ยุทธศาสตร์นักจัดการความรู้ : 17. ยุทธศาสตร์กองโจร



บันทึกชุด “ยุทธศาสตร์นักจัดการความรู้” นี้ ถอดความจากหนังสือชื่อ Designing a Successful KM Strategy : A Guide for the Knowledge Management Professionals เขียนโดย Stephanie Barnes and Nick Milton ที่ปรึกษา KM มากประสบการณ์

บันทึกตอนที่ ๑๗ นี้ ได้จากการตีความบทที่ 17 Guerilla Strategy

สรุปได้ว่า ในกรณีที่ยังไม่มีการสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูง ต้องเริ่มด้วยยุทธศาสตร์กองโจร ทำแบบซุ่มซ่อน ภายใต้การสนับสนุนเท่าที่หาได้ โดยควรทำในหนึ่งหน่วยงานแบบครบถ้วน เมื่อบรรลุความสำเร็จก็ตีปี๊บเป็นการใหญ่ เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนดำเนินการ KM ทั่วทั้งองค์กร

ข้อความในบันทึกชุดนี้ตั้งแต่ต้นถึงตอนที่แล้ว อยู่ภายใต้สมมติฐานว่า กิจการ KM ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายต่างๆ ดีพอสมควร แต่อาจมีสถานการณ์ที่แตกต่างโดยสิ้นเชิง คือไม่มีใครเลยในองค์กรที่ศรัทธาใน KM หรืออาจเคยมีประสบการณ์ขมขื่น ที่กิจกรรม KM ก่อความยุ่งยากและล้มเหลว ทำให้มอง KM ในเชิงลบ ไม่ศรัทธา เพราะเคยทำให้ตนเองล้มเหลวมาแล้ว

ในกรณีเช่นนี้ การริเริ่ม KM ต้องใช้ยุทธศาสตร์กองโจร คือซุ่มทำ (เฉพาะบางหน่วย หรือบางส่วนขององค์กร) เพื่อใช้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ในการหาแรงสนับสนุน KM ภาพใหญ่ต่อไป


ยุทธศาสตร์กองโจร

ยุทธศาสตร์กองโจรเป็นยุทธศาสตร์ชั่วคราว เพื่อสร้างการยอมรับโดยผู้บริหารระดับสูงขององค์กร ให้เห็นคุณค่าของกิจกรรม KM

ยุทธศาสตร์กองโจร ในการริเริ่ม KM จึงมี ๓ ขั้นตอน

๑. ขั้นเริ่มต้น เน้นที่การเลือกวิธีดำเนินการ เน้นทำในบางหน่วยงาน โดยทำครบถ้วนตามกรอบ KM ไม่ใช่ทำเฉพาะบางส่วนของ KM เพราะจะขยายผลในภายหลังไม่ได้

๒. ขั้นที่ ๒ แสดงผลงาน ซึ่งหมายความว่า ต้องดำเนินการออกแบบยุทธศาสตร์ KM และดำเนินการตามที่กล่าวมาแล้วในตอนก่อนๆ รวมทั้งเผชิญและแก้ไขปัญหา จนบรรลุผลตามเป้าหมาย โดยควรเน้นการเชื่อมโยงคน และหา SS (Success Story) มาทำ SSS (Success Story Sharing) หรือใช้เครื่องมือ Peer Assist, CoP, K owledge Exchange, Knowledge Visit เป็นต้น คือใช้เครื่องมือ Knowledge Pull เป็นหลัก เพื่อให้เห็นผลต่อผลประกอบการของหน่วยงานที่ดำเนินการโครงการทดลอง

๓. ขั้นที่ ๓ สื่อสารผลงาน ซึ่งต้องทำในลักษณะโฆษณาชวนเชื่อ สร้างภาพ สร้างความเชื่อ เพื่อเปลี่ยนความสำเร็จไปเป็นการสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูง ให้เห็นว่า การดำเนินการขยายผล ไปใช้ทั่วทั้งองค์กร จะก่อผลต่อธุรกิจหลักขององค์กรในลักษณะเดียวกัน หรือยิ่งกว่า


ต้องการความกล้าหาญ

การดำเนินการยุทธศาสตร์กองโจร ต้องการความกล้าหาญ กล้าเสี่ยง พร้อมรับแรงต้าน หรืออันตรายต่อตำแหน่งหน้าที่การงานของตนเอง

มีคนคิดว่า การริเริ่ม KM แบบซุ่มซ่อน ไม่ประกาศตัว เป็นช่องทางที่ปลอดภัย เพราะหากล้มเหลวก็ไม่เป็นที่สังเกต แต่ความจริงไม่ใช่เช่นนั้น การทำ KM แบบกองโจร เป็นการเริ่มต้นงานใหญ่ ในสภาพที่องค์ประกอบต่างๆ ในองค์กรไม่เอื้อ แต่ผู้ลงมือทำ KM แบบกองโจรมีเป้าที่ชัดเจน คือสร้างความสำเร็จเล็กๆ (ที่ยิ่งใหญ่) สำหรับให้ผู้บริหารระดับสูงหันมาเห็นคุณค่า และให้การสนับสนุน

เมื่อยุทธศาสตร์กองโจรประสบความสำเร็จ ให้กลับไปเริ่มต้นจากบันทึกตอนที่ ๕ โครงสร้างของยุทธศาสตร์ และการพัฒนายุทธศาสตร์แบบมีส่วนร่วม


สรุปและขั้นตอนต่อไป

ที่จำเป็นต้องใช้ยุทธศาสตร์กองโจรก็เพราะไม่สามารถได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูงได้ จึงต้องทำงานภายใต้การสนับสนุนจากระดับล่าง หรือเท่าที่มี เป้าหมายไม่ใช่เพื่อซุ่มซ่อน แต่เพื่อสร้างความสนใจ เป็นกิจกรรมที่ไม่ง่าย และต้องการความกล้าเสี่ยง และอดทน

การดำเนินยุทธศาสตร์ KM แบบกรณีพิเศษ ไม่ได้มีเฉพาะยุทธศาสตร์กองโจร ยังมีอีกกรณีพิเศษ คือ ยุทธศาสตร์เก็บความรู้ (knowledge retention strategy) ซึ่งอยู่ในตอนที่ ๑๘



วิจารณ์ พานิช

๒๒ พ.ย. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 600607เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2016 17:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2016 17:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท