การเจริญวิปัสสนากรรมฐานตามแนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ


วิปัสสนากรรมฐานสายนาม-รูป

                การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวมหาสติปัฏฐานสายนาม-รูปของหลวงพ่อเทียน  จิตตสุโภ นั้นเกิดจากจากหลักการที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตรว่า ให้มีสติพิจารณากายในกาย มีสติพิจารณาเวทนาในเวทนา มีสติพิจารณาจิตในจิต และมีสติพิจารณารู้ธรรมในธรรม หลวงพ่อเทียนได้นำหลักการนี้มาพัฒนารูปแบบการปฏิบัติด้วยการสร้างจังหวะเคลื่อนไหว 14 จังหวะ  อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าเป็นการสร้างขึ้นมาใหม่จากความเข้าใจของท่านเท่านั้น  แต่รูปแบบนี้เป็นแนวทางการปฏิบัติที่แพร่หลายอยู่แล้วในกลุ่มพุทธศาสนิกชนในอาณาจักรล้านช้างที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาหลายร้อยปี การปฏิบัติที่เน้นการกำหนดความไหวของร่างกายจนเห็นสภาวธรรมคืออาการของนาม-รูป ในขณะปฏิบัติก็ให้มีสติกำหนดอิริยาบถการเคลื่อนไหวของร่างกายพร้อมกับบริกรรมว่า “ติง-นิ่ง” เป็นรูปแบบตามหลักการของมหาสติปัฏฐานสูตรข้อแรกคือกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ผลสำเร็จของการปฏิบัติคือการมีสติรู้แจ้งจนมองเห็นสภาวธรรมคืออาการของนาม-รูปที่ปรากฎอย่างชัดเจน เพราะฉะนั้นการปฏิบัติแนวนี้จึงถูกเรียกโดยลูกศิษย์ของหลวงพ่อเทียนว่าการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานสายนาม-รูป  รูปแบบการปฏิบัติแบบ “ติ่ง-นิ่ง” นี้ เป็นที่นิยมกันในประเทศลาว ตามประวัติของหลวงปู่มั่น  ภูริทัตโต ท่านได้เดินทางร่วมกับอาจารย์ของท่านคือพระอาจารย์เสาร์  กันตสีโลเข้าไปศึกษาธรรมในประเทศลาว จึงน่าสนใจว่าท่านน่าจะได้ศึกษาแนวการปฏิบัติธรรมสายนี้หรือได้รับอิทธิพลจากวิปัสสนากรรมฐานสายนาม-รูป มาบ้างพอสมควร

ธรรมชาติของจิต

       การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวมหาสติปัฏฐานสายนาม-รูปของหลวงพ่อเทียน  จิตตสุโภนั้นมีความแตกต่างจากการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานสายเน้นการกำหนดเวทนาและการเจริญสมาธิสายสมถกรรมฐาน   ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแนวคิดหรือปรัชญาที่เกี่ยวกับจิตแตกต่างกัน ปรัชญาแนวคิดเกี่ยวกับธรรมชาติของจิตเป็นจุดแบ่งแยกมรรควิธีของการปฏิบัติของชาวพุทธ   แนวคิดสายแรกเชื่อว่าจิตมนุษย์มีภาวะเศร้าหมองโดยธรรมชาติ หมายความว่ามนุษย์เกิดมาพร้อมกับจิตที่ไม่บริสุทธิ์ จิตที่เศร้าหมอง อันเป็นผลจากวิบากกรรมที่เราสั่งสมมาหลายภพหลายชาติเพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติมีหน้าที่ชำระจิตที่เศร้าหมองนั้นให้บรรลุความรู้แจ้งเพื่อเข้าถึงความบริสุทธิ์    ขณะที่แนวคิดสายที่สองเชื่อว่าธรรมชาติเดิมแท้ของจิตมนุษย์นั้นบริสุทธิ์ผ่องใส ไม่มีความเศร้าหมอง แต่ความเศร้าหมองเป็นสิ่งที่เข้ามาภายหลัง ดังพุทธวจนะที่ตรัสว่า “ปภสฺสรมิทํ จิตฺตํ จิตนี้เป็นประภัสสร” จิตของมนุษย์นั้นมีความบริสุทธิ์มาตั้งแต่เกิด  แต่เศร้าหมองเพราะกิเลสจรเข้ามา   เพราะฉะนั้นหน้าที่ของผู้ปฏิบัติคือการรักษาธรรมชาติเดิมของจิตคือความบริสุทธิ์เอาไว้ จะเห็นได้ว่าแนวคิดแรกเป็นที่มาของรูปแบบการปฏิบัติที่เน้นการบังคับควบคุมจิตใจ เน้นการทำจิตให้สงบตามแนวของสมถกรรมฐาน เน้นการใช้สมาธิข่มจิตเอาไว้ ขณะที่แนวคิดที่สองเป็นที่มาของรูปแบบการปฏิบัติของหลวงพ่อเทียนที่สอนให้เราไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวไปบังคับไปควบคุมจิต  แต่หน้าที่ของผู้ปฏิบัติคือการรักษาธรรมชาติอันบริสุทธิ์ของจิตเอาไว้ พูดง่าย ๆ คือ “รักษาตัวรู้เอาไว้” โดยการใช้สติกำหนดรู้ในกาย เวทนา จิต ธรรมด้วยการ “รู้ซื่อ ๆ” หรือ รู้เฉย ๆ  เมื่อเราอยู่กับตัวรู้อยู่ตลอดเวลาชีวิตก็จะปราศจากความทุกข์เกิดความสะอาด สงบ สว่าง

วิสุทธิมรรค

      การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวมหาสติปัฏฐานสายนาม-รูปของหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภนั้นเป็นรูปแบบปฏิบัติพิเศษที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง   โดยปกติแนวทางการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานสายกำหนดเวทนาที่เจริญแพร่หลายในพม่าโดยมีพระวิปัสสนาจารย์ใหญ่คือพระมหาสีสยาดอเป็นสดมภ์หลัก ก่อนที่จะเข้ามาเป็นที่นิยมในเมืองไทยโดยเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถระ)   คำสอนที่เป็นที่มาของแนวทางการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานสายนี้มาจากคัมภีร์วิสุทธิมรรคของพระพุทธโฆสาจารย์ เป็นรูปแบบการปฏิบัติที่พัฒนามาจากเนื้อหาในส่วนของสมาธินิเทส ซึ่งเนื้อหาของคัมภีร์วิสุทธิมรรคในส่วนของสมาธินิเทสนี้เองได้กล่าวถึงการปฏิบัติสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานไว้อย่างละเอียด   พระมหาเถระของพม่าได้ศึกษาคัมภีร์วิสุทธิมรรคจนเข้าใจอย่างลึกซึ้งสามารถประยุกต์องค์ความรู้มาสร้างรูปแบบการปฏิบัติที่เน้นการกำหนดเวทนา  เพราะฉะนั้นการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานแบบ “ยุบหนอ-พองหนอ” จึงมีฐานรองรับที่สำคัญยิ่งคือคัมภีร์วิสุทธิมรรคพูดง่าย ๆ ว่าเป็นรูปแบบการปฏิบัติที่มาจากพระคัมภีร์    ขณะที่การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานสายนาม-รูปของหลวงพ่อเทียนเป็นรูปแบบนอกคัมภีร์ (วิสุทธิมรรค) แต่หลวงพ่อเทียนได้ยึดหลักการในมหาสติปัฏฐานสูตรที่อยู่ในคัมภีร์พระไตรปิฎกแล้วประยุกต์มาสร้างเป็นรูปแบบที่สอนกันอยู่  เพราะเหตุผลที่ว่าพระไตรปิฎกไม่ได้อธิบายรูปแบบการปฏิบัติที่ชัดเจนเหมือนคัมภีร์วิสุทธิมรรค   มหาสติปัฏฐานสูตรในพระไตรปิฎกกล่าวถึงเฉพาะหลักการสำคัญของการปฏิบัติคือการมีสติกำหนดรู้ในกาย (กายานุปัสสนา) กำหนดรู้ในเวทนา (เวทนานุปัสสนา) กำหนดรู้ในจิต (จิตตานุปัสสนา) และกำหนดรู้ในธรรม (ธัมมานุปัสสนา)  หลวงพ่อเทียนได้นำหลักการนี้มาสร้างเป็นแนวทางการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานสายนาม-รูป การปฏิบัติสายนี้จึงแตกต่างจากสายของพม่าที่เกิดจากคัมภีร์วิสุทธิมรรค

สุกขวิปัสสกะ

        ความแตกต่างของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวมหาสติปัฏฐานสายนาม-รูปตามคำสอนของหลวงพ่อเทียน   จิตตสุโภและการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานสายอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสายภาวนาพุท-โธหรือสายการกำหนดยุบหนอ-พองหนอ (พูดง่าย ๆ ว่าความแตกต่างระหว่างการนั่งสมาธิลืมตากับการหลับตาทำสมาธิ) อยู่ที่หลักการที่ว่าการเจริญกรรมฐานแบบแรกเป็นการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานล้วน โดยไม่อาศัยสมถกรรมฐานเป็นฐาน   ขณะที่การเจริญกรรมฐานแบบหลัง (พุท-โธ และ ยุบหนอ-พองหนอ) เป็นการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่มีสมถกรรมฐานเป็นบาทฐาน พูดง่าย ๆ คือ การเจริญวิปัสสนาที่มีอาศัยอารมณ์ของสมถกรรมฐานด้วย เห็นได้ชัดคือการเจริญอานาปานสติหรือการกำหนดลมหายใจเข้าออกในช่วงแรกของการปฏิบัติจะเป็นอารมณ์ของสมถกรรมฐานล้วน ๆ แต่เมื่อจิตเป็นสมาธิตั้งมั่นจนเกิดความสงบ ผู้ปฏิบัติสามารถยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งเป็นการยกระดับขึ้นสู่การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเต็มรูปแบบ ขณะที่การเจริญวิปัสสนากรรมฐานสายนาม-รูปของหลวงพ่อเทียนเป็นการเจริญวิปัสสนากรรมฐานล้วน ๆ โดยไม่อาศัยอารมณ์ของสมถกรรมฐาน ดังนั้นในการเจริญสติภาวนาหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภก็ดี หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณก็ดีท่านจะสอนให้เราลืมตาปฏิบัติ ไม่ให้หลับตาปฏิบัติ  เมื่อปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวนี้จนบรรลุธรรม ท่านจะเรียกผู้บรรลุธรรมว่า สุกขวิปัสสกะ แปลว่า ผู้เห็นแจ้งจากการเจริญวิปัสสนาล้วน ๆ

อานาปานสติ

       ขณะเข้าร่วมปฏิบัติธรรมที่วัดป่าสุคะโตได้มีผู้เข้าร่วมปฏิบัติธรรมสอบถามพระอาจารย์ว่าการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวมหาสติปัฏฐานของหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ มีความแตกต่างจากการเจริญอานาปานาสติอย่างไร (พูดง่าย ๆ คือ อะไรคือความแตกต่างระหว่างการนั่งสมาธิแบบลืมตากับการนั่งสมาธิแบบหลับตา)  ตนเองเกิดความคิดว่าความสงสัย (วิจิกิจฉา) เช่นนี้เป็นความเนิ่นช้า ไม่เป็นผลดีต่อการปฏิบัติเลย เนื่องความสงสัยนี้จะนำไปสู่กับดักทางความคิดที่ผิดพลาดสองอย่างคือ อย่างแรกผู้สอบถามต้องการเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นว่าการปฏิบัติรูปแบบใดดีกว่ากัน เพื่อที่ตัวเองจะได้เลือกเอารูปแบบที่ดีที่สุดไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติกรรมฐานแล้วก็หลงภูมิใจว่าตัวเองฉลาดที่ได้เลือกเอาวิธีการที่ดีที่สุด อีกอย่างหนึ่งคือผู้สอบถามต้องการทราบว่าการปฏิบัติแบบไหนถูกต้องเมื่อคิดว่าการปฏิบัติแบบใดถูกต้องแล้วก็จะปฏิเสธกล่าวโจมตีหรือต่อต้านการปฏิบัติอีกรูปแบบหนึ่งทันที โดยส่วนตัวคิดว่าการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานในพระพุทธศาสนาเท่าที่ชาวพุทธปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบันไม่มีรูปแบบใดที่ถูกต้องที่สุดหรือดีที่สุด มีแต่รูปแบบที่เหมาะสมที่สุดกับจริตสำหรับแต่ละบุคคล ถ้าเราจะเปรียบเทียบการปฏิบัติกับระบบคมนาคมที่มีอยู่ การเดินทางมีหลายเส้นทางไม่ว่าจะเป็นการเดินทางด้วยเครื่องบินการเดินทางด้วยรถยนต์ หรือการเดินทางด้วยเรือ  บางคนอาจจะต้องการหรือมีจำเป็นต้องเดินทางด้วยเครื่องบิน บางคนอาจจะเหมาะที่จะเดินทางด้วยรถยนต์หรือทางเรือ การเดินทางทุกเส้นทางล้วนเป็นเส้นทางที่ดีและมีประประโยชน์ เพราะทุกเส้นทางล้วนนำไปสู่จุดหมายปลายทางเหมือนกัน และในขณะเดียวกันทุกรูปแบบของการปฏิบัติวิปัสสนาล้วนนำไปยังปลายทางคือความพ้นทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นการเจริญวิปัสสนากรรมฐานด้วยการเคลื่อนไหว การเจริญอานาปานสติหรือการเจริญวิปัสสนากรรมฐานด้วยการกำหนดยุบหนอ-พองหนอล้วนนำไปสู่ความหลุดพ้นด้วยกันทั้งนั้น

หมายเลขบันทึก: 599581เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2016 10:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 เมษายน 2020 22:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท