Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

งานศึกษาเด็กไร้รากเหง้าที่บ้านเวียงพิงค์ : ถอดบทเรียนระหว่างมวลมิตรค่ะ, บันทึกเพื่อความเข้าใจร่วมกันระหว่างคนที่ทำงานกับอาจารย์แหวว หรือสนับสนุนอาจารย์แหวว


งานศึกษาเด็กไร้รากเหง้าที่บ้านเวียงพิงค์ : ถอดบทเรียนระหว่างมวลมิตรค่ะ

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๒

-----------------------------------------------------------

อ.แหววลุกขึ้นมาเขียนบันทึกนี้ แบบลัดคิว เพราะเริ่มเห็นคนเล่าเรื่องของ อ.แหวว และบ้านเวียงพิงค์อย่างไม่ค่อยตรงกับสิ่งที่ อ.แหววคิดสักเท่าไหร่ ก็เลยตัดสินใจว่า ควรทำความเข้าใจเป็นลายลักษณ์อักษรเลย ก็น่าจะดี เป็นการถอดบทเรียนกันระหว่างมวลมิตร

ในประการแรก อยากจะย้ำเรื่องความเป็นมาของงานศึกษาเด็กไร้รากเหง้าที่บ้านเวียงพิงค์ แต่เช้าของวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๒ อ.ไหมก็โทรมาหารือว่า เราจะเอาอย่างไรเกี่ยวกับงานนี้ ซึ่ง อ.แหววก็ติงว่า เราในที่นี้ ก็คือ คณะอนุกรรมการเด็กไร้สถานะทางกฎหมาย หรือคณะนิติศาสตร์ พายัพล่ะ ? มิใช่ อ.แหวว และคนในห้องทำงานของ อ.แหววอย่างนอน และ อ.แหววรู้สึกขัดใจเล็กน้อยอีกครั้งที่ อ.ด๋าวเล่ามาใน MSN เมื่อเวลา ๙.๓๗ น. ว่า อ.ไหมโทรหารือเรื่องการประชุมคณะอนุกรรมการเด็กไร้สถานะทางกฎหมายของคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ โดย อ.ไหมหารือ อ.ด๋าวว่า ตนจะต้องพูดอะไร เรื่องนี้ก็คุยกับ อ.ไหมมาหลายรอบแล้วนะคะ แต่ทำไมหนอจึงไม่ชัดเจนกัน ความเป็นมาของงานที่บ้านเวียงพิงค์ ก็เริ่มจาก วันหนึ่งที่คณะอนุกรรมการเด็กไร้สถานะทางกฎหมายไปที่บ้านเวียงพิงค์ ครูหยุยมอบอาจารย์แหววให้คิดเรื่องนี้ ซึ่งมีเด็กไร้รากเหง้าอยู่ถึงร้อยกว่าคน ซึ่งมีอยู่ ๓ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) เด็กที่อาศัยในบ้านสงเคราะห์นี้เลย (๒) เด็กที่อาศัยอยู่ในสถานะสงเคราะห์ของเอกชนที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ซึ่งต่อไปจะเรียกย่อๆ ว่า “พม.”) ดูแล และ (๓) เด็กที่ พม. มอบให้บุคคลธรรมดารับไปทดลองเลี้ยง ก่อนเข้าสู่กระบวนการรับบุตรบุญธรรม เมื่ออาจารย์แหววคิด work process สำหรับเรื่องนี้ได้ ก็เลยโทรคุยกับครูนิด ยินดี ห้วยหงษ์ทอง และหารือกับครูหยุยตัวเป็นๆ เมื่อพบกันที่กระทรวงวัฒนธรรมเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๒ และคำตอบ ก็คือ ให้เดินหน้า

ในประการที่สอง อาจารย์แหววอยากจะยืนยันว่า งานศึกษาเรื่องคนไร้รากเหง้า ก็เป็นงานที่ อ.แหววเฝ้าคิดมานาน ไม่ว่าจะทำงานให้ใครหรือไม่ งานคิดนี้ก็อยู่ในหัวสมองของอาจารย์แหววตลอดเวลา ในวันที่ สมช.หารือเรื่องการทำยุทธศาสตร์ในเรื่องนี้ แนวคิดเกี่ยวกับคนไร้รากเหง้าจึงปรากฏตัวขึ้นในยุทธศาสตร์เพื่อการจัดการสถานะและสิทธิของบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๘ ดังนั้น หากขอเท็จจริงเป็นไปตามที่ อ.มิว กังวล ก็คือ “ครูหยุย ไม่ชอบให้ใครเอาเคสของตัวเองเข้าในคณะกรรมการฯ” อันนี้ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องดันเรื่องนี้ขึ้นมาทำ สำหรับตัวอาจารย์เอง การศึกษาเรื่องเด็กไร้รากเหง้าก็คงไม่จำเป็นอาศัยงานดังกล่าว จริงอยู่ ผลการเข้าไปจัดการปัญหาของเด็กร้อยกว่าคนในบ้านเวียงพิงค์อาจเป็นการทดลองทฤษฎีในหัวของอาจารย์แหววได้ชัดเจนขึ้น แต่ถึงไม่มีเรื่องนี้ ก็คงไม่ทำให้อาจารย์แหววมีความมั่นใจในเรื่องนี้น้อยลง อาจารย์แหววคิดว่า ข้อมูลทั้งในแง่ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้มีอยู่ในสมองของอาจารย์แหววแล้วพอสมควรที่จะทำความเข้าใจกับสังคมต่อไปได้

ในประการที่สาม อ.แหววก็ยกให้ครูหยุยเป็นคนตัดสินใจในส่วนที่เป็นงานของคณะอนุกรรมการเด็กไร้สถานะทางกฎหมาย เพราะเธอเป็นทั้งประธานคณะอนุกรรมการ ฯ และเมื่อเรื่องนี้เริ่มต้นจากครูหยุย ก็ต้องให้ครูหยุยตัดสินใจ ครูหยุยเป็นหนังสือเล่มโตที่ อ.แหววอ่านมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๒ เขายิ่งใหญ่ เพราะเขาคิดซับซ้อน ท่ามกลางท่าทางง่ายๆ สบายๆไม่อย่างนั้น เขาคงปฏิรูปกฎหมายสถานะบุคคลให้แก่คนไร้รัฐคนไร้สัญชาติไม่สำเร็จ อ.แหววมีความเชื่อในครูหยุยค่ะ ทำอย่างที่เขาบอกเถอะ สิ่งที่เราควรทำ ก็คือ ให้ข้อมูลรอบด้านแก่เขา เพื่อการตัดสินใจ แล้วนั่งรอเล่นเกมที่เขาออกแบบ แน่ใจได้ว่า เป้าหมายของเขา ก็คือ เด็กนิยม

ในประการที่สี่ อ.แหววคิดว่า แนวคิดของครูหยุยไม่ได้ปฏิเสธกรณีศึกษาแบบไม่มีเหตุผล โดยส่วนตัว อาจารย์แหววทำงานกับครูหยุยมานาน พอเข้าใจความคิดของครูหยุย ครูหยุยคิดว่า การทำทุกเรื่องที่ร้องเรียนมา ก็คงทำไม่ได้ แต่การปฏิเสธที่จะหยิบ “เคสที่เป็นต้นแบบ” มาศึกษา ก็จะเป็นการปฏิเสธกระบวนการเรียนรู้เรื่องจริงจากสังคม ครูหยุยเชื่อใน true story theory มากค่ะ

อ.แหววเสนอให้ อ.มิวบอก อ.แหววได้ตรงๆ ว่า ครูหยุยตัดสินใจอย่างไรสำหรับเรื่องนี้ หากจะมีการตัดสินใจเป็นอย่างอื่นจากที่คุยกันเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๒ ก็ต้องเป็นไปตามครูหยุยตัดสินใจ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ว่า “ครูหยุยยอม อ.แหวว คนเดียว” เรื่องนี้มิใช่เรื่องส่วนตัว เวลาที่คุยกันระหว่าง อ.แหวว และครูหยุย เป็นการแสวงหาเหตุผลร่วมกัน หากมันเป็น “ต้นแบบความรู้” ครูหยุยก็จะเห็นด้วย เราสองคนตระหนักดีว่า การทำงานแบบ case by case นั้น ก็จะเหนื่อยจนตาย ช่วยคนได้น้อยมาก เราไม่มีความต่างกันในเรื่องนี้

ในประการที่ห้า อ.แหววเสนอให้คนที่ทำงานทั้งกับ อ.แหวว หรือสนับสนุน อ.แหวว เปิดใจต่อกัน อย่างตรงไปตรงมา การใช้อัตตาวิสัยในการเดาใจคนอื่น คงเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความเข้าใจผิดต่อกัน มนุษย์คิดต่างกัน มนุษย์อาจเปลี่ยนแปลงความคิดในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เป็นเรื่องธรรมดา ถอดบทเรียนจากเรื่องนี้ การที่ อ.มิว ยกเรื่องนี้มาคุยกันอย่างจริงจัง ก็จะทำให้ อ.แหววตัดสินใจดีขึ้น ดังที่ได้เตือน อ.มิวแล้วว่า การไม่มีพื้นที่พูดคุยทำความเข้าใจกัน ความไม่เข้าใจและการไม่ประสานงานก็จะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังที่เห็นอยู่ และในระหว่างคนทำงานด้วยกัน ครูนิด อ.วีนัส อ.มิว และ อ.ไหม ก็ควรได้คุยกันก่อนเข้าที่ประชุม หรือเมื่อที่ประชุมได้มีความเห็นใดๆ แล้ว การทำงานแบบไม่มีแผนการ ก็คือการทำงานที่ไม่มีวินัย ยากที่จะประสบผลสำเร็จได้ตามสถานการณ์

ในประการที่หก สำหรับประเด็นที่ อ.ด๋าว ตั้งข้อสังเกตว่า คนที่เข้าไปทำงานจะเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพหรือไม่ อ.แหววเห็นว่า โดยศาสตร์แห่งการจัดการ ประสิทธิภาพในการทำงานขึ้นอยู่กับ ๓ สิ่ง กล่าวคือ (๑) เป้าหมายในการทำงาน (๒) แผนการทำงาน และ (๓) ความมุ่งมั่นในการผลักดันผลสำเร็จของงาน ดังนั้น หากเราไม่มี ๓ สิ่งนี้ งานก็จะไม่มีประสิทธิภาพ จะมีอุปสรรคเข้ามาให้ทำงานไม่ได้ อย่างที่เห็น ความสำคัญจะไปอยู่ที่ คนนี้ไม่ชอบ คนนั้นไม่พร้อม กระบวนการทำงานที่ต้องสร้างทีมงานก็เพราะมนุษย์มีอุปสรรคประมาณนี้ในตัวเอง จึงต้องสร้างพื้นที่คุยกันอย่างรู้เรื่อง อาทิ ในทีมที่จะสร้างแบบสอบถามเพื่อสำรวจข้อเท็จจริงที่นำไปสู่การกำหนดและพัฒนาสถานะบุคคลตามกฎหมาย ก็ต้องประกอบไปด้วยคนที่มีเป้าหมาย วิธีการ และความคาดหวัง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หากคนที่จะมีตรวจสอบ ปรับปรุง ทดลองใช้ แบบสอบถาม ไม่ใช่คนที่เชื่อในแบบสอบถามนี้ ก็คงไม่อาจเป็นกลไกประสิทธิภาพได้ ประสิทธิภาพของงานจึงขึ้นอยู่ทั้งอัตตวิสัยและภาววิสัย ถ้าใจไม่อายกใช้เหตุผล ก็จะใช้เหตุผลไม่ได้ ก็ต้องทำงานแบบเสี่ยงต่อความไม่สำเร็จไปตามมีตามเกิด หากเป็นใจที่เรียนรู้ ก็จะต้องพยายามใช้เหตุผล สร้างความอยากที่จะใช้เหตุผล งานก็จะสำเร็จเพราะเหตุผลจะทำให้บริหารความเสี่ยงได้ แต่ถ้าใจเป็นใจแบบไม่อีนังขังขอบกับความสำเร็จ ก็ไม่มีอะไรจะต้องคิดต่อ เพราะว่าใจของมนุษย์คนนั้นเลือกแล้วที่จะไม่ประสบผลสำเร็จ ถ้าเราอยากสร้างความสำเร็จ ก็จงออกให้ห่างคนที่เฉยชาต่อพัฒนาการของชีวิตของตนเอง ซึ่งมนุษย์ในสภาวะการณ์ปกติไม่น่าเป็น คนไร้ความรู้ ก็จะดีขึ้นเมื่อมีความรู้ คนไร้ประสบการณ์ก็จะดีขึ้นเมื่อมีประสบการณ์ คนไร้ความเหตุผล ก็จะดีขึ้นเมื่อมีเหตุผล มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีสมอง อาการขาดเป้าหมายนั้นไม่ค่อยเกิด อาจมีปัญหาแค่เป้าหมายไม่ชัด หรือซ่อนแอบ ก็ต้องแก้ไขตามสถานการณ์

ในประการที่เจ็ด กรณีศึกษานั้นทำหน้าที่ "ตัวนำเรื่อง" ที่ดี เพราะจะเข้าใจง่าย และมีพลังในตัวเองที่จะก่อให้เกิด Social Pressure

ในประการที่แปด การคิดข้อเท็จจริงเอาเอง หรือที่โบราณเรียกว่า “การนั่งเทียน” เป็นสิ่งที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะข้อเท็จจริงที่เป็นภาวะวิสัยก็อย่างหนึ่ง และข้อเท็จจริงที่เราจินตนาการเองก็จะเป็นอีกอย่างหนึ่ง ปัญหาระหว่างพวกเราก็คือ เราคิดแบบภาวะวิสัยไม่เป็น การแก้ไขไม่อยู่ที่คนอื่น แต่อยู่ที่คนคิดต้องเรียนรู้ตัวเอง เห็นสันดานที่บกพร่องของตัวเอง สันดานแบบนี้เกิดจากพฤติกรรมที่ทำมานาน แก้ไขยาก ต้องตั้งใจแก้ไขด้วยตนเอง วิธีการง่ายๆ ก็คือ (๑) เตือนตัวเองเสมอว่า คิดเอาเองหรือเปล่า ซึ่งต้องทบทวนในเวลาที่เหมาะสม มิฉะนั้นจะกลายเป็นลังเล ไม่เชื่อมั่นในตัวเอง ตัดสินใจช้า (๒) หารือคนที่ชัดเจนมากกว่า ๑ คนว่า เห็นข้อเท็จจริงเหมือนเราหรือไม่ อันตรายก็คือ ไปหารือคนไม่ชัดเจนด้วยกัน หรือคนที่มีความชัดเจนไปในด้านใดด้านหนึ่ง ข้อมูลก็จะชัดเจนด้านเดียว (๓) ต้องหันแยกแยะระหว่างข้อคิดเห็นของตนเอง และข้อความคิดของคนอื่น และข้อความจริง ศักยภาพอย่างนี้จะสร้างปัญหาในความสามารถที่จะตัดสินใจ

ในประการที่เก้า สิ่งที่เป็นเป้าหมายชีวิตของ อ.แหวว ก็คือ การทบทวนแก่นความรู้ที่มีในสมองของ อ.แหวว การอยู่คนเดียวเพื่ออ่าน คิด และเขียน จึงเป็นงานที่ประสงค์จะทำมากที่สุด การคิดกับคนหมู่มาก และผลักดันการทำงานอื่นต่อไป ก็จะเลือกทำกับภาควิชาการเป็นหลักค่ะ

สำหรับอนุกรรมการของครูหยุย และ กมธต่างๆ เป็นงานของนักการเมือง อาจจะเป็นนักการเมืองภาครัฐสภาหรือภาคประชาชน จึง มีลักษณะที่เอาเรื่องความรู้สึกๆ ของเครือข่ายเป็นหลักอีกด้วย ไม่ใช่การมุ่งศึกษาแก่นความรู้ จึงไม่ใช่เป้าหมายของอาจารย์แหววในปีนี้ แต่ก็จะเป็นทัพหลังให้เมื่อเขาต้องการ

การจะผลักดันขบวนการหัวรถไฟให้มีความเชี่ยวชาญในงานด้านช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายก็เป็นงานของ อ.ต๊อก ดร.สุชาดา รัตยพิบูลย์ ก็เป็นงานสร้างศักยภาพให้นักศึกษากฎหมาย ก็มิใช่เป้าหมายชีวิตของ อ.แหวว อีก สำหรับปีนี้ แต่ อ.แหวว ก็ยอมรับที่จะเป็นทัพหลังให้ได้

สำหรับ อ.ด๋าว ซึ่งอาสาลงมาศึกษากฎหมายเกี่ยวกับสถานะบุคคลในระดับปริญญาเอก อ.แหววก็แนะนำให้ใช้พื้นที่ของงานศึกษาเด็กไร้รากเหง้าในบ้านเวียงพิงค์นี้ หากโครงการนี้จะเกิดขึ้นได้จริง หรือแม้ไม่เกิดขึ้น ก็ยังมีเด็กหรือคนไร้รากเหง้า ให้ อ.ด๋าวมาคิดงานวิชาการร่วมกับ อ.แหวว โดยเฉพาะในเรื่องสถานะบุคคลของเด็กไร้รากเหง้าในประเทศไทย โดยเฉพาะภายใต้กฎหมายใหม่

ส่วน อ.ไหม หากจะเริ่มต้นมีงานของตนเอง ก็ต้องตัดสินใจเอง เมื่องานบ้านเวียงพิงค์เป็นงานของครูหยุย ถ้าเขาไม่เปลี่ยนใจ และอาจเป็นงานของ อ.ต๊อก ถ้าเธอสนใจ อาจเป็นงานร่วมกัน ถ้าทั้งเขาและเธอสนใจร่วมกัน แต่อาจไม่เกิดอะไรเลย หากเขาทั้งสองเปลี่ยนใจ

ในประการที่สิบ อ.แหววเชื่อว่า ความชัดเจนเป็นต้นทางของการตัดสินใจถูกและความสำเร็จในงานที่ลงมือทำ เพราะหากการกระทำของเราก็ไม่ชัด ผลของการกระทำก็ไม่ชัด ต้องเริ่มต้นจากเรา ที่ยาก ก็คือ หากเรามีหลายคน ทุกคนไม่ชัดร่วมกัน "ความเป็นเรา" ก็จะไม่เข้มแข็ง แม้คนอื่นมองเรา และเสนอแนะความชัดเจนให้เรา ความชัดเจนที่มาจากภายนอกก็จะเป็นมุมมองของคนอื่น ความชัดเจนของเราจึงไม่บริสุทธิ์ เพราะคนอื่นก็มีอัตตา ดังนั้น การมองผ่านอัตตา ก็จะได้ภาพอีกแบบ การแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างกัน จะได้ภาพที่สมบูรณ์มากกว่า อันนี้ออกจากเป็นปรัชญาบริสุทธิ์ไปไหมคะ

ประชาคมวิจัยปริญญาเอกเมื่อวาน (๑๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๒) จึงต้องมี ๓ มุมมองสำหรับนักศึกษามีหลายปัจจัย (๑) อัตตาที่เกาะติดคนมอง (๒) เวลาที่เป็นตัวสะสมประสบการณ์และศักยภาพที่จะเข้าโลกและมนุษย์ (๓) การเรียนรู้ที่จะเข้าถึงเข้าใจโลกและมนุษย์ (๔) การฝึกฝนที่จะรับรู้และกระการ

การที่เรามองตัวเองไม่ชัด ไม่เข้าใจเรื่องของเราเท่ามองเรื่องของคนอื่น เพราะเราไม่สงสารตัวเองหรือเข้าข้างตัวเอง อย่างที่ อ.แหววเล่าเรื่องบ้านเวียงพิงค์ให้ไหมทราบ เล่าความเป็นมาให้เขาฟังหลายครั้งแล้ว เขาก็จะเล่าใหม่ในเวอร์ชั่นของเขา ไม่รู้ว่า มิวก็เป็นอย่างนี้ไหม อย่างที่ด๋าวว่า เรามองประเด็น/เรืองของเราไม่ชัด เหมือนเส้นผมบังภูเขา และอาจารย์ก็เหมือนกัน ต้องให้ครูหยุยกับครูนิดบอกอีกครั้งว่า สิ่งที่ อ.แหววคิดว่า เขาทั้งสองคิดนั้น เป็นจริงดังที่เขาคิดไหม ถ้าเขาว่า ไม่ใช่ ก็ไม่ใช่ อ.แหววก็จะต้องยอมรับว่า เข้าใจผิดไปเอง เรื่องของบ้านเวียงพิงค์ก็จะต้องเป็นไปในคณะอนุกรรมการเด็กไร้สถานะบุคคลตามกฎหมาย ดังที่คณะอนุกรรมการตัดสินใจล่ะ หรือหาก อ.ต๊อก สุชาดา จะตัดสินใจอย่างไร ก็ต้องเป็นอย่างนั้น

อ.แหววเป็นทัพหลัง ต้องว่าตามทัพหลวง และถ้าทัพหลวงตัดสินใจ คนที่เป็นทัพหน้าก็ไปทำงานตามเป้าหมายที่ทัพหลวงสั่งเลยค่ะ ถ้าอยากประกันความสำเร็จของงาน ก็ควรสร้าง work process นะคะ ทัพหลังจะออกตัวหากมีคำขอมาค่ะ

-----------------------------------------------------------

คำสำคัญ (Tags): #คนไร้รากเหง้า
หมายเลขบันทึก: 598401เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2015 01:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ธันวาคม 2015 01:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท