๓๕๔..ตัวชี้วัดความสำเร็จ...


สิ่งที่เป็นห่วงก็คือ..หากผู้บริหารและครู ไม่เข้าใจ..เรื่อง ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้..แล้วหลงทางอยู่ตลอดเวลา ตัวชี้วัดทั้งหลายจะประสบความสำเร็จไม่ได้เลย..และ..ถ้าลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ คือ การทำให้เด็กรู้จักคิด วิเคราะห์..ก็นับว่า..นโยบายของท่านผู้อำนวยเขตฯ ทันสมัยที่สุด

ผมได้รับเงินสนับสนุนโครงการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนจากคุณดารณี ลิ่มอติบูลย์ ผู้ซึ่งเป็นน้องสาวของคุณบุญชู ลิ่มอติบูลย์ ผู้สนับสนุนหลักในการสร้างห้องสมุดโรงเรียนบ้านหนองผือ โดยเป้าหมายหลักของโครงการฯอยู่ที่ชั้น ป.๓ และ ป.๖..แต่ก็ไม่เคยละเลยชั้นเรียนอื่นๆ ที่ต้องเจาะจงเป็นพิเศษ ที่ ป.๓ และ ป.๖ ก็เพราะว่าปลายปีการศึกษา ทั้งสองชั้นต้องเข้าสู่การทดสอบด้วยเครื่องมือระดับชาติ

ด้วยครูไม่ครบชั้น พื้นฐานการเรียนรู้ของนักเรียน จึงยังต้องปรับปรุง ด้วยการสอนเสริมในวันเสาร์ เติมเต็มในสาระวิชาที่สำคัญ หลายท่านอาจไม่เห็นด้วย แต่ผมมีความจำเป็น..เพราะวันเสาร์นอกจากจะให้ความรู้ความจำแล้ว ครูยังสอนวิธีคิดวิเคราะห์โจทย์ปัญหา วิเคราะห์ข้อสอบ ผลพลอยได้อีกอย่างก็คือ..นักเรียนมีทักษะการอ่านเพิ่มขึ้น

วันนี้..นักเรียนชั้น ป.๒ ขอมาเรียนด้วย ป.๒ และ ป.๓ มาเรียนครึ่งวัน ส่วนชั้น ป.๖ เรียนถึง บ่ายสามโมง ผู้ปกครองให้ความร่วมมือดีมาก ผมเลี้ยงอาหารกลางวันนักเรียนทุกคน ส่วนครูผมสนับสนุนค่าตอบแทนให้ ทั้งที่ผมมีอำนาจพอ ที่จะออกคำสั่งและขอความร่วมมือให้ครูเสียสละเพื่อคุณภาพของโรงเรียน..แต่ผมอาจจะไม่ได้ใจครู ..ครูต้องมีค่าพาหนะในการเดินทาง ครูต้องใช้จ่ายและซื้อกับข้าวกลับบ้าน ครูมีภาระครอบครัว สู้อุตส่าห์มาสอนให้ ก็เป็นบุญของผมแล้ว

ครูป.๑ เอกภาษาอังกฤษ กับครูประจำชั้น ป.๖ วิชาเอกวิทยาศาสตร์ ช่วยกันสอน ป.๖ ผมให้ค่าตอบแทนคนละ ๕๐๐ บาท ส่วนครู ป.๒ และ ป.๓ บ้านพักอยู่ไม่ไกลมากนัก ผมให้ค่าตอบแทนคนละ ๔๐๐ บาท ผมจะดำเนินการเช่นนี้ ไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๙

นักเรียนกลับไปหมดแล้ว ผมสะสางงานธุรการ ไปพบเอกสาร”ตัวชี้วัดความสำเร็จ” ของ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาญจนบุรี เขต ๔ ซึ่งเป็นนโยบายของท่าน ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ(ท่านไพฑูรย์ อรุณศรีประดิษฐ์) มีทั้งหมด ๙ ข้อ แต่ละข้อล้วนน่าสนใจ ในแง่ของความเป็นวิชาการ ซึ่งตลอดเกือบ ๑๐ ปี ผมก็เพิ่งเคยเห็นนโยบายที่จับต้องได้และน่าปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง ..อาทิ

-เด็กปฐมวัยทุกคนได้รับการเตรียมความพร้อมอย่างเข้ม อนุบาล ๒ มีทักษะพื้นฐานการอ่านการเขียน

-นักเรียนชั้น ป.๑ ทุกคนต้องอ่านออกเขียนได้ภายในปีการศึกษา ๒๕๕๘

-นักเรียนชั้น ป.๓ มีผลสัมฤทธิ์การเรียน (NT) เพิ่มสูงขึ้น ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๓

-นักเรียนชั้น ป.๖ มีผลการเรียนระดับชาติ เพิ่มสูงขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ ๓

-ห้องเรียนทุกห้องผ่านการประเมิน..ห้องเรียนคุณภาพ

-สถานศึกษาบริหารจัดการได้อย่างเป็นระบบ สู่สถานศึกษาคุณภาพ.....

ผมไม่เคยใกล้ชิด ไม่เคยยกยอปอปั้นเจ้านาย แต่พอศึกษานโยบาย หรือตัวชี้วัดทั้งหมดแล้ว ให้รู้สึกชื่นชม ที่ท่านให้ความสำคัญกับการเรียนการสอน ของครูและนักเรียนอย่างแท้จริง และนี่คือส่วนหนึ่งของ..เส้นทางที่จะก้าวไปสู่..อนาคตเด็ก และอนาคตชาติอันสดใส

สิ่งที่เป็นห่วงก็คือ..หากผู้บริหารและครู ไม่เข้าใจ..เรื่อง ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้..แล้วหลงทางอยู่ตลอดเวลา ตัวชี้วัดทั้งหลายจะประสบความสำเร็จไม่ได้เลย..และ..ถ้าลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ คือ การทำให้เด็กรู้จักคิด วิเคราะห์..ก็นับว่า..นโยบายของท่านผู้อำนวยเขตฯ ทันสมัยที่สุด

ผมอยากให้ท่านเลขาฯสพฐ. ท่านรัฐมนตรีกระทรวงศึกษา ได้มาเห็นตัวชี้วัดเหล่านี้ แล้วท่านจะทราบว่า..ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้..ในตอนบ่าย..นั้น ไม่เพียงพอ สำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก ต้องเพิ่มในวันเสาร์แบบผมนี่ล่ะ.. จึงจะส่งเสริมการอ่าน การคิดและวิเคราะห์ ได้อย่างถูกต้องที่สุดแล้ว

ชยันต์ เพชรศรีจันทร์

๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๘

หมายเลขบันทึก: 597572เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2015 19:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2015 19:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ทุกเรื่องราวในโรงเรียน แม้แต่การเล่น ก็คือ การเรียน..รู้ ถ้าลดเวลาเรียน..นักเรียนจะไปรู้อะไร...๕๕๕๕

https://www.gotoknow.org/posts/597281 เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงของ ศ.นพ วิจารณ์ พานิช น่าสนใจ ไม่ทราบว่าอาจารย์ได้อ่านหรือยังครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท