ภาษี งบประมาณ กับ การพัฒนาประเทศ (ตอนที่5)


หน่วยงานส่งเสริมการวิจัยทั้ง 3 หน่วยที่จัดตั้งในปี 2535 จึงถือเป็นหน่วยงานที่มีลักษณะพิเศษ ในเชิงโครงสร้างและการบริหารงาน ที่เพิ่มความหลากหลายในการปฎิบัติภารกิจแห่งรัฐ

เป็นหน่วยงานที่มีการใช้ งบประมาณของรัฐ เพื่อบรรลุภารกิจตามกฎหมาย แต่สามารถกำหนดการใช้งบประมาณโดยละเอียดได้ ภายใต้การกำกับดูแล ของคณะกรรมการ โดยมีการตรวจสอบจากกลไกกลางของรัฐ

เป็นการเพิ่มรูปแบบการใช้งบประมาณของรัฐ นอกเหนือจากระบบ กระทรวงทบวงกรม หรือการจัดจ้างหน่วยงานเอกชนโดยส่วนราชการ อย่างน้อยใน 3 ประเด็น

ประเด็นแรกคือ เปิดโอกาสให้ ผู้ที่ไม่ใช่ข้าราชการได้มีส่วนร่วมในการ “ตัดสินใจ” การใช้ งบประมาณของรัฐ ภายใต้การเป็น กรรมการของหน่วยงาน (ที่กำหนดสัดส่วนไว้ชัดเจนใน พรบ ที่เกี่ยวข้อง)

ประเด็นที่สอง คือการเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่ใช่ข้าราชการสามารถมาเป็นผู้บริหาร ที่มีฐานะเทียบเท่า อธิบดี หรือ ปลัดกระทรวงฯ ได้ แต่มีฐานะเป็นพนักงานของรัฐ ไม่ใช่ข้าราชการ

ประเด็นที่สาม คือการสามารถกำหนด กติกา และกฎระเบียบในการใช้งบประมาณ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และความคล่องตัว มีความโปร่งใส โดยยึด “เป้าหมายของงาน” เป็นหลัก และสามารถกำหนดเป้าหมายที่พึงประสงค์ได้ ภายใต้ภาระกิจขององค์กร ที่กำหนดไว้ในกฎหมาย เป็นการทำงานโดยยึดเป้าหมาย และใช้กฎระเบียบมารับใช้การบรรลุเป้าหมาย มากกว่าให้กฎระเบียบมาเป็นข้อจำกัด ของการมุ่งสู่เป้าหมาย

ต่อมาในปี 2540 รัฐบาลในขณะนั้นได้ออกพระราชบัญญัติองค์การมหาชน ด้วยมีเป้าหมายที่จะทำให้การทำงานรับใช้ประชาชนจำนวนหนึ่ง สามารถทำได้คล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น คล้ายกับการตั้งรัฐวิสาหกิจ แต่ไม่ใช่การทำกิจการที่จะมีผลกำไร หากแต่เป็นการให้บริการประชาชนโดยตรง โดยหวังว่า พรบ องค์การมหาชน จะทำให้เกิดกลไกที่ปฎิบัติภาระกิจแห่งรัฐ บางประเภท ที่ไม่ใช่หน่วยราชการได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องออกเป็น พรบ เฉพาะ และไม่ต้องตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจ (เพราะไม่มีกิจการที่จะทำกำไรได้)

ในส่วนของแนวคิด และรูปแบบการบริหารจัดการ และการใช้ งบประมาณของรัฐ ก็เช่นเดียวกับ การจัดตั้งหน่วยงาน ที่มี พรบ โดยเฉพาะ คือ เกิดการบริหารที่สามารถปรับใช้ระเบียบราชการทั่วไป ตั้งแต่เรื่องการกำกับดูแล ไปถึงการเข้ามาของผู้บริหารสูงสุด และกฎระเบียบในการใช้จ่าย งบประมาณ

แต่ต้องได้รับการตรวจสอบจากกลไกกลางที่มีหน้าที่ตรวจสอบ หน่วยงานของรัฐ มีตัวอย่างรูปธรรม ที่เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดนี้ คือ รพ ที่เป็นองค์การมหาชน ซึ่งในระยะแรกมีแผนจะจัดตั้งราว 20 แห่ง และจะค่อยๆเพิ่มขึ้น แต่ในที่สุดก็สามารถจัดตั้งได้เพียงแห่งเดียว คือ รพ บ้านแพ้ว ทำให้เห็นรูปแบบการบริหาร รพ รัฐ ที่ไม่ใช่หน่วยราชการได้ดีขึ้น

และยังมี โรงเรียน ที่มีการจัดตั้งเป็น องค์การมหาชน เช่น รร มหิดลวิทยานุสรณ์ เพื่อให้สามารพัฒนาระบบการบริหารงาน โรงเรียนที่แตกต่างจากโรงเรียน ในระบบราชการทั่วไป

ผลงานของ รพ บ้านแพ้ว และ รร มหิดลวิทยานุสรณ์ น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดี ของการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐภายใต้รูปแบบการเป็นองค์การมหาชนได้ดี แต่น่าเสียดายที่ปัจจัยอื่นๆอีกมากมายทำให้ไม่สามารถเกิดการปรับเปลี่ยน รพ และ รร ของรัฐที่มีการบริหารแนวใหม่ได้ และน่าเสียดายที่ หน่วยงานที่เป็นองค์การมหาชน “จำนวนหนึ่งที่ไม่ใช่ส่วนใหญ่” ไม่สามารถพัฒนาระบบการบริหาร ที่มีประสิทธิภาพ และโปร่งใส หรือสร้างผลงานตามภาระกิจ แต่กลับใช้ความคล่องตัว ก่อให้เกิดคำถามด้านธรรมาภิบาล และประสิทธิภาพ รวมไปถึงประโยชน์ของงานเพื่อบรรลุเป้าหมาย ภารกิจตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย

หมายเลขบันทึก: 598905เขียนเมื่อ 28 ธันวาคม 2015 13:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 ธันวาคม 2015 13:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สนใจเรื่ององค์มหาชน

ที่ดีๆมีมากเลย

แต่บ้านเราจ้องจับผิดครับ

ขอบคุณมากๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท