GotoKnow

เรียนรู้ด้วยหัวใจ....ให้ปลูกต้นไม้งาม SMART TREES

กิจกรรมบำบัดจิตสังคม
เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2559 19:51 น. ()
แก้ไขเมื่อ 4 มีนาคม 2559 09:04 น. ()
ขอบพระคุณอ.เอกที่ตั้งคำถามชวนให้ผมมองเห็นภาพนศ.กิจกรรมบำบัดปีที่สามที่มีความต้องการให้อ.ป๊อปเขียนแนวทางการประเมินกับการใช้สื่อการรักษาที่เป็นรูปธรรมก่อนนำมาสอนพวกเค้าทั้งหลาย

นศ.กิจกรรมบำบัดปีสาม ร่ำเรียนรายวิชากิจกรรมบำบัดเพื่อสุขภาพกาย การพัฒนาเด็ก และเพื่อสุขภาพจิต เกือบครบถ้วนด้วยความตั้งใจในการเตรียมสอนและการจัดการเรียนการสอนจากคณาจารย์อย่างดีเยี่ยม แต่ก็มีความไม่เข้าใจในการสอนของดร.ป๊อปที่ตั้งคำคมว่า "SMART TREES" ขึ้นมาทำให้พวกเค้าเกิดความงุนงงและสับสนอย่างมากที่ไม่สามารถตั้งหลักที่ชัดเจนในการประเมินและการใช้สื่อการรักษากับผู้รับบริการได้จริง

ผมตั้งหลักคิดอยู่ครู่หนึ่งก่อนตอบอ.เอกไปว่า "การตั้งคำคมว่า SMART TREES เกิดขึ้นมาด้วยความคิดเชิงระบบผสมผสานกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ขณะจัดการเรียนการสอนในหลายๆหัวข้อวิชาที่เน้นการให้เหตุผลทางคลินิก การลงชุมชนดอนตูม การสังเกตกระบวนการจัดกลุ่มพลวัติในผู้ที่มีประสบการณ์ทางสุขภาพจิต การสังเกตกระบวนการประเมินและการให้ความรู้แบบสุขภาพจิตศึกษาแก่คุณแม่น้องสมองพิการซ้ำซ้อน และผลงานการเขียนบันทึกความรู้ต่างๆ รวมทั้งการประเมินทักษะความสามารถของนศ.ในชั้นเรียนหลักฐานเชิงประจักษ์ทางกิจกรรมบำบัด ยาวนานกว่า 1 ปีการศึกษา" ผมจึงกลั่นกรองตกผลึกความคิดในชั้นเรียนแล้วนำไปใช้ในผู้รับบริการจริงพร้อมๆกับเป็นโค้ชพี่เลี้ยงให้อ.แอนกับอ.เดียร์มากกว่า 3 เดือนก็พบว่า "แรงบันดาลใจในการบ่มเพาะนักกิจกรรมบำบัดมืออาชีพประดุจดังการปลูกเมล็ดถั่วจนเติบโตเป็นต้นไม้งามกลางทะเลทรายใช้เวลาถึง 10 ปี ทำให้ผมยังคงนำคำคมนี้มาใช้ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และวิจัยทางกิจกรรมบำบัดศึกษาอย่างสม่ำเสมอจนถึงทุกวันนี้" นี่คือกลยุทธ์ทางการสั่งจิตใต้สำนึกเพื่อเพิ่มวิถีแห่งการเปลี่ยนแปลงทั้งนศ.และอจ.กิจกรรมบำบัดม.มหิดล คลิกศึกษาได้จากหนังสือที่มีคุณค่าเล่มนี้ Power Vs Force

เมื่อนศ.ปีสามมีความต้องการความเป็นรูปธรรมของคำคมดังกล่าว มิใช่สอนในสิ่งที่อ.ป๊อปยังไม่ตกผลึกทางความคิดจนทำให้พวกเค้าไปฝึกผู้รับบริการไม่ได้จริง ก็ยิ่งทำให้ผมรู้สึก "เสียใจกับความพยายามในการค้นหาความจริงของวิชาชีพกิจกรรมบำบัดที่สื่อสารแปลความรู้สู่ประชาชนไทยได้ชัดเจนที่สุด" ทุกวันนี้ที่ผมพยายามออกสื่อมากมายเพื่อแนะนำให้คนไทยทุกคนค้น Google แล้วก็พิมพ์คำว่า "กิจกรรมบำบัด" แล้วคลิกที่วิดีโอเพื่อทำให้คนไทยเรียนรู้บทบาทที่หลากหลายในกิจกรรมบำบัดแนวใหม่ ผมยังคงเรียนรู้ตลอดชีวิตและไม่เคยคิดว่า "กิจกรรมบำบัดจะมีความสำเร็จรูปชัดเจนตามที่นศ.ต้องการได้จริง" คำตอบที่ผมยังคงเชื่อมั่นในศักยภาพของนักกิจกรรมบำบัดมืออาชีพ คือ การบ่มเพาะทักษะจากการแปลกรอบคิด PEOP (Person-Environment-Occupation-Performance) หรือ ความเป็นคนที่เชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมแล้วจดจ่อทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตที่มีเป้าหมายจนค้นพบศักยภาพ (ความสุขความสามารถ) ของตนเองหลังการลงมือทำกิจกรรมนั้นๆ จนเกิดทักษะที่แท้จริงด้วยการแสดงบทบาทที่หลายหลายให้เข้าใจความต้องการและคุณค่าที่แท้จริงในการดูแลตนเอง ผู้อื่น และสังคม จนเรียนรู้ความหมายที่มีสุขภาวะแห่งชีวิต แม้ว่า PEOP หรือกรอบใดๆจะเขียนอยู่ในมาตราฐานวิชาชีพของไทย ก็จะพบว่า น้อยคนนักที่จะอ่านอย่างใคร่ครวญก่อนนำมาประเมินและใช้สื่อบำบัดได้อย่างครบถ้วนจนบรรลุเป้าหมายแห่งการเพิ่มทักษะชีวิตด้วยความสามารถความสุขอันแท้จริงตามความต้องการของแต่ละบุคคล

ในเมื่อความเป็นจริงบนโลกมนุษย์ตามคำคมของศาสตร์การสั่งจิตใต้สำนึกกล่าวไว้น่าสนใจว่า "แต่ละคนมีแผนที่ความคิดแตกต่างกัน แต่ละคนสามารถเชื่อมโยงความคิดกันได้ แต่ละคนมีคุณค่าอยู่ในตัวตนเสมอ ทุกคนมีจิตใจและร่างกายร่วมกันทำงานเป็นหนึ่งเดียว ทุกคนสะท้อนความคิดเพื่อต่อยอดการเรียนรู้ ทุกคนเรียนรู้ได้ดีจากความผิดพลาดของตนเองเสมอ คนฉลาดมีกรอบคิดความรู้มากมายจนไม่สามารถเอาตัวรอดได้ คนโง่ไม่มีกรอบคิดใดๆ สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยความเข้าใจในทักษะชีวิตแบบนอกกรอบ...คนเราจะเข้าใจในศักยภาพตัวเองได้จริง เมื่อคนเราคิดออกนอกกรอบ ออกมาท้าทายชีวิต ออกมาจากพื้นที่ที่ใช้ชีวิตจำเจจนปลอดภัย ออกแบบตำราชีวิตด้วยตนเอง คิดใคร่ครวญให้รู้แจ้ง แสวงหาความจริงด้วยตนเอง ชอบแก้ปัญหาที่คลุมเคลื่อ ไตร่ตรองเหตุปัจจัยแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต (ไม่มีอะไรชัดเจนสมบูรณ์แบบ) และยืดหยุ่นเพิ่มโอกาสหาทางออกของปัญหาต่างๆเสมอ (ไม่ยึดมั่นตรึงความคิดตามกรอบเวลา)"

ผมจึงตอบอ.เอกอีกครั้งว่า "ถ้าอาจารย์ยังอยากสอน PEOP และกรอบอ้างอิงมากมายที่อาจารย์เข้าใจในวิชาชีพกิจกรรมบำบัดก็ตามใจ...จะใช้ Domain & Process ของอเมริกา...จะสอนนศ.ให้มีแนวทางการตรวจและการรักษาต่างๆ อย่างละเอียดและเป็นรูปธรรมสุดๆ ตลอด 4 ปี ก็ตามสบาย...ผมก็จะปล่อยวางเรื่อง SMART TREES เพียงแค่นี้และไม่พยายามที่จะปรับเปลี่ยนความคิดความเชื่อใดๆ...แต่ขอแค่อย่างเดียวว่า ถ้าอาจารย์สามารถสอนให้นศ.มีแนวทางที่ชัดเจนตามที่ร้องขอก็ขอช่วยแนะนำพี่ด้วย พี่จะได้เฝ้ามองความรู้ที่นศ.ทำตามแนวทางดังกล่าวได้จริง คือ คนไทยที่นศ.ให้บริการทั้งการฝึกงานก็ดีกับการจบเป็นบัณฑิตก็ดี ขอให้คนไทยเหล่านั้นได้รับรู้และเรียนรู้อัตลักษณ์แห่งบทบาทที่มีคุณค่าด้วยการเพิ่มทักษะชีวิตและสุขภาวะด้วยกิจกรรมบำบัดได้เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริงก็แล้วกันครับ...เวลาของผมยิ่งเหลือสั้นลงทุกๆวัน ขอบพระคุณน้องๆอาจารย์ทุกคนครับผม"

ผมขอตอบย้ำกับที่เคยบันทึกไว้ในบันทึกเก่าเมื่อสองปีที่แล้ว แต่ก็จะยังคงเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลาขณะที่จดจ่อหรือ Occupying กับกิจกรรมการดำเนินชีวิตของตนเอง เพราะรากเหง้าของการประยุกต์กิจกรรมบำบัดคือการฟื้นคืนสุขภาวะของผมหลังป่วยด้วยหลอดเลือดสมอง ทุกสรรพสิ่งเชื่อมโยงกันไม่เคยมีการแบ่งแยกอัตลักษณ์วิชาชีพใดๆ ผมยังคงได้รับการบ่มเพาะเป็นนักกิจกรรมบำบัด ทำได้ทุกเคสทุกเวลาทุกสถานที่และทุกบุคคล จนถึงความเชื่่ยวชาญสุขภาวะจิตสังคมตลอดไป แต่ขอเชื่อมโยงกับศาสตร์อื่นๆ เพื่อทำงานเพิ่มสุขภาวะของทุกๆคนด้วยความเมตตาในเพื่อนมนุษย์ด้วยภาษาคำคมของผมตลอดไปในนาม "ต้นไม้งาม" ด้วยมุ่งมั่นให้คนไทยเข้าถึงและนำกิจกรรมบำบัดไปใช้ด้วยความชัดเจนตามบริบทกับทักษะด้วยการเรียนรู้จากการลงมือทำไปเรื่อยๆตลอดชีวิต เพราะประเทศไทยไม่สามารถรอเวลาที่ผ่านไปอย่างรวดเร็วกับการเพิ่มจำนวนนักกิจกรรมบำบัดจากม.เชียงใหม่และม.มหิดลได้ทันต่อตามความต้องการที่สูงขึ้นในทุกๆวัน

ก่อนที่ผมจะปล่อยวางและค่อยๆทำงานประจำตามหลักสูตร ตามระเบียบสถาบันการศึกษา ตามความพร้อมของอาจารย์และนศ. ซึ่งผมก็จะอดทนให้ทำตามเวลาที่เหลืออยู่ตามวิสัยทัศน์ใน 5 ปี 10 ปี และ 15 ปี ด้วยความไม่ประมาทประกอบกับการให้เวลาดูแลตนเองมากขึ้นเสียที สิ่งที่ผมจะทำให้นศ.เห็นแนวทางรูปธรรมตามคำร้องขอ โปรดดูจากภาพข้างล่างนี้ หากไม่เข้าใจก็มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้เสมอครับ ผมจะตอบเท่าที่คำถามของนศ.จะกล้าถามผมอย่างชัดเจนและใคร่ครวญเสมอ มิใช่ถามด้วยความลังเลสังสัยแบบนิวรณ์ห้าโดยไม่ลงมือฟังอ่านอย่างละเอียด คิดใคร่ครวญ เกิดคำถามที่ทบทวนแล้วมิสามารถตอบเองได้จึงอยากถามผู้รู้ หลังได้คำตอบก็นำไปทบทวนบันทึกไว้อย่างเป็นหลักฐานการเรียนรู้ตามหัวใจนักปราชญ์อย่างเป็นรูปธรรม (สุ จิ ปุ ลิ)

กลับกันกับนศ.ปีสองกิจกรรมบำบัดที่เกิดคำถามที่น่าสนใจในชั้นเรียนการให้เหตุผลทางคลินิกที่ผมมีความสุขที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วย ขอบพระคุณการตั้งคำถามที่ชวนเรียนรู้ต่อยอดในการเป็นนักกิจกรรมบำบัดที่ดีในอนาคต ขอบพระคุณอ.โหน่งกับอ.เดียร์ จนถึงอ.แอนร่วมกับนศ.สองท่านที่อาสาขอสังเกตการทำงานคลินิกของผมในบ่ายนี้ด้วยความประทับใจและรู้สึกหายเหนือยกับการพัฒนากิจกรรมบำบัดศึกษาอย่างสุดซึ้ง

คำถามส่วนใหญ่ของนศ.จะแฝงด้วยคำตอบที่ไม่แน่ใจเสมอ เช่น อ.ป๊อป ค่ะ/ครับ ทางฝ่ายกายเค้าประเมินและรักษาอย่างเป็นรูปธรรม แต่ทางฝ่ายจิต ดูยังไงก็ไม่เห็นภาพ เป็นเพราะอะไร และจะทำอย่างไรให้เห็นภาพ จะแสดงบทบาทนักกิจกรรมบำบัดทางฝ่ายกายต่างจากฝ่ายจิตอย่างไร

คำตอบของผมในแต่ละคำถาม ผมจะคิดใคร่ครวญแล้วใช้ทักษะนักสั่งจิตใต้สำนึกเข้าไปเผชิญหน้ากับนศ.ผู้ที่ตั้งคำถามทุกครั้ง แล้วพยายามตั้งคำถามกลับอย่างสั้นกระชับแล้วสร้างสัมพันธภาพพร้อมยกตัวอย่างให้ตรงกับการสื่อสารภาษากายของนศ.ทุกคนไป เช่น

ผมเข้าไปยืนและคุยกับน้องนศ.ท่านหนึ่งว่า "น้องรู้สึกอย่างไรตอนนี้ ทำไมน้องถึงเขินอายเวลาพี่มองและอยู่ต่อหน้าน้องครับ"

นศ.ตอบว่า "ก็ไม่เคยอยู่ต่อหน้าอาจารย์ป๊อปขนาดนี้" ผมถามต่อว่า "วันนี้เสียงพี่ต่างจากวันอื่นๆอย่างไร"

นศ.ตอบว่า "เสียงอ.ป๊อปแหบกว่าวันอื่นๆ" ผมถามต่อว่า "ทำไมถึงรับรู้สึกอย่างนั้นหละ...ตรงนี้คือการทำงานของอะไรระหว่างจิตกับกาย"

นศ.ดูยิ้มแล้วตอบชัดเจนว่า "จิตรู้สึก จำเสียงอ.ป๊อปวันอื่นๆ ได้ วันนี้รู้สึกว่าเสียงอจ.แหบ รู้สึกเขินที่อจ.มายืนตรงหน้า"

ผมย้ำคำตอบต่อว่า "นี่ไงคือการทำงานของจิตที่เราไม่ค่อยได้จดจ่ออยู่กับมัน เมื่อจิตคือความรู้สึก ความรู้คิด ความเข้าใจ ในขณะสื่อสารออกมากลายเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานของร่างกายทั้ง 32 ประการ เราเคยชินกับจิตจนจำเจในกิจกรรมซ้ำๆ ถ้าไม่มีนักกิจกรรมบำบัดอย่างพี่คอยกระตุ้นซักถามน้อง น้องๆ ก็จะไม่รู้เลยว่าจิตเราทำงานอย่างไร"

ส่วนนศ.อีกท่านก็ยกตัวอย่างว่า "ฝ่ายกายวัดข้อต่อพบปัญหาการเคลื่อนไหวไม่สุดมุมข้อในเคสหนึ่ง...แล้วทางจิตจะตรวจอะไรในเคสนี้"

ผมตอบพร้อมย้ำความเป็นองค์รวมของกิจกรรมบำบัดแบบ PEOP โดยยกตัวอย่างให้ง่ายผ่านคำคมของผมคือ SMART TREES คือ "ขณะที่น้องบันทึกมุมที่ติดของข้อต่อ ก็ลองสอบถามเคสว่า ข้ออะไรติด คนไข้ก็ใช้จิตจดจ่อรับรู้ว่าเคลื่อนไหวข้อไหล่ไม่ได้ จิตของคนไข้ก็คิดต่อไปว่าข้อไหล่เอื้อมไปหยิบเสื้อผ้าที่แขวนราวสูงไม่ได้ เมื่อหยิบไม่ได้ ก็ทำให้สวมใส่เสื่อไปทำกิจกรรมอื่นๆ ไม่ได้ จิตเค้าก็จะรู้สึกไม่สบายใจ นักกิจกรรมบำบัดก็ใช้จิตคิดตั้งเป้าหมายให้ฝึกอย่างเร็วที่สุดในใช้จิตออกแบบอุปกรณ์เสริมให้มีไม้ด้ามยาวเกี่ยวเสื้อจากราวมาใส่ หรือ ปรับราวเสื้อให้พอเอื้อมได้อย่างไม่เจ็บปวด พร้อมๆ ค่อยๆฝึกยืดกล้ามเนื้อและร่างกายให้ทำงานได้ดีที่สุดในการเพิ่มข้อไหล่ ทำให้จิตของนักกิจกรรมบำบัดและเคสเข้าใจบทบาทความช่วยเหลือจากนักกิจกรรมบำบัดได้อย่างสุขใจ"

เอาหละ...ลองมาดูกันว่า ทั้งเคส ผู้ดูแลเคสด้วยหัวใจ อจ.ผู้มุ่งมั่นเรียนรู้กิจกรรมบำบัดต้นไม้งาม และนศ.ปีสองที่กล้าอาสามาเรียนรู้นอกห้องเรียน...กว่าสี่ชม.ที่ต้นไม้งามสามสมอง (อัตตา อารมณ์ อาหาร) ได้มีการประเมินและออกแบบสื่อการรักษาตามบันทึก SOAP ที่ดีที่สุดที่ผมถอดบทเรียนในฟอร์มคลินิก

สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง


ความเห็น

วินัย ฉัตรทอง
เขียนเมื่อ

ขอบพระคุณครับ...ที่ทำให้ผมเริ่มกล้าที่จะออกจากพื้นที่จำเจ และปลอดภัย

OTann_supansa
เขียนเมื่อ

ขอบคุณที่ อ.ป๊อบพยายามสรุบ smart trees เพื่อให้นำมาใช้ในการประเมินและรักษาเคสในเวลาสั้น กระชับ หากเปิดใจเรียนรู้ก็จะมองเห็นความพยายาม ในการสอนและถ่ายทอดความรู้จากการนำประสบการณ์ทางคลินิก ความรู้ทางวิชาการ และความรู้ศาสตร์ใหม่ๆที่ อ.ป๊อบ นำมาต่อเติม จุดมุ่งหมายเดียวคือผู้รับบริการมีสุขภาวะที่ดีขึ้นตามศักยภาพที่เขามี วันนี้ขอบคุณที่อ.ป๊อบสรุปคำนี้ให้พวกเราเข้าใจด้วยความเมตตาอีกครั้งค่ะ .... พึ่งรู้ว่าต้นถั่วในความหมายนี้คือ ต้นไม้ที่โตเหมือนในการ์ตูนแจ๊คผู้ฆ่ายักษ์ จะรอติดตามงานเขียนหนังสือต่อไปนะคะ :) ขอให้หายป่วยไวๆนะคะ

ขอบพระคุณทุกกำลังใจจากพี่โอ๋ อ.ธวัชชัย คุณยายธี พี่นงนาท คุณทืมดาบ อ.แอน และ อ.วินัย มากๆครับผม


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท
ภาษาปิยะธอน (Piyathon)
เขียนโค้ดไพทอนได้ด้วยภาษาไทย