เลียบเลาะตู้หนังสือนายแผ่นดิน (16) : พันธุ์ไร้ราก (สุวิชานนท์ รัตนภิมล)


การมาเยือนใหม่ของผู้คน รวมถึงไอทีและทุนนิยม สะท้อนภาพที่ชวนสลดใจของผู้ที่มาปักถิ่นฐานยุคแรกรุ่น แต่ที่สุดก็ขายทิ้งซึ่งเรือกสวนที่ดินให้กับผู้มาใหม่





“พันธุ์ไร้ราก” เป็นนวนิยายอีกเล่มที่ผมเพิ่งอ่านจบ เขียนโดย “สุวิชานนท์ รัตนภิมล” นักเขียนชาวพัทลุงที่มีผลงานวรรณกรรมหลายเรื่อง และเคยได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวจากสารคดีเรื่อง “สวนของคนขี้เกียจ” เมื่อปี 2544

ก่อนหน้านี้ผมเคยได้อ่านงานสารคดีของนักเขียนท่านนี้มาบ้างแล้ว คือ คนในเงา และนกนางแอ่นกลางทะเลสาบสงขลา ซึ่งในเขียนชีวิตให้เห็นความเป็นชีวิตได้อย่างน่าสนใจ

แรกสัมผัส ผมชอบชื่อเรื่องและปกเป็นพิเศษ สารภาพเลยว่ายังไม่ดูชื่อคนแต่งหรอกนะครับ –





พันธุ์ไร้ราก เป็นนวนิยายความยาว 23 ตอน บอกเล่าวิถีชีวิตของผู้คนที่พิงพักอาศัยอยู่ในชนบทที่แอบอิง หรือกระทั่งเบียดแทรกอยู่กับเขตอุทยานที่เต็มไปด้วยป่าเขาลำเนาไพรและสัตว์ป่า ผ่านเรื่องเล่าของ “ธาตรีและทรายเชย” คนต่างถิ่นที่ไม่ใช่ “รากเหง้า” ของที่นี่ ซึ่งตั้งใจมาปักหลักชีวิตที่นี่ภายใต้อ้อมกอดของธรรมชาติ ความเรียบง่ายและสมถะในวิถีชนบทที่ห่างไกลจากตัวเมือง ...แต่จนแล้ว เหมือนหนีเสือมาปะจระเข้ เพราะต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงนานาประการตามครรลองของโลกและชีวิต

ผมชอบชื่อเรื่องที่เปรียบเปรยความเป็นผู้คนในชุมชนแห่งนี้ที่ส่วนหนึ่งล้วนไม่ใช่คนพื้นถิ่น ไม่มีรากเหง้าที่แท้จริงในดินแดนแห่งนี้ ต่างคนต่างแปลกถิ่นมาอยู่อาศัยและแสดงความเป็นเจ้าของพื้นที่ และการแสดงความเป็นเจ้าครองถือครองนั่งแหละคือการพยายามสร้าง “ราก” ของตนเอง

เช่นเดียวกับการเปรียบเทียบกับ “มะม่วงน้ำดอกไม้” ที่กลายเป็นพืชเศรษฐกิจของที่นั่น (โป่งตาลอง) ซึ่งเป็นมะม่วงที่ไม่มีราก เกิดและเติบโตออกผลอยู่ลำต้น หรือรากของ “มะม่วงแก้ว” ก็เป็นเสมือนหนึ่งของผู้คนจำนวนไม่น้อยที่เข้ามาอาศัยในชุมชนที่ล้วนมาจากที่อื่น ---

  • มะม่วงทั้งสวนทั้งโป่งตาลองก็ว่าได้ เป็นมะม่วงรากอย่างหนึ่ง ลำต้นเป็นอีกอย่างหนึ่งทั้งนั้น ส่วนรากจะเป็นมะม่วงแก้ว ส่วนลำต้นเป็นน้ำดอกไม้ เขียวเสวย แต่ส่วนใหญ่เป็นน้ำดอกไม้...มันเป็นมะม่วงที่เอามาจากที่อื่นทั้งนั้น เป็นมะม่วงต่างถิ่น ไม่ได้เป็นมะม่วงพื้นถิ่นที่นี่” (หน้า 58)

  • ผืนดินมีราก ต้นไม้ป่ามีราก ที่ไม่มีรากคือคนเดินทางหารากเอง สร้างรากเอง ช้างร้องกี่ครั้งก็สะเทือนถึงรากเหง้าผู้คน (หน้า 240)

  • ธรรมชาติผู้ชาย มันแสวงหาดินแดนใหม่อยู่แล้ว (หน้า 250)
  • คนออกมาแสวงหาดินแดนใหม่ หนีเมืองมาอยู่ป่ากันมากขึ้น มาเป็นคนไร้รากของแผ่นดินอื่น เอาเงินมาล่อจับที่ดินชาวบ้านนั้นง่ายมาก (หน้า 233)

หรือความเปรียบระหว่างคนต่างถิ่นกับต้นมะม่วงต่างถิ่นที่กลายเป็นส่วนหนึ่งในชุมชนโป่งตาลอง แต่ก็หาใช่กลุ่มคนและพืชพันธุ์ที่มีรากเหง้าที่นี่อย่างแท้จริง

  • มะม่วงพันธุ์ดอกไม้ก็ไร้รากของตนเอง...
    มันต้องอาศัยรากต้นอื่นหายใจ ออกดอกออกผลจากรากตัวเองได้เสียเมื่อไหร่...
    เอาอะไรกับสิ่งใหม่ที่มันเกิดขึ้น ผสมปนเปจนหารากไม่เจอ กลายเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่รู้ว่าก่อนหน้านั้นคืออะไร ชีวิตคนก็คงไม่ต่าง...(หน้า 191)


การมาเยือนใหม่ของผู้คน รวมถึงไอทีและทุนนิยม สะท้อนภาพที่ชวนสลดใจของผู้ที่มาปักถิ่นฐานยุคแรกรุ่น แต่ที่สุดก็ขายทิ้งซึ่งเรือกสวนที่ดินให้กับผู้มาใหม่ที่ซื้อไปแล้วก็มิใช่จะมาปักหลักปักฐานอย่างจริงจังเสียทุกคน นานทีปีหนค่อยสัญจรมาดูชม พักผ่อน หรือกระทั่งแปรเป็นพื้นที่เศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยว หรือเกษตรกรรม

  • เคยเป็นเจ้าของที่ดินมาก่อนทั้งนั้น พอขายที่ดินไปก็กลายมาเป็นคนเฝ้าบ้าน คนสวน คนเฝ้าที่ดินให้เจ้านายอีกที...เป็นการงานงอกเป็นลำต้นใหม่อยู่บนรากเหง้าเดิม...(หน้า 223)



ความเปลี่ยนแปลงอาจเป็นไปได้ทั้งภาพแห่งความเจริญและเสื่อมทรุดที่มีทั้งเด่นชัด และซ่อนตัวเป็นภัยเงียบในรูปลักษณ์ต่างๆ ซึ่งจะว่าไปแล้ว ก็เป็นครรลองของการเปลี่ยนแปลงที่ตอบโจทย์ความมักมากและเห็นแก่ตัวจากสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคนอยู่ไม่ใช่ย่อย

  • ความเด่นในเรื่องการบังคับให้มะม่วงออกนอกฤดูที่สามเซียนคิดค้นได้ก่อนชาวบ้านคนอื่นๆ กลายเป็นแบบอย่างให้ชาวบ้านทำตาม ด้วยราคาแพงกำไรงามล่อตาล่อใจ แต่ก็แลกมาด้วยสารพิษที่ล่องลอยอยู่ในอากาศอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง (หน้า 188)

  • ทุกอย่างในชีวิตของเฒ่าฉ่ำ ดูเหมือนจะลงเอยด้วยดี มีนายให้คอยเอาอกเอาใจ นายตำรวจเป็นเกราะกำบังให้แน่นหนา ที่ดินของนายก็ได้ปลูกข้าวโพด ในไร่ข้าวโพดก็มีสัตว์ให้ยิง ราคาข้าวโพดขึ้นลงไม่แน่นอน แต่ผลพลอยได้จากข้าวโพดด้วยหมูป่าส่งตามร้านอาหารป่า นั่นก็คุ้มแล้ว สัตว์ป่าเดินให้มาติดกับดักไม่เว้นแต่ละวัน เป็นค่าตอบแทนใต้ดินที่ไม่มีใครรู้ (หน้า 256)

  • สามเซียนไปลักพาตัวเผ่าพันธุ์มะม่วงมาสร้างชุมชนใหม่ ตัดแต่งพันธุ์กรรมเสียใหม่เปลี่ยนชื่อรากเหง้า ยืมลำต้นจากรากมะม่วงแก้ว แล้วเปลี่ยนรสต้นสายพันธุ์ดั้งเดิมด้วยวิธีติดตา เสียบยอด เป็นชื่อใหม่ พันธุ์ใหม่ราวกับกักกันผืนดินเป็นเขตปกครองพิเศษ เป็นพื้นที่เคร่งครัดในกฎระเบียบ ขูดเค้นเอาแรงงานจากใบดอกอย่างไม่มีเวลาพักผ่อนเลยทีเดียว ทุกเช้าเย็นของสามเซียนจะมีอะไรมากไปกว่าการลากถังยาพ่วงท้ายรถไถฉีดพ่นฆ่ายาขาวโพลนฟุ้งไปทั้งฟ้าดิน (หน้า 186)

หรือกระทั่งการเปิดพื้นที่จารึกเหตุการณ์ทางสังคมและการเมืองไทยไว้ในเรื่อง

  • เหตุการณ์บ้านเมืองเป็นอย่างนี้ ทำไงได้ล่ะ เดี๋ยวม็อบปิดถนน เดี๋ยวโยนระเบิดใส่กัน แบ่งพวกแดงบ้างเหลืองบ้าง นักการเมืองก็เห็นแก่พวกพ้องตัวเอง ฉ้อโกงราคาข้าวของชาวนา ชาวสวนยางก็ขายไม่มีราคา ข้าวโพดมันสำปะหลังก็ราคาต่ำ อย่างนี้คนจะมีอารมณ์อยากออกมาเที่ยวได้อย่างไร (หน้า 270)

สารภาพตรงนี้ชัดๆ เลยว่า ผมไม่เป็นคอนักอ่าน แต่ไม่ค่อยมีพื้นที่ขบคิดถอดรหัสทางวรรณกรรมสักเท่าไหร่ ยึดความรักความชอบของตนเองเป็นที่ตั้ง อ่านแล้วชอบคือชอบ – โดยเฉพาะถ้อยคิดคำคมชวนคิดตามที่ผมรู้สึกว่าเมื่อได้อ่านแล้ว มันทำให้เราหันกลับมาตั้งคำถามกับชีวิต หรือปรากฏการณ์ชีวิตรายรอบตัวเรา ซึ่งในนวนิยายเล่มนี้ก็กล่าวถึงไว้อย่างน่าสนใจ

  • ชาวบ้านปลูกข้าวโพดปลูกอ้อยปลูกมัน สัตว์ก็ลงมากิน ชาวบ้านได้ทีก็ไล่มันบ้าง ดักยิงเอาบ้าง แต่ที่ตั้งใจล่าก็มีนะครับ เป็นอย่างนี้แหละพื้นที่ติดป่าอุทยาน ทุกแห่งเป็นอย่างนี้แหละครับ (หน้า 238)
  • ในโลกนี้เรารู้อะไรไม่มากจริงๆ (หน้า 46)

  • เขาชอบมองแสงแรกเช้ากับแสงสุดท้ายของวัน มันหมายถึงแสงแห่งความหวัง แสงแห่งการเริ่มต้นกับแสงของการสิ้นสุดแห่งวัน รอยต่อของแสงกลางคืนกับกลางวัน เหมือนความมืดกับสว่าง เหมือนสีขาวกับสีดำ เหมือนความดีกับความไม่ดี เป็นช่วงเวลาชาตะและมรณะของวันอันเงียบสงัดที่สุด (หน้า 57)
  • ชีวิตโตขึ้นมาด้วยบาดแผลกันทั้งนั้น ไปหวังอะไรล่วงหน้าได้ ใจคนมันแปรเปลี่ยนเร็ว สารพัดเรื่องจู่โจมเข้ามาอย่างไม่ทันตั้งตัว บาดแผลใจไม่หายไปไหน แต่อยู่กับบาดแผลใจอย่างไรได้ต่างหาก (หน้า 62)

  • คนจะใสซื่อมือสะอาดชั่วชีวิตได้อย่างไร ชั่วเจ็ดทีดีเจ็ดหนยังเป็นประโยคค้ำคอปุถุชนที่ใช้ชีวิตทางโลกอยู่วันยังค่ำ (หน้า 208)
  • ประสบการณ์เตือนบอกเขาว่า ถ้าจะพูดความจริงกับผู้หญิงนั้น ควรพูดให้สั้นกระชับจบเร็วที่สุด ตัดความยาวอย่าสาวความยืด แล้วอะไรๆ ตะดีตามมาเอง (หน้า 172)
  • อินเดียแดงบอกว่า อะไรไม่รู้ไม่เข้าใจก็ผ่านมันไปก่อน ถึงเวลาแล้วจะเข้าใจเอง (หน้า 252)
  • อินเดียแดงบอกว่า ผู้คนมีไว้ให้หลงลืม ...มนุษย์มีชีวิตเพื่อรอถึงวันที่ลืมเลือน ชีวิตไม่มีอะไร” (หน้า 241)


หรือกระทั่งในห้วงตอนนี้ผมเข้าใจเองว่าผู้เขียนได้สื่อสารถึงมิติแห่งการอยู่ร่วมของสรรพสิ่ง และครรลองความเป็นธรรมะ-ธรรมชาติที่แท้จริงแล้ว มนุษย์ก็มิจำเป็นต้องสถาปนาตนเองเพื่อเปลี่ยนแปลงธรรมชาติ หรือถือครองจนใช่เหตุ


  • แนวเทือกเขาเห็นเป็นปราการก็มีมวลเมฆไหลมาบดบัง ยิ่งมองยิ่งเห็นผืนป่าหนาทึบเป็นดงป่าเหมือนจะแบ่งเขตป่ากับเขตคนอยู่อาศัย เหมือนป่าไม่อยากให้วิถีคนหลุดล้ำเข้าใกล้แนวเขตเขากำแพงไปมากกว่านั้น (หน้า 278)

  • โลกเราหมุนอยู่ได้ด้วยระยะห่างกับดวงจันทร์ และดวงดาวอื่นๆ พอเหมาะพอดี มากไปก็มีโอกาสชนกันได้ ไกลไปกว่านั้นก็คงไม่เป็นโลกอย่างทุกวันนี้ ...บางทีความเป็นรากที่เอื้อให้ลำต้นอื่นงอกงามนั้น ก็คือระยะห่างของความพอเหมาะพอดีนี่แหละ ช่องว่างตรงนี้เองเป็นรากชีวิตอันแข็งแรง (หน้า 219)

  • คนเราก็แปลกนะ สิ่งที่ทำมานั้นดีอยู่แล้ว กลับมองไม่เห็น อยากไปแก้ไขให้มันดีขึ้น ไม่พอใจในสิ่งดีอยู่แล้ว ไม่พอใจรากที่มี ไม่พอใจดอกใบที่งอกออกมา อยากแก้ไขในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ความยุ่งยากยุ่งเหยิงทั้งหลายมักเริ่มต้นกันอย่างนี้แหละ ไม่พอใจในสิ่งที่เป็น ทั้งที่รู้ว่าทุกสิ่งอย่างเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เราแก้ไขอะไรได้ ยิ่งนามธรรมยิ่งอธิบายยาก (หน้า 271)

  • แสงแดดไม่ได้เป็นสมบัติของโลกเราเสียหน่อย มันเป็นสมบัติของจักรวาล ดวงอาทิตย์เป็นผู้แจกจ่ายความร้อนออกมาแต่เพียงผู้เดียว เราก็เป็นแค่ผู้อยู่อาศัยชั่วคราวบนโลก โลกมีรากเป็นดวงอาทิตย์หรือเปล่าก็ไม่รู้ (หน้า 198)

  • อากาศแปรเปลี่ยนนำมาซึ่งรสชาติผลไม้
    “ดีกว่าปลูกแต่ข้าวโพด มันสำปะหลังส่งโรงงาน ปลูกผลไม้กันเสียงบ้าง”...
    “ความแปรปรวนไม่ใช่หรือที่เป็นตัวขับเคลื่อนโลก ความราบเรียบขับเคลื่อนโลกได้ที่ไหน ความปั่นป่วนทั้งนั้นหมุนโลกอยู่ทุกวัน”...
    “ความสงบที่ไหนขี่เสือมาบ้าง” (หน้า 260)


ครับ- นี่คือส่วนหนึ่งที่ปรากฏในนวนิยายเรื่อง “พันธุ์ไร้ราก ที่อ่านแล้วชวนให้ผมได้ตั้งคำถามกับตัวเองและเรื่องราวรอบตัว หรือกระทั่งความเปลี่ยนแปลงของบ้านเกิดเมืองนอนที่ผมได้ฝัง “รก” ไว้ที่ตรงนั้น เพราะที่นั่นคือ “รกราก” ของผมเอง

อันที่จริงในนวนิยายเรื่องนี้ ยังพูดถึงเรื่องราวหลากเรื่อง ทั้งแรงงานเพื่อนบ้าน (กัมพูชา) การลักลอบล่าสัตว์ อำนาจเหนือธรรมชาติที่ร้อยรัดกับคติชนวิทยา วิถีของพรานป่า ภูมิปัญญาการก่อสร้างบ้านเรือน การเกษตร ฯลฯ ว่างๆ มีเวลาชวนเชิญทุกท่านจัดหามา “อ่านเอาเรื่อง” กันบ้างนะครับ



หมายเลขบันทึก: 600632เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2016 09:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2016 10:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท