โครงการพัฒนาสุขภาพชุมชน : ว่าด้วยการทำสเปรย์ตะไคร้ไล่ยุงและยาหม่องตะไคร้หอม


ต้องยอมรับว่านิสิตจากคณะแพทยศาสตร์ “ทำการบ้าน” มาค่อนข้างดี ไม่ได้มาเน้นการถ่ายทอดผ่านคำพูดในแบบบรรยายให้ความรู้เพียงอย่างเดียว แต่เน้นการเรียนรู้ผ่านการ “ลงมือทำ” (ผลิตและบรรจุ) ไปพร้อมๆ กัน แถมยังพยายามสกัดความรู้ลงสู่เอกสารเพื่อให้ชุมชนสามารถพกพากลับไปอ่านเพิ่มเติมและฝึกปฏิบัติที่บ้านได้ด้วยเองอีกต่างหาก

ภายหลังการจัดเวทีคืนข้อมูลกลับสู่ชุมชน (วันที่ 18 ธันวาคม 2558) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว วันรุ่งขึ้น (วันที่ 19 ธันวาคม 2558) นิสิตจากมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่ประกอบด้วย คณะแพทยศาสตร์ นิสิตคณะวิทยาการสารสนเทศ และนิสิตจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ก็ถึงเวลาของการจัดกิจกรรม “เรียนรู้คู่บริการ” ในศาสตร์ของตนเอง





ฤาษีดัดตน : เช้าชื่นแห่งการสานสัมพันธ์และการบริหารร่างกาย


กิจกรรมแรกเช้าของโครงการพัฒนาสุขภาพชุมชนณ ลานวัดสว่างชัยศรี บ้านปอแดง ต.นาดี อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ประกอบด้วยกิจกรรมหลัก 2 กิจกรรม นั่นคือ (1) การทำสเปรย์ตะไคร้ไล่ยุง (2) ยาหม่องตะไคร้หอม ซึ่งผู้รับผิดชอบหลักคือนิสิตจากคณะแพทยศาสตร์


กิจกรรมเริ่มต้นจากกระบวนการนำพาชุมชนเรียนรู้แบบปฏิบัติการจริงเรื่องการบริหารร่างกายในแบบ “ฤาษีดัดตน” โดยนิสิตอธิบายกระบวนท่า-สรรพคุณและนำพาชุมชนค่อยๆ บริหารกายไปพร้อมๆ กัน




กิจกรรมดังกล่าวไม่เพียงเสริมสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลระบบสุขภาพด้วยตนเองเท่านั้น หากแต่หมายถึงกระบวนการของการละลายพฤติกรรม หรือเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างนิสิตกับชุมชนไปในตัว เพื่อให้เกิดความกระฉับกระเฉงและความคุ้นเคยต่อกัน เพื่อให้ง่ายต่อการที่จะเรียนรู้ร่วมกันในกิจกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้น





สเปรย์ตะไคร้ไล่ยุง : ยาหม่องตะไคร้หอม

ครั้นเสร็จสิ้นกิจกรรมฤาษีดัดตนก็เข้าสู่กิจกรรมการเรียนรู้ในเรื่อง “สเปรย์ตะไคร้ไล่ยุง” และ “ยาหม่องตะไคร้หอม”

ทั้งสองกิจกรรมนิสิตขับเคลื่อนด้วยกระบวนการที่ไม่ซับซ้อน นับตั้งแต่จัดทำเอกสารแผ่นพับและแผ่นป้ายไวนิลบ่งบอกกระบวนการผลิต ตลอดจนสรรพคุณอย่างเสร็จสรรพ รวมถึงการบรรยายให้ความรู้ พร้อมๆ กับการสาธิตและเชื้อเชิญชุมชนให้มีส่วนร่วมต่อการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำร่วมกัน




ว่าไปแล้ว ต้องยอมรับว่านิสิตจากคณะแพทยศาสตร์ “ทำการบ้าน” มาค่อนข้างดี ไม่ได้มาเน้นการถ่ายทอดผ่านคำพูดในแบบบรรยายให้ความรู้เพียงอย่างเดียว แต่เน้นการเรียนรู้ผ่านการ “ลงมือทำ” (ผลิตและบรรจุ) ไปพร้อมๆ กัน แถมยังพยายามสกัดความรู้ลงสู่เอกสารเพื่อให้ชุมชนสามารถพกพากลับไปอ่านเพิ่มเติมและฝึกปฏิบัติที่บ้านได้ด้วยเองอีกต่างหาก

และที่สำคัญคือ-ในกระบวนการถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชนก็มิได้สื่อสารทางเดียว ตรงกันข้ามกลับมุ่งกระตุ้นให้ชุมชนได้ “แลกเปลี่ยนเรียนรู้” ร่วมกัน เป็นต้นว่า การตอบข้อซักถามถึงความรู้และทักษะในเรื่องเหล่านี้ไปในตัว เรียกได้ว่านี่คืออีกหนึ่งวิธีการสำรวจความรู้ชุมชนเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้แบบเนียนๆ ก็ไม่ผิด



กระบวนการสื่อสารสองทางเช่นนี้ไม่เพียงสร้าง “การมีส่วนร่วม” ในกิจกรรมที่ต้องเรียนรู้ร่วมกันเท่านั้น แต่อาจหมายรวมถึงการเชื่อและศรัทธาว่า “แท้ที่จริงแล้ว เรื่องราวเหล่านี้ล้วนเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ชุมชนย่อมมีอยู่แล้ว” เพียงแค่ว่าจะยังคง “ทำ” (ผลิต) หรือ “ใช้” อยู่หรือไม่เท่านั้นเอง หรือหากปัจจุบันยังคงมีการ “ใช้” เป็นการจัดทำขึ้นเอง หรือเป็นการจัดซื้อจัดหามาจากภายนอก-

ประเด็นแค่นี้คือโจทย์การเรียนรู้ที่ละข้ามไม่ได้เหมือนกัน






ว่าด้วยน้ำหมัก : เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเติมเต็มชีวิต

นอกเหนือจากกิจกรรมหลักคือการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำ “สเปรย์ตะไคร้ไล่ยุง” และ “ยาหม่องตะไค้หอม” แล้ว นิสิตคณะแพทยศาสตร์ยังมีกิจกรรมหนุนเสริมการเรียนรู้คู่บริการเพื่อเติมอีกเรื่องนั่นก็คือ “น้ำหมักชีวภาพ”

เรื่องน้ำหมักชีวภาพเป็นกิจกรรมที่เน้นการบรรยายให้ความรู้ ไม่ได้ลงมือปฏิบัติการเหมือนกิจกรรมทั้งสอง แต่นิสิตที่รับหน้าที่เป็นวิทยากรก็สามารถสื่อสารถึง “คุณและโทษ” ของน้ำหมักชีวภาพได้อย่างชัดแจ้งไม่ใช่ย่อม ทั้งยังเฉลียวฉลาดที่จะสำรวจว่าด้วยความรู้และทัศนคติของชุมชนที่มีต่อน้ำหมักชีวภาพอย่างน่ารัก มีการโยนคำถามประมาณว่า “ทำกันอยู่ไหม-ใช้กันอยู่ไหม-ใช้อย่างไร-ได้ความรู้มาจากที่ไหน”




ใช่ครับ-กระบวนการโยนคำถามเพื่อยึดโยงมาสู่การเสวนาเล็กๆ น้อยๆ เช่นนี้ผมถือว่าสำคัญเอามากๆ เพราะทำให้มองเห็นอย่างชัดเจนถึงวิถีการใช้ประโยชน์จากน้ำหมักในชุมชน ซึ่งมีทั้งที่ใช้รดพืชผัก ใช้ล้างห้องน้ำ ใช้ล้างหน้า (ก็มี) ทั้งปวงนั้นสื่อสารคล้ายคลึงกันว่ารับรู้มาจากวิทยุ-ทีวี ฯลฯ

นี่เป็นอีกกระบวนการหนึ่งของการสำรวจหรือสัมภาษณ์สดในแบบเป็นกันเองๆ เมื่อประเมินดูแล้วก็สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ร่วมกันได้อย่างคึกคัก ซึ่งนิสิตเองก็พยายามหาจังหวะเสริมหนุนความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับเรื่องน้ำหมักให้กับชุมชนอย่างสุภาพ พยายามสะท้อนให้เห็นถึงคุณและโทษของการใช้น้ำหมักอย่างละมุลละม่อม หรือเรียกง่ายๆ ก็คือการแนะนำแนวทางของการใช้น้ำหมักอย่างถูกต้องนั่นเอง โดยไม่เพ่งโทษว่าสิ่งที่ทำหรือใช้อยู่แล้วเป็นสิ่งผิด แต่พยายามสื่อให้เห็นความรู้ใหม่ มุมมองใหม่ ทางเลือกใหม่ที่ชาวบ้านสามารถนำกลับไป “ทบทวน” ได้ด้วยตนเอง





บันเทิงเริงปัญญา : เว้านัวหัวม่วน !

โดยส่วนตัวแล้วผมชื่นชอบบรรยากาศการเรียนรู้คู่บริการเช่นนี้มาก เพราะผสมผสานระหว่างการถ่ายทอดความรู้และการปฏิบัติการจริงร่วมกัน แถมยังกระตุ้นให้ชุมชนได้ทบทวนตนเองถึง “ทุนทางสังคม” (ภูมิปัญญาท้องถิ่น) เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ไปอย่างเสร็จสรรพ

อีกอย่างที่ผมชื่อชอบก็คือกิจกรรมเหล่านี้คือผลพวงของการวินิจฉัยชุมชนด้วยเทคนิค A-I-C ที่ค้นพบว่าชุมชนเองก็กำลังประสบปัญหาเรื่องการปวดเมื่อยตามร่างกายอยู่แล้ว ดังนั้นกิจกรรมฤาษีดัดตนและการทำเปรย์ตะไคร้ไล่ยุง หรือยาหม่องตะไค้หอมต่างสอดคล้องกับข้อมูลที่สำรวจและวิเคราะห์ร่วมกัน อีกทั้งการจัดทำก็ยึดโยงกับ “ตะไคร้” ที่เป็น “วัตถุดิบในท้องถิ่น” ซึ่งชุมชนก็มีอยู่อย่างไม่ขัดเขิน


รวมถึงการหยิบจับเอา “แคร่ไม้ไผ่” ในชุมชนมาทำเป็นบอร์ดหรือฉาก ผมยิ่งชอบใจใหญ่ เพราะสื่อให้เห็นถึงแนวคิดบางอย่างที่ชวนค่าต่อการขบคิดไม่ใช่ย่อย




ยิ่งมาเจอกระบวนการจัดกิจกรรมที่นิสิตเพียรพยายามสื่อสารด้วยภาษาพื้นถิ่นในแบบฉบับ “อีสานๆ” สลับไปมากับภาษา “ไทยกลาง” ส่งผลให้ชาวบ้าน “รับรู้และเข้าใจ” ได้เร็วขึ้น ช่วยลดช่องว่างทางการสื่อสารและสร้างความเป็นกันเองได้อย่างน่าชื่นชม กอปรกับการที่นิสิตมีศาสตร์และศิลป์ในการสื่อสารที่เต็มไปด้วยลูกล่อลูกชน-ชวนหยิกชวนหยอกสร้างบรรยากาศสรวลเสเฮฮาเป็นระยะๆ ยิ่งทำให้เวทีการเรียนรู้ที่ว่านี้ เป็นไปอย่างชื่นมื่น ไม่น่าเบื่อ

ยิ่งตอกย้ำให้ผมเชื่อว่า “นิสิตทำการบ้านมาดี” เป็นต้นว่าการสังเคราะห์ข้อมูล-ความรู้ ออกแบบกิจกรรม คัดเลือกวิทยากร จัดเตรียมอุปกรณ์ กระจายภารกิจ ฯลฯ

ครับ- นี่คือการเรียนรู้ในแบบ “บันเทิงเริงปัญญา” ที่ได้ทั้งความรู้และความสนุกสนานที่ออกรสออกชาติ หรือที่คนอีสานเรียกว่า “เว้านัวหัวม่วน” นั่นเอง




หมายเหตุ
ภาพ : นายพนัส ปรีวาสนา และนิสิตโครงการสร้างเสริมสุขภาพชุมชน
21 ธันวาคม 2558

หมายเลขบันทึก: 598687เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2015 23:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มกราคม 2016 13:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ในหนังสือชุด bbl เล่ม "สมองวัยทีน" บอกว่าวัยทีนชอบกิจกรรมที่ลงมือทำมากกว่านั่งฟังบรรยาย

กิจกรรมแบบนี้เกิดการเรียนรู้และจดจำได้ดี

ชอบค่ะ

ครับ พี่ nui

... เด็กหนุ่มสาวในวัยแสวงหา เต็มไปด้วยพลังความคิด การได้คิด แล้วลงมือทำคือการเขย่าให้ตกผลึกความรู้และความคิดดีๆ นั่นเอง

อะไรๆ ก็ไม่เท่าลงมือทำ เหมือนโบราณว่าจริงๆ
กิจกรรมนี้ก็ถูกออกแบบในทำนองเดียวกัน บรรยายคู่การปฏิบัติการ
อีกอย่างในบางประเด็นชุมชนก็มีฐานความรู้บ้างอยู่แล้ว จึงง่ายต่อการเรียนรู้ร่วมกัน ..

ขอบพระคุณครับ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท