Enron ให้บทเรียนจรรยาบรรณวิบัติที่โลกการเงินไม่ควรลืม (ตอนที่ 1)


อาจารย์ จิรพร สุเมธีประสิทธิ์

s[email protected]

นับเป็นเวลา 12 ปีกว่าแล้วที่บริษัทยักษ์ใหญ่รายหนึ่งของโลกที่ชื่อ Enron ล่มสลายไปจากวงการธุรกิจ พร้อมกับทั้งลากกิจการอื่นที่เกี่ยวข้อง สร้างตำนานของกิจการที่ร่วมมือกับผู้สอบบัญชี ที่ปรึกษา สถาบันการเงินเจ้าหนี้ และพวกพ้องในการทุจริต ฉ้อฉลรายใหญ่ที่สุดของโลก

แต่ปรากฏว่าน้อยคนนักที่จะรับรู้ในองค์รวมว่าการล่มสลายของ Enron มาจากอะไร นอกเหนือจากการทุจริตทางบัญชี ตกแต่งรายการทางบัญชี และไม่ค่อยมีใครที่เปรียบเทียบสถานการณ์ของ Enron กับวิกฤติการณ์ทางการเงินในสหรัฐเมื่อปี 2007-2008

ประการที่ 1

การตกแต่งทางบัญชีไม่ใช่จากรากเหง้าของปัญหาการทุจริตและจรรยาบรรณวิบัติ หากแต่เป็นเพียงผลที่เกิดจากความล้มเหลวเชิงบริหาร และความโลภแบบไม่ลืมหูลืมตาของผู้ที่มีส่วนได้เสียเท่านั้น ยังต้องระบุรากเหง้าของปัญหาและสาเหตุให้ชัดเจนลงไปอีกชั้นหนึ่ง

ประการที่ 2

ความล้มเหลวและการล่มสลายของ Enron ไม่ได้ถูกใช้เป็นบทเรียนในการเรียนรู้ของกิจการอื่นๆ มากนัก เพราะหลังจากนั้น ก็ยังเกิดพฤติกรรมของการฉ้อฉล และทุจริตแบบเดียวกันในกิจการอื่นอีกหลายกิจการ

ประการที่ 3

เหตุผลที่ Enron เป็นตำนานของโลก

  • มีผู้ที่เกี่ยวข้องที่ได้รับความเสียหายมากมาย เฉพาะพนักงานอย่างเดียวก็มากถึง 30,000 คน
  • Enron มีภาพลักษณ์ของกิจการที่ประสบความสำเร็จสูงมาก อย่างเช่นในปี 2000 ก่อนล่มสลายเพียง 1 ปี Enron ได้รับรางวัลบริษัทที่มีนวัตกรรมสุดยอดที่สุดจากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์จูนติดต่อกันเป็นปีที่ 6
  • Enron เป็นหนึ่งในบริษัทที่ทรงอิทธิพลและมีสายใยทางการเมืองสูงด้วย ว่ากันว่า 3 ใน 4 ของกิจการด้านกฎหมายสหรัฐเคยได้รับการบริจาคเงินสนับสนุนผ่านแคมเปญพิเศษของ Enron
  • ในปี 1999 ในวอชิงตันที่ทำงานให้ Enron เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับ Henry Kissinger และ James Baker ที่เป็นอดีตผู้บริหารประเทศ
  • ผู้นำของโลกอย่าง Nelson Mandela และ Alan Greenspan เคยไปที่สำนักงานใหญ่ของ Enron เพื่อเข้ารับรางวัล Enron Prize
  • ผู้บริหารและผู้ก่อตั้งของกิจการ Enron ชื่อ Kenneth Lay มีเพื่อนชื่อ George Bush
  • Enron เป็นกิจการที่มีผลประกอบการยอดเยี่ยม จนเป็นกิจการต้นแบบของบรรดานักวิเคราะห์หุ้น นักวิเคราะห์ด้านการลงทุน นักหนังสือพิมพ์ กิจการที่ปรึกษาและอาจารย์ในมหาวิทยาลัยทางธุรกิจ
  • Enron เป็นตำนานของความสำเร็จที่นักศึกษาถูกบังคับให้ต้องอ่านกันใน Harvard MBA
  • Enron เป็นจุดเริ่มต้นของกระแสความตื่นตัวในกลุ่มนักลงทุนและสาธารณชน ที่เห็นว่าหลายกิจการมีปัญหาด้านจริยธรรมทางธุรกิจเหมือนกัน ไม่ใช่เพียง Enron เพียงกิจการเดียวและทั้งกิจการของสหรัฐและยุโรป และนำสู่การปฏิรูปกฎหมายฉบับสำคัญในสหรัฐในเวลาต่อมา

ผู้บริหารในตำแหน่ง CFO ชื่อ Andrew Fastow ได้รับรางวัลในปี 1999 ในฐานะสุดยอด Creative CFO และCFO Magazine

ในเดือนกันยายน 2001 เพียงเดือนเดียวก่อนการล่มสลาย Enron อยู่ในรายชื่อของ 50 บริษัทในสหรัฐที่มีการเติบโตรวดเร็วที่สุด

  • Sarbanes-Oxley Act(SOX) ในปี 2002
  • J-SOX (ในญี่ปุ่น)ในปี 2002

ขณะเดียวกัน พฤติกรรมจรรยาบรรณวิบัติร้ายแรงของผู้บริหาร Enron ก็สร้างกระแสความตื่นตัวออกไปทั่วโลก

ประการที่ 4

นักวิจัยได้ยกเรื่องของ Enron ขึ้นมาสู่การศึกษาในหลากหลายประเด็นด้วยกัน เช่น

  • ความสัมพันธ์ของ Enron กับผู้สอบบัญชีของบริษัท ที่เป็นช่องทางหลักของการทุจริต
  • การที่ผู้บริหารของ Enron ให้ความสำคัญมากเกินไปกับการปั่นราคาหุ้นให้ขึ้นไปอยู่ในระดับสูงสุด และผลร้ายที่เกิดตามมา
  • การนำเอาเครื่องมืออนุพันธ์มาใช้ในการขยายธุรกิจ และสร้างรายการทางบัญชี
  • จุดอ่อน และความบกพร่องของกระบวนการบริหารความเสี่ยง
  • ประเด็นที่ Enron ตั้งใจจะปกปิด บิดเบือนในด้านความโปร่งใสของการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนและการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการตัดสินใจทางธุรกิจและนโยบายการบันทึกทางบัญชี
  • นวัตกรรมทางการเงินที่มีการคิดค้นและนำมาใช้โดย Enron โดยเฉพาะ CFO
  • ความรับผิดทางกฎหมายของ Enron และค่าปรับที่เป็นความเสียหายในแต่ละคดีแต่ละเรื่องที่กระทำผิด
  • ข้อบกพร่องและความล้มเหลวในการสอบทาน ตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของผลดำเนินงานจากหน่วยงานกำกับ เช่น ธนาคารเพื่อการลงทุน สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือด้านเครดิต นักวิเคราะห์หุ้น ผู้สอบบัญชี

ประการที่ 5

มีการศึกษาน้อยมากที่ทำให้เห็นภาพรวมทั้งหมดของพฤติกรรมจรรยาบรรณวิบัติ และการทุจริตทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับ Enron เพราะลำพังการศึกษาแต่ละเรื่องก็มีรายละเอียดมากมายและต้องใช้เวลาในการศึกษาไม่ใช่น้อย และล้วนแต่มีส่วนต่อการล่มสลายของกิจการของ Enron ทั้งสิ้น

ที่สำคัญมีการสรุปเป็นบทเรียนเพื่อการเรียนรู้เพียงบางด้าน ไม่ได้สรุปภาพทั้งหมด เพราะขอบเขตของการทำพฤติกรรมจรรยาบรรณวิบัติ เกี่ยวข้องกับธุรกรรมหลากหลาย มีขอบเขตกระจายในหลายประเทศ ในนิติบุคคลเป็นพันกิจการ

ทุกวันนี้ จึงมีการพยายามค้นหาข้อมูลทั้งหมดของ Enron กันเป็น key word ในการสืบค้นที่อยู่ในลำดับต้นๆ บนโลกอินเทอร์เน็ต

ประการที่ 6

การกำกับดูแลที่ไม่มีธรรมภิบาล ไร้จริยธรรมทางธุรกิจคือหัวใจของปัญหา

  • Enron เริ่มวงจรอุบาทของจรรยาบรรณวิบัติด้วยการปรับนโยบายและการดำเนินงานทางการเงิน ด้วยการให้สิทธิในการได้รับหุ้นราคาถูก(Stock Option) จำนวนหลายล้านหุ้นเป็นการสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาผลดำเนินงานของผู้บริหาร
  • CFO ได้รับความเห็นชอบให้มีอำนาจในการจัดการทางการเงินแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่ง CFO ได้เลือกที่จะใช้วิธีการของ Securitization ผ่านการตั้งบริษัทตัวกลางในการดำเนินการต่อจาก Enron ที่เรียกว่า Special Purpose Entities (SPEs) และช่องทางบัญชีในการถ่ายทอดโอนภาระและตัวเลขทางบัญชี
  • CFO ได้สร้างนวัตกรรมทางการเงินที่เป็นประโยชน์แก่กิจการในลักษณะ Structured Product ใน 2 ลักษณะ

ซึ่งในเวลาต่อมาได้เปลี่ยนเป็นมูลเหตุในการปั่นราคาหุ้น เพื่อทำกำไรจากหุ้นที่ได้รับตามสิทธิ และเพื่อให้ผลตอบแทนจากตำแหน่งปรับตามผลของราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้น

โดยที่ Enron ยังคงมีอำนาจในการบริหารจัดการ SPEs โดยไม่ให้เกิด True Sales อย่างแท้จริง และไม่ได้รวมรายการธุรกรรมที่เกิดกับ SPEs กลับเข้ามารวมไว้ในงบการเงิน (Consolidated in Balance Sheet) เพราะมีการสร้างรายการให้มีนักลงทุนภายนอกเข้ามาลงทุนใน SPEs เกินกว่า 3% ตามเงื่อนไขของมาตรฐาน

3.1 ตราสารหรือเงื่อนไขของสัญญาที่มีลักษณะการจ่ายเงินก่อน เป็น Prepaid operation เพื่อให้ Enron นำเอารายได้มาบันทึกเป็นผลดำเนินงานของกิจการได้

3.2 ตราสารหรือเงื่อนไขของสัญญาที่มีลักษณะ Sale and Purchase ในโครงการที่ไม่สามารถสร้างรายได้จริง เพื่อให้ Enron ไม่ต้องรับภาระหรือไม่ต้องมีความรับผิดชอบ แต่ยังสามารถบันทึกรายการทรัพย์สินที่ขายออกไปแล้วไว้ในงบการเงินของ Enron ได้ต่อไป และไม่ทำให้ฐานะด้านสินทรัพย์ของ Enron ด้อยลง

เงื่อนไข Prepaid operation ใช้กับสัญญาซื้อโภคภัณฑ์ล่วงหน้า เพื่อให้เห็นว่าผู้ขายโภคภัณฑ์แก่ Enron มีความรับผิดชอบต้องจัดหาโภคภัณฑ์มาป้อนให้แก่ Enron ในช่วงระยะเวลาสัญญาที่ยาวนานมาก หากราคาโภคภัณฑ์เพิ่มขึ้น Enron จะมีกำไร ซึ่งจะทำกับโภคภัณฑ์ที่คาดว่าจะมีราคาสูงขึ้น

จากการที่ช่วงเวลาของสัญญาล่วงหน้านานมาก Enron สามารถใช้หลักการในการตั้งสมมติฐานที่เหมาะสม ในการตีค่าของโภคภัณฑ์ตามสัญญาได้เอง หากเป็นการตีราคาว่าโภคภัณฑ์ที่ตกลงซื้อล่วงหน้าไว้จะมีราคาสูงขึ้น Enron ก็สามารถรับรู้กำไร (ที่ไม่จริง) เหล่านี้ได้ทุกปี

ในทางตรงกันข้าม หากเห็นว่าราคาโภคภัณฑ์ที่ตกลงล่วงหน้าจะลดลง Enron ก็จะกลายเป็นฝ่ายขายโภคภัณฑ์นั้นแก่ SPEs และการที่ราคาต้นทุนในอนาคตลดลงก็เท่ากับราคาขายที่ตกลงล่วงหน้าดีกว่าราคาจริงในตลาด ซึ่งทำให้ Enron สามารถบันทึกกำไรได้ เพราะสามารถซื้อโภคภัณฑ์ในราคาต่ำลงไปส่งมอบด้วนราคาล่วงหน้าที่สูง

SPEs ที่ตกลงรับซื้อโภคภัณฑ์ (ก๊าซ) จาก Enron จะไปตกลงขายต่อให้แก่ธนาคารเพื่อการลงทุน โดยมีตารางการส่งมอบในอนาคต และธนาคารเพื่อการลงทุนก็จะนำโภคภัณฑ์ชุดเดียวกันไปขายคืนแก่บริษัท Enron ด้วยเงื่อนไขการรับเงินค่าสินค้าในอนาคต แทนที่จะเป็นการจ่ายล่วงหน้า

การดำเนินการเช่นนี้ ทำให้ธนาคารเพื่อการลงทุนรับภาระความเสี่ยงเพราะขึ้นกับราคาของโภคภัณฑ์ในอนาคต

เพื่อที่จะแสดงว่าได้มีการป้องกันความเสี่ยง (Hedging) บริษัท Enron จึงทำสัญญาอนุพันธ์ประเภท Swap กับธนาคารเพื่อการลงทุน ตกลงจ่ายเงินค่าโภคภัณฑ์ในราคาคงที่ เพื่อถ่ายโอนความเสี่ยงด้านราคาโภคภัณฑ์ออกไปที่ธนาคารที่รับ Swap ทำให้ Enron ไม่ต้องรับรู้ความเสี่ยงนี้

พฤติกรรมทั้งหมดนี้

  • ไม่ได้มีการซื้อขายโภคภัณฑ์เกิดจริง เพียงแต่ Enron ได้รับเงินล่วงหน้ามาในวันแรกและทำการบันทึกเป็น รายได้จากการดำเนินงาน จนสามารถสร้างรายได้และกำไรได้ตามเป้าหมายทุกไตรมาส
  • เงินที่ SPEs เอามาจ่ายแก่ Enron มาจากเงินกู้จากธนาคารเพื่อการลงทุน
  • ธนาคารเพื่อการลงทุนยอมให้สินเชื่อเพราะในที่สุดจะได้เงินคืน จากการขายโภคภัณฑ์(กระดาษ)ให้แก่ Enron และกำไรจากการทำ Swap
  • CFO ได้ประโยชน์ส่วนตัวอีก จากการทำหน้าที่บริหาร SPEs จึงได้ค่าบริหารจัดการ SPEsด้วยอีกทางหนึ่ง

มูลค่าของ Prepaid Transaction คาดว่าจะอยู่ในราว 8,600 ล้านดอลลาร์ กับธนาคาร Chase Manhattan ผ่าน Mahonia Entity และธนาคาร Citigroup ผ่าน Delta Entity ส่วนพฤติกรรม Sale and Re-Purchase ในโครงการที่ไม่ทำกำไร

  • Enron มีสินทรัพย์ไม่ทำรายได้อยู่เป็นจำนวนมาก จากการซื้อมาในราคาสูงเกินไป และไม่สามารถสร้างกระแสรายได้จากการดำเนินงาน
  • Enron ทำสัญญาขายสินทรัพย์นั้นแก่ SPEs ในราคาสูงกว่าทุน
  • SPEs กู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินมาจ่ายค่าซื้อสินทรัพย์จาก Enron โดยใช้หุ้นของ Enron เป็นประกัน
  • Enron รับเงินค่าขายสินทรัพย์และทำการบันทึกกำไร ณ สิ้นไตรมาสที่เกิดธุรกรรม
  • ในไตรมาสต่อมา Enron เข้าไปทำสัญญาในการซื้อคืนสินทรัพย์เดิม ณ ราคาที่สูงกว่าเดิม ทำให้ SPEs มีผลกำไรจากการขายคืน เอาเงินค่าขายคืนไปคืนธนาคารเจ้าหนี้

Enron ใช้วิธีการนี้ขายสินทรัพย์ที่เป็นโครงการผลิตไฟฟ้าในบราซิล

บางกรณี Enron อาจจะทำการขายสินทรัพย์ไม่ทำรายได้นั้นตรงแก่ธนาคารเพื่อการลงทุนโดยตั้งเงื่อนไขจะซื้อคืน

ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น

  • ธนาคารเพื่อการลงทุน หรือ SPEs ได้กำไรจากการที่ราคาหุ้นของ Enron ในตลาดเพิ่มขึ้น
  • Enron ทำกำไร ณ สิ้นไตรมาสที่ต้องการ ทำให้ราคาหุ้นขึ้น ตามเป้าหมายของคณะกรรมการบริษัท
  • SPEs มีกำไร ผู้บริหาร (CFO) ได้กำไรจากส่วนแบ่งของกำไรด้วย
หมายเลขบันทึก: 600250เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2016 21:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มกราคม 2016 21:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท