บันทึกดูงานประเทศอังกฤษ ดร.สุชิน ลิขิต ดิศกุล อยู่ในทีม


๒๒ ก.ย. ๔๙ BBC ที่ ลอนดอน
วันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๔๙            คณะเดินทางไปดูงานที่ศูนย์การอบรมและพัฒนาของ BBC เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลว่าการอบรมสำหรับพนักงานของ BBC มี ๔ เรื่องที่สำคัญคือ Journalism การผลิตสื่อ ภาวะผู้นำ และการจัดการ มีการวิเคราะห์ความต้องการเรื่องการพัฒนาบุคลากรในระยะยาว เพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างขององค์กรซึ่งมีการปรับปรุงอยู่เสมอ รูปแบบการอบรมมีทั้งแบบชั้นเรียน จัดการอบรมโดยผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ และแบบ online ซึ่งมีคณะทำงานเฉพาะ บทเรียน online สามารถใช้ได้ทั้งพนักงานขององค์กรและประชาชนทั่วไป เนื่องจาก BBC เป็นองค์กรที่มีรายได้จาก license fee จากประชาชน            ปัจจุบันการอบรมราว ๗๐% ยังเป็นแบบชั้นเรียน นอกจากนั้นยังมี coaching services เพื่อส่งเสริมให้มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันภายในองค์กรได้อย่างกว้างขวาง ผ่านระบบการเรียนรู้ในขณะปฏิบัติงาน (action learning) ซึ่งมีจุดเน้นที่การนำความรู้ไปใช้แก้ปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ ส่งเสริมการรวมตัวกันแบบไม่เป็นทางการ (informal community) ของพนักงานกลุ่มต่าง ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ รวมทั้งส่งเสริมการแลกเปลี่ยนผ่านระบบ Wiki ด้วย อย่างไรก็ตามการจัดการอบรมในระบบ online รวมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกันในขณะทำงานก็มีเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ            นอกจากนั้นแล้ว BBC ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจ คือ learn for real team เช่น นำชุดอุปกรณ์สำหรับการผลิตและกระจายเสียงรายการวิทยุไปให้บริการอบรมกับเยาวชนในพื้นที่ต่าง ๆ ระยะเวลานั้น ๆ เพื่อพัฒนาความสามารถสำหรับการทำงานในพื้นที่ของกลุ่มเยาวชนต่อไป             ผู้บันทึกได้เล่าประสบการณ์ในการพัฒนา young journalist ที่จังหวัดลำปาง และสอบถามความเป็นไปได้เกี่ยวกับการอนุญาตให้แปลเนื้อหาวิชาที่ให้บริการในระบบ online โดยไม่คิดมูลค่าของ BBC ซึ่งมีหลายเรื่องที่น่าสนใจ หรือพัฒนาความร่วมมือในการพัฒนา young journalist ได้หรือไม่ เจ้าหน้าที่ให้ความเห็นเบื้องต้นว่าเป็นไปได้ โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนา young journalist ซึ่ง BBC ให้ความสนใจและดำเนินการทดลองอยู่ในปัจจุบัน ส่วนเรื่องการแปลเนื้อหาวิชา online คงจะไม่มีปัญหาหากไม่นำไปใช้เพื่อเหตุผลทางธุรกิจ แต่ควรจะได้ปรึกษาหารือเพื่อให้เกิดความชัดเจนทางด้านกฎหมายต่อไป             นอกจากนั้นแล้วยังได้สอบถามความเป็นไปได้ในการพัฒนาความร่วมมือทางด้านการพัฒนาบุคลากรฝ่ายผลิตรายการโทรทัศน์ของไทย เนื่องจากปัจจุบันทีมจาก BBC ได้ช่วยพัฒนาฝ่ายผลิตรายการวิทยุของศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษามาอย่างต่อเนื่องและได้ผลดี จึงประสงค์จะขยายความร่วมมือไปถึงฝ่ายผลิตรายการโทรทัศน์ด้วย เจ้าหน้าที่ของ BBC รับทราบและให้รายชื่อบุคคลที่สามารถติดต่อผ่านทาง British Council ได้ต่อไป            Anne Quin เสนอข้อมูลที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของ BBC คือโครงการส่งเสริมการอ่านและการเขียน ซึ่งเป็นโครงการระยะ ๓ ปีมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยให้ผู้ใหญ่ที่อ่าน-เขียนไม่คล่อง ซึ่งยังมีอยู่ถึงราว ๑๒ ล้านคน ด้วยเหตุที่เรียนตก ๆ หล่น ๆ มาแต่เมื่ออยู่ในโรงเรียน ออกจากโรงเรียนแล้วก็ไม่ได้สนใจศึกษาต่อเนื่อง ดังนั้นความสามารถหลายด้านจึงอ่อนด้อยลง จำเป็นต้องกระตุ้นให้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหานี้และหันมาเรียนต่อให้มากขึ้น ทั้งนี้โดยใช้สื่อโทรทัศน์ในการสร้างความตระหนักเนื่องจากเข้าถึงประชาชนจำนวนมาก ชี้ให้เห็นตัวอย่างของผู้ที่มีความพยายามและประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาทางด้านนี้ ร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ ในการทำกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน-เขียน ใช้สื่อที่เรียบง่าย นำเอาเรื่องที่น่าสนใจ เช่น ฟุตบอล มาเป็นเนื้อหา รวมทั้งส่งเสริมการเขียนแบบไม่เป็นทางการ ขอให้ผู้มีชื่อเสียงเขียนหนังสือที่อ่านง่าย ๆ มีราคาถูก ออกจำหน่ายด้วย สื่อที่ใช้มีทั้งประเภทสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น วารสาน หนังสือ เป็นต้น แผ่น VCD และสื่อในระบบ online             ส่วนที่น่าสนใจคือการส่งเสริมการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูกในการอ่านและเขียนร่วมกัน และการสนับสนุนให้ศึกษาในหน่วยงานต่าง ๆ ที่สนับสนุนการพัฒนาความสามารถทางด้านการอ่าน-เขียน หรือเรียนในระบบ online ซึ่งนับเป็นเรื่องสำคัญอย่างหนึ่งในโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ในครอบครัว (family learning)            ใน web site ของโครงการเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้ามาเล่าเรื่องที่ตนเองสนใจได้ โดยมีระบบช่วยเหลือให้สามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง มีรายการสัมภาษณ์ผู้มีชื่อเสียงที่เข้ามาร่วมให้กำลังใจ หรือสามารถเปิดอ่านหนังสือ (e-book) ที่สนใจ มีบริการตอบคำถามและการทดลองตรวจสอบความสามารถของตนเอง เล่นเกม ฯลฯ ที่ผ่านมามีผู้ให้ความสนใจกิจกรรมการเรียนในระบบ online กันมาก แม้ว่าจะอ่าน-เขียนไม่คล่องนัก แต่ก็จำเป็นต้องมีทักษะพื้นฐานในการใช้คอมพิวเตอร์มาก่อนด้วย            Nick Shakle ton-Jones ผู้รับผิดชอบงาน online & informal learning ของ BBC ให้ข้อมูลว่า BBC มีประสบการณ์การใช้ e-learning มาแล้ว ๑๕ ปี และชวนให้ทบทวนความคิดใหม่เกี่ยวกับเรื่องการเรียนรู้ของมนุษย์ โดยให้ความสำคัญของเรื่อง information processing เป็นการเฉพาะ มีผลการวิจัยซึ่งเปรียบเทียบการนำเสนอเนื้อหาเดียวกันแต่วิธีการนำเสนอต่าง ๆ กัน คือในลักษณะที่เป็นตัวหนังสือเท่านั้น ตัวหนังสือกับกราฟิก ตัวหนังสือกับกราฟิกและเสียง วีดิทัศน์ และตัวหนังสือกับวีดิทัศน์ แสดงให้เห็นว่าการนำเสนอแบบที่เป็นตัวหนังสือเท่านั้นได้ผลมากที่สุด รองลงมาคือแบบตัวหนังสือกับวีดิทัศน์ จึงได้ข้อสรุปว่าผู้เรียนนั้นมีความยืดหยุ่นมาก หากมีความสนใจเสียแล้วแม้สื่อจะไม่ค่อยจูงใจนักก็ใช้ได้ผลดี แม้ในระบบ online จะมีตัวหนังสือเป็นส่วนใหญ่ก็ใช้ได้ผลเช่นกัน             นอกจากนั้นยังมีการสำรวจข้อมูลพบว่าคนเราเรียนรู้ในลักษณะที่ไม่เป็นทางการ (informal mode) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเรียนรู้ในขณะทำงาน มากกว่าแบบเป็นทางการ เช่น เข้าร่วมการอบรม อ่านคู่มือและปฏิบัติตาม มีผู้ให้คำแนะนำหรือมอบหมายงาน เป็นต้น จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดว่าเพราะเหตุใดจึงต้องเสียงเงินจัดการอบรมกันมากมายต่อไปอีก            ข้อแนะนำเกี่ยวกับ e-learning strategy มีดังต่อไปนี้            ๑. ควรเกี่ยวกับเป้าหมายขององค์กรและก่อให้เกิดคุณค่าที่ประเมินผลได้            ๒. ทำให้ทั่วทั้งองค์กร             ๓. บูรณาการทั้งระบบ top-down และ bottom up            ๔. สามารถปรับได้ตามการเปลี่ยนแปลงของ demands ขององค์กรซึ่งเกิดขึ้นอยู่เสมอ            ๕. ติดตามศึกษาพัฒนาการของ enabling techniques และพัฒนาการของ self-service learning culture/environment            ๖. มีเครื่องมือสำหรับใช้ประเมินผลที่ยืดหยุ่นและจัดเข้าเป็นระบบเดียวกัน             ๗. มีรูปแบบและหลักสูตรที่ระบุผลปลายทางของผู้เรียนอย่างชัดเจน            ๘. ผสมผสานการอบรมโดยวิทยากรเข้ากับ e-learning โดยให้เรียนผ่านระบบ e-learning จนสำเร็จก่อนจึงค่อยเข้าร่วมการอบรมกับวิทยากร เพื่อเป็นหลักประกันความรับผิดชอบของผู้เรียนตั้งแต่แรก             ๙. พัฒนาสื่อที่มีคุณภาพ ใช้งานได้อย่างรวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่าย            ๑๐. เน้นความต้องการของผู้เรียนมากว่าเน้นเนื้อหาวิชา            ๑๑. เสริมสร้างบรรยากาศที่ท้าทายในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง             ๑๒. ใช้เป็นเครื่องมือและแหล่งค้นคว้ามากกว่าเป็นเนื้อหาวิชาที่ต้องเรียนให้สำเร็จ            ๑๓. ส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ทุกระดับสร้างบทเรียนของตนเองและนำเข้าบริการในระบบ online โดยจัดทำ template ให้พร้อมกับอบรมการใช้โดยใช้ระยะเวลาสั้น ๆ ผลงานอาจไม่สามารถนับเป็นสื่อคุณภาพได้ตั้งแต่แรก แต่ก็อยู่ในวิสัยที่ทีม e-learning จะเข้าไปช่วยพัฒนาคุณภาพขึ้นได้เป็นลำดับและก้าวไปสู่การพัฒนาสื่อคุณภาพสูงด้วยตนเองได้ด้วย วิธีการนี้จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมมากขึ้นและประหยัดค่าใช้จ่าย            ๑๔. ในองค์กรขนาดใหญ่การเชื่อมโยงบุคลากรเข้าด้วยกันมีความสำคัญมาก ยิ่งแต่ละคนสามารถเสนอเรื่องราวของตนเองไว้ใน web site ของหน่วยงานได้ก็จะเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้แบบไม่เป็นทางการไปทั่วทั้งองค์กร ปัจจุบันพนักงานของ BBC ใช้ weblogs เพื่อบันทึกความคิด ความเห็น และประสบการณ์ของตนเองเป็นประจำทุกวัน ผู้ใหญ่บางคนก็ร่วมบันทึกด้วย ทำให้พนักงานได้เข้ามาเรียนรู้แนวคิดและความรู้ที่แฝงอยู่ในตัวผู้ที่มีประสบการณ์สูงเช่นนี้ได้อย่างน่าสนใจ นับเป็นการจัดการความรู้ในองค์กรได้ดีมาก นอกจากนั้นการใช้ Wiki ก็ได้ผลดีเช่นเดียวกัน แม้ว่าบางคนจะวิจารณ์ว่าการใช้วิธีการทั้งสองแบบเป็นการเสี่ยงกับการเขียนสิ่งที่ไม่ดีถึงกัน แต่ปรากฏว่าแต่ละคนเขียนอย่างระมัดระวัง ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อคนอื่นเลย            ๑๕. หากใช้การประเมินในระบบ online จะช่วยให้การจัดอบรมประหยัดได้มากขึ้น เนื่องจากสามารถกำหนดเนื้อหาและกิจกรรมได้เหมาะสมกับพื้นฐานของแต่ละคน การอบรมจึงไม่จำเป็นต้องให้ทุกคนเริ่มต้นจากจุดเดียวกัน            เมื่อมีการเสนอข้อสังเกตว่า e-learning อาจจะเหมาะกับสังคมที่ผู้คนใฝ่รู้เช่นสังคมของคนอังกฤษใช่หรือไม่ Nick ให้คำตอบที่น่าประหลาดใจคือที่จริงในสังคมอังกฤษมีคนที่ใฝ่รู้ใฝ่เรียนอย่างต่อเนื่องเพียง ๑๕% เท่านั้น ส่วนอีก ๘๕% จะขวนขวายหาความรู้เมื่อจำเป็นเท่านั้น แต่ในสังคมของ BBC พนักงานส่วนใหญ่รักการเรียนรู้ และองค์กรพยายามส่งสัญญาณให้พนักงานรับรู้อยู่เสมอว่าการเรียนรู้เป็นเรื่องจำเป็นต่อองค์กร และมีความเกี่ยวข้องกับความก้าวหน้าในการทำงานของแต่ละคน จึงเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วทั้งองค์กรอย่างต่อเนื่อง            สิ่งที่ยังอยู่ในความสนใจคือการวิจัยทางจิตวิทยา ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการส่งเสริมการเรียนรู้ทุกระบบ หากมีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้อาจจะได้มีการแลกเปลี่ยนกันต่อไป            ต่อจากนั้นคณะเดินทางไปยังสำนักงาน British Council พบกับคุณ Kathie Epstein อีกครั้ง ท่านให้ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องการศึกษาตลอดชีวิตและ Credit Transfer ในประเทศอังกฤษ และสอบถามแนวคิดเกี่ยวกับการประสานความร่วมมือกันต่อไปในอนาคต ซึ่งคณะได้รายงานว่าเราจะกลับไปปรึกษาหารือกันอย่างจริงจัง และรับฟังความเห็นของผู้บังคับบัญชา ต่อไป แต่ในขณะนี้สามารถบอกได้ว่าเราสนใจที่จะเรียนรู้จากประสบการณ์ของ BECTA เนื่องจากเป็นตัวอย่างของการวางแผนและบริหารจัดการในระดับชาติ ร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรทางด้านการพัฒนาสื่อโทรทัศน์ การส่งเสริมการเรียนภาษาอังกฤษ การพัฒนา young journalists กับ BBC ร่วมมือในด้านการพัฒนาศูนย์วิทยาศาสตร์การศึกษาและพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ นอกจากนั้นยังมีแรงบันดาลใจที่จะกลับไปริเริ่มในประเทศไทย เช่น การจัดศูนย์บริการสำหรับผู้สูงอายุ การจัดหน่วยบริการคอมพิวเตอร์ในห้องสมุดประชาชน การพัฒนาระบบการเรียนสายสามัญแบบผสมผสาน การส่งเสริมนิสัยรักการอ่านผ่านทางกิจกรรม Bookstart รวมทั้งจะได้นำแนวคิดสำคัญไปผนวกไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะที่ ๑๐ ต่อไป ซึ่งอาจจะมีการร่วมมือหรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์เฉพาะเรื่องดังกล่าวโดยผ่านการประสานงานของ British Council กันต่อไป            เป็นอันจบการศึกษาดูงานที่มีกำหนดเวลาเป็นทางการ เวลาที่เหลือเป็นการเรียนรู้ตามอัธยาศัยของสมาชิกแต่ละคน ในสถานที่ต่าง ๆ กัน แล้วกลับถึงประเทศไทยอย่างปลอดภัย
หมายเลขบันทึก: 60085เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2006 23:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • เยี่ยมเลยครับ
  • ทำให้ได้ความรู้ของต่างประเทศเพิ่มขึ้น
  • ขอบคุณมากครับที่แวะไปเยี่ยม
  • อยากอ่านบันทึกKM บ้างเห็นมีบล็อกแต่ยังไม่ได้บันทึก
ขอบคุณครับอาจารย์ขจิต ตอนนี้ยังไม่เข้าที่ครับกำลังเรียนรู้เรื่องบล็อก ยังไม่แตกฉาน ลองผิดลองถูกหลายเรื่อง สร้างชื่อบล็อกไปตั้งแต่ยังไม่ชัดเจนว่าใช้ทำอะไรได้บ้าง การจัดระบบข้อมูลจากบล็อกที่สร้างก็จะพยายามเติมเต็มให้ครบต่อไปครับ วันที่ ๑ ถึง ๒ ธันวาคมนี้ก็ได้ลงทะเบียนไปร่วมงานมหกรรม KM ที่ไบเทคบางนาด้วยแล้วครับ คิดว่าคงจะได้เข้าใจนไมสู่การปฏิบัติมากขึ้น.....ครับ
ผมได้ข้อมูลจากที่ อ.ดิศกุล ได้มาเพยแพร่มากเลยครับ
ข้อมูลน่าสนใจเป็นความรู้ดีครับ
เป็นความรู้ดีครับ ขอให้ อ.ดิศกุล มีผลงานดีๆแบบนี้มาให้ความรู้เรื่อยๆนะครับผมจะแวะมาอ่านบ่อยๆ
ขอบคุณ คุณ Raysuki คุณ samano และคุณ Talki ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท