มารู้จักการเปิดเสรีการค้าบริการตามGATS กันเถอะ


    การบริการคือ ผลผลิตทางด้านเศรษฐศาสตร์(Economic Output)  ที่ไม่ใช่อยู่ในลักษณะของรูปธรรม จากจุดนี้เองทำให้การบริการมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างสินค้าในหลายประเด็นด้วยกันคือ  การบริการนั้นจะต้องถูกบริโภคในขณะที่ถูก ผลิตออกมา  ซึ่งทำให้การบริการเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเก็บสะสมได้(Unstorability)  และการบริการมีลักษณะที่มีการติดต่อการโดยตรง(interaction)ระหว่างผู้ให้บริการกับผู้ใช้บริการ  จากลักษณะพิเศษของการบริการนี้เอง  การค้าบริการจะเกิดขึ้นได้จำเป็นที่จะต้องมีการเคลื่อนที่ของผู้ผลิตและผู้บริโภค  การค้าบริการตามที่ความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการได้ให้คำนิยามของคำว่า  การค้าบริการ(Trade in Service)  ไว้ในลักษณะกว้างๆโดยได้อธิบายถึงรูปแบบซึ่งเน้นถึงการค้าบริการที่มีลักษณะข้ามชาติ  คือต้องมีองค์ประกอบต่างชาติเข้ามาเป็นส่วนประกอบ  มิใช่การค้าบริการที่อยู่ภายใต้อำนาจของรัฐเพียงรัฐเดียวซึ่งไม่อยู่ในความหมายของความตกลงนี้    คือเป็นสินค้าบริการทุกชนิดยกเว้นบริการที่ให้บริการโดยหน่วยงานของรัฐ  โดยบริการที่ให้โดยหน่วยงานของรัฐนั้นจะต้องไม่เป็น  การให้บริการที่มุ่งในเชิงการค้า  หรือแข่งขันกับผู้ให้บริการรายอื่น[1]โดยการค้าในภาคบริการหรือการให้บริการ(Supply of a service)[2] มีรูปแบบที่หลากหลาย  ซึ่งสามารถแบ่งแยกได้เป็น 4 รูปแบบคือ1.  การให้บริการข้ามพรมแดน (Cross Border Supply)  เป็นการส่งผ่านบริการข้ามพรมแดนจากประเทศหนึ่งไปยังประเทศหนึ่ง  โดยไม่มีการเคลื่อนย้ายทางกายภาพของผู้ให้และผู้รับบริการ  หรือกล่าวได้อีกแบบหนึ่งว่าเป็นการค้าบริการที่ผู้ให้บริการอยู่คนละที่กับผู้รับบริการ  โดยตัวบริการเคลื่อนย้ายไปสู่ผู้รับบริการโดยอาศัยการสื่อสารทางไกลหรืออาจผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์  เช่น  การซื้อหนังสือผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์  การเรียนการสอนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์() เป็นต้น2.  การบริโภคในต่างประเทศ (Consumption Abroad)  หมายถึงการที่ผู้รับบริการเดินทางไปใช้บริการในประเทศของผู้ให้บริการ  เช่น  การที่ชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย  นักศึกษาเดินทางไปศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาในต่างประเทศ  เป็นต้น3.  การจัดตั้งธุรกิจเพื่อให้บริการในประเทศของผู้รับบริการ (Commercial Presence)  หมายถึงการที่ผู้ให้บริการไปเปิดสำนักงานเพื่อให้บริการในประเทศของผู้รับบริการ  โดยจัดตั้งเป็นหน่วยธุรกิจ(Establishment of Business Entity)  เช่น  การไปเปิดร้านอาหารไทยในต่างประเทศ  การไปเปิดสถาบันสอนการนวดแผนไทยในต่างประเทศ  การเข้ามาจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาต่างประเทศในประเทศไทย  การให้บริการทางการเงินในรูปแบบต่างๆ  การให้บริการด้านสื่อสารโทรคมนาคม  เป็นต้น4.  การเคลื่อนย้ายบุคลากร (Movement of Natural Persons)  หมายถึงการที่ผู้ให้บริการเดินทางไปให้บริการในประเทศผู้รับบริการ  เช่น  พ่อครัวไทยไปทำงานในต่างประเทศ  ผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติเข้ามาสอนในประเทศไทย เป็นต้นการแบ่งรูปแบบวิธีการให้บริการเป็น4 ลักษณะ  ช่วยให้เห็นถึงความหลากหลายในการค้าบริการและความแตกต่างโดยธรรมชาติระหว่างสินค้าบริการและสินค้าอื่นๆ  วิธีการในการที่สินค้าบริการจะเข้าสู่ตลาดภายในประเทศมีได้หลายลักษณะ  อีกทั้งโดยปกติแล้วบริการแต่ละประเภทมักเกี่ยวข้องกับบริการในประเภทอื่นด้วย  ดังนั้นแต่ละประเทศจะต้องพิจารณาถึงความพร้อมในการที่จะเปิดเสรีในแต่ละสาขา[3]และแต่ละวิธีการการให้บริการ  เพราะการบริการโดยส่วนใหญ่ไม่ได้สัมพันธ์กับวิธีการการให้บริการเพียงวิธีการใดวิธีการเดียว  หากแต่ว่าบริการจำนวนมากมีวิธีการในการให้บริการมากกว่าหนึ่งวิธีการ  ดังนั้นหากจะทำการเปิดเสรีการค้าบริการในสาขาใดก็ควรที่จะศึกษาและพิจารณาถึงสาขาอื่นที่อาจเกี่ยวข้องด้วยว่ามีความพ้อมเพียงพอหรือไม่


[1]

[2] Article I of General Agreement on trade in services : GATS.

[3] GATS ไม่ได้ระบุประเภทของบริการที่มีการซื้อขายระหว่างประเทศไว้ แต่ในความตกลงมีบทบัญญัติให้สมาชิกต้องเจรจาเปิดตลาดบริการสาขาต่าง ๆ ให้แก่กัน ฝ่ายเลขานุการ WTO จึงได้จัดทำเอกสาร MTN.GNS/W/120 ขึ้นเพื่อใช้เป็นพื้นฐานของการเจรจาซึ่งได้จำแนกประเภทของบริการไว้ 12 สาขา โดยอิงจากการจำแนกประเภทของ UN Central Product Classification (CPC) บริการทั้ง 12 สาขาดังกล่าว ได้แก่
(1) บริการด้านธุรกิจ (Business Services) ภายใต้สาขานี้จะครอบคลุมบริการวิชาชีพ คอมพิวเตอร์ โฆษณา ค้นคว้าวิจัย และอื่น ๆ
(2) บริการด้านสื่อสารคมนาคม (Communication Services) ภายใต้สาขานี้จะครอบคลุมบริการไปรษณีย์ พัสดุภัณฑ์ โทรคมนาคม และโสตทัศน์
(3) บริการด้านการก่อสร้างและวิศวกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการก่อสร้าง (Construction and Related Engineering Services) ครอบคลุมทั้งการก่อสร้างและงานติดตั้ง
(4) บริการด้านการจัดจำหน่าย (Distribution Services) ครอบคลุมบริการค้าส่งค้าปลีก ตัวแทนจำหน่าย และธุรกิจแฟรนไชส์
(5) บริการด้านการศึกษา (Education Services) ครอบคลุมตั้งแต่การศึกษาระดับอนุบาลประถม อาชีวะ มัธยม จนถึงมหาวิทยาลัย การศึกษาผู้ใหญ่ รวมทั้งหลักสูตรระยะสั้น
(6) บริการด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Services) ครอบคลุมบริการกำจัดมลภาวะประเภทต่าง ๆ รวมทั้งด้านสุขาภิบาล
(7) บริการด้านการเงิน (Financial Services) ครอบคลุมบริการด้านประกันภัย การธนาคาร ธุรกิจหลักทรัพย์ และการเงินอื่น ๆ
(8) บริการที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพและบริการทางสังคม (Health Related and Social Services) ครอบคลุมโรงพยาบาล และธุรกิจที่เกี่ยวกับสุขภาพของมนุษย์
(9) บริการด้านการท่องเที่ยวและการเดินทางที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว (Tourism and Travel Related Services) ครอบคลุมโรงแรม ภัตตาคาร บริษัทตัวแทนท่องเที่ยวและมัคคุเทศก์
(10) บริการด้านนันทนาการ วัฒนธรรมและการกีฬา (Recreational, Cultural and Sporting Services) ครอบคลุมธุรกิจบันเทิง ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์
(11) บริการด้านการขนส่ง (Transport Services) ครอบคลุมด้านการขนส่งทางบก เรือ อากาศ ทางท่อ
(12) บริการด้านอื่น ๆ (Other Services not Included Elsewhere) เช่น เสริมสวย จัดงานศพ เป็นต้น

หมายเลขบันทึก: 59983เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2006 15:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 21:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
น่าจะพูดถึง Market Access และ National Treatment ด้วย
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท