beeman 吴联乐
นาย สมลักษณ์ (ลักษณวงศ์) วงศ์สมาโนดน์

ข้อคิดในการดำเนินชีวิตที่ได้จากผึ้ง


ต้องมีการทำงานเป็นทีมที่ Synchronization กัน.

    ตอนออกข้อสอบวิชาการเลี้ยงผึ้ง (ปลายภาค)  เมื่อภาคเรียนที่ ๑/๒๕๔๙ เป็นข้อสอบแบบแสดงความคิดเห็น ซึ่งคำตอบ คงไม่มีถูกและไม่มีผิดอย่างชัดเจน...

   มีอยู่ข้อหนึ่ง ผมออกในทำนองว่า "เมื่อเรียนวิชาการเลี้ยงผึ้งไปแล้ว ได้ข้อคิดอะไรไปใช้ในการดำเนินชีวิตบ้าง"

   มีนิสิตอยู่คนหนึ่ง ใช้ชื่อในบล็อกว่า Orchidman เขียนคำตอบได้ดีมาก ถูกใจผม.. ซึ่งถ้าให้ผมนึกคำตอบแล้วอาจไม่ได้มากเท่านี้ เลยขอนำส่วนที่เป็นคำตอบมาเล่าสู่กันฟัง (รวมทั้งแก้ไขให้สำนวนดีขึ้นด้วยครับ)

ข้อคิดในการดำเนินชีวิตที่ได้จากผึ้ง

  1. ความสามัคคี เพราะผึ้งทุกตัวจะช่วยกันทำงานอย่างขยันขันแข็ง ไม่มีการเกี่ยงงานกัน ทุกตัวต้องทำตามหน้าที่ ไม่มีการทะเลาะกันในเรื่องการทำงานเลย.....ซึ่งคนเราควรนำไปเป็นตัวอย่างในการดำเนินชีวิต
  2. ความขยันหมั่นเพียร  เพราะผึ้งทุกตัว ต้องทำงานไปตามหน้าที่.. ในยามที่ได้รับมอบหมายจากสังคมภายในรัง ให้เป็นผึ้งหาอาหาร ต้องตื่นแต่เช้า และทำงานตั้งแต่เช้ายันค่ำ เพื่อไปแสวงหาอาหาร (น้ำหวานและเกสรดอกไม้) มาสะสมไว้ในรัง ถึงแม้สถานที่จะไปนั้นจะไกลแสนไกล ก็ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคต่างๆ
  3. ความซื่อสัตย์ เพราะผึ้งทุกตัวจะเคารพและซื่อสัตย์ต่อผึ้งนางพญา ทำหน้าที่ปกป้องรังและปกป้องนางพญาของตนเองด้วยชีวิต เต็มใจสละชีพเพื่อรังและนางพญาได้....ดุจดังทหาร หาญ ของชาติ รวมทั้งบุคคลในชาติ ซึ่งต้องทำหน้าที่ ปกป้องชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์....นอกจากนี้ ผึ้งยังไม่เคยเบียดบัง...อาหารในรัง (เช่น น้ำผึ้ง) ไปเป็นประโยชน์ส่วนตนเลย..มีแต่จะเก็บไว้ในยุ้งฉางรวม (รวงผึ้ง) เพื่อเป็นอาหารให้กับประชากรทั้งรัง
  4. ความอดทน หรือ ขันติ เพราะผึ้งทุกตัว ต้องทำงานหนักในแต่ละวัน แบ่งกันตามหน้าที่ เช่น ช่วยเลี้ยงน้อง ทำความสะอาดรัง ป้องกันรัง เป็นต้น ส่วนตัวที่ไปทำงานนอกรัง คือ ไปสำรวจและแสวงหาอาหาร ก็ต้องทน่อสภาพของดินฟ้าอากาศ ที่เปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติของวัน เดี๋ยวหนาว เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวฝน..อีกทั้งแหล่งอาหารก็อยู่ไกลๆ..ต้องอดทนทำงานไปจนสิ้นแสงสุริยันในแต่ละวัน...
  5. ความสามารถในการจัดการระบบการทำงานและระบบประสานงานที่ดี ผึ้งจะมีระบบการจัดการรังและการทำงานที่มีระเบียบแบบแผน โดยพื้นที่ของรวงรัง จะแบ่งเป็นส่วนที่ใช้เก็บน้ำหวานและเกสรดอกไม้ ส่วนที่เป็นที่อยู่ของไข่และตัวอ่อน และส่วนที่เป็นที่อยู่ของตัวเต็มวัย ในฤดูที่มีอาหารมากผึ้งจะใช้พื้นที่ซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด เป็นพื้นที่ในการเก็บสะสมอาหาร โดยลดจำนวนพื้นที่สำหรับตัวอ่อนลง..มีการทำความสะอาดหลอดรวงทุกครั้งด้วย สารสกัดจาก Propolis เพื่อให้รังสะอาดอยู่เสมอ พร้อมที่จะรองรับสิ่งที่จะเข้ามาใหม่ มีระบบขนส่งที่ดี มีการทำงานที่ Synchronization กัน....ผึ้งที่บินออกหาอาหาร ก็จะจัดระบบการบินขึ้น-ลงอย่างมีประสิทธิภาพ ดีกว่าทุกสนามบินในโลก...ถ้าเปรียบกับบริษัท, ร้านค้า และบ้านที่ดี ต้องจัดการให้สะอาด สะดวก ไม่มีเนื้อที่ซึ่งต้องเสียไปเพราะปัญหาสินค้าล้นสต๊อก หรือไม่เก็บของที่ไม่จำเป็นไว้ในบ้านมากจนเกินไป...ถ้าจำเป็นก็จัดหามาเพิ่มเติม สิ่งใดที่ทำให้ธุรกิจติดขัดหรือเป็นการลดต้นทุนได้ก็จะทำ เช่น การหมุนเวียนพนักงาน หรือลดอัตรากำลังลง แล้วหันไปใช้วิธีการจ้างแทน...ในฤดูที่ขาดแคลน ผึ้งงานจะกำจัดผึ้งตัวผู้ออกไป เพื่อไม่ให้สิ้นเปลืองอาหารในการเลี้ยงดู..
  6. รักความสงบ เพราะผึ้งจะไม่ทำร้ายคน ถ้าคนไม่ไปรังแกหรือรบกวนเขา เนื่องจากธรรมชาติของผึ้ง ไม่ได้มีเหล็กในไว้เพื่อการล่าเหยื่อ แต่เอาไว้ป้องกันตัวและสังคมรังของพวกเขา... เพราะคราใดที่เขาต่อยผู้ที่มารบกวนเขาแล้ว...เขาก็จะต้องตาย...เว้นไว้เพียงตัวเดียวที่จะไม่ตายคือผึ้งนางพญาเท่านั้น...แม้ว่าเขาจะรักสงบ แต่ยามใดที่ถูกศัตรูรบกวน เขาก็จะรวมตัวกันต่อสู้ศัตรูอย่างกล้าหาญ มีความสามัคคีกันเพื่อปกป้องรังของพวกเขา...ส่วนนี้คล้ายกับเนื้อร้องในเพลงชาติไทยตอนหนึ่งว่า "ไทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด" คือไม่กลัว (ตาย) นั่นเอง จะต่อสู้อย่างสุดความสามารถ ไม่กลัวต่อศัตรู
  7. ความเสียสละ ผึ้งงานทุกตัวจะเสียสละชีวิต เพื่อปกป้องรังให้พ้นจากอันตราย โดยไม่คำนึงถึงชีวิตตนเอง คือ รู้ทั้งรู้ว่า ถ้าต่อยแล้วตัวเองจะต้องตาย ก็ยังทำเพื่อให้สังคมรังอยู่รอดปลอดภัย...ดังนั้น ผู้นำหรือผู้ที่มีลูกน้องใต้บังคับบัญชา ควรดูผึ้งเป็นตัวอย่าง จะต้องเสียสละความสุขส่วนตัว โดยให้คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมก่อน....และต้องกล้าที่จะปกป้องลูกน้อง (ถ้าลูกน้องไม่มีความผิด) .....ไม่ใช่ "รับชอบแต่ไม่รับผิด" เหมือนอย่างที่เราเห็นบ่อยๆ ในสังคม

************************************************

 

หมายเหตุ บันทึกนี้ตั้งใจจะให้ได้เลขบันทึกเป็น 59939 ครับ และก็ได้สมใจ ซึ่งต้อง competition กัน 3 ท่านครับ

 

หมายเลขบันทึก: 59939เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2006 14:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2013 08:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท