ว่าด้วยการจัดกิจกรรมเรียนรู้ชุมชน (วิชาการพัฒนานิสิตและวิชาภาวะผู้นำ)


การจัดกิจกรรมเรียนรู้ชุมชนผ่านโครงการเพื่อการพัฒนานิสิต อาจเป็นกระบวนการบ่มเพาะจิตสาธารณะ (อาสาสมัคร) ฝึกภาวะผู้นำและผู้ตาม หรือทักษะอื่นๆ ทั้งที่เป็นความเป็นทีม ความเป็นประชาธิปไตย การวางแผน การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การประสานชุมชน หรือกระทั่งการเรียนรู้ “สภาวการณ์ที่เป็นจริงของสังคม” ที่จะช่วยให้นิสิตได้รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของโลกและชีวิต

โครงการเพื่อการพัฒนานิสิตในรายวิชาการพัฒนานิสิตและรายวิชาภาวะผู้นำ คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้กับชุมชน เป็นการบริการสังคมในอีกมิติหนึ่งที่หมายถึง “การจัดกิจกรรมเรียนรู้คู่บริการแบบมีส่วนร่วมระหว่างนิสิตกับชุมชนซึ่งการมีส่วนร่วมก็หมายถึง เป็นโจทย์ร่วม (ความต้องการร่วม) ของนิสิตกับชุมชน เป็นการร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ และร่วมลงมือทำ

แน่นอนครับ-หลักการมีส่วนร่วม คือหัวใจสำคัญที่นิสิตต้องมองเป็น “ความท้าทาย” ถึงแม้จะเป็นเพียงวิชาศึกษาทั่วไปก็เถอะ แต่หลักการมีส่วนร่วมมันสามารถนำไปใช้กับทุกๆ องค์กร ทุกๆ วิถีอย่างไม่ผิดเพี้ยน

ส่วนคำว่าชุมชนนั้น เราหยัดยืนชัดเจนมาตลอดว่า จะเป็นชุมชนในมหาวิทยาลัย หรือเป็นชุมชนที่หมายถึงหมู่บ้านภายนอกมหาวิทยาลัยฯ ก็ไม่ผิด




การมีส่วนร่วม : ฐานหลักของความต่อเนื่องที่ชุมชนจะขับเคลื่อนต่อยอดด้วยตนเอง

หลักการมีส่วนร่วม อาจมีศัพท์แสงหลายๆ คำเข้ามาเกี่ยวโยง เช่น กระบวนการมีส่วนร่วม (Participatory Learning Process) ที่หมายถึงการมีส่วนร่วมของนิสิตกับนิสิตและนิสิตกับชุมชนในลักษณะของการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง (learning by doing) ซึ่งจะสำเร็จหรือไม่ก็อยู่ที่จุดเริ่มต้นว่ากิจกรรมที่จะจัดขึ้นนั้น ตอบโจทย์ความต้องการของนิสิตและชุมชนอย่างไร เป็นการยัดเหยียดให้ชุมชน หรือเป็นความต้องการของชุมชนและพัฒนาความต้องการดังกล่าวให้สอดรับกับศักยภาพ หรือต้นทุนทางปัญญาที่นิสิตพึงช่วยเหลือสังคมได้


กรณีโจทย์ หรือความต้องการร่วมเช่นนี้ หลายๆ สำนักมักเรียกอย่างคุ้นหูว่า “สนธิโจทย์” ซึ่งหมายถึงจัดกิจกรรมบนความต้องการของ “ผู้ให้และผู้รับ” นั่นเอง เรียกได้ว่าเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองส่วน ทั้งนิสิตและชุมชน

กรณีดังกล่าวจึงเป็นแนวโน้มที่จะช่วยให้งานสัมฤทธิ์ผล เกิดความต่อเนื่อง โดยเฉพาะความต่อเนื่องในระดับชุมชน (ผู้รับ) ที่จะหยัดสู้ดูแลรักษาสิ่งเหล่านั้นต่อไปด้วยตนเอง เพราะมันคือความต้องการของชุมชน มิใช่นิสิต หรือมหาวิทยาลัยเสกสร้างให้โดยไม่ได้อยู่บนฐานความต้องการของชุมชน



ดร.มลฤดี เชาวรัตน์


ผศ.ดร.สมชาย แก้ววังชัย และผศ.ดร.ฉันทนา เวชโอสถศักดา



ชุมชนคือห้องเรียน : ไม่มีที่ใดปราศจากความรู้และการเรียนรู้

เมื่อต้องขับเคลื่อนโครงการเพื่อการพัฒนานิสิต หรือกิจกรรมการเรียนชุมชน หลักคิดสำคัญในรายวิชาการพัฒนานิสิตและรายวิชาภาวะผู้นำก็คือการกระตุ้น หรือสร้างแรงจูงใจให้นิสิตเชื่อและศรัทธาว่า “ชุมชน คือ คลังความรู้” หรือ “ไม่มีที่ใดปราศจากความรู้และการเรียนรู้”

ในทางหลักการ ผมเคยได้สังเคราะห์องค์ความรู้เหล่านี้ไว้ร่วม 10 ปีว่าเมื่อต้องจัดกิจกรรมเรียนรู้ร่วมกับชุมชนควรคำนึงถึงหลักคิด 9 ข้อนี้ให้จงมาก นั่นคือ รู้ตัวตนโครงการ ทุกถิ่นฐานมีเรื่องเล่า เราไม่ใช่นักเสกสร้าง ทุกเส้นทางมีปัญหา คลังปัญญาชุมชน เราคือคนต้นแบบ อย่าแยกส่วนการเรียนรู้ หันกลับไปดูบ้านเกิด ก่อเกิดความรู้ใหม่



ยกตัวอย่างเช่น...

  • รู้ตัวตนโครงการ : นิสิตต้องรู้องค์ประกอบโครงการหรือกิจกรรมที่จะจัดขึ้น เช่น รู้จุดหมาย เป้าหมาย รู้กระบวนการ/วิธีการ รู้ข้อมูลชุมชน (บริบท/สภาพทั่วไป)
  • ทุกถิ่นฐานมีเรื่องเล่า : นิสิตต้องตระหนักว่าชุมชนคือห้องเรียนที่เต็มไปด้วยความรู้อันหลากหลาย เป็นองค์ความรู้ที่เป็น “ปัญญาปฏิบัติ” ที่หมายถึง “ปัญญา หรือความรู้ที่เกิดจากการทำจริง” หรือ “การทำจริงที่ตกผลึกเป็นความรู้และปัญญา” ไม่ใช่ความรู้ที่เกิดจากการนั่งอ่านและจินตนาการแต่ไม่ผ่านการลงมือทำ หรือการพิสูจน์
  • นอกจากนี้ยังสะท้อนหลักคิดสำคัญว่าทุกชุมชนล้วนมีประวัติศาสตร์และตำนานที่มีอิทธิพลต่อการคงอยู่ของชุมชนนั้นๆ ซึ่งเรื่องเล่า หรือตำนานเหล่านี้ย่อมสัมพันธ์กับ “บริบทชุมชน” ที่เป็นทั้งอดีตและปัจจุบันของชุมชนไปในตัวอย่างไม่ต้องกังขา

ประเด็นนี้จึงมีกลิ่นอายของการยืนยันว่าการจะลงมือทำสิ่งใด ย่อมควรต้องคำนึงถึงข้อมูล ฐานความรู้ มิใช่ออกแบบ จินตนาการและตัดสินใจอย่างไร้รากคิด ไม่คำนึงถึงบริบทชุมชน เพราะบริบทชุมชนนั่นแหละที่หมายถึงต้นทุนทางสังคม หรือสถานการณ์อันเป็นโจทย์ของชุมชนที่เป็นความท้าทายของการเรียนรู้คู่บริการ

  • คลังปัญญาชุมชน : ประเด็นนี้คือวาทกรรมที่ยืนยันหนักแน่นว่า “ชุมชนคือตู้วรรณกรรมความรู้” ที่นิสิตจะต้องให้ความเคารพ และฉลาดพอที่จะเข้าไปศึกษาค้นคว้า ซึ่งความรู้ที่ว่านั้นอาจกระจัดกระจายอยู่ในผู้คนที่เป็นได้ทั้งผู้นำ ผู้เฒ่าผู้แก่ ปราชญ์ชาวบ้าน เด็กและเยาวชน ภิกษุสงฆ์ หรืออยู่ตามหัวไร่ปลายนา อยู่ตามป่าชุมชน อยู่ตามดอนปู่ตา อยู่ตามโรงเรียน ฯลฯ เสมอเหมือนการตอกย้ำว่า “ไม่มีที่ใดปราศจากความรู้และการเรียนรู้” (เว้นเสียแต่ตัวเราไม่เปิดใจเรียนรู้ หรือไม่มีเครื่องมือในการเรียนรู้) เท่านั้นเอง

เช่นนี้แล้วคำว่าคลังปัญญาชุมชน จึงเชื่อมร้อยยึดโยงสนิทแน่นอยู่กับวาทกรรม “บวร” ที่หมายถึง “บ้าน-วัด-โรงเรียน (ราชการ)” อย่างลงตัว ซึ่งวาทกรรม “บวร” ดังกล่าวนี้ ก็ผูกประสานกับหลักคิดทฤษฎีของ “การมีส่วนร่วม” อย่างลงตัว โดยนิสิตจะต้องไม่เผลอเลอที่จะเรียนรู้แบบแยกส่วนโดยไม่บูรณาการเข้าหากัน ไม่ใช่ว่าไปซ่อมแซมห้องสุขาในโรงเรียน แต่ไม่สนใจที่จะเข้าไปเรียนรู้ประเพณีและกิจกรรมที่มีขึ้นในวัดและหมู่บ้าน หรือการไม่กระตุกตุ้นให้ชาวบ้าน และภาคีอื่นๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการทำกิจกรรมร่วมกัน




ที่สุดคือการกลับสู่การทบทวนตัวเอง

การจัดกิจกรรมเรียนรู้ชุมชนผ่านโครงการเพื่อการพัฒนานิสิต อาจเป็นกระบวนการบ่มเพาะจิตสาธารณะ (อาสาสมัคร) ฝึกภาวะผู้นำและผู้ตาม หรือทักษะอื่นๆ ทั้งที่เป็นความเป็นทีม ความเป็นประชาธิปไตย การวางแผน การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การประสานชุมชน หรือกระทั่งการเรียนรู้ “สภาวการณ์ที่เป็นจริงของสังคม” ที่จะช่วยให้นิสิตได้รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของโลกและชีวิต

  • การรู้เท่าทันดังกล่าวคือปฐมบทของการที่จะช่วยให้นิสิตได้รู้จักการจัดวางบทบาทและสถานะของตนเองในสังคม การทำตัวอย่างมีคุณค่าและมูลค่า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยให้นิสิตได้อยู่อย่างมีความสุข หรือ “เก่ง-ดี-มีสุข” ตามปรัชญาการศึกษาไทย




แต่สำหรับผมแล้ว ในบรรดาทั้ง 9 ข้อ ผมมักเน้นย้ำถึงประเด็น 2 ประเด็นนี้ค่อนข้างมาก นั่นคือ

  • (1) หันกลับไปดูบ้านเกิด เนื่องเพราะเมื่อนิสิตลงมือทำกิจกรรมกับชุมชนแล้ว ก็สมควรที่จะเกิดวิธีคิดของการทบทวนตัวเอง ทบทวนว่าเรื่องราวในชุมชนที่ตนเองได้เรียนรู้นั้น เหมือนหรือคล้ายคลึงกับบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง การไปจัดกิจกรรมเรียนรู้กับชุมชน ขณะหนึ่งผมก็มองว่าเป็นเสมือนการไปทัศนศึกษาด้วยเช่นกัน... เสมือนการไปดูคนอื่นแล้วย้อนกลับมาดูตัวเอง (ดูละคร ย้อนดูตัวเรา)
  • (2) “ก่อเกิดความรู้ใหม่” ซึ่งผมให้ความสำคัญมาก เพราะเมื่อการเรียนรู้เสร็จสิ้นลง เราทุกคนล้วนต้องสกัดองค์ความรู้ออกมา ไม่ว่าความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้จะเป็นเช่นใด แต่สำคัญคือต้องบอกให้ได้ว่า “เราได้เรียนรู้อะไรจากกิจกรรมที่ลงมือทำ” สิ่งที่ได้อาจเป็นได้ทั้งทักษะที่เป็นทักษะทั่วไป (Soft skil) ทักษะทางวิชาชีพ (Hard skill) และสหทักษะ (Muti skill) ซึ่งนิสิต (ผู้เรียน) สมควรอย่างยิ่งที่ต้องตอบคำถาม หรือ “ถอดบทเรียน” ให้แจ่มชัดว่าได้ว่าได้เรียนรู้อะไร หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเอง...เพราะนี่คือกระบวนการของการ “ยกระดับความรู้” (จัดการความรู้) ที่มองข้ามไม่ได้จริงๆ ที่นิสิตต้องสกัดให้เห็นถึงความสำเร็จและความล้มเหลวไปพร้อมๆ กัน




ที่สุดของที่สุดคือการเรียนรู้แบบบูรณาการระหว่างกิจกรรมในหลักสูตรและนอกหลักสูตร

เหนือสิ่งอื่นใดผมแค่อยากจะยืนยันว่า กระบวนการเรียนรู้ในรายวิชาการพัฒนานิสิตและภาวะผู้นำ ล้วนเป็นการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะฝึกให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามหลักคิดของตนเองและทีม (ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง) ใช้ชุมชนเป็นห้องเรียน – เรียนรู้โดยการประยุกต์ความรู้ไปสู่การปฏิบัติจริงอย่างเป็นทีม เพื่อก่อให้เกิดทักษะชีวิตนานาประการ ฯ

ครับ-นี่คือบทสรุปหนึ่งของการเรียนรู้ในมิติของการบูรณาการการเรียนรู้ในหลักสูตร (curriculum) เข้าเป็นหนึ่งเดียวกับ (extra activities) ในแบบ “บันเทิงเริงปัญญา” ตามครรลองของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม หรือครรลองของขุนพลกิจกรรมนอกชั้นเรียน !

ครับ-นี่คือปรากฏการณ์หนึ่งของการเรียนรู้ในแบบ "กิจกรรมนิสิตนักศึกษา" ที่เชื่อมร้อยความเป็นนอกหลักสูตรและในหลักสูตรเข้าด้วยกันอย่างลงตัว มีชีวิตชีวาทั้งในชั้นเรียนและนอกชั้นเรียน




หมายเหตุ : ภาพโดยทีมกระบวนกรและนิสิตจิตอาสา

หมายเลขบันทึก: 597899เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2015 17:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2015 10:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

มาทักท่ายในวันทำงานจ้ะ น้องอาจารย์แผ่นดิน

-สวัสดีครับอาจารย์

-ตามมาอ่านบันทึกการจัดกิจกรรมครับ

-การมีส่วนร่วมสามารถนำไปใช้ได้กับงานต่างๆ มากมายจริงๆครับ

-กำลังสานต่อการ"หันหลังกลับไปดูบ้านเกิด..."

-ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ อาจารย์พี่มะเดื่อ

เจตนาบันทึกนี้ก็เพื่อสรุปองค์รวมเนื้อหาการเรียนรู้ในชั้นเรียนเป็นที่ตั้งครับ เป็นปะชระเด็นหลักคิดของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้กับชุมชน (เรียนรู้คู่บริการ) ซึ่งประเด็นนี้มีทั้งภาคทฤษฎีและการปฏิบัติ....

เพื่อเติมกระบวนการให้นิสิต-ผู้เรียน ก่อนลงปฏิบัติการเรียนรู้จริงในชุมชนผ่านกิจกรรม/โครงการ ครับ

สวัสดีครับ คุณเพชรน้ำหนึ่ง

ส่งใจและเป็นกำลังใจในการหันลังกลับสู่บ้านเกิด นะครับ...

ทางนี้ ก็กำลังเดินทางกลับสู่ประเด็นนั้นเช่นกัน -

สู้ๆ ครับ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท