ชีวิตที่พอเพียง ๒๕๖๗. นโยบายที่ได้ผล


.................................................... และที่สำคัญ ระดับนโยบายระดับประเทศของเรา ไม่มีวัฒนธรรมกำหนดนโยบายบนฐานของผลการทดลองในระดับปฏิบัติ ซึ่งหากทำเช่นนั้น เราก็จะได้ระบบกำหนดนโยบายแบบสองทาง คือทั้ง top-down และ bottom-up


บ่ายวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๕๘ ผมไปร่วมประชุมเวทีจัดทำข้อเสนอ ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการปฏิรูปการเรียนรู้ ที่ ศ. นพ. ประเวศ วะสี เป็นผู้ริเริ่มเป็นเวทีพิเศษ สืบเนื่องจากเวทีการศึกษากับการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย

อ. หมอประเวศ เสนอแนวทางดำเนินการตามเอกสาร การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ปฏิรูปการเรียนรู้สู่อนาคตประเทศไทย ซึ่งอ่านได้ ที่นี่

หลังจากนั้น มีการอภิปรายในกลุ่มผู้เข้าร่วมประชุม ที่ผมสรุปกับตนเองว่า มีความเห็นแตกต่างกัน ว่าการปฏิรูปการศึกษา/ปฏิรูปการเรียนรู้ ที่จะได้ผลยั่งยืนนั้น จุดคานงัดสำคัญอยู่ที่ไหน

คนที่ไปทำงานอยู่ในระดับชาติ ใกล้ชิดกับฝ่ายออกกฎหมาย ใกล้ชิดกับรัฐบาล บอกเป็นเสียงเดียวกัน ว่าต้องไปจัดการที่ระดับนโยบายคือรัฐบาล/รัฐมนตรี ไม่ให้เปลี่ยนนโยบายกลับไปกลับมาได้ หัวใจสำคัญที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบยั่งยืน ต้องไปจับที่ระดับสูง

คนที่ทำงานส่งเสริมในระดับปฏิบัติการในโรงเรียน และในพื้นที่ ก็เชื่อว่า ต้องเอาที่ระดับปฏิบัติการ/ระดับปฏิบัติเป็นหลัก (และผมนึกในใจว่า และต้องนำผลการปฏิบัติไปสื่อสารสังคมด้วย) ว่าแนวทางนี้แหละ ที่จะทำให้ลูกหลานของเรา บรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ ที่จะส่งผลให้เขามีชีวิตอนาคตที่ดี จนในที่สุดนโยบายระดับประเทศต้องเปลี่ยนมาสนับสนุนแนวทางใหม่ ตามที่ได้ผลในระดับปฏิบัติ

อ. หมอประเวศ บอกที่ประชุมว่า เป็นที่พิสูจน์กันมาแล้ว ว่านโยบายที่ใช้วิธีกำหนดแล้วสั่งการมาจากเบื้องบน ที่เรียกว่า top-down policy ไม่ได้ผล นโยบายที่ได้ผลคือ bottom-up policy

ผมนึกในใจว่า ในความเป็นจริง นโยบายต้องมี alignment กันในระดับ micro – meso – macro ซึ่งเป็นอุดมคติ แต่สังคมไทยเราไม่โชคดีเช่นนั้น เรายังมีความไม่ลงตัวในกลไกพัฒนาบ้านเมือง และที่สำคัญ ระดับนโยบายระดับประเทศของเรา ไม่มีวัฒนธรรมกำหนดนโยบายบนฐานของผลการทดลองในระดับปฏิบัติ ซึ่งหากทำเช่นนั้น เราก็จะได้ระบบกำหนดนโยบายแบบสองทาง คือทั้ง top-down และ bottom-up

นโยบายที่ได้ผล ต้องเป็นระบบสองทาง และมีความประสานสอดคล้องกัน (alignment) ทั้งในระดับสูง กลาง และล่าง



วิจารณ์ พานิช

๔ ธ.ค. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 598902เขียนเมื่อ 28 ธันวาคม 2015 11:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 ธันวาคม 2015 11:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณมากครับผมเลยได้เรียนรู้ไปด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท