ทำไม? ฉันจึงฆ่าตัวตาย (พุทธศาสนา)


ในเดือนนี้มีการมรณภาพของพระสงฆ์ผู้เป็นที่พึ่งทางใจของชาวพุทธ ๒ รูป ทั้ง ๒ รูปมีสมณศักดิ์ในระดับสูงและมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของวงการคณะสงฆ์ รูปแรก มรณภาพที่โรงพยาบาลศิริราช เริ่มจากโรคหอบ ส่งผลเป็นปอดอักเสบ และอวัยวะล้มเหลว แล้วมรณภาพด้วยอาการสงบ (ตามข้อเขียนในข่าว) รวมแล้วอายุพระเดชพระคุณท่านประมาณ ๘๘ ปี รูปที่สองมรณภาพแบบอัตวินิบาตกรรม รวมอายุของพระเดชพระคุณท่านประมาณ ๕๘-๕๙ ปี สำหรับรูปแรกนั้น ผู้ใฝ่ใจต่อการปฏิบัติธรรมจะรู้จักกันทั่วประเทศ ส่วนรูปที่สองนั้น ผู้ใฝ่ใจต่อการปกครองของคณะสงฆ์จะรู้จักกัน

อันที่จริง ความตายนั้นเป็นเรื่องปกติของทุกคน เพียงแต่ แต่ละคนจะตายอย่างไร บางคนมีสิทธิ์ที่จะเลือกตาย แต่บางคนไม่มีสิทธิ์ที่จะเลือก ส่วนตายแล้วไปไหนนั้นหากพิจารณาจากวิถีศาสนา เราก็ไม่รู้เช่นกันถึงคติของแต่ละคน ยกเว้นผู้ปฏิบัติจนถึงขั้น "จุตูปปาตญาณ" อย่างไรก็ตาม ความตายบางแบบเป็นความตายที่ไม่ปกติสำหรับสังคมมนุษย์ และมีมุมมองไปในทาง "ผู้ตายพ่ายแพ้ต่อชีวิต"

กรณีของท่านเจ้าคุณที่ทำอัตวินิบาตกรรมนั้น มีกระแสความคิดของผู้รับสื่ออย่างน้อย ๒ กลุ่ม กลุ่มแรกมองว่า ท่านหนีปัญหาที่พัวพันก่อนที่จะมรณภาพ มีทั้งการวิจารณ์อย่างสนุกปากและเหยียดหยาม ทั้งก่อนหน้าที่ท่านจะตัดสินใจเลือกความเป็นไปของชีวิตและหลังจากท่านเลือกความเป็นไปของชีวิตแล้ว โดยมากกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มรับสื่อ ไม่ใช่กลุ่มผู้ใส่บาตรให้ท่าน กลุ่มที่สองมองว่า ท่านตัดสินใจเลือกความเป็นไปของชีวิต เพราะท่านคิดดีแล้ว กลุ่มนี้จะพยายามให้กำลังใจท่านก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ที่น่าสลด หลังจากรับรู้เรื่องราวการตัดสินใจของท่าน จึงรู้สึกสลดทั้งมากน้อยต่างๆกัน

มรสุมที่เข้ามาในชีวิตของแต่ละคนนั้นต่างๆกัน มรสุมในระดับเดียวกันเข้ามาสู่ชีวิตนาย ก. อาจมีน้ำหนักไม่มากเท่ากับการเข้ามาในชีวิตนาย ข. เพราะนาย ก.และ นาย ข. มีกำลังในการต้านและจัดการกับมรสุมนั้นต่างกัน เราจึงไม่อาจรู้ได้ว่า ความเป็นไปของแต่ละชีวิตและการเลือกชีวิตของแต่ละคนตั้งอยู่บนความเข้มแข็งมากน้อยเพียงใด มารยาททางสังคมสงฆ์ เมื่อผู้ใดล้มหายตายจากไป สิ่งที่เราควรจะทำคือ การระลึกถึงความตาย ไม่ใช่การพยายามย่ำยีชีวิตนั้นโดยที่เราไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ เพราะหากเป็นพระสงฆ์ที่เหยียดหยามชีวิตอื่นซึ่งเขาเป็นเจ้าของชีวิต พระสงฆ์ดังกล่าวจะแตกต่างอะไรกับการเหยียดหยามชีวิตตนเอง

มีบางท่านกล่าวว่า การตัดสินใจเลือกความเป็นไปของชีวิตนั้น คือไพ่ใบสุดท้ายที่ทิ้งปริศนาให้กับวงการ โดยการเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ผู้เขียนขอแสดงความอาลัยโดยเสมอเหมือนกันของพระสงฆ์ทั้ง ๒ รูป อย่างน้อย ท่านได้ทำประโยชน์ให้กับสังคมไทยมาพอสมควร รูปหนึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาจิต อีกรูปหนึ่งการปกครองคณะสงฆ์ การทำประโยชน์ให้กับสังคมไทยนั้นน่าจะเพียงพอและมากพอกว่าบางคนที่มองผ่านความดีเหลือเพียงความร้ายผ่านสื่อ

แท้จริง การทำอัตตวินิบาตกรรมนั้น เคยมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว ดังนั้น ผู้ที่กำลังเศร้าสลดจึงไม่ควรเศร้าสลด หากแต่ควรมองเห็นเพียง "ความเป็นไปของแต่ละชีวิต" ในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค ข้อ ๔๘๘ มีการกล่าวถึงพระภิกษุชื่อว่า โคธิก ท่านได้ปฏิบัติธรรมจนบรรลุถึงเจโตวิมุติ (รู้ใจคนอื่น) แต่ก็เสื่อมไปในภายหลัง ท่านพยายามปฏิบัติอีก แต่ก็เสื่อมอีกรวมแล้ว ๖ ครั้ง เมื่อบรรลุครั้งที่ ๗ ท่านคงเกรงว่าจะเสื่อมอีก จึงคิดจะนำมีดคมๆ มาเชือดคอตนเอง มารตนหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกับกราบเรียนว่า "มีภิกษุที่มีความเพียร มีสติปัญญา มีฤทธิ์ มียศ อยู่เหนือเวรและภัย กำลังคิดจะฆ่าตัวตาย ขอให้พระพุทธเจ้าไปห้ามภิกษุรูปนั้นเถอะ มิฉะนั้น สาวกของพระพุทธเจ้าจะไม่บรรลุอรหันต์แล้วตายไปเปล่าๆ" พระพุทธเจ้าจึงตรัสกับมารนั้นว่า "ปราชญ์ทั้งหลาย ย่อมทำอย่างนี้แล จะไม่ห่วงใยในชีวิต โคธิกภิกษุ ถอดถอนตัณหาพร้อมด้วยรากแล้วจักนิพพาน" จึงประชุมภิกษุและเดินทางไปหาภิกษุโคธิก ได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุโคธิกมีคอพลิก นอนนิ่งอยู่บนเตียง... ในข้อ ๔๙๕ พระพุทธเจ้าตรัสภาษิตว่า "นักปราชญ์ผู้สมบูรณ์ด้วยความตั้งมั่น เพ่งพินิจ ยินดีแล้วในฌาน พากเพียรตลอดวันตลอดคืน ไม่มีความอาลัยในชีวิต ชนะเสนาของมัจจุราช ไม่กลับมาสู่ภพใหม่ นักปราชญ์นั้นคือโคธิกกุลบุตร ได้ถอนตัณหาพร้อมด้วยราก ปรินิพพานแล้วฯ" ในอรรถกถา (ข้อความอธิบายเพิ่ม) กล่าวถึงความเร็วของจิต แม้จะมีดาบอันคมกริบตัดศีรษะ แต่ความเร็วของจิตที่พัฒนาทำให้บรรลุการสิ้นอาสวะได้ นอกจากท่านโคธิกแล้ว ยังมีพระภิกษุอื่นๆอีกที่ทำอัตวินิบาตกรรม ดังนั้น จึงขอให้ทุกชีวิตจงเป็นไปตามกำลังที่ชีวิตจะดำเนินการได้ ด้วยเหตุที่ว่า การทำอัตวินิบาตกรรมนั้น อาจไม่ใช่เพียงสิ่งที่เราคิดถึงได้เท่านั้น บางครั้งอาจเป็นความหน่ายในชีวิตที่ต้องพบเจอกับเรื่องไร้สาระก็เป็นได้

ขอไว้อาลัยแต่ทุกชีวิต ไว้อาลัยแด่ผู้ที่ยังต้องพบเจอกับอุปสรรคปัญหาไม่จบเส้น พบเจอทุกข์ในภพน้อยภพใหญ่อย่างหาประมาณมิได้

หมายเหตุ : ข้อเขียนนี้ เขียนด้วยความเร่งรีบ เพราะถึงเวลาต้องไปทำภาระกิจประจำวันอีกแล้ว

หมายเลขบันทึก: 600037เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2016 08:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มกราคม 2016 08:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท