โชคร้ายของอุดมศึกษา



ผมอยู่ในวงการอุดมศึกษามานานมาก ทำงานมาตั้งแต่ปี ๒๕๑๑ เกือบครึ่งศตวรรษแล้ว แรกๆ อยู่ในฐานะ “วงใน” คือเป็นผู้ปฏิบัติ หรือบางช่วงเป็นผู้บริหาร เวลานี้อยู่ “วงนอก” หรือเป็นกองเชียร์ ในฐานะกรรมการสภามหาวิทยาลัย

ไม่ว่าอยู่ในฐานะใด ผมไม่เคย “จุใจ” ในเรื่องผลงาน มีความคิดว่า “น่าจะทำได้ดีกว่านี้” มาตลอด ความในใจแบบนี้คงจะทำให้ผมมีท่าทีของนัก “วิจารณ์” สภาพปัจจุบันในช่วงนั้นๆ และคงจะมีผลต่อเส้นทางชีวิตของผม เพราะมีคนเล่าให้ฟังภายหลังผมออกมาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์แล้วว่า ช่วงที่ผมอยู่ มีการรวมตัวกันกีดกันไม่ให้ผมเข้าสู่ตำแหน่งอธิการบดี เพราะเขากลัวเหนื่อย เท็จจริงผมไม่ทราบ เพราะไม่ได้สนใจ และเวลานี้ผู้เล่าก็เสียชีวิตไปแล้ว

กลับมาเรื่องโชคร้ายของอุดมศึกษา ซึ่งผมหมายถึงมีโอกาสสร้างผลงาน ทำประโยชน์แก่สังคม/บ้านเมือง ได้มาก แต่มีเส้นผมมาบดบังโอกาสนั้นเสีย

“เส้นผม” นั้นคือ “ความมั่นคงปลอดภัย” ในหน้าที่การงาน ที่ภาษาอังกฤษว่าอยู่ใน comfort zone ทำให้ประมาท หรือไม่ขวนขวาย เรียกว่ามี complacency

“เส้นผม” เส้นที่สองคือ วัฒนธรรมตัวใครตัวมัน (individualism) ที่ไม่เอื้อต่อการทำงานเป็นทีม โดยเฉพาะทีมข้ามสาขาวิชา

“เส้นผม” เส้นที่สามคือ วิธีคิดจากตนเอง/วิชาการ ไปสู่การใช้ประโยชน์ หรือคิดแบบเอาวิชาการเป็นตัวตั้ง ไม่เอาเป้าหมายการใช้ประโยชน์เป็นตัวตั้ง แล้วคิดหรือวางแผนถอยหลังมาสู่การเริ่มดำเนินการ

หากเอาชนะ “เส้นผม” ทั้งสามนี้ได้ คนเก่งๆ ในมหาวิทยาลัย จะทำประโยชน์ต่อสังคมได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างมากมาย



วิจารณ์ พานิช

๓๐ ธ.ค. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 600147เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2016 16:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มกราคม 2016 16:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เส้นผมอาจารย์บังภูเขาแห่งโอกาส
หนึ่งคือพลาดเพราะติดคุกโซนปลอดภัย
สองติดนิสัยตัวใครตัวมันเป็นใหญ่
สามไม่มองเป้าหมายวนเวียนเสพติดทฤษฎี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท