ชีวิตที่พอเพียง 2594. ความได้เปรียบของคนแก่



เช้าวันสิ้นปีใหม่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ ผมหยิบเอกสารชิ้นหนึ่งขึ้นมาพิเคราะห์ เป็นรายงานประจำปี ๒๕๕๕ - ๒๕๕๖ ของศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา สังกัดคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้ผมตั้งคำถามต่อตนเองว่า การศึกษาชาติพันธุ์ในประเทศไทยในปัจจุบันควรต่างจากเมื่อ ๒๐ ปีก่อนอย่างไร ซึ่งผมไม่มีความรู้เพียงพอที่จะให้คำตอบ

น่าเสียดายที่ เว็บไซต์ส่วนของศูนย์นี้เข้าไม่ได้

ผมเพิ่งลง บล็อก เรื่อง กระบวนทัศน์แห่งความเท่าเทียม ไปหยกๆ จึงอดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามว่า การศึกษาเรื่องชาติพันธุ์ในประเทศไทย ได้สร้างความเท่าเทียมให้แก่คนในชาติพันธุ์ต่างๆ อย่างไรบ้าง เป็น net gain หรือ net loss เพราะ ความเท่าเทียมมีหลายมิติมาก

ที่จริงที่มหาวิทยาลัยมหิดล ก็มีสถาบันที่ทำวิจัยเรื่องชาติพันธุ์ แต่เน้นที่ภาษา และสนใจกว้างกว่าชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อย คือ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเซีย ซึ่งก็ตั้งคำถามได้อีก ว่า โจทย์วิจัยด้านภาษาและวัฒนธรรมเอเซีย ในปัจจุบัน ควรต่างจากเมื่อ ๒๐ ปีก่อนอย่างไร

เวลา ๒๐ ปีในอดีต สำหรับคนแก่มันรู้สึกว่าสั้นมาก คล้ายๆ เพิ่งผ่านมาเมื่อวานนี้เอง แต่มันก็ยาวพอที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ มากมาย นี่คือความได้เปรียบของคนแก่ แต่ความได้เปรียบนี้ดูจะไม่มาก แพ้ความเสียเปรียบหรือด้อยค่า ที่ร่างกายและสมองร่วงโรยไป

บันทึกนี้ชื่อ ความได้เปรียบของคนแก่ที่รำพึงรำพันมานาน ก็นึกออกว่า อยู่ที่การตั้งคำถามคนแก่มีโอกาสตั้งคำถามเชิงพลวัตของเวลาได้ดีกว่า ซึ่งก็ต้องถามต่อว่า จริงหรือไม่ ถ้าให้ผมตอบเอง ก็ตอบได้ว่า ทั้งจริงและไม่จริง

จริงตรงที่คนแก่มีข้อมูลแห่งอดีต เอามา “เคี้ยวเอื้อง” ทางความคิดและไตร่ตรอง (reflection/AAR) ได้มากกว่า หากหมั่นฝึกไตร่ตรองออกมาเป็นคำถามที่แหลมคม มองประเด็นการเปลี่ยนแปลง มองที่พลวัต มองอดีตเอามากระโดดส่อง และกระโดดสร้าง อนาคต คนแก่จะได้เปรียบ

ผมใส่คำว่า “กระโดด” เพื่อบอกว่าในโลกยุคปัจจุบัน อนาคตไม่ใช่สิ่งที่เชื่อมต่อจากอดีตและปัจจุบันเสมอไป เราอยู่ในยุคของการแข่งขันกันสร้าง disruption คือการก้าวกระโดดทิ้งอดีตและปัจจุบันให้เฉาตายไป ด้วย disruptive technology, disruptive systems, และ disruptive อื่นๆ

ทุกคน ทุกกลุ่ม ต่างก็มีสิทธิ์ “กระโดดสร้าง” นะครับ เพื่อความเท่าเทียมกันในสังคม เราต้องช่วยกันสร้างกระบวนทัศน์ว่าด้วยโอกาสที่เท่าเทียม ที่ทุกคนไม่ปิดกั้นโอกาสของตนเอง โดยการคิดว่าตนไม่มีความสามารถ ซึ่งเป็นวิธีคิดแบบ Fixed Mindset เราต้องช่วยกันสร้าง Growth Mindset ขึ้นในสังคมไทย และสังคมโลก

วิธีคิดแบบ Fixed Mindset อย่างหนึ่งคือ คิดว่าคนแก่หยุดนิ่งอยู่กับที่ หรืออยู่กับอดีต ซึ่งเป็นความคิดที่เป็นความจริงก็ได้ ไม่จริงก็ได้ ในฐานะคนแก่คนหนึ่ง ผมมุ่งมั่นทำให้มันไม่จริงสำหรับตัวเอง โดยการหมั่นฝึกตั้งคำถาม ตั้งคำถามที่หลุดโลก หรือคำถามที่มีได้สารพัดคำตอบ หรือถ้ารำคาญนัก ก็ตอบว่า “ใครจะไปรู้(วะ)” หรือ “ไม่รู้โว้ย” แต่คำตอบแบบรำคาญจะทำให้แก่เร็วนะครับ

คนที่มี Fixed Mindset มักคิดว่า หนึ่งคำถามมีคำตอบถูกเพียงคำตอบเดียว ซึ่งคนแก่จะได้เปรียบจากประสบการณ์ชีวิต (ที่ยาวนาน) ว่า ไม่จริง ในชีวิตจริง หนึ่งคำถามมีได้หลายคำตอบเสมอ แต่ก็ต้องมีข้อยกเว้นบ้าง ซึ่งสำหรับผม ข้อยกเว้นคือ “ภรรยา” มีคำตอบเดียวครับ

ใน Growth Mindset คนแก่มีทุนชีวิตมาก เป็นข้อได้เปรียบในชีวิต แต่ต้องตระหนักว่า ไม่ใช่ทุนสำหรับต่อยอดเสมอไป ที่ดีกว่าคือ ทุนสำหรับ “กระโดดสร้าง” กระบวนทัศน์ใหม่ แนวทางใหม่



วิจารณ์ พานิช

๓๑ ธ.ค. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 600606เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2016 17:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2016 17:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท