หลวงพ่อเทียนกับพุทธศาสนานิกายเซน



การปฏิบัติซาเซน




การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวมหาสติปัฏฐานสายนาม-รูปของหลวงพ่อเทียน
จิตตสุโภนั้นมีความเหมือนกันกับพระพุทธศาสนานิกายเซน อย่างเช่นการนั่งเจริญสมาธิภาวนา
เป้าหมายของการเจริญสมาธิภาวนาตามแนวทางของหลวงพ่อเทียนคือการสร้างความรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา
ไม่ให้ตกไปอยู่ในหล่มของความสงบหรือติดอยู่กับสมาธิ
หลวงพ่อเทียนจึงสอนให้ผู้ปฏิบัตินั่งสร้างจังหวะ โดยท่านกำหนดรูปแบบเอาไว้
๑๔ จังหวะ สำหรับใช้เป็นเครื่องมือสร้างความรู้สึกตัว
ท่านเรียกการสร้างจังหวะนี้ว่าเป็นลูกกุญแจที่ใช้สำหรับไขไปสู่ความรู้สึกตัวหรือความรู้แจ้ง
ในขณะเดียวกันการเจริญสมาธิภาวนาของพระพุทธศาสนานิกายเซน เรียกว่า
“การปฏิบัติซาเซ็น”
โดยผู้ปฏิบัติต้องนั่งนิ่ง ๆ ลืมตา ให้มีความรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา
ในการสร้างความตื่นตัวอาจารย์เซนผู้ควบคุมการปฏิบัติจะเดินถือไม้สังเกตุไปรอบ ๆ
เมื่อเห็นว่าผู้ปฏิบัติขาดสติหรือถูกความง่วงเข้าครอบงำ
อาจารย์เซนก็จะเมตตาใช้ไม้นั้นฟาดลงบนหลังผู้ปฏิบัติสามครั้ง
เมื่อผู้ปฏิบัติถูกอาจารย์ฟาดด้วยไม้สามครั้งก็จะต้องแสดงความเคารพอาจารย์ เพราะฉะนั้นการนั่งสร้างจังหวะอย่างที่หลวงพ่อเทียนสอนก็ดี การปฏิบัติซาเซ็นของพระพุทธศาสนานิกายเซ็นก็ดีจึงมีเป้าหมายเดียวกันคือการสร้างความรู้สึกตัวโดยไม่ให้ติดอยู่กับความสงบที่เกิดจากสมาธินั่นเอง


ความเหมือนกันอีกประการหนึ่งของการเจริญวิปัสสนากรรมฐานตามแนวมหาสติปัฏฐานสายนาม-รูปของหลวงพ่อเทียน
จิตตสุโภกับพระพุทธศาสนานิกายเซนคือการสอนให้ออกมาจากความคิด หลวงพ่อเทียนสอนว่าความคิดเหมือนกับถ้ำหรือมุ้ง
เมื่อเราเข้าไปอยู่ในถ้ำหรืออยู่ในมุ้ง
เราก็จะมองไม่เห็นถ้ำหรือมุ้งนั้น
เพราะฉะนั้นเราต้องออกมาจากถ้ำหรือมุ้งคือความคิดนั้นเสีย
เราจึงจะมองเห็นถ้ำหรือมุ้งคือความคิดนั้น
พระพุทธศาสนานิกายเซนก็เช่นเดียวกันที่สอนให้ผู้ปฏิบัติออกมาจากความคิด
วิธีการดึงตัวเองออกมาจากความคิดนั้น
พระพุทธศาสนานิกายเซนสอนให้ปฏิบัติโดยการขบคิดปริศนาธรรมที่เรียกว่า “โกอาน”
ยกตัวอย่างเช่น “อะไรคือเสียงของการตบมือเพียงข้างเดียว” การขบคิดโกอานเป็นเทคนิควิธีการสำหรับการดึงตัวเองออกมาจากความคิดนั่นเอง





การปฏิเสธคัมภีร์หรือตัวอักษร


การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวมหาสติปัฏฐานสายนามรูปของหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภนั้น
ท่านสอนไม่ให้ยึดติดในคัมภีร์หรือตัวอักษร
เพราะการเจริญสติตามแนวนี้เน้นการรู้สึกตัว ตื่นตัว รับรู้ความจริงหรือสัมผัสกับธรรมชาติตรง
ๆ โดยไม่ผ่านกระบวนการคิดด้วยเหตุผลและด้วยความจำหรือสัญญา
ท่านสอนว่าความรู้ที่เกิดจากความคิดก็ดีเกิดจากสัญญาความจำก็ดี
เป็นเพียงเงาของความจริงไม่ใช่ตัวความจริง
เพราะตัวความจริงแท้ต้องเกิดขึ้นในปัจจุบันขณะเท่านั้น
ความรู้ที่เกิดจากการคิดปรุงปรุงแต่งเป็นความจริงในอนาคต
ส่วนความรู้ที่เกิดจากสัญญาก็เป็นความจริงในอดีต
เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนให้ตัดความคิดที่เกิดจากการใช้เหตุผลและความรู้ที่เกิดจากสัญญาความจำ
เพราะมันทำให้การรับรู้ที่บริสุทธิ์ตามธรรมชาติเสียไป
หลวงพ่อเทียนจึงสอนให้เราออกจากความคิดมาอยู่กับความรู้สึกตัว


การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวมหาสติปัฏฐานของหลวงพ่อเทียน
จิตตสุโภนั้นสอนให้ไม่ยึดติดกับตำราหรือตัวอักษร
เพราะฉะนั้นคนที่เป็นนักปริยัติหรือผู้หมกหมุ่นตำราและทฤษฎีจะไม่ประทับใจในแนวทางการปฏิบัติสายนี้
เนื่องจากรูปแบบการปฏิบัติและการตีความคำสอนจะขัดกับสิ่งที่เราเคยศึกษามาแทบทั้งสิ้น
ซึ่งตรงนี้เหมือนกับแนวทางของพระพุทธศาสนานิกายเซนที่สอนให้ “ฉีกตำรา”
ทิ้งเสีย
มีเรื่องเล่าของนิกายเซนว่ามีศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยท่านหนึ่งเดินทางไปศึกษาธรรมกับพระอาจารย์เซนชื่อดัง
ระหว่างที่นั่งสนทนาธรรมกันพระอาจารย์เซนก็หยิบกาน้ำชาขึ้นรินลงในถ้วยชาจนน้ำชาล้นถ้วยและไหลออกมา
อาจารย์มหาวิทยาลัยท่านนั้นก็ร้องบอกว่าน้ำชาล้นแล้ว พระอาจารย์เซนก็ตอบว่าเหมือนกับท่านที่เป็นชาล้นถ้วยจนไม่สามารถใส่เปิดรับความรู้ใหม่
ๆ ได้ เพราะฉะนั้นถ้าจะมาศึกษาเซนต้องทำตัวเป็นถ้วยชาที่ว่างเปล่า
พร้อมที่จะเปิดรับความรู้ใหม่ ๆ
ตัวเองก็เคยตั้งข้อสังเกตว่ามีความเหมือนกันโดยบังเอิญคือปรมาจารย์เซนผู้ยิ่งใหญ่ของจีนอย่างท่านเว่ยหลางผู้เป็นสังฆปรินายกองค์ที่
๖ เป็นผู้ไม่รู้หนังสือ
และหลวงพ่อเทียน
จิตตสุโภก็เป็นผู้ไม่รู้หนังสือเหมือนกัน


พุทธแบบเซน


การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวมหาสติปัฏฐานสายนาม-รูปของหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภมีความแตกต่างกับรูปแบบปฏิบัติโดยทั่ว
ๆ ไป
เหมือนกับที่พระพุทธศาสนานิกายเซนมีความแตกต่างจากพระพุทธศาสนากระแสหลักอย่างนิกายเถรวาทและมหายาน
(แม้เซนจะถูกมองว่าเป็นนิกายมหายาน)
ซึ่งท่านพุทธทาสภิกขุได้เปรียบเทียบความแตกต่างของเซนกับนิกายหลักเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า เป็นความแตกต่างระหว่างพุทธศาสนาในขอบเขตของคัมภีร์กับพุทธศาสนา
(แบบเซน) ที่อยู่เหนือคัมภีร์, พุทธศาสนาที่อิงอยู่กับพิธีรีตองต่าง ๆ
กับพุทธศาสนาที่เป็นอิสระตามธรรมชาติและเดินตามหลักของธรรมชาติ,
พุทธศาสนาที่ให้เชื่อก่อนทำกับพุทธศาสนาที่ให้ลองทำก่อนเชื่อ,
พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นวรรณคดีกับพุทธศาสนาประยุกต์, และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ระหว่างพระพุทธศาสนาที่ใช้ได้กับคนบางคนกับพุทธศาสนาที่อาจใช้ให้สำเร็จประโยชน์ได้แก่บุคคลทุกคน
แม้ที่ไม่รู้หนังสือขอเพียงแต่ให้มีสติปัญญาตามปกติสามัญมนุษย์เท่านั้น


จิตตมาตร์


ปรัชญาของพระพุทธศาสนานิกายมหายานที่มีชื่อเสียงมีอยู่สองสำนักคือสำนักมาธยามิกะหรือสุญวาทและสำนักโยคาจารหรือวิญญาณวาท
สำนักวิชญาณวาทเชื่อว่าสรรพสิ่งทั้งหลายเป็นเพียงปรากฎการณ์ของจิต ทฤษฎีจิตตมาตร์ (Mind-only)
สอนว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกไม่มีอยู่จริงสิ่งที่มีอยู่จริงมีเพียงจิตเท่านั้น
โดยส่วนตัวแล้วยอมรับว่าไม่เข้าใจและไม่เห็นด้วยกับทัศนะของวิชญาณวาทนี้
จะเป็นไปได้อย่างไรที่ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏต่อเรามันไม่มีอยู่จริง
ทุกสิ่งที่เราเห็นทุกสิ่งที่เราสัมผัส
ทุกสิ่งที่เรารับรู้จะไม่มีอยู่จริงได้อย่างไร
ในเมื่อคนอื่นก็ยอมรับความมีอยู่ของมัน ไม่ใช่เราคนเดียว เพราะฉะนั้นมันต้องมีอยู่จริง
ๆ สิ จากความเข้าใจเช่นนี้จึงทำให้ไม่ยอมรับทฤษฎีจิตตมาตร์ของวิญญาณวาท
แต่เมื่อมาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวทางของหลวงพ่อเทียนจึงทำให้เข้าใจแนวความคิดนี้ว่า
จริง ๆ แล้วโยคาจารไม่ได้สอนว่าสิ่งต่าง ๆ ไม่มีจริง แต่สิ่งต่าง ๆ
จะมีอยู่จริงก็ต่อเมื่อจิตเข้าไปรับรู้
ธรรมชาติของจิตคือการรับรู้
เมื่อจิตเข้าไปรับรู้ สิ่งต่าง ๆ ปรากฎการณ์ต่างจึงเกิดขึ้น จึงมีขึ้น ถ้าจิตไม่เข้าไปรับรู้ สิ่งต่าง ๆ หรือปรากฏการณ์ต่าง ๆ ก็ไม่มีอยู่จริง สิ่งต่าง ๆ ภายนอกจึงเป็นเพียงอาการของจิต
หรือเป็นเพียงเงาสะท้อนของจิตเท่านั้น
จากจุดนี้เองเมื่อจิตมนุษย์ว่างเปล่าและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สิ่งต่าง ๆ
ที่เป็นเงาสะท้อนของจิตจึงว่างเปล่าและเป็นเพียงมายาเท่านั้นเองการปฏิบัติซาเซน

หมายเลขบันทึก: 599579เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2016 09:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มกราคม 2016 09:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท