล่าให้ฉันฟัง ในบางครั้งอาจารย์เอกจะเป็นที่ปรึกษา เช่น เรื่องการเรียนวิศวกรรมของลูกสาว เรื่องธรรมะ เป็นต้น

......

วันหนึ่งพี่สาวอาจารย์เอก คุณนี (นามสมมติ) โทรศัพท์มาบอกว่า อาจารย์เอกอาการไม่ค่อยดี นอนอยู่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งที่ต่างอำเภอ

ฉันตัดสินใจเดินทางไปเยี่ยมทันที

อาจารย์เอกรู้สึกตัวดี แต่อ่อนเพลียมาก หายใจเหนื่อย ต้องใช้ออกซิเจนผ่านสายทางจมูก

สวัสดีค่ะ อาจารย์เป็นอย่างไรบ้างคะ ฉันเข้าไปทักทาย พร้อมยกมือไหว้

ช่วย ช่วยผมด้วย.. ”อาจารย์เอกร้องไห้จนตัวสั่น

เป็นภาพที่ฉันรู้สึกสะเทือนใจมาก เพราะมีแม่อายุ 90 ปีกับพี่สาวนั่งอยู่ข้างๆ อาจารย์ และที่ผ่านมา ฉันเห็นภาพของอาจารย์เอก เป็นคนเข้มแข็ง อ่อนโยน ใจดี คุยสนุกและมีสาระข้อคิดดี

อาจารย์จะให้ช่วยอะไรคะ ฉันถาม

อาจารย์เอกตอบด้วยเสียงสั่นเครือ ผมแบกทุกข์มา 20 กว่าปี ที่ทุกข์หนักในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และสิ่งต้องการให้ช่วย คือ

1. ให้ผู้หญิงคนนี้ออกไปจากชีวิตผม (หมายถึง ภรรยาที่แยกทางมาประมาณ 20 กว่าปี แต่เพิ่งกลับมาดูแลอาจารย์ได้ไม่ถึงเดือน และมีความคิดที่จะยื้อชีวิตอาจารย์โดยการใส่ท่อช่วยหายใจ เมื่อหายใจเองไม่ได้ ให้ปั๊มหัวใจ เมื่อหัวใจหยุดเต้น)

2. ทรัพย์สินที่มีอยู่ มอบให้แม่และพี่สาว

3. ไม่ต้องการให้ยื้อชีวิตเมื่อเข้าสู่วาระสุดท้าย และต้องการเสียชีวิตที่บ้าน

อาจารย์เอกพูดไป น้ำตาคลอเบ้า

ได้ค่ะ ฉันตอบ

หลังจากการพูดคุยในวันนั้น ฉันนำปัญหาทั้งหมดมาปรึกษาอาจารย์เต็มศักดิ์ แพทย์ที่ทำงานด้าน palliative care และอาจารย์แพทย์เจ้าของไข้ว่า ควรทำอย่างไรดี

อาจารย์ทั้ง 2 ท่าน ให้ข้อคิดเห็นดังนี้ คือ

ประเด็นแรก ให้เอาภรรยาออกไปจากชีวิตของอาจารย์เอกนั้น จัดการไม่ยาก ถ้าทั้งสมองและหัวใจต้องการ แค่บอก รปภ. หรือตำรวจเท่านั้น แต่อยากให้กลับไปถามอาจารย์เอกอีกครั้งว่า ที่ต้องการแบบนั้นเป็นเพราะสมองหรือหัวใจต้องการ ฉันกลับหาอาจารย์เอกอีกครั้งหนึ่ง สอบถามได้ความว่า สมองต้องการแต่หัวใจไม่ต้องการเช่นนั้น

ประเด็นที่สอง ทรัพย์สินที่มีอยู่มอบให้แม่และพี่สาว ให้ปรึกษาทนาย

ประเด็นที่สาม ไม่ต้องการให้ยื้อชีวิตเมื่อเข้าสู่วาระสุดท้าย ให้ทำหนังสือแสดงเจตนาเกี่ยวกับการดูแลรักษาพยาบาลในวาระสุดท้าย ส่วนเรื่องการไปเสียชีวิตที่บ้าน จะต้องมีการวางแผนจำหน่าย และประชุมครอบครัวเพื่อเตรียมคนดูแล สถานที่/อุปกรณ์ และติดต่อเครือข่ายโรงพยาบาลใกล้บ้าน

แต่ปรากฏว่า ยังไม่ทันได้จัดการเรื่องหนังสือแสดงเจตนาตามความต้องการ อาจารย์เอกก็ซึมลงเสียก่อน จากภาวะแคลเซียมในเลือดสูง อาจารย์แพทย์เจ้าของไข้จึงรับผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาล เพื่อแก้ไขภาวะดังกล่าวและเตรียมเรื่องการดูแลรักษาตามอาการ เมื่อรักษาอาการดีขึ้นแล้ว จึงสามารถทำหนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาฯ ตามแบบฟอร์มของโรงพยาบาลได้สำเร็จ ในหนังสือแสดงเจตนาฯนี้ อาจารย์เขียนไว้ด้วยว่า ให้พี่สาวเป็นผู้ตัดสินใจ หากอาจารย์ไม่รู้สึกตัวแล้ว

แม้จะมีหนังสือแสดงเจตนาฯ แล้ว เราก็รู้ว่า อาจมีปัญหาจากภรรยาคนนี้ที่ยังต้องการให้ทำทุกอย่างเต็มที่ ถ้าเกิดเหตุการณ์ขึ้นมา เขาอาจจะหาว่าเราดูแลไม่เต็มที่ได้ จะทำอย่างไรให้ภรรยาคนนี้เขายอมรับด้วย จึงวางแผนทำ family meeting เพื่อเปิดโอกาสให้อาจารย์ได้พูดถึงความต้องการของตนเอง

มันทำให้เราทราบว่า สิ่งที่มีความสำคัญในชีวิตของอาจารย์ คือ เรื่องงาน อาจารย์ทำโครงการใหญ่ไว้โครงการหนึ่ง ซึ่งใกล้จะสำเร็จแล้ว จึงต้องส่งต่อให้เพื่อนร่วมงานทำต่อ และอาจารย์รักหลานคนหนึ่งที่เรียนวิศวะเหมือนกัน อาจารย์ก็มีโอกาสได้คุยกับหลานคนนั้น

ก่อนเสียชีวิต 5 วัน อาจารย์เอกต้องการไปไหว้สมเด็จเตี่ย (กรมหลวงชุมพรฯ) ที่สงขลา ไปดูสถานที่สำคัญๆ ในจังหวัดที่ตนเองเป็นคนออกแบบหรือคุมงานก่อสร้าง ไปเยี่ยมสุนัขที่เลี้ยงไว้ เราจึงวางแผนพาอาจารย์เอกออกจากโรงพยาบาลไปสงขลาโดยต้องใช้ออกซิเจนด้วย มีอาจารย์แพทย์เจ้าของไข้ นักศึกษาแพทย์ ฉัน และครอบครัวของอาจารย์เอกไปด้วยกัน ฉันในฐานะพยาบาลก็เตรียมเรื่องอุปกรณ์ เช่น ถังออกซิเจน เครื่องวัดค่าออกซิเจน เครื่องวัดสัญญาณชีพ เป็นต้น และติดต่อพยาบาลเครือข่ายที่โรงพยาบาลสงขลา เผื่อว่าถ้ามีเหตุฉุกเฉิน จะสามารถเข้าโรงพยาบาลได้ทันที

ภาพอาจารย์เอกวันนั้นดูมีความสุขมาก ยิ้มตลอดเวลา เล่าเรื่องราวของสถานที่แต่ละแห่งอย่างภาคภูมิใจ เมื่อกลับมาถึงหอผู้ป่วย อาจารย์เอกยกมือชูสองนิ้วบอกพยาบาลที่หอผู้ป่วยว่า อัศจรรย์

เรื่องที่อาจารย์เอกอยากกลับไปตายที่บ้าน เราก็ต้องวางแผนจำหน่ายก่อนให้กลับบ้าน ต้องดูว่า จะกลับไปอยู่บ้านอย่างไร เตรียมบ้าน เตรียมอุปกรณ์ มีออกซิเจนเพื่อให้ไม่เหนื่อยมาก มีเตียง เบาะลม ก็ขอยืมจากโรงพยาบาลสงขลา เขาก็มีพร้อมจัดเตรียมให้ หลังจากนั้นก็ไปดูบ้านด้วยกัน ประชุมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง วันที่พาอาจารย์กลับบ้าน ก็มีหมอ พยาบาลมารอถึงบ้านได้ 5 ชั่วโมง อาจารย์เอกก็เสียชีวิตอย่างสงบและอบอุ่นท่ามกลางครอบครัว หมอและพยาบาล

ขอบคุณบทเรียนทรงคุณค่า

บทเรียนนี้ซับซ้อนยุ่งเหยิงวุ่นวายซ่อนเงื่อนพวกเราทุกคนร่วมมือกันทำงานเป็นทีมช่วยกันคลายปมและสานใหม่อย่างสวยงามอย่างที่ผู้ป่วยต้องการและสอนให้มองต่างมุม...เป็นความงดงามของการแบ่งปัน/เอื้ออาทรและการจากไปอย่างสงบสมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

...จากพยาบาล

“ขอบคุณครับที่ได้มาสอนคนอย่างผมให้เป็นหมอ และเป็นคนที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ขอบคุณที่เชื่อใจในคนอย่างผมจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ผมรู้ว่าระหว่างการเดินทางเราช่วยกันเตือนสติของกันและกัน จนสุดท้ายเราทั้งสองคนได้เดินทางจนถึงสิ่งที่สำคัญที่สุดของธรรมะ นั่นคือความเป็นธรรมชาติซึ่งเกิดจากการมีสติรับรู้พิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยปัญญาและดับทุกอย่างลงด้วยเหตุผล....สุดท้ายผมรู้ได้ในลมหายใจสุดท้ายของคุณว่าใบโพธิ์ของคุณโดนปลดเปลื้องออกจากหัวใจอย่างสมบูรณ์และขอบคุณที่ช่วยปลดเปลื้องใบโพธิ์ของผมด้วยเช่นกัน..”

รักและเคารพเสมอไม่มีวันเปลี่ยนแปลง

(สุดท้ายแล้วการดูแลรักษาผู้ป่วยคือการเยียวยาและพัฒนาหัวใจตนเอง)


ต้นเรื่อง : https://www.gotoknow.org/posts/572974

หมายเลขบันทึก: 603556เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2016 13:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มีนาคม 2016 13:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท