มิติใหม่”สวนสารธารณะพรุค้างคาว” ก้าวสู่ “ตลาดน้ำบ้านพรุ” แหล่งรวมกิจกรรมท้าทายวัยุร่นยุคใหม่


มิติใหม่”สวนสารธารณะพรุค้างคาว”

ก้าวสู่ “ตลาดน้ำบ้านพรุ” แหล่งรวมกิจกรรมท้าทายวัยุร่นยุคใหม่

มีโอกาสไปเดินตลาดน้ำบ้านพรุ คนเยอะมากๆ แต่ที่ประทับใจคือตลาดน้ำแห่งนี้แตกต่างจากตลาดน้ำที่อื่นๆ มีกิจกรรม สไตล์แอดเวนเจอร์ หอโรยตัว ปีนหน้าผา โหนสลิง ยิงธนู ขี่ม้า ล้วนแต่ท้าทายวัยรุ่นยุคใหม่ บ้างครั้งมีกิจกรรมเรือเล็ก และอื่นๆ กลายเป็นการเรียนรู้ไลฟสไตฟ์ของคนเมืองในยุคปัจจุบันที่แปลกแตกต่างออกไป

ที่นี้มีสินค้า ของจำหน่ายมากมาย อาหารพื้นบ้านมีการสาธิตให้ดู คิดถึงวัยเด็ก อาหารหลายอย่างเราทำได้ แต่ปัจจุบันทำไม่เป็นแล้ว แล้วก็หลงลืมไปเกือบหมดแล้ว มานั่งดูเขาปิ้งขนมจาก ก็อยากจะลงมือทำมั๊ง เดินผ่านไปก็มีศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน หนังตะลุง และอีกหลายๆ กิจกรรม นักท่องเที่ยวที่นี้ ก็มีทั้งคนในพื้นที่ และใกล้เคียง แต่ช่วงเปิดคนเยอะมากๆ กิจกรรมมีทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ แต่ถ้าตั้งใจมาชิมอาหารอร่อยก็ต้องวันเสาร์

เงยหน้ามองออกไปสภาพสวนสาธารณะแห่งนี้ยังคงความเป็นธรรมชาติอยู่มาก จำได้ว่า สมัยเมื่อกลับมาทำหน้าที่ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสงขลาใหม่ๆ มีการผลักดันให้พรุค้างเป็นสนามกีฬา และมีหอชมทัศนียภาพรอบๆ มีโอกาสไปดูพื้นที่ร่วมกับคณะทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาสมัยนั้นสภาพพรุค้างคาว เป็นหนองน้ำ มีน้ำขังตลอดทั้งปี มีป่าละเมาะเล็กน้อย บริเวณรอบนอกเป็นสวนยางของราษฎร์ พื้นที่ว่างรอบๆ หนองน้ำมีการปลูกป่าทดแทนป่าเดิม ทั้งกระถินเทพา กระถินณรงค์ และต้นตาล ทัศนียภาพสวยงาม มีสัตว์ป่าโดยเฉพาะนกชนิดต่างๆ มากมาย ในช่วงเย็น เราเจอนกยาง นกเขาดิน นกกระเต็น นกแขวก นกกระสาแดง เป็นต้น โดยเฉพาะนกเป็ดน้ำในอดีตมีนับพันตัว

มีโอกาสไปพักผ่อนหลายครั้ง ไปว่ายน้ำที่สนามกีฬาฯ ก็ออกมาเดินชมสวน เนื้อที่ กว่า 450 ไร่ที่พรุค้างคาว มีเรื่องให้ศึกษาได้มากมาย เทศบาลเมืองบ้านพรุได้สร้างให้ที่นี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนภายในเขตเทศบาลเมืองบ้านพรุ และประชาชนทั่วไป รวมทั้งเป็นสถานที่จัดกิจกรรมสาธารณประโยชน์ต่าง ๆซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

ด้วยสถานที่ตั้งพรุค้างคาว ใกล้กับตัวเมืองหาดใหญ่ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้า การท่องเที่ยว การศึกษา การคมนาคม มีถนนกาญจนวนิช เป็นเส้นทางในการคมนาคมจากหาดใหญ่สู่ด่านชายแดนอำเภอสะเดา( ห่างจากอำเภอหาดใหญ่ประมาณ 10 กิโลเมตร และห่างจากชายแดนมาเลเซียประมาณ 40 กิโลเมตร ทำให้หลายหน่วยงานเข้ามาใช้ประโยชน์จาก

ปัจจุบันมีส่วนราชการเข้ามาใช้ประโยชน์แล้ว ได้แก่ โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย ใช้พื้นที่ไปประมาณ 71 ไร่ สนามกีฬาเมืองหลักภาคใต้ (พรุค้างคาว) ศูนย์กีฬาแห่งประเทศไทย ภาค 4 การกีฬาแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเทียว ใช้พื้นที่ไปประมาณ 79 ไร่ สวนสาธารณปัจจุบันมีพื้นที่ประมาณ 300 ไร่

ในปี 2558 ทางภาครัฐได้กระตุ้นให้เกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยมีเป้าหมายให้อาเซียนเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานฝีมืออย่างเสรี รวมทั้งการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เสรียิ่งขึ้น เทศบาลเมืองบ้านพรุมีถนนกาญจนวนิชตัดผ่านจากอำเภอหาดใหญ่ไปถึงประเทศมาเลเซีย ถือเป็นประตู่สู่อาเซียนชั้นใน คณะผู้บริหารจึงได้มีนโยบายที่จะพัฒนาปรับปรุงให้เกิดตลาดน้ำบ้านพรุ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ เป็นสถานที่สร้างโอกาส สร้างรายได้ เผยแพร่วัฒนธรรม และสร้างชื่อให้กับคนบ้านพรุสู่สายตาประชาคมอาเซียน

นายแพทย์วรวัฒน์ ชีวะอิสระกุล นายกเทศมนตรีเมืองบ้านพรุ กล่าวว่า ด้วยเหตุดังกล่าว จึงมีนโยบายในการพัฒนาสวนสาธารณพรุค้างคาว ทำให้เกิดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และมีปอดขนาดใหญ่ให้กับประชาชนทำให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่ดีและยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับหลักของเศรษฐกิจชุมชน และอำนาจหน้าที่ของเทศบาลตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496

ตลาดน้ำบ้านพรุ ได้ดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 วัตถุประสงค์ก็เพื่อปรับปรุงพื้นที่สวนสาธารณะพรุค้างคาวให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ โดยพัฒนาเป็นสวนสาธารณะระดับจังหวัด ที่มีกิจกรรมที่หลากหลายสนองตอบต่อความต้องการของประชาชนและนักท่องเที่ยว ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน ส่งเสริมให้มีการประกอบอาชีพการค้า และบริการให้กับประชาชนและเป็นลานวัฒนธรรมชุมชน รวมทั้งสนับสนุนให้พรุค้างคาวเป็นปอดใหญ่ให้กับประชาชนและทำให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่ดีและมีความยั่งยืน

สำหรับผู้ที่สนใจอยากไปร่วมกิจกรรมตลาดน้ำบ้านพรุ ก็สามารถไปได้ตั้งแต่ 10.00 น. ทุกวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ มีกิจกรรมให้เลือกได้มากมาย ทั้งเวทีกลาง ซึ่งมีการแสดงทุกอาทิตย์ อาคารจำหน่ายสินค้าที่ระลึก ร้านค้า ท่าน้ำ เรือจำหน่ายสินค้า ซุ้มจำหน่ายอาหาร หอโรยตัว ท่าเทียบเรือล่องเรือธรรมชาติ สนามยิงธนู กิจกรรมสไตล์แอดเวนเจอร์ สนุกสนานได้ทั้งครอบครัว

คำสำคัญ (Tags):
หมายเลขบันทึก: 603285เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2016 16:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มีนาคม 2016 16:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท