เรียงความ: หลักการเขียนและตัวอย่าง


การเขียนเรียงความ

เฉลิมลาภ ทองอาจ

โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม

เรียงความ คือ ข้อความที่เขียนขึ้นเพื่อแสดงความรู้หรือความคิดเห็นในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง โดยยกเหตุผลมาประกอบความคิดเห็นเป็นประเด็น ๆ ไป ผู้เขียนจะต้องเขียนด้วยการใช้ภาษาที่เป็นมาตรฐาน มีความกระชับ ชัดเจน สามารถแสดงแนวคิดให้ผู้อ่านรับรู้ว่า เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย หรือมีความเห็นต่อประเด็นต่าง ๆ เหล่านั้นอย่างไร

การเขียนเรียงความมีขั้นตอนที่สำคัญ ได้แก่ การกำหนดหัวข้อเรื่อง การวางโครงเรื่อง การสร้างเนื้อหา และการตรวจสอบปรับปรุงแก้ไข โดยแต่ละขั้นตอนมีหลักการที่สำคัญ ดังนี้

1. การกำหนดหัวข้อเรื่อง: หัวข้อเรื่องของเรียงความควรมีความชัดเจน แสดงทิศทางที่เห็นได้ชัดเจน ต่อประเด็นที่ครูผู้สอนกำหนด เช่น หากครูกำหนดประเด็นว่า “เห็นด้วยหรือไม่ ที่จะให้ลดอายุของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็น 15 ปี” หัวข้อเรียงความที่อาจกำหนดขึ้นเช่น “เยาวชนอายุ 15 ปี: สิทธิอันชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตย” หรือ “เด็กอายุ 15: หรือจะฝากบ้านเมืองไว้ในมือเด็ก” เป็นต้น จากชื่อควรแสดงให้เห็นแนวโน้ม หรือแนวทางความคิดที่จะสื่อสารมายังผู้อ่านด้วย

2. การวางโครงเรื่อง: โครงเรื่องคือลำดับหัวข้อย่อยของเรียงความ โดยทั่วไปเรียงความจะประกอบด้วย 3 ส่วน คือ คำนำ เนื้อเรื่องและสรุป ส่วนเนื้อเรื่องนั้น ผู้เขียนสามารถจำแนกออกเป็นประเด็นหัวข้อ หรือย่อหน้าย่อย ๆ ได้ แล้วแต่ประเด็นที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอ เช่น จากหัวข้อในข้อแรก หากผู้เขียนสนับสนุนประเด็นว่า เยาวชนอายุ 15 ปี สามารถเลือกตั้งได้ด้วยเหตุผล 3 ประการด้วยกัน นั่นก็แสดงว่า ส่วนเนื้อเรื่องจะต้องแบ่งออกเป็น อย่างน้อย 3 ย่อหน้า และแต่ละย่อหน้าก็คือเหตุผลสนับสนุนแต่ละประเด็นนั่นเอง

3. การสร้างเนื้อหา: เมื่อได้หัวข้ออันเป็นโครงเรื่องเรียงความแล้ว ผู้เขียนควรที่จะเรียบเรียงแต่ละส่วนให้กลายเป็นเนื้อหาขึ้นมา หลักการที่สำคัญคือ จะต้องสร้างข้อความออกมาให้เป็นประโยค ที่สื่อความเข้าใจเสียก่อน เพื่อให้เป็นประโยคใจความสำคัญ จากนั้นจึงเขียนประโยคอื่น ๆ เพื่อขยายความ ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นประโยคขยายความ หรือประโยคแสดงรายละเอียดนั่นเอง ในการเขียนเนื้อหาส่วนคำนำและส่วนสรุป ผู้เขียนอาจใช้เทคนิคการเขียนเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความน่าสนใจ เช่น อาจถึงต้นคำนำด้วยคำถาม ข่าว สถานการณ์ หรือประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ก่อนที่จะเชื่อมเข้าสู่เรื่อง และสำหรับส่วนสรุป ก็อาจจะใช้การสรุปสาระสำคัญซ้ำ การฝากประเด็นให้คิด หรือการถามคำถามผู้อ่าน เป็นต้น

4. การตรวจสอบปรับปรุงแก้ไข: หลังจากได้เรียบเรียงส่วนเนื้อหาของเรียงความขึ้นมาแล้ว ผู้เขียนควรตรวจสอบการสะกดคำ การเว้นวรรคตอน และคำต่างๆ ที่เขียนว่าสื่อความชัดเจนแล้วหรือไม่ จากนั้นจึงปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้อง เป็นเรียงความฉบับสมบูรณ์ต่อไป



ตัวอย่างเรียงความ

“หนังสือคือชีวิต”

การอ่านหนังสือมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ มีเรื่องราว เหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมายรอบๆ ตัวเรา บางเรื่องส่งผลกระทบต่อเราโดยตรง บางเรื่องก็ส่งผลกระทบต่อเราทางอ้อม ถ้าเราเป็นผู้ที่มีนิสัยรักการอ่าน เราก็สามารถปฏิบัติตนให้ถูกต้องเหมาะสมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้ใดก็ตามที่ต้องการประสบความสำเร็จในชีวิตและมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานจึงจะต้องขยันและขวนขวายหาความรู้จากการอ่านหนังสือ เพื่อให้ได้รับความรู้ ใช้ความรู้จากการอ่านหนังสือพัฒนาความคิดพัฒนาการทำงานในหน้าที่ของตนให้มีความเจริญก้าวหน้า และที่สำคัญที่สุดการอ่านหนังสือช่วยพัฒนาจิตใจและอารมณ์ ซึ่งจะทำให้มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

หนังสือแต่ละเล่มอาจมีเนื้อหาสาระแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับประเภทและชนิดของหนังสือแต่สิ่งหนึ่งที่หนังสือทุกเล่มมีเหมือนกันทั้งหมดคือ คุณค่าของหนังสือที่มุ่งเน้นให้ผู้อ่านได้รับประโยชน์มากที่สุดจากการอ่าน นอกเหนือจากความเพลิดเพลิน การอ่านหนังสือเป็นการเปิดโลกทัศน์ของเราให้กว้างไกลยิ่งขึ้น ทำให้เรามีความรู้ ได้รับรู้สิ่งใหม่ๆ ที่เราไม่เคยได้รับรู้มาก่อน เปิดโอกาสให้เราได้รู้จักคิดตามอย่างเป็นระบบและมีเหตุผล เสริมสร้างพัฒนาการด้านอารมณ์ให้เป็นปกติ และที่สำคัญช่วยพัฒนาคุณธรรมทางจิตใจให้อยู่ร่วมกับกลุ่มชนในสังคมได้อย่างสันติ การเลือกอ่านหนังสือที่เราชอบจะทำให้เราเกิดความสุขทางใจ เป็นการแสวงหาความสุขที่หาได้ง่ายโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายมากเมื่อเทียบกับอรรถรสและสุนทรียภาพที่เราจะได้รับอย่างมหาศาลจากการอ่านหนังสือหนึ่งเล่ม เป็นการได้ท่องเที่ยวไปในโลกแห่งจินตนาการ และโลกแห่งความเป็นจริงอันแสนยาวไกลนับหมื่นลี้ เหมือนกับว่าชีวิตเราได้หลุดไปอยู่อีก ณ โลกหนึ่งที่ตลอดชีวิตของเราอาจจะไม่มีโอกาสสัมผัสได้อย่างแท้จริง แต่เราก็มีโอกาสจะรู้ได้โดยการอ่านหนังสือ นอกจากนี้ การอ่านยังถือว่าเป็นการทำให้เกิดสมาธิทางอ้อม เพราะขณะที่เราอ่านหนังสือจิตใจเราจะจดจ่อกับเนื้อเรื่องที่อ่านทำให้จิตใจสงบและมีสุขภาพจิตที่ดี

หนังสือช่วยพัฒนาความรู้ของมนุษย์ มนุษย์ไม่มีใครโง่หรือฉลาดมาแต่กำเนิด มีแต่คนที่รู้หรือไม่รู้เท่านั้น ซึ่งความรู้หรือไม่รู้นี้สามารถพัฒนาได้จากการอ่านหนังสือ ผู้ที่อ่านหนังสือมากก็ย่อมที่จะมีความรู้มากกว่าผู้ที่อ่านหนังสือน้อย ไม่มีมนุษย์คนไหนที่รู้ไปหมด ทุกอย่าง แต่จะมีความรู้แตกต่างกันไป มนุษย์เรียนรู้วิชาการต่างๆ จากการอ่านตำราเรียนรู้วิธีการปรุงอาหารจากการอ่านตำราอาหารรู้ข่าวสาร สถานการณ์ต่างๆ จากการอ่านหนังสือพิมพ์ เป็นต้น ซึ่งความรู้ต่างๆ เหล่านี้จะเป็นพื้นฐานให้มนุษย์เกิดพัฒนาการด้านต่างๆ ตามมา ถ้าไม่มีหนังสือถ่ายทอดหรือแพร่ขยายความรู้มนุษย์คงจะต้องใช้เวลาหาความรู้และคิดค้นด้วยตนเองนานมาก กว่าจะเรียนรู้สิ่งที่มนุษย์ในอดีตได้ค้นพบไว้แล้วชีวิตความเป็นอยู่อาจเหมือนกับมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งอาศัยอยู่ในถ้ำไม่เจริญก้าวหน้า พัฒนาตนเองและสังคมไม่ได้ไกลดังที่เป็นอยู่เช่นปัจจุบัน

หนังสือช่วยพัฒนาความคิดของมนุษย์ เมื่อมนุษย์มีความรู้เป็นพื้นฐานแล้ว ก็จะทำให้เกิดความคิดในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ อย่างต่อเนื่องโดยไม่มีวันสิ้นสุด มีการนำความรู้และความคิดมาประยุกต์ใช้ในการประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้หรือเทคโนโลยีต่างๆ ที่ทันสมัยมนุษย์แต่ละคนมีความคิดแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับประสบการณ์การเรียนรู้ของแต่ละคน ผู้ที่ได้อ่านหนังสือมากก็มีโอกาสจะได้รับรู้ความคิดของบุคคลอื่นๆ แล้วนำความคิดนั้นมาพัฒนาความคิดของตน แต่เมื่อความคิดไม่ตรงกัน ก็จะต้องมีการหาหนทางที่จะนำไปสู่คำตอบของความคิดนั้น จึงกล่าวได้ว่าหนังสือมีส่วนช่วยให้มนุษย์รู้จักคิด รู้จักแก้ไขปัญหาในชีวิต

หนังสือช่วยพัฒนาอารมณ์ การพัฒนาอารมณ์คือการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงความรู้สึกจากความหยาบกระด้างให้ประณีตสุขุมขึ้น ให้สามารถควบคุมอารมณ์รุนแรงได้ และมีความอดทนต่อสิ่งที่ที่มากระทบ ทั้งในด้านที่พึงพอใจและไม่พึงพอใจ การอ่านหนังสือจะช่วยให้เราพัฒนาอารมณ์ได้ บางครั้งขณะที่เรากำลังอ่านหนังสืออยู่นั้นเราก็ไม่รู้ตัวว่าหนังสือนั้นช่วยพัฒนาอารมณ์ของเรา เมื่อเราต้องการผ่อนคลายความตึงเครียดจากการทำงานประจำวันเราก็มักจะเลือกอ่านหนังสือที่ทำให้เกิดความเพลิดเพลิน สนุกสนาน เช่น เรื่องสั้น นวนิยาย บทกวี นิทาน คำกลอนต่างๆ เป็นต้น ซึ่งเมื่อเราอ่านแล้วจะทำให้เกิดความเบิกบานใจ มีอารมณ์ที่ดีขึ้น

หนังสือช่วยพัฒนาคุณธรรมทางจิตใจของมนุษย์ คุณธรรมเป็นเครื่องควบคุมจิตใจให้ประพฤติปฏิบัติในทางที่ดีงาม มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขจนมีความเจริญขึ้นมาเป็นอารยชนได้ก็จะต้องประกอบด้วยคุณธรรม ซึ่งประดับไว้ในใจของมนุษย์ทุกคน คุณธรรมประกอบด้วยความรู้ ความคิดและอารมณ์ ซึ่งจะช่วยขัดเกลาจิตใจให้ประณีตและสูงขึ้น ก่อให้เกิดสติปัญญาในการพิจารณาสิ่งต่างๆตัดสินได้ว่าสิ่งไหนถูก สิ่งไหนผิด สิ่งไหนควรทำหรือสิ่งไหนไม่ควรทำ การอ่านหนังสือสามารถช่วยพัฒนาคุณธรรมทางจิตใจของมนุษย์ได้ เช่น การอ่านหนังสือเกี่ยวกับธรรมะ ศิลปะ คตินิยม สุภาษิต เป็นต้น หนังสือเหล่านี้จะให้ข้อคิดหลายแง่มุม ผู้อ่านสามารถนำไปใช้ปฏิบัติตนในการดำรงชีวิตประจำวันได้ จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจในปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการดำรงชีวิต รู้สาเหตุของการเกิดปัญหา ซึ่งจะนำไปสู่หนทางแห่งการแก้ไขปัญหาในทางที่ถูกต้องนอกจากนี้แล้วยังช่วยจรรโลงใจและกำกับจิตใจของผู้อ่านให้ตั้งมั่นอยู่บนพื้นฐานแห่งความดีงาม ช่วยยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์โลกชนิดอื่นและทำให้มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

หนังสือถ้าวางอยู่กับที่เฉยๆ ไม่มีใครสนใจหรือหยิบไปอ่าน คุณค่าของมันก็ลดลง แม้ว่าผู้ประพันธ์จะบรรจงสรรค์สร้างหนังสือออกมาดีแค่ไหนแต่ถ้าไร้คนอ่านก็ไร้ค่า หนังสือแต่ละหน้าตัวอักษรแต่ละตัวที่ถูกกลั่นกรองแล้วเรียบเรียงออกมาจากความคิด ผ่านปลายปากกาของผู้เขียนบอกอะไรหลายสิ่งหลายอย่างให้ผู้อ่านได้ทราบ อาจจะเป็นประสบการณ์ชีวิตทั้งชีวิตของผู้เขียนถ่ายทอดออกมาเป็นหนังสือนั่นก็หมายถึงหนังสือคือชีวิตของผู้เขียนและผู้อ่านที่สื่อสัมพันธ์ถึงกันโดยใช้หนังสือเป็นสื่อกลาง ดังนั้น เมื่อหนังสือคือชีวิตของเรา เราก็ควรถนอมรักษาและแสวงหาคุณค่าจากชีวิตของเราให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ผู้เขียน ด.ช. กิติกร สุขสกุล ชั้น ม. ๒

โรงเรียนลาดปลาเค้าพิทยาคม เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ

หมายเลขบันทึก: 601605เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2016 16:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2016 16:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท