วิวัฒน์ หลักการสหกรณ์ในประเทศไทย พ.ศ. 2459 - 2559


วิวัฒน์ หลักการสหกรณ์ในประเทศไทย


หลักการสหกรณ์ไทย พ.ศ. 2459 - 2477 มี 3 ประการ


หลักที่ 1 ผู้เข้าเป็นสมาชิกสหกรณ์ ต้องเข้าโดยเต็มใจของตนเอง

ผู้ที่เข้าสหกรณ์โดยมิได้สมัครเข้ามาโดยน้ำใสใจจริงนั้น คงจะไม่ได้ประโยชน์จากสหกรณ์ หรือเป็นประโยชน์แก่สหกรณ์จริงจังเลย เหตุดังนี้ขอบังคับจึงกล่าวไว้ว่า สมาชิกสหกรณ์ ต้องสมัคร

หลักที่ 2 สมาชิกทุกคน ไม่ว่ามั่งมีหรือจน เมื่อเข้ามาในสหกรณ์แล้วเสมอหน้ากันหมด

หลักการปกครองสหกรณ์นั้น คือ สมาชิกทุกคนมีเสียงคนละเสียงเสมอกันในที่ประชุมใหญ่ กิจการทั้งปวงสำเร็จด้วยความเห็นของคนข้างมาก แต่สมาชิกทุกคน จะมาพร้อมกันเป็นที่ประชุมใหญ่ทำการงานของสหกรณ์เสมอไป ก็มากคนด้วยกันนัก จะทำให้เป็นการติดขัดเพราะพร้อมกันบ้าง ไม่พร้อมกันบ้าง จึงต้องเลือกพวกตัวเอง 6 คนเป็นกรรมการ กรรมการนั้น เป็นผู้แทนของคนทั้งหมดจะทำอันใดให้ผิดไปจากความประสงค์ของคนทั้งหมดไม่ได้ ในการแสดงความประสงค์ก็ดี ในการเลือกกรรมการก็ดี สมาชิกทุก ๆ คนออกเสียงได้เสมอกัน ไม่มีใครเป็นคนต่ำหรือสูงกว่ากันเลย เหตุดังนั้นจึงกล่าวว่า สมาชิกเสมอหน้ากันหมด

หลักที่ 3 สหกรณ์ทำการเพื่อประโยชน์แก่ตนเองเท่านั้น ไม่เผื่อแผ่ไปถึงคนนอกสหกรณ์เป็นอันขาด เป็นต้นว่าเงินของสหกรณ์จะเอาไปให้คนอื่นที่ไม่เป็นสมาชิกกู้ไม่ได้ แต่สหกรณ์ก็เปิดโอกาสรับบุคคลภายนอกเข้าเป็นสมาชิกอยู่เสมอ ถ้าผู้สมัครมีลักษณะถูกต้องตามข้อบังคับสหกรณ์

นอกจากหลักทั้ง 3 นี้ ยังมีหลักสำคัญอีกข้อ 1 คือ สมาชิกทุกคนต้องซื่อต้องเป็นคนดี ถ้าใครไม่ซื่อ ตัวเองก็จะไม่ได้รับประโยชน์จากสหกรณ์ยืนยาวไป และจะให้โทษแก่สหกรณ์เป็นอันมาก

ตัวอย่างที่จะยกให้เห็นได้มีในเมืองไทยเรานี่เอง คือ สหกรณ์ ๆ หนึ่ง รับคนเกเร เข้ามาเป็นสมาชิก เพราะเห็นเป็นคนคล่องแคล่ว เขียนหนังสือได้ พูดจาดีฉลาดเกินเพื่อน อยู่มาอีกหน่อยสหกรณ์ก็เข้าเนื้อมากเข้าไป ๆ หนี้สินของคนนั้นรุงรังปลดไม่หลุด จึงตกลงต้องให้ออกจากสหกรณ์ ทำให้สมาชิกที่เป็นผู้ค้ำประกันขาดทุนไปด้วย

นี่แหละ แม้สมาชิกคนนั้นได้เข้ามาในสหกรณ์ และได้ประโยชน์ บ้างก็จริงแต่ในที่สุดต้องถูกออก และสิ้นเนื้อประดาตัว ซ้ำทำให้คนอื่่นพลอยเข้าเนื้อไปด้วย

สหกรณ์ต้องระวังรับคนเข้าเป็นสมาชิกแต่จำเพาะที่เป็นคนซื่อ จึงได้กล่าวไว้ในข้อบังคับหลายแห่ง เพื่อจะป้องกันไม่ให้คนไม่ซื่อเข้าเข้ามาในสหกรณ์



ที่มา : บทความสหกรณ์ในอดีต "คำชี้แจงเรื่องสหกรณ์ พระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ ทรงแสดงแก่สมาชิกสหกรณ์ประเภทหาทุน
ในจังหวัดลพบุรี เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2466 "
หนังสือพิมพ์สหกรณ์ ปีที่ 40 ฉบับที่ 1 มกราคม - มีนาคม 2525 หนังสือพิมพ์ของกรมส่งเสริมสหกรณ์
https://www.gotoknow.org/posts...




หลักการสหกรณ์ไทย พ.ศ. 2478 – 2508 มี 4 ประการ


1.สหกรณ์มุ่งถึงการรวมคนเป็นสำคัญ

2. การปกครองสหกรณ์นั้น คือสมาชิกทุกคนมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนคนละเสียงเสมอกัน ในที่ประชุมใหญ่ กิจการทั้ง ปวงต้องอนุโลมตามความเห็นของคนข้างมาก

3.ผู้ที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกสหกรณ์ต้องเข้าโดยความเต็มใจของตนเอง ไม่ใช่โดยการบังคับ

4.สหกรณ์ทำเพื่อประโยชน์แก่สหกรณ์เองเท่านั้น


ที่มา : จากหนังสือหลักของการสหกรณ์ และ สหกรณ์ร้านค้า พิมพ์แจกในงานพระกฐินพระราชทาน กรมสหกรณ์

กระทรวงเกษตราธิการ ทอดที่วัดรัชฏาธิฐาน คลองบางพรหม อำเภอตลิ่งชัน จังหวัดธนบุรี

วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482 https://www.gotoknow.org/posts/557989




หลักการสหกรณ์ไทย พ.ศ. 2509 – 2538

องค์การสัมพันธภาพสหกรณ์ระหว่างประเทศ (องค์การ ไอ ซี เอ) ได้มีการประชุมปรึกษากัน ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2509 ได้ลงมติกำหนดเป็นหลักการสหกรณ์ 6 ประการ คือ

1. การเป็นสมาชิกด้วยความสมัครใจ และไม่กีดกันการเข้าเป็นสมาชิก
2. การควบคุมตามหลักประชาธิปไตย และการดำเนินงานเป็นอิสระ
3. การจัดอัตราเงินปันผลตามหุ้น
4. การจัดสรรรายได้สุทธิ เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม และความเป็นธรรมในหมู่สมาชิก
5. การส่งเสริมการศึกษาอบรมทางสหกรณ์
6. การร่วมมือระหว่างสหกรณ์ทั้งปวง

ที่มา : เอกสารเผยแพร่กรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์




หลักการสหกรณ์ไทย พ.ศ. 2538 – ปัจจุบัน (พ.ศ. 2558)

เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2538 องค์การสัมพันธภาพสหกรณ์ระหว่างประเทศ ได้จัดการประชุม ณ นครแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ เพื่อปรับปรุงเพิ่มเติมหลักการสหกรณ์ใหม่อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้หลักการสหกรณ์มีความสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันยิ่งขึ้น รวมทั้งการให้สมาชิกได้มีความเข้าใจและนำหลักการสหกรณ์ไปใช้ปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน ซึ่งมีหลักการสหกรณ์ 7 ประการ


หลักการสหกรณ์ (Cooperative Principles) คือ “แนวทางที่สหกรณ์ยึดถือปฏิบัติเพื่อให้คุณค่าของสหกรณ์เกิดผลเป็นรูปธรรม” ซึ่งประกอบด้วยหลักการที่สำคัญรวม 7 ประการ คือ

หลักการที่ 1 การเป็นสมาชิกโดยสมัครใจและเปิดกว้าง
หลักการที่ 2 การควบคุมโดยสมาชิกตามหลักประชาธิปไตย
หลักการที่ 3 การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของสมาชิก
หลักการที่ 4 การปกครองตนเองและความเป็นอิสระ
หลักการที่ 5 การศึกษา ฝึกอบรมและสารสนเทศ
หลักการที่ 6 การร่วมมือระหว่างสหกรณ์
หลักการที่ 7 การเอื้ออาทรต่อชุมชน

ที่มา : เอกสารเผยแพร่กรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์


พีระพงศ์ วาระเสน
รวบรวม / ร้อยเรียง
30 พฤศจิกายน 2558



*****แก้ไขครั้งที่ 1 จากคำแนะนำของ อาจารย์ สอาด แก้วเกษ หลักการสหกรณ์ 4 ข้อ มีใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2478

*****แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2 เพิ่มหลักการสหกรณ์ 3 ข้อ จาก บทความสหกรณ์ในอดีต "คำชี้แจงเรื่องสหกรณ์ พระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ ทรงแสดงแก่สมาชิกสหกรณ์ประเภทหาทุน ในจังหวัดลพบุรี เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2466 " หนังสือพิมพ์สหกรณ์ ปีที่ 40 ฉบับที่ 1 มกราคม - มีนาคม 2525 หนังสือพิมพ์ของกรมส่งเสริมสหกรณ์




หมายเลขบันทึก: 597773เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2015 09:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กรกฎาคม 2020 09:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท