ความเป็นมา ของ SNOMED CT ระบบคำศัพท์แพทย์ กับเวชระเบียนในอนาคต


ศูนย์พัฒนามาตรฐานระบบข้อมูลสุขภาพไทย (ศมสท.) www.this.or.th เครือสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กระทรวงสาธารณสุข ได้รับมอบหมายจากกรมบัญชีกลาง ให้พัฒนาบัญชีข้อมูลยา และรหัสยามาตรฐานไทย (Thai Medicines Terminology) โดยมีวัตถุประสงค์เบื้องต้นในการนำมาใช้เป็นเครื่องมือควบคุมการเบิกจ่ายยาที่มีราคาสูง และเริ่มใช้เมื่อเดือนกรกฎาคม 2556

การจัดสร้างรหัสมาตรฐานเพื่อให้มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย ต้องมีกลยุทธ์ที่ทำให้ผู้เกี่ยวข้องกับกระบวนการบันทึกข้อมูล เห็นประโยชน์ และสามารถใช้งานได้สะดวกโดยผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในทศวรรษที่ผ่านมา

ทีมผู้วิจัยได้ทำการค้นคว้า ศึกษา ระบบการสร้างคำศัพท์ และรหัสมาตรฐาน ที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ ของประเทศต่างๆ พบว่า Systematized Nomenclature of Medicine- Clinical Terms (SNOMED CT) เป็นระบบมาตรฐานศัพท์ทางการแพทย์สากล ที่มีความสมบูรณ์มากที่สุดในปัจจุบันที่ใช้กับระบบคอมพิวเตอร์ (eClinical Terms) นอกเหนือจากส่วนที่นำมาใช้เป็นฐานความรู้ ในการพัฒนารหัสยา อาจนำไปใช้พัฒนาระบบข้อมูลเวชภัณฑ์ เครื่องมือ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ สามารถนำไปใช้ในการเก็บบันทึกข้อมูลทางคลินิก เป็นประโยชน์ในด้านการบริการ งานวิจัย ช่วยการตัดสินใจ (Clinical Decision Support) การควบคุมการใช้ทรัพยากร เสริมสร้างระบบความปลอดภัยในการให้บริการ (Patient Safety) สามารถเชื่อมโยงกับรหัสมาตรฐานที่ใช้กับการวินิจฉัยโรค (ICD 10) และรหัสหัตถการ (ICD 9 CM) ที่ใช้กันแพร่หลายในประเทศไทย

SNOMED CT เป็นระบบศัพท์ทางการแพทย์ที่มีความครอบคลุมการแพทย์ ในสาขาต่างๆ รวมทั้ง ทันตแพทย์ศาสตร์ เภสัชศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ เทคนิคการแพทย์ และสัตวแพทย์ศาสตร์ เป็นผลจากการรวม SNOMED RT ซึ่งพัฒนาโดยวิทยาลัยพยาธิแพทย์สหรัฐอเมริกา (เริ่มพัฒนาฉบับแรกเมื่อ 1966) และClinical terms ที่พัฒนาโดย National Health Services NHS สหราชอาณาจักร (เริ่มพัฒนาฉบับแรกเมื่อ 1983) นำมาปรับปรุง เป็น SNOMED CT (ออกใช้ฉบับแรกเมื่อ ปี 2002) มีการบำรุงรักษา ตรวจสอบแก้ไข ปรับปรุง พัฒนา อย่างเป็นระบบโดย International Health Terminology Standards Development Organisation (IHTSDO) www.ihtsdo.org/snomed-ct ซึ่งเป็นองค์กรสากล ที่ไม่แสวงผลกำไร ตั้งอยู่ที่กรุงโคเปนฮาเกน ประเทศเดนมาร์ค มีการปรับปรุงและประกาศใช้ปีละ 2 ครั้ง ในเดือนมกราคม และกรกฎาคม ปัจจุบันมีการใช้ SNOMED CT ในหลายประเทศ และมีการแปลเป็นภาษาต่างๆ หลายภาษา

ขั้นตอนการนำมาใช้ในประเทศไทย ในเบื้องต้นควรมีการรวบรวม และสร้างกลุ่มผู้สนใจร่วมกันศึกษา เนื่องจาก SNOMED CT มีความกว้าง ละเอียด และซับซ้อนมาก


ระบบเวชระเบียนประเทศไทยคุ้นเคยกับรหัสมาตรฐานการวินิจฉัยโรค คือ ICD (International Statistical Classification of Diseases and Related Health Problems) ซึ่งเดิมพัฒนามาจากระบบการรวบรวมรายงานเพื่อสรุปสาเหตุการตาย และต่อมาพัฒนาเพื่อใช้ในการรายงานการวินิจฉัยโรคและหัตถการ ICD เป็นระบบการให้รหัสที่เรียกว่า Classification มีการจำแนก จัดกลุ่ม สรุปเป็นรายงานสถิติที่เข้าใจง่าย ต่อมานำไปใช้ ประโยชน์ในการจัดกลุ่มเพื่อคิดคำนวณต้นทุนทรัพยากรที่ใช้ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย (Diagnosis Related Group) จัดทำเป็นหนังสืออ้างอิง แต่จะเห็นได้ว่า ICD ใช้ภาษา และวิธีการสรุป ตีความแบบสถิติ (Statistical Terminology) ซึ่งต่างจากภาษาที่ใช้บันทึกข้อมูลทางคลินิก (Clinical Terminology) บุคลากรทางคลินิก ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรักษาพยาบาล และบันทึกข้อมูล ไม่คุ้นเคยกับภาษาทางสถิติที่ใช้ใน ICD มีความพยายามในการนำไปใช้ โดยในสหรัฐอเมริกาดัดแปลง เป็นฉบับ Clinical Modification เพิ่มเติมรหัส โรคที่ไม่สมบูรณ์ลงไป มีการจัดทำคู่มือ และหลักสูตรอบรมวิธีการให้รหัส อย่างไรก็ตาม เห็นได้ว่า วิธีการที่ใช้อยู่ คือ การแปลงจากข้อมูลทางคลินิก (Clinical Information) ไปเป็นรหัส (ICD Code) อาศัยการตีความตามความเข้าใจและดุลพินิจของคน ซึ่งมีข้อเสียที่ไม่คงเส้นคงวา

SNOMED CT พัฒนาขึ้นโดยพยายามแก้ไขปัญหาข้อบกพร่อง ที่พบจากการใช้ ICD สามารถใช้ในระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ บันทึกประวัติการเจ็บป่วย การตรวจร่างกาย การตรวจทางห้องปฏิบัติการ การวินิจฉัยโรค หัตถการ ยาที่ใช้รักษา การรายงานความเปลี่ยนแปลงของอาการ ผลการรักษา ซึ่งเป็นแนวทางที่ ICD ฉบับใหม่ (ICD 11) พยายามพัฒนา เพื่อให้สามารถใช้กับระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ เช่นกัน

ทีมพัฒนา SNOMED CT ได้รวบรวมคำศัพท์ทางการแพทย์ และสาธารณสุขจากข้อมูลทางคลินิกแหล่งต่างๆ ประมาณ 1 ล้านคำศัพท์ (Description) นำมาสรุปเป็นคำศัพท์ที่มีความหมายต่างกันประมาณ 400,000 ความหมาย (Concept) จัดหมวดหมู่ และให้เลขรหัส (Identifier) เพื่อใช้กับระบบคอมพิวเตอร์ เลขรหัสมีระบบความสัมพันธ์ (Relationship) พื้นฐาน และสามารถสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงเพิ่มเติม เพื่อใช้ในระบบสารสนเทศทางคลินิค ความร่วมมือระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข กับผู้ที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ จะทำให้เวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ มีประโยชน์กับ ผู้ป่วย ผู้ให้บริการ ผู้บริหาร มากยิ่งขึ้น


หมายเลขบันทึก: 598660เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2015 10:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ธันวาคม 2015 10:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท