​อัตราผลตอบแทน Return on Asset (ROA)


อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (Return on Asset--ROA) โดยสินทรัพย์สุทธิ ประกอบด้วย ส่วนของผู้ถือหุ้นและส่วนของหนี้สินที่ใช้แสดงประสิทธิภาพของบริษัทจากการนำสินทรัพย์ไปลงทุน เกิดเป็นผลตอบแทนประกอบการตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่วัดความสามารถในการทำกำไร โดยไม่สนใจที่มาของเงินทุนในการจัดหาสินทรัพย์ และอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์จะสนับสนุนความสามารถการดำเนินงานเพื่อสร้างผลกำไรให้แก่กิจการได้โดยตรง

ค่า ROA คือ อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่แสดงประสิทธิภาพในการทำงาน (efficiency ratio) คำนวณโดยนำกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษีเงินได้หารด้วยค่าเฉลี่ยรวมของสินทรัพย์คูณด้วย 100 และค่าที่ได้จะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์

ค่า ROA ยิ่งสูงยิ่งดี เป็นการวัดความสามารถในการทำกำไรจากผลตอบแทนการดำเนินงานได้มากน้อยเพียงใดของสินทรัพย์ทั้งหมดที่ธุรกิจใช้ในการดำเนินงาน หากมีค่าสูง แสดงถึงการใช้สินทรัพย์อย่างมีประสิทธิภาพ มีความสามารถในการทำกำไรจากสินทรัพย์ของบริษัท หากค่า ROA ของบริษัทต่ำกว่า 5% นักลงทุนที่มีประสบการณ์สูงจะไม่ให้ความสนใจกับบริษัทนั้น ถ้าโครงสร้างแหล่งที่มาของสินทรัพย์ทั้งหนี้สินไม่เพิ่มขึ้นและทุนไม่ลดต่ำลง ถือว่า บริษัทสามารถทำได้ดีทั้งการบริหารงานด้านสินทรัพย์ (ROA) และการบริหารผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น (ROE)

การบริหารงานด้านสินทรัพย์ที่ทำให้ค่า ROA สูงขึ้นจริง แต่อาจเนื่องมาจากสินทรัพย์ด้อยค่าลงตามมูลค่าตลาด หรืออาจตัดค่าเสื่อมราคา ต้องพิจารณาดูว่า บริษัทนั้นอาจกำลังบริหารงานได้แย่ลง เริ่มมีสินทรัพย์ไม่เกิดประโยชน์ แม้ว่าจำนวนสินทรัพย์จะลดลงแต่ยังบริหารงานได้กำไรเท่าเดิมหรือดีขึ้น แต่สำหรับนักลงทุนในระยะยาวบางส่วนอาจมองว่า ในอนาคตอาจไม่เหลือสินทรัพย์ที่มีคุณภาพพอที่จะให้ทำกำไรอีกต่อไปก็ได้

ROA ที่มีค่าน้อยหรือมีค่าลดลงหลายปีติดต่อกัน จะเป็นสัญญาณบ่งบอกได้ว่า บริษัทบริหารงานและสินทรัพย์ของกิจการได้ไม่ดี ดังนั้น จึงต้องพิจารณาค่า ROE และ ROA ไปพร้อมกัน เพราะอัตราส่วนทั้งสองแสดงถึงความสามารถในการทำกำไรแต่แตกต่างกันที่ภาระหนี้สินของบริษัท

จากสูตรการคำนวณหาค่า ROA และ ROE จะเห็นว่า ถ้าบริษัทไม่มีหนี้สิน (liabilities) หรือมีค่าเท่ากับ 0 จะคำนวณค่า ROA ได้เท่ากับ ROE แต่หากบริษัทมีหนี้สินมาก อาจทำให้ค่า ROA ที่ได้มีค่าต่ำ ในขณะที่ ROE มีค่าเท่าเดิม ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่ต้องระวังหากพิจารณาเฉพาะค่า ROE ที่มีค่าสูงโดยไม่พิจารณาถึงหนี้สินของบริษัท

วิธีดูว่า ค่าของ ROE และ ROA ของบริษัทใดมากหรือน้อยอย่างไร ต้องพิจารณาเปรียบเทียบกับบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกัน จึงจะเห็นได้ถึงศักยภาพในการแข่งขันซึ่งบางอุตสาหกรรมใช้สินทรัพย์น้อย แต่สามารถสร้างกำไรได้เป็นจำนวนมาก เช่น อุตสาหกรรมบันเทิง ที่สินทรัพย์เป็นเรื่องของมันสมอง หรือทักษะและพรสวรรค์ของบุคลากร โดยไม่ต้องพึ่งเงินทุนจำนวนมาก ทำให้ค่า ROA ค่อนข้างสูง โดยอาจสูงถึงร้อยละ 30-40 สำหรับบางบริษัท แต่บางอุตสาหกรรมกว่าจะสร้างกำไรได้ก็ต้องมีการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น สร้างโรงงาน สร้างระบบขนส่งที่เข้มแข็ง เป็นต้น ค่า ROA ของบริษัทในอุตสาหกรรมนี้จึงมีค่าประมาณร้อยละ 8-12 เท่านั้น

ส่วนผลกระทบของหนี้สินต่อ ROA และ ROE คือ เมื่อหนี้สินเพิ่มขึ้น ทำให้ ROA ลดลงเนื่องจากดอกเบี้ยจ่ายทำให้กำไรสุทธิลดลง ในขณะเดียวกัน การมีหนี้สินในโครงสร้างของทุนสูงทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นลดลง และถ้าส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงมากกว่ากำไรสุทธิที่ลดลง ROE จะเพิ่มขึ้น

สรุปว่า ค่า ROA (return on assets) หมายถึง อัตราส่วนแสดงประสิทธิภาพในการทำงาน (efficiency ratio) จากอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์เมื่อเปรียบเทียบกับส่วนการลงทุน

หมายเลขบันทึก: 600694เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2016 17:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2016 17:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท