HS
นางสาว หทัยรัตน์ เส็งนา

ผลกระทบของมาตรการพิมพ์เงิน (QE) ของสหรัฐอเมริกา


ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ประกาศมาตรการพิมพ์เงินออกมาซื้อพันธบัตรเป็นครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 13 กันยายน (QE3) ซึ่งทำให้ตลาดหุ้นดีใจละปรับตัวขึ้นกว่า 1.5% ทั้งนี้เพราะมาตรการที่ประกาศเกินความคาดหมายของตลาด คือ เฟดประกาศว่าจะซื้อ MBS (หลักทรัพย์ที่มีบ้านเป็นหลักประกัน) เดือนละ 40,000 ล้านบาทเริ่มต้นวันที่ 14 กันยายนเป็นต้นไปและคงดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับต่ำไปจนถึงกลางปี 2015 ที่สำคัญคือ จะดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินอย่างยิ่ง (highly accommodative) และเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้วก็จะยังดำเนินนโยบายดังกล่าวต่อไปอีกนาน (considerable time after economic recovery strengthens) เป็นที่เข้าใจว่านโยบายทุ่มเงินอย่างไม่จำกัดจำนวนจะดำเนินต่อเนื่องจนกระทั่งการว่างงานปรับตัวลงเหลือ 7% หรือต่ำกว่านั้น มาตรการ QE3 นี้นักวิเคราะห์บางคน บอกว่าน่าจะเรียกว่า “QE infinity” มากกว่า เพราะไม่มีการกำหนดขอบเขตแต่อย่างใด และ Bank of America-Merrill Lynch คาดการณ์ว่าขั้นต่อไปเฟดจะซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอีกเดือนละ 45,000-60,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคมเป็นต้นไป แปลว่า เฟดจะพิมพ์เงินเข้าระบบเดือนละเกือบ 100,000 ล้านเหรียญอย่างต่อเนื่องถึงปี 2015 คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งใหญ่กว่า QE1 และ QE2 รวมกัน

ทั้งนี้มาตรการ QE ที่ทำมาในอดีตนั้น ทำให้งบดุลของธนาคารกลางสหรัฐขยายตัวจาก 900,000 ล้านเหรียญมาเป็น 2,800,000 ล้านเหรียญในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา (ขณะที่งบดุลของอีซีบีเพิ่มจาก 1.1 ล้านล้านยูโรมาเป็น 3.1 ล้านล้านยูโรในช่วงเดียวกัน) ทั้งนี้หนี้ของธนาคารกลางนั้นส่วนใหญ่ก็คือธนบัตร (เงิน) ที่พิมพ์ออกมาสู่ระบบเศรษฐกิจนั่นเอง ซึ่งมาตรการคิวอีถือว่าเป็นมาตรการที่เป็นมิตรกับนักลงทุนมากที่สุด เพราะการที่ธนาคารกลางซื้อพันธบัตรคุณภาพดีออกจากมือของประชาชนนั้น ย่อมเป็นการผลักดันให้ประชาชนมีเงินที่จะนำไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ ดังนั้นนักลงทุนจึงมองว่าเมื่อมีข่าวร้ายว่าเศรษฐกิจทรุดตัวลง (เช่น การว่างงานเพิ่มขึ้น) แทนที่จะกลัวว่าผลประกอบการของบริษัทจะตกต่ำลง ก็จะมองว่าธนาคารกลางจะต้องเพิ่มมาตรการคิวอีเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจ ทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นว่าราคาหุ้นจะไม่ตกมีแต่ขึ้น คือ เชื่อว่า Bad news is good news เพราะเมื่อมีข่าวร้ายในเชิงของปัจจัยพื้นฐานก็จะมีมาตรการคิวอี (ข่าวดี) ออกมาพยุงหุ้น เพราะธนาคารกลางสหรัฐสรุปว่าการพยุงหุ้นคือกลไกที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจนั่งเอง

การพิมพ์เงินออกมาเป็นจำนวนมากทำให้เงินทะลักไปสู่การเก็งกำไรในสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาอาหารและราคาน้ำมันปัญหาคือเมื่อคิวอีทำให้ราคาสินค้าปรับตัวขึ้น กำลังซื้อของประชาชนก็ลดลง แปลว่าคิวอีจะไม่ได้ช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวแต่อย่างใด ตัวอย่างเช่นหากคิวอี 3 ผลักดันให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับสูงขึ้นเกินกว่า 120 เหรียญต่อบาร์เรลก็จะทำให้ผู้บริโภคต้องใช้เงินเพื่อซื้อน้ำมันคิดเป็นสัดส่วนเกินกว่า 6% ของรายได้ ซึ่งการศึกษาในอดีตพบว่าที่ระดับดังกล่าวผู้บริโภคจะเริ่มลดการบริโภคสินค้าอื่นๆ ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงในกลางปี 2010 และ 2011 นอกจากนั้นก็ยังพบว่าเมื่อราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น 20 เหรียญต่อบาร์เรล จีดีพีสหรัฐจะลดลง 0.3% และเงินเฟ้อจะปรับเพิ่มขึ้น 0.3% ที่สำคัญคือคิวอีนั้นกระทบคนจนมากกว่าคนรวย เพราะสัดส่วนของรายจ่ายของคนจนที่ต้องนำไปใช้ในการซื้ออาหารและพลังงานนั้นสูงกว่าสัดส่วนของคนร่ำรวยอย่างมาก

แหล่งอ้างอิงข้อมูล: http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/470177

แหล่งข้อมูลรูปภาพ: http://news.bbcimg.co.uk/media/images/56339000/jpg/_56339330_quantitativeeasing.jpg


คำสำคัญ (Tags):
หมายเลขบันทึก: 603175เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2016 22:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มีนาคม 2016 22:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท