​การค้าชายแดนด้านตะวันตก


​การค้าชายแดนด้านตะวันตก

29 พฤศจิกายน 2558 [1]

การค้าขายชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อการแลกเปลี่ยนสินค้าเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจ ASEAN ในปี 2559 ประเทศไทยจึงต้องเตรียมความพร้อมและพัฒนาในเรื่องการค้าชายแดน โดยเฉพาะจุดผ่านแดนชั่วคราว ไว้ให้พร้อม โดยเฉพาะการค้าขายชายแดนฝั่งตะวันตกเพื่อรองรับความสงบสุขของรัฐบาลสหภาพเมียนมา หรือ พม่า [2] ในอนาคตอันใกล้นี้

ความหมายการค้าขายชายแดน

มีคำเรียกขานอยู่สองคำที่อาจทำให้ผู้อ่านสับสนในความหมาย คือ คำว่า “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” [3] และ คำว่า “การค้าแนวชายแดน” [4] ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะ “การค้าชายแดน” ที่มิใช่ “เขตเศรษฐกิจ” แต่อย่างใด มีอยู่ 2 รูปแบบ คือ [5]

(1) การค้าชายแดน หมายถึง การค้ากับประเทศเพื่อนบ้านที่มีอาณาเขตติดต่อกัน ประเทศเพื่อนบ้านของประเทศไทยก็มี สหภาพเมียนมา กัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และมาเลเซีย

(2) การค้าผ่านแดน หมายถึง การค้าที่อาศัยประเทศเพื่อนบ้านที่มีอาณาเขตติดต่อกัน แล้วผ่านไปยังอีกประเทศหนึ่ง การค้าในรูปแบบนี้ประเทศไทยได้ทำความตกลงกับประเทศเพื่อนบ้านเพียงประเทศเดียวเท่านั้น คือสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยภายใต้พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 [6] การค้าขายชายแดนได้แก่ จุดผ่านแดนถาวร จุดผ่านแดนชั่วคราว และจุดผ่อนปรน ดังนี้ [7]

จุดผ่านแดนถาวร (Permanent Crossing Point) คือ จุดที่เปิดเพื่อให้สามารถทำการค้าได้ทุกวันไม่จำกัดประเภทสินค้าและปริมาณเป็นด่านขนาดใหญ่ มีปริมาณการค้ามาก และมีเส้นทางคมนาคมที่สะดวก

จุดผ่านแดนชั่วคราว (Temporary Crossing Point) คือ จุดที่เปิดเฉพาะกิจเพื่อการขนย้ายสินค้าหรือวัสดุก่อสร้างของบริษัทที่ได้รับสัมปทานในประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อเสร็จภารกิจก็จะปิดจุดผ่านแดนชั่วคราวนี้ลง

จุดผ่อนปรน (Check Point Border Trade) คือ จุดที่เปิดเพื่อให้ประชาชนบริเวณชายแดนสามารถติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนผลผลิตของตนและสินค้าอุปโภค บริโภคเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน

สำหรับจุดผ่อนปรนการค้านั้น กระทรวงมหาดไทยได้มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนผ่อนปรนให้มีการค้าขายบริเวณชายแดนในพื้นที่สำหรับการซื้อขายสินค้าเล็กๆ น้อยๆ ที่จำเป็นต่อการอุปโภคบริโภคกับประชาชนของประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ การออกประกาศดังกล่าวจะนำเรื่องหารือกับคณะอนุกรรมการพิจารณาเปิดจุดผ่านแดนของสภาความมั่นคงแห่งชาติหรือไม่ก็ได้ [8]

แนวรบด้านตะวันตกกำลังเปลี่ยนแปลง

(1) หลังจากการเลือกตั้งในเมียนมาที่ผ่านมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ [9] น่าจะมีความชัดเจน ว่าพรรคของนางอองซานซูจี ชนะการเลือกตั้ง ทำให้ทิศทางประชาธิปไตยของพม่าเริ่มมีความหวัง โดยรัฐบาลทหารพม่ามีท่าทีตอบรับในทางที่ดีขึ้น

(2) สถานการณ์ชายแดนฝั่งตะวันตกของไทยระยะทางยาวกว่า 1,800 กิโลเมตร [10] ตั้งแต่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย มาถึงจังหวัดระนอง ได้มีความพยายามในการเจรจาหยุดยิงของกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า ในปีที่ผ่านมาจึงไม่มีสถานการณ์การสู้รบเกิดขึ้น พื้นที่เริ่มมีความสงบ ประกอบกับความเชื่อมั่นของประชาชนพม่าที่มีต่อรัฐบาล ทำให้พื้นที่ชายแดนฝั่งประเทศสหภาพเมียนมาหรือพม่า มีความคึกคักในเศรษฐกิจธุรกิจการค้า เริ่มเกิดการค้าการลงทุนขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มีการก่อสร้างบ้านเรือนมากขึ้นตามแนวชายแดน มีการเพาะปลูกการเกษตร มีการอพยพย้ายถิ่นฐานกลับไปอยู่ในเมือง ในหมู่บ้าน รวมทั้งมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปการ เช่น ถนนหนทางในระหว่างเมือง

(3) การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของประชาชนในภูมิภาคนี้ ทำให้รัฐบาลเมียนมาต้องพัฒนาบ้านเมืองตนเองขนานใหญ่เพื่อให้ทันต่างชาติและเพื่อนบ้านข้างเคียง โดยเลิกการรบกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ แล้วหันมาพัฒนาการค้าขายให้เกิดขึ้น

(4) ความต้องการกลับบ้านถิ่นฐานภูมิลำเนาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆที่เคยเข้าไปพักพิง ในศูนย์อพยพหลบหนีภัยสู้รบภัยสงคราม ซึ่งลี้ภัยสงครามอยู่ตามแนวชายแดนไทยได้เริ่มทยอยกลับคืนบ้านเรือนของตน ทำให้บ้านเมืองแถบชายแดนเริ่มมีความสงบสุข ประกอบกับรัฐบาลเมียนมามีความชัดเจนในการจัดสรรที่ดินให้แก่ผู้ไร้ที่ทำกิน จึงเกิดการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่และในประเทศขึ้น การเกิดค้าการลงทุนในพื้นที่ ทำให้การจับจ่ายใช้สอยในพื้นเริ่มคึกคัก มีการนำเข้าสินค้า และการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ ทำให้เกิดมูลค่ามวลรวมประชาชาติ (GNP/GDP) [11] ของประเทศเพิ่มสูงขึ้น และประเทศคู่ค้าที่สำคัญก็คือประเทศไทยนั่นเอง

จุดผ่อนปรน “บ้านเปิ่งเคลิ้ง” อำเภออุ้มผาง

จากคำสัมภาษณ์ของท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อสื่อมวลชนในเรื่องดังกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องการค้าขายชายแดน ทำให้เกิดข้อคิดในการพัฒนาการค้าขายชายแดนในฝั่งตะวันตกขึ้น ขอยกตัวอย่างที่ “บ้านเปิ่งเคลิ้ง” [12] อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ซึ่งควรพัฒนาเป็นจุดผ่อนปรน (ตามประวัติความเป็นมาจุดนี้เกิดขึ้นพร้อมๆกับด่านพรมแดนแม่สายแห่งที่สอง บ้านสันผักฮี้ หมู่ที่ 3 ตำบลแม่สาย) ปัจจุบันด่านนี้ยังไม่มีหน่วยงานศุลกากร และด่านตรวจคนเข้าเมืองแต่อย่างใด มีเพียงกองกำลังทหารเฝ้าด่านชายแดนเท่านั้น

จากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จากฝั่งไทยด่านบ้านเปิ่งเคลิ้งไปฝั่งตรงข้ามคือ บ้านเจโด่ง สหภาพเมียนมา ระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร มีถนนต่อไปถึงเมืองท่ามะละแหม่ง หรือเมาะละแหม่ง หรือเมาะลำเลิง (Mawlamyine or Mawlamyaing or Moulmein) รัฐมอญ (Mon State) ฝั่งทะเลอันดามัน รวมระยะทางทั้งสิ้นจากบ้านเปิ่งเคลิ้ง ประมาณ 100 กว่ากิโลเมตร ซึ่งถือว่ามีระยะทางที่สั้นมาก สภาพถนนปัจจุบันยังไม่ค่อยดี แต่ทางการพม่าได้เริ่มการก่อสร้างถนน โดยการนำหินมาปูพื้นแล้วลาดยางมะตอย (แอสฟัลติก) จนเกือบจะถึงบ้านเปิ่งเคลิ้ง คาดว่าในปีหน้าการก่อสร้างถนนสายนี้จะแล้วเสร็จ นอกจากนี้ในฝั่งพม่ายังมีการก่อสร้างสะพาน ข้ามแม่น้ำอีก 2 จุด คือแม่น้ำมิอะ และแม่น้ำมิตั้ง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปีหน้าเช่นกัน

พิจารณาจากศักยภาพของประชากร เห็นว่าอำเภออุ้มผาง [13] จังหวัดตาก มีประชากรเพียง 2 หมื่นกว่าคน แต่บ้านเจโด่ง [14] ฝั่งพม่ามีจำนวนประชากรที่มากประชากรฝั่งไทยเป็นเรือนแสนคน และนับวันจะมีประชากรที่เพิ่มมากขึ้น เพราะจะมีการอพยพกลับถิ่นฐานของผู้ลี้ภัยสงครามจำนวน 7 ศูนย์ในฝั่งเมียนมา ที่มีผู้อพยพ (Refugees) จำนวน 52,276 คน [15] ผู้ลี้ภัยสงคราม (IDPs) จำนวน 89,150 คน [16] และในศูนย์ฝั่งไทยเช่นศูนย์อพยพผู้ลี้ภัยจากการสู้รบบ้านนุโพ (Nupo Camp) ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง [17] ฉะนั้น หากบ้านเมืองฝั่งพม่าสงบเรียบร้อยเมื่อใด ผู้อพยพก็จะกลับถิ่นฐานบ้านเกิดของตนได้ทันที เพราะมีการจัดสรรที่ทำกิน นอกจากนี้ การดำรงชีพในศูนย์อพยพไม่มีอาชีพ ไม่มีรายได้ ไม่มีความหวังใด และการอพยพไปอยู่ประเทศที่สามก็เป็นเพียงความหวังที่ไม่อาจเป็นได้ด้วยจำนวนผู้อพยพที่มาก ฉะนั้น หากบ้านเมืองมีความปลอดภัยผู้อพยพส่วนใหญ่จึงอยากกลับคืนบ้านเกิดประเทศของตนมากกว่าการอยู่ในศูนย์อพยพ

ศักยภาพด้านพื้นที่ของบ้านเจโด่ง อยู่ติดประเทศไทย มีภูเขาล้อมรอบ มีความอุดมสมบูรณ์มาก เป็นพื้นที่ราบลุ่มของแม่น้ำสองสาย คือ แม่น้ำมิอะ และแม่น้ำมิตั้ง ที่ไหลมารวมกันไปที่บ้านเจโด่ง มีการเกษตร เพาะปลูก ข้าว งา และ เลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะวัว สินค้าที่นิยมสั่งจากประเทศไทย เป็นสินค้าที่ชาวบ้านฝั่งพม่าต้องการได้แก่ เครื่องอุปโภคบริโภค ยารักษาโรค อุปกรณ์ก่อสร้าง อุปกรณ์การเกษตร การขนส่ง สินค้าส่งออก ได้แก่ พืชผลการเกษตร หมาก งา วัว มะพร้าว ผลไม้พืชการเกษตร

หากเมื่อใดสหภาพเมียนมาหรือพม่ามีความสงบเรียบร้อย ประชาชนมีการก่อสร้างบ้านเรือนที่อยู่ที่ถาวรมั่นคง ประชาชนมีการประกอบอาชีพ มีรายได้ ย่อมก่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ที่ขยายตัวมากขึ้น บ้านเจโด่ง ที่อยู่ติดชายแดนไทยย่อมมีความต้องการในสินค้าอุปโภคที่เพิ่มมากขึ้น เมื่อถึงวันนั้น การค้าขายชายแดนตะวันตกก็จะคึกคักอย่างผิดหูผิดตา เมื่อการก่อสร้างถนนลาดยางสร้างเสร็จก็จะทำให้เกิดการคมนาคมสะดวกแก่ธุรกิจการค้าขาย การส่งออกและการนำเข้าสินค้าก็จะเกิดขึ้นตามมา เพราะสหภาพเมียนมาก็ต่างพัฒนาตนเองเพื่อการรองรับสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเช่นกัน และคู่ค้าสำคัญก็ได้แก่ประเทศที่มีชายแดนติดกันคือประเทศไทย

ด่านศุลกากรและด่านตรวจคนเข้าเมืองจึงเป็นสิ่งที่ต้องตามมาที่บ้านเปิ่งเคลิ้ง ทั้งนี้ ฝั่งไทยก็ต้องดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ อาทิ ถนนที่ยังชำรุด ไฟฟ้ายังเป็นไฟฟ้าปั่นพลังน้ำที่ไม่เพียงพอ ไม่มีน้ำประปา ได้รับความสนใจจากหน่วยงานรัฐน้อยที่สุดด้วยอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกล ด้วยคิดว่าการค้าขายมีปริมาณที่น้อย แต่หากพิจารณาถึงอนาคต เห็นว่า จากจุดเล็ก ๆ ที่ห่างไกลเช่นนี้ หากมีการจัดระบบภาษี และการอำนวยความสะดวกที่ครบถ้วนแก่พ่อค้านักลงทุนในท้องถิ่นแล้ว เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นี้ “ด่านบ้านเปิ่งเคลิ้ง” ที่นี่น่าจะเติบโตขึ้น และพัฒนาเป็น “จุดผ่อนปรนเพื่อการค้า” หรือ “จุดผ่านแดนชั่วคราว” และ “จุดผ่านแดนถาวร” ต่อไปในที่สุด ผู้เขียนเชื่อว่าแนวรบด้านตะวันตกจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นกว่าปัจจุบันอย่างแน่นอน



[1] Ong-art saibutra & Phachern Thammasarangkoon, Municipality Officer.

[2] ปี 2532 Burma ได้เปลี่ยนชื่อประเทศเป็น Myanmar มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (Republic of the Union of Myanmar) ดู คู่มือการค้าและการลงทุนสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา, กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์, 2555, http://www.aecthaibiz.com/aecadmin/uploads/20150506_111719.pdf

[3] ดูอีกครั้ง 5 พื้นที่ ใช้ ม.44 กำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษ - กนอ.เผยแผนเดินหน้าต่อเนื่อง, 29 พฤษภาคม 2558, http://www.citizenthaipbs.net/node/5488 & วิชัย มากวัฒนสุข, การค้าชายแดน, ส่วนคดีแพ่งและคดีปกครอง สำนักกฎหมาย กรมศุลกากร, 2558, http://www.onestopexport-osec.com/eknowledge/osec_resource/download/files_1440729325.pdf เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (Special Economic Zone : SEZ) เป็นพื้นที่ที่รัฐกำหนดให้มีกฎระเบียบในการประกอบกิจการ ที่เสรี พิเศษกว่าพื้นที่อื่น

หน่วยงานที่พิจารณาจัดตั้งคือ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

15 ก.ค. 2557 มติ กนพ. 1/2557 ประกาศพื้นที่ชายแดนเป้าหมาย

ระยะแรก (ปี 2558) 5 พื้นที่ 1. ตาก (แม่สอด) 2. มุกดาหาร 3. สระแก้ว (อรัญประเทศ) 4. ตราด (คลองใหญ่) 5. สงขลา (สะเดาและปาดังเบซาร์)

ระยะที่สอง (ปี 2559) 5 พื้นที่ 1. เชียงราย 2. กาญจนบุรี 3. หนองคาย 4. นครพนม 5. นราธิวาส

[4] วิชัย มากวัฒนสุข, การค้าชายแดน, อ้างแล้ว

[5] จุดผ่อนปรนการค้า (CHECK POINT FOR BORDER TRADE), http://goldenworld-inter.com/index.php?option=com_content&view=article&id=53:2011-05-24-13-39-40&catid=4:2011-05-05-07-25-46&Itemid=5 คำนิยามโดย นิยม ไวยรัชพานิช ประธานกรรมการส่งเสริมการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

[6] พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 96/ตอนที่ 28/ฉบับพิเศษ หน้า 45/1 มีนาคม 2522, http://www.crma.ac.th/lawdept/Military_Laws/ml2/konkaomuang.pdf

[7] การค้าชายแดน, สำนักความร่วมมือการค้าและการลงทุน (คท.), กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์, http://bts.dft.go.th/btsc/index.php/aboutus/define/bordertrade

& วิชัย มากวัฒนสุข, การค้าชายแดน, อ้างแล้ว, ปัจจุบันไทยมีการค้าชายแดนผ่านทางด่านศุลกากรหลัก ที่ตั้งอยู่บริเวณจุดผ่านแดนถาวร และผ่านทางจุดผ่านแดนย่อยอื่นๆ รวม 95 ด่าน ดังนี้ (1) ไทย-มาเลเซีย รวม 39 ด่าน (2) ไทย-ลาว รวม 22 ด่าน (3) ไทย-พม่า รวม 18 ด่าน (4) ไทย-กัมพูชา รวม 16 ด่าน

& จุดผ่านแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (Border Inland Transport), Asean Economic Community (AEC) 2015, 29 กันยายน 2555, https://www.facebook.com/295054090519466/photos/a.468745759816964.110430.295054090519466/488290991195774/?type=3&theater

[8] จุดผ่อนปรนการค้า, อ้างแล้ว

[9] การเลือกตั้งทั่วไปในพม่าได้ถูกกำหนดไว้ในวันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน 2558 ดู ปาลญ์ ชญา, ผลเลือกตั้งพม่า พรรค NLD ใกล้คว้าคะแนนเสียงข้างมากในรัฐสภา, 13 พฤศจิกายน 2558, http://news.mthai.com/hot-news/world-news/468465.html พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD -National League Democratic) ของนางอองซาน ซูจี ได้ที่นั่งเกือบ 80%

[10] ตั้งแต่สามเหลี่ยมทองคำ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ผ่านชายแดนที่เป็นทั้งภูเขาและแม่น้ำ ผ่านจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง รวมระยะทางทั้งสิ้น 1,800 กิโลเมตรตั้งแต่สามเหลี่ยมทองคำ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ผ่านชายแดนที่เป็นทั้งภูเขาและแม่น้ำ ผ่านจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง รวมระยะทางทั้งสิ้น 1,800 กิโลเมตร, https://th.wikipedia.org/wiki/ภูมิศาสตร์ไทย

[11] GDP และ GNP, บทความเศรษฐศาสตร์, 31 มีนาคม 2551, http://www.vcharkarn.com/varticle/36030

GDP ย่อมาจากคำว่า Gross Domestic Product ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งคือ มูลค่าของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตขึ้นภายในประเทศในระยะเวลาหนึ่ง ตามแต่ต้องการจะวัดเช่น ภายใน 1 ไตรมาส ครึ่งปี หรือ 1 ปี เป็นต้น โดยไม่แยกว่าจะทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตสินค้าและบริการจะเป็นทรัพยากรของคนในประเทศหรือเป็นของชาวต่างชาติ แต่ดูแค่ว่าหากเกิดขึ้นภายในประเทศ ก็จะนับเป็นผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

ส่วน GNP ย่อมาจากคำว่า Gross National Product แปลเป็นไทยได้ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ ซึ่งก็คล้ายกับ GDP แต่จะต่างกันตรงที่นับมูลค่าของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายเฉพาะที่ใช้ทรัพยากรของคนในประเทศนั้น ๆ ในการผลิต โดยไม่สนใจว่าคนของประเทศนั้น ๆ จะอยู่ที่ใดในโลก เช่น คนไทยไปลงทุนผลิตสินค้าในต่างแดน แล้วสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย ก็จะนับอยู่ใน GNP แต่จะไม่นับอยู่ใน GDP ส่วนชาวต่างชาติที่มาผลิตสินค้าหรือบริการในไทย เมื่อมีรายได้ ก็จะไม่นับอยู่ใน GNP แต่จะนับอยู่ใน GDP เป็นต้น

[12] อำเภออุ้มผาง – บ้านเปิ่งเคลิ้ง (เปิ่งเคลิ่ง, เปิ้งเคิ้ง) ระยะทาง 80 กิโลเมตร

[13] อำเภออุ้มผาง, วิกิพีเดีย, https://th.wikipedia.org/wiki/อำเภออุ้มผาง

[14] บ้านเจโด่ง รัฐกะเหรี่ยง (Kayin) จังหวัดกอกะเร็ก (Kawkareik),

ชื่อข้อมูลจังหวัด อำเภอ เมือง เรียกกันสับสน ดูข้อมูลดังนี้ :

Kawkareik District (Karen: Dooplaya, Duplaya : ดูพลายา ) is a district of the Kayin State in Myanmar. It consists of 4 towns —Kawkareik, the capital, Kyain Seikgyi (Kyalinseikkyi : จะเอ่งไซจี), Kyondo (Kyando), and Payathonsu—and 552 villages.

& ดุลยภาค ปรีชารัชช, ผ่ารัฐกะเหรี่ยง ประวัติศาสตร์และการปฏิวัติชิงดินแดน, อุษาคเนย์ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , 1 กันยายน 2557, http://blogazine.pub/blogs/dulyapak/post/5008 

รัฐกะเหรี่ยง 3 จังหวัด(district) 7 อำเภอ(town, Township) 410 ตำบล จังหวัดพะอัน (Hpa-An) จังหวัดเมียวดี หรือมยะวะดี (Myawaddy) และจังหวัดกอกาเร็ก หรือ เกาะเกริก (Kawkareik)

& UNHCR SOUTH-EAST MYANMAR INFORMATION MANAGEMENT UNIT, June 2014, file:///C:/Users/Administrator/Downloads/KayinStateProfile-June2014%20(1).pdf

Administrative Divisions (2014): There are seven townships in Kayin State, spread across four districts, Hpa-An, Myawaddy, Hpa-pun and Kawkareik. According to the Myanmar Information Management Unit (MIMU) there are place codes for over 2000 villages in the state.

[15] UNHCR SOUTH-EAST MYANMAR INFORMATION MANAGEMENT UNIT, June 2014, Ibid.

Located in southeastern Myanmar, Kayin State is bounded by Mandalay Region and Shan State to the north, Kayah State to the northeast, Mon State and Bago Region to the West, and Thailand to the East. Previously known as Karen State, the territory is inhabited primarily by the Karen people, a broad umbrella identity that includes a multiplicity of ethnic groups such as the Sgaw, Pwo and Pao, many with unique cultures and mutually unintelligible languages. While the vast majority of Kayin State is comprised of Karen people, some sources suggest the majority of Karen may live outside Kayin State, including elsewhere in southeastern Myanmar and the central Delta region until 2012 when a bilateral ceasefire was signed. The Karen National Union (KNU) had waged an armed conflict against the Myanmar government since 1949, resulting in decades of instability and hundreds of thousands of displaced people, the impacts of which have been most widespread in Kayin State.

[16] Who are internally displaced persons?, http://www.ohchr.org/EN/Issues/IDPersons/Pages/Issues.aspx

[17] ดูใน “ตากเตรียมจัดระเบียบศูนย์อพยพทำบัญชีผู้ลี้ภัย”, 28 มิถุนายน 2557, http://www.innnews.co.th/shownews/show?newscode=547675

สำหรับชาวกะเหรี่ยง ชายแดนไทย-พม่า ในพื้นที่เขตจังหวัดตาก ได้แก่ ศูนย์อพยพ หรือพื้นที่พักพิงชั่วคราวผู้ลี้ภัยจากการสู้รบ (1) บ้านแม่หละ ต.แม่หละ อ.ท่าสองยาง (2) บ้านอุ้มเปี้ยม ต.คีรีราษฎร์ อ.พบพระ (3) บ้านุโพ ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง

หมายเลขบันทึก: 597901เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2015 17:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2021 19:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท