ระบบกลุ่มหาด..ความหวังในการฟื้นฟูชายฝั่งทะเลไทย


ระบบกลุ่มหาด..ความหวังในการฟื้นฟูชายฝั่งทะเลไทย

พิเชษฐ์ มะโนรัตน์ วิศวกรรมชายฝั่งทะเล ม.สงขลานครินทร์ 58

ประเทศไทยมีแนวชายฝั่งทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามันรวมกัน 3,148 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 23 จังหวัด ปัจจุบันพื้นที่ชายฝั่งเหล่านี้หลายแห่งกำลังเกิดปัญหาการกัดเซาะอย่างรุนแรง เนื่องจากการกิจกรรมต่างๆของมนุษย์รุกคืบเข้าไปหาชายหาด ไม่ว่าจะเป็นด้านที่อยู่อาศัย อุตสาหกรรม การสัญจร สาธารณูปโภค การท่องเที่ยว และการป้องกันการกัดเซาะที่ผิดวิธี ขาดความเข้าใจในหลักวิชาวิศวกรรมชายฝั่งที่ถูกต้อง

สมดุลพลวัต(Dynamic Equilibrium)ของชายฝั่ง คือเสถียรภาพของหาดทรายที่ต้องพิจารณาในรอบของเวลา เช่น เดือน ปี หรือ ฤดูกาล ซึ่งจะมีรอบของการสะสมและการกัดเซาะโดยแต่ละรอบนั้นอาจกินเวลานาน จึงทำให้มีความเข้าใจผิดว่าจะเกิดการกัดเซาะไปเรื่อยๆจนเข้ามายังพื้นที่ทำกิจกรรมดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นที่มาของโครงการป้องกันการกัดเซาะต่างๆ เช่น การสร้างรอดักทราย(Groin) เขื่อนกันคลื่น(Break water) หรือกำแพงชายฝั่ง(Sea wall)ฯลฯซึ่งโครงสร้างเหล่านี้หากถูกจัดวางโดยขาดหลักวิชาการที่ถูกต้องแล้วจะนำมาซึ่งความเสียหายอย่างมาก เนื่องจากบางครั้งการวิเคราะห์ปัญหาไม่ได้ทำทั้งระบบของหาด ทำให้การเคลื่อนย้ายตะกอนชายฝั่งเสียสมดุลไปจากเดิม

รูปที่ 1 กระบวนการของกระแสน้ำเลียบฝั่ง

ที่มา : http://gazaa.gccaz.edu/hazardcity/Files/modules/shoreline/erosion.html

พฤติกรรมการเคลื่อนที่ของตะกอนชายฝั่ง เริ่มขึ้นเมื่อเกิดคลื่นแตกในลักษณะทำมุมเอียงกับชายฝั่งดังแสดงในรูปที่ 1 ทำให้เกิดกระแสน้ำตามแนวชายฝั่ง(Longshore current) ซึ่งกระแสน้ำนี้จะพัดพาเม็ดทรายไปตามชายฝั่งจนกระทั่งถึงบริเวณที่แผ่นดินหรือธรณีสัณฐานของชายฝั่ง หยุดยั้งตะกอนไม่ให้เคลื่อนที่ผ่านไปยังชายหาดที่อยู่ข้างเคียงได้ ดังแสดงในรูปที่ 2

รูปที่ 2 (ก) หลักในการแบ่งระบบกลุ่มหาด (Littoral cell) และ (ข) กลุ่มหาด S11 จากปากแม่น้ำเทพา จ.สงขลา-แหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช และกลุ่มหาด S12 จากปากแม่น้ำปัตตานี - ปากแม่น้ำเทพา จ.สงขลา

ที่มา รายงาน“สถานการณ์ชายฝั่งและการจัดการปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งจากอดีตถึงปัจจุบัน”

จากรูปที่ 2ก คือนิยามของระบบหาดซึ่งตะกอนทรายเคลื่อนที่ต่อเนื่องกันจากหาด A ไป B และ C จนกระทั่งพบโขดหินที่ตะกอนไมสามารถเคลื่อนที่ข้ามไปได้ หรือเป็นแหลมทรายที่เป็นแหล่งสะสมตัวของตะกอน ดังตัวอย่างในรูปที่ 2ข ซึ่งเป็นระบบกลุ่มหาดหมายเลข S11 ที่มีจุดเริ่มต้นการเคลื่อนที่ของทรายจากชายฝั่ง อ.เทพา จ.สงขลา ไปสิ้นสุดที่ปลาย แหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช

รูปที่ 3 การกัดเซาะรุนแรงบริเวณชายฝั่งบ้านบ่อคณที อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช

ที่มา : หาดทรายมรดกทางธรรมชาติที่นับวันจะสูญสิ้น โดย คณะเศรษศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งจากการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่น (jetty) ที่บ้านบ่อคณที อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ในรูปที่ 3 ซึ่งอยู่ในระบบกลุ่มหาด S11 จะเห็นได้ว่าเขื่อนกันทรายฯได้กีดขวางกระแสน้ำและการเคลื่อนตัวของตะกอนทรายชายฝั่งที่จะไปทางทิศเหนือ ส่งผลให้เกิดการสะสมตัวของทรายทางด้านใต้ของตัวเขื่อนฯ และเกิดการกัดเซาะอย่างรุนแรงทางด้านทิศเหนืออย่างไม่มีที่สิ้นสุด

การจำแนกชายฝั่งออกเป็นระบบกลุ่มหาดนี้ ทำให้สามารถประเมินการเปลี่ยนแปลงของชายฝั่งนั้นได้ว่าเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์หรือธรรมชาติ และสามารถจัดการปัญหาการกัดเซาะได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากกลุ่มหาด(cell)แต่ละแห่งจัดเป็นเป็นระบบปิด (Closed system) ที่ปัญหาการกัดเซาะจะไม่ส่งผลต่อเนื่องถึงชายหาดที่อยู่ถัดไป เนื่องจากไม่มีการแลกเปลี่ยนตะกอนระหว่างกัน ซึ่งมีการใช้กันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้เริ่มทำการศึกษาและจัดทำรายงานการจำแนกชายฝั่งของประเทศไทยทั้ง 23 จังหวัดชายฝั่งทะเลออกเป็น 64กลุ่มหาด (ตามลิงค์ที่แนบมานี้)

เมื่อทุกภาคส่วนมีความเข้าใจและมีทิศทางตรงกันในการแก้ปัญหาการพังทลายของชายฝั่งด้วยระบบกลุ่มหาด และเริ่มคิดการแก้ไขอย่างเป็นระบบ วันหนึ่งเราจะได้พื้นที่ชายฝั่งที่เราสูญเสียไปแล้วกลับคืนมา และจะสามารถอนุรักษ์ชายฝั่งไว้ให้คงสภาพสวยงามสืบไปชั่วลูกชั่วหลานตลอดไป

Link ระบบกลุ่มหาดกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

http://dmcr2014.dmcr.go.th/detailLibrary.phpWP=oH93xRl5orOaL3DznGy4AUN5oGS3G0lDooya4UERnHy4Ljo7o3Qo7o3Q







คำสำคัญ (Tags): #Coastal Marine erosion beach cell Thailand
หมายเลขบันทึก: 597426เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2015 22:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2015 22:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ต้องช่วยกันเผยแผ่ ความรู้เรื่องระบบหาดนี้ให้สังคมได้เข้าใจ เพื่ออนาคตหาดทรายของลูกหลานเรา อย่าให้เป็นเหมือนเช่นหาดสงขลาในทุกวันนี้



พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท