กลยุทธ์เสริมรายได้และลดต้นทุนผลผลิตผักพื้นบ้านชุมชนแวงน่าง (อีกหนึ่งงานวิชาการรับใช้สังคมและงานวิจัยที่กินได้)


ยกย่องให้กำลังใจต่อหัวหน้าโครงการวิจัยฯ (ดร.เพ็ญแข ธรรมเสนานุภาพ) นักวิชาการผู้อยู่ในวิชาชีพการเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ไม่เคยมีความรู้และทักษะในการวิจัยทางสังคมศาสตร์ หรือ “วิจัยเพื่อท้องถิ่น” แต่กล้าที่จะเปิดใจเรียนรู้ไปกับชุมชน และขอความอนุเคราะห์ให้ชุมชนได้ทำหน้าที่ในการเป็น “ครูช่วยบ่มเพาะนิสิต” ไปในตัวอย่างเสร็จสรรพ

โครงการวิจัยเรื่อง “การพัฒนากลยุทธ์การเสริมรายได้และลดต้นทุนการผลิตผักพื้นบ้านของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกผัก ตำบลแวงน่าง อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม” เป็นงานวิชาการรับใช้สังคมบนความร่วมมือ (MOU) ระหว่างมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กับ สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น โดยมี ดร.เพ็ญแข ธรรมเสนานุภาพ (คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์) และ ดร.นิจพร มาจันทร์ (นักวิจัยชุมชน:เลขานุการเครือข่ายอุ้มชูสารคาม) เป็นผู้รับผิดชอบหลัก

โครงการวิจัยดังกล่าว ประกอบด้วยวัตถุประสงค์การวิจัย คือ วัตถุประสงค์ ๑) ศึกษาบริบท สภาพแวดล้อม ที่สัมพันธ์กับการผลิต ของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกผักบ้านแวงน่าง ๒) ศึกษาสถานการณ์ปัญหา และพัฒนาการการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา และองค์ความรู้ในการผลิตผักพื้นบ้านของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกผักพื้นบ้าน ตำบลแวงน่างตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ๓) ศึกษาองค์ความรู้ กลยุทธ์ วิธีการ ปัจจัย เงื่อนไข ด้านการจัดการผลิตและการจำหน่ายผักพื้นบ้านเพื่อลดความเสี่ยงของการแข่งขันในตลาดชุมชนแวงน่าง ๔) เพื่อพัฒนากลยุทธ์การเสริมรายได้และลดต้นทุนการผลิตในตลาดชุมชนแวงน่าง




จุดเริ่มต้น : สถานการณ์และแรงบันดาลใจ

งานวิจัยดังกล่าวนี้ขับเคลื่อนร่วมกันระหว่างอาจารย์ นิสิตและชุมชน โดยเฉพาะกลุ่ม “เครือข่ายอุ้มชูสารคาม” ที่จัดตั้งขึ้นในชุมชนตำบลแวงน่าง อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม เดิมมีชื่อกลุ่มว่า “เกษตรกรทำนาแวงน่าง” ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๓๗ เพื่อบริหารจัดการผลผลิตแบบมีส่วนร่วมของชุมชนและดำเนินการต่อรองการจำหน่ายสินค้ากับพ่อค้าคนกลาง โดยมี “ตลาดชุมชนแวงน่าง” เป็นฐานที่มั่นการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างชุมชนกับชุมชนและชุมชนกับบุคคลภายนอกชุมชน

ปัจจุบันกลุ่มเครือข่ายอุ้มชูสารคาม มีทั้งหมด ๗ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มสวัสดิการชุมชน กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรแบบครบวงจร กลุ่มตลาดชุมชน กลุ่มปลูกพืชผักปลอดสารพิษ กลุ่มหัตถกรรมพื้นบ้านแบบครบวงจร กลุ่มเลี้ยงโค-กระบือ และศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจชุมชน โดยทั้งปวงล้วนจัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างชุมชนให้เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด พร้อมๆ กับการพยายามเรียนรู้ที่จะบูรณาการศักยภาพชุมชนเข้ากับปัจจัยหนุนเสริมจากภายนอกชุมชนเท่าที่จะกระทำได้



เช่นเดียวกับกรณีตลาดชุมชนแวงน่างก็เป็นที่รู้จักแพร่หลายในสังคมเมืองมหาสารคาม หรือกระทั่งจังหวัดใกล้เคียง โดยเฉพาะเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของตลาดด้วยการจำหน่าย “ผักพื้นบ้าน” (Indigenous Vegetable) เป็นจำนวนมาก ซึ่งในปัจจุบันมีผู้บริโภคและพ่อค้าสัญจรมาจับจ่ายใช้สอยแลกเปลี่ยนสินค้าในตลาดอย่างคับคั่งและเนืองแน่นในทุกๆวัน

แต่สถานการณ์ปัจจุบันกลับพบว่า ผักพื้นบ้านที่เคยเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนเริ่มมีจำนวนลดน้อยถอยลงอย่างเห็นได้ชัด เช่นเดียวกับข้อมูลสถานการณ์จริงที่น่าสนใจอีกประการก็คือกลุ่มปลูกพืชผักปลอดสารพิษกลับกลายเป็นกลุ่มที่ยังดำเนินงานยังไม่เข้มแข็งเมื่อเทียบกับอีก ๖ กลุ่มในเครือข่ายอุ้มชูสารคาม ทั้งๆ ที่ชุมชนแวงน่างมีทำเลที่หมายถึงดินและน้ำที่เหมาะสมเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกพืชผักเป็นอย่างมาก

ผลการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างอาจารย์ นิสิต ชุมชนและภาคีเครือข่าย พบว่าคนในชุมชนพบว่าปัจจุบันชาวบ้านปลูกผักพื้นบ้านและบริโภคผักพื้นบ้านกันน้อยลง จากที่เคยบริโภคผักพื้นบ้านกว่า ๑๓๖ ชนิด ปัจจุบันบริโภคเพียง ๒๖ ชนิด เช่นเดียวกับปัจจัยเหตุที่ส่งผลกระทบให้เกิดการดำเนินงานที่ไม่เข้มแข็งของกลุ่มปลูกพืชผักปลอดสารพิษก็มีหลายประการ เช่น

  • ต้นทุนการผลิตสูง โดยเฉพาะค่าเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยเคมี และสารปราบศัตรูพืช
  • มีการนำ “ผักต่างถิ่น” จากภายนอกมาจำหน่ายจำนวนมาก ยังผลให้ผู้บริโภคไม่มั่นใจในเรื่องของผักปลอดสาร
  • ผักที่จำหน่ายไม่มีความหลากหลาย ไม่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค
  • มีการใช้ “สารเคมีและปุ๋ยเคมี” ในกระบวนการผลิต ยังผลให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคได้รับผลกระทบทั้งทางกายและจิตใจ

ด้วยเหตุนี้ทีมวิจัยจึงทำการประเมินสถานการณ์และออกแบบกระบวนการที่เกี่ยวโยง โดยมุ่งแก้ปมประเด็นเร่งด่วน คือ ๑) ปัญหาการผลิตมีราคาสูง ๒) การลดลงผักพื้นบ้านทั้งด้านคุณค่าและมูลค่า ซึ่งทีมวิจัยเห็นพ้องตรงกันว่าหากสามารถแก้ปัญหาปัจจัยการผลิตที่สูงได้ โดยเฉพาะราคาปุ๋ย สารปราบศัตรูพืช และเมล็ดพันธุ์ ย่อมช่วยให้เกษตรกร “ลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้” ไปโดยอัตโนมัติ รวมถึงการวางแผนและยุทธวิธีการจัดการ

ที่เหมาะสมตั้งแต่การปรับเปลี่ยนวิถีการผลิต การเร่งสร้างทุนทางธรรมชาติผ่านกระบวนการรื้อฟื้นและฟื้นฟูผักพื้นบ้าน เพื่อเป็นกลยุทธ์เสริมในการจัดการความเสี่ยงจากการผลิตและการตลาดไปพร้อมๆ กัน





เรียนรู้คู่บริการผ่านการเรียนและการบริการวิชาการ

การขับเคลื่อนงานวิจัยครั้งนี้ถูกบูรณาการผ่านการเรียน (การผลิตบัณฑิต) ที่เป็นรูปธรรมบนฐานคิดการจัดการเรียนการสอนตามปรัชญา “การศึกษาเพื่อรับใช้สังคม” โดยออกแบบการเรียนรู้ให้ “ผู้เรียนและชุมชนเป็นศูนย์กลาง” ผ่านรายวิชา “ระบบนิเวศการเกษตร” เพื่อให้นิสิตเกิดความรู้ความเข้าใจ และทักษะในการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ซึ่งเน้นการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมในแบบ“เรียนรู้คู่บริการ” กล่าวคือเน้นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน เสมอเหมือนการผสมผสานระหว่างองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยกับภูมิปัญญาชุมชนอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย

ในทางกระบวนการวิจัย ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายหลักที่เป็นชุมชนและกลุ่มปลูกพืชผักปลอดสารพิษจำนวน ๑๓๗ คน มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านเครื่องมือหลากรูปแบบ เช่น แผนที่เดินดิน ปฏิทินฤดูกาล สนทนากลุ่มย่อย (Focus group) แบบสำรวจ การสัมภาษณ์ เรื่องเล่า (ผ่านการเล่าและภาพถ่าย) ซึ่งในทุกเครื่องมือจะยึดมั่นในแนวทาง “การจัดการความรู้” กล่าวคือ เน้น “การแลกเปลี่ยนเรียนรู้” ร่วมกันเป็นหัวใจหลัก มีการลงชุมชนต่อเนื่องและใช้ชีวิตแบบ “ฝังตัวกับชุมชน” ไม่ใช่ไปๆ มาๆ อย่างผิวเผิน ตรงกันข้ามคือลงชุมชนอย่าง “จริงจังและจริงใจ” เพื่อก่อให้เกิดทัศนคติที่ดีต่อกัน ลดความเลื่อมล้ำระหว่างความเป็นมหาวิทยาลัยกับชุมชน ซึ่งจะช่วยให้ได้มาซึ่งข้อมูลเชิงลึกที่เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคฝ่าย รวมถึงการสร้างเวที “เปิดใจ” เพื่อวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็ง (SWOT) ของกลุ่มปลูกพืชผักปลอดสารร่วมกันอย่างเป็นกัลยาณมิตร



ในทำนองเดียวกันการบูรณาการผ่านการบริการวิชาการก็ปรากฏกระบวนการที่เด่นชัดอย่างน่าสนใจ กิจกรรมหลายกิจกรรมถูกออกแบบแบบร่วมกันระหว่าง “ทีมวิจัย (อาจารย์-ชาวบ้าน) กับชุมชน” โดยกิจกรรม หรือกระบวนการก็แอบอิงอยู่กับสถานการณ์อันเป็นโจทย์ที่ต้องเร่งคลี่คลาย โดยเฉพาะในเรื่องการ “ลดต้นทุนการผลิต” เพื่อลดทอนการจัดซื้อสารปราบศัตรูพืชและปุ๋ยเคมี หรือการจัดซื้อเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้าน

ด้วยเหตุนี้จึงมีการถ่ายทอดความรู้ ฝึกปฏิบัติการและนำไปใช้จริงร่วมกัน เช่น ฝึกอบรมการผลิตเชื้อราไตรโคเดอมา (ราเขียวข้าวบูด) เทคนิคการใช้ปุ๋ยคอก การผลิตน้ำหมักชีวภาพจากเศษอาหาร พืชผัก มูลสุกร การคัดเลือกและเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ การตรวจสภาพดินการเฝ้าระวังการระบาดของศัตรูพืช

รวมถึงการติดตามหนุนเสริมจริงในชุมชน หรือแปลงเกษตรกรรมอย่างต่อเนื่องร่วมกันระหว่างอาจารย์ นิสิตและชุมชนที่มีทั้งกลุ่มนักวิจัยชุมชน กลุ่มเครือข่ายอุ้มชูสารคาม องค์การบริหารท้องถิ่น โดยใช้กลยุทธการทำงานอย่างเป็นทีม ผ่านการ “ทำไป-เรียนรู้ไป” ในแบบ “๓ H” คือ ร่วมใจ (Heart) ร่วมคิด (Head) ร่วมทำ (Hand)




เรียนรู้คู่บริการผ่านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

การวิจัยครั้งนี้สะท้อนถึงการบูรณาการด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นในหลายประเด็น เช่น การสืบค้นภูมิปัญญาชุมชนเกี่ยวกับ “ความรู้และเทคนิค” การปลูกพืชแต่ละชนิดของชาวบ้านแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นกระบวนการอันสำคัญ เนื่องเพราะสามารถทำให้ชุมชนได้ทบทวนศักยภาพของตนเอง และเสริมหนุนให้ชุมชนได้ “แบ่งปันความรู้” หรือ “จัดการความรู้” ร่วมกัน เสมอเหมือนการตอกย้ำของการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมและพึ่งพาตนเองบนฐานวัฒนธรรมอันเป็นภูมิปัญญาที่สั่งสมมาแต่โบราณกาล

เช่นเดียวกับการได้ร่วมสืบค้นสายธารทางวัฒนธรรมในการผลิตผักพื้นบ้าน หรือบริโภคผักพื้นบ้านแบบปลอดสารในแต่ละเทศกาลของชุมชน (ฮีต ๑๒ คอง ๑๔) ยกตัวอย่างเช่น

  • เดือนสี่ (บุญผเวส) : ผักที่นิยมปลูกและบริโภค เช่น ถั่วฝักยาว มะเขือ พริกขาว ชีลาว บวบ พริกชี้ฟ้า แมงลัก
  • เดือนหก (บุญบั้งไฟ) : ผักที่นิยมปลูกและบริโภค เช่น ถั่วฝักยาว ข้าวโพดเหลือง มะเขือเปราะ หอม มะละกอ แมงลัก สะระแหน่ ผักหนอก ชะพู พริกขาว
  • เดือนแปด (บุญเข้าพรรษา) : ผักที่นิยมปลูกและบริโภค เช่น หน่อไม้เลี้ยง โหระพา ฟักแฟง บวบเหลี่ยม ถั่วพู มะระขี้นก กะทกรก

หรือกระทั่งภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ว่าด้วยคำพยากรณ์ หรือการทำนายทายทักความอุดมสมบูรณ์ของผลผลิตจากต้นไม้ใบหญ้ารอบท้องทุ่งนา เช่น

  • มะขามดก : ทำนายว่า ฝนจะแล้ง
  • ดอกเค็งออกดอกดก : ทำนายว่า ฝนจะดี
  • ก้านช่อมะม่วงมีขนาดยาว : ทำนายว่า ลมแรง อาจมีพายุบ่อยครั้ง
  • ใบหญ้าหวาย (หยักงอ) : ทำนายว่า ฝนจะแล้ง




ผลพวงของวิจัย

การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ขับเคลื่อนด้วยแนวคิดการจัดการศึกษาเพื่อรับใช้สังคม (เรียนรู้คู่บริการ) ที่มุ่งให้นักวิชาการในมหาวิทยาลัยได้รับใช้สังคมผ่านภารกิจหลักของสถานศึกษา
ในแบบ 4 In 1 (วิจัย การเรียน การบริการวิชาการ การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม) โดยการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน ไม่ใช่การถ่ายทอดฝ่ายเดียว หรือการยัดเยียดความรู้ที่ชุมชนไม่ต้องการ หรือไม่ตอบโจทย์ปัญหาของชุมชน จนชุมชนไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชนได้

ผลของการวิจัยครั้งนี้ ไม่ได้ค้นพบแค่สถานการณ์พืชผักพื้นบ้านที่หายไปจากชุมชน เช่น ผักหนาม ผักออบแอบ ผักหวานบ้าน ผักกูด กระทงลาย ผักก้านก่อง ผักอีฮีน ฟักข้าว หรือผักพื้นบ้านที่กำลังลดลง เช่น ผักลืมผัว ผักกะแยง รวมถึงผักที่ชุมชนที่วิเคราะห์ว่าต้องผลผลิตเพิ่มเพื่อตอบสนองตลาดการบริโภค เช่น สลัด ฟักทอง ตูมซาอุ ผักกาดฮ่อเต้ ผักชีจีน ผักกาดขาวห่อ ทว่ายังเกิดผลลัพธ์อื่นๆ ตลอดจนการค้นพบองค์ความรู้ร่วมกัน ทั้งที่เป็นชุดความรู้เก่าและชุดความรู้ใหม่หลายประเด็น ดังนี้

1.เกิดชุดความรู้อันเป็นกลยุทธและกลวิธีทางการเกษตรที่มีในชุมชน เช่น

  • เทคนิคการปลูกผักที่ครอบคลุมตั้งแต่การปลูก การเตรียมดิน การบำรุงรักษา ไปจนถึงการเก็บผลผลิต
  • เทคนิคการคัดเลือกและเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ในการเพาะปลูกจากกลุ่มผู้สูงอายุ (ปราชญ์ชาวบ้าน)
  • ความรู้เกี่ยวกับการทำน้ำหมักชีวภาพและปุ๋ยชีวภาพ ที่เป็นสูตรที่ใช้เฉพาะตนหรือครอบครัว นำมาแลกเปลี่ยนกัน ทำให้สามารถรวบรวมสูตรน้ำหมักชีวภาพและปุ๋ยชีวภาพได้หลายสูตรที่นำไปใช้แทนสารเคมี

2.เกิดการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้

  • เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการเพาะปลูกได้มากถึง 16.6 % (ลดการซื้อวัสดุ อุปกรณ์และสารเคมีทางการเกษตรได้ 13.3% และเมล็ดพันธุ์ 3.3%) เมื่อเทียบกับก่อนการปฏิบัติการของโครงการฯ
  • เกษตรกรสามารถเพาะปลูกได้ผลผลิตดี นำไปขายในตลาดชุมชน และก่อเกิดรายได้เพิ่มขึ้น

3.เกิดฐานข้อมูลสู่การเปลี่ยนแปลงทางการตลาดและชุมชน

  • มีข้อมูลกลุ่มผู้ปลูกผักตำบลแวงน่างที่เป็นระบบและรูปธรรม
  • ตลาดมีผักพื้นบ้านเพิ่มจำนวนมากขึ้น
  • เกิดการฟื้นฟูชนิดพันธุ์ผักที่มีปริมาณลดลง เช่น มะเขือพันธุ์ต่างๆ ย่านาง ผักปลัง มะระขี้นก ผักลิ้นปี่ ถั่วพู
  • เกิดการจัดชุดผักเพื่อส่งเสริมการขาย จากลักษณะของตลาดที่มีผักพื้นบ้านและผักที่เกษตรกรปลูกเองทำให้มีความสดใหม่
  • เกิดเครือข่ายกลุ่มผู้บริโภคและผู้ผลิตเฉพาะที่นิยมผักพื้นบ้านและปลอดสารในตลาดเทศบาลตำบลแวงน่าง ซึ่งมีทั้งที่เป็นคนในพื้นที่และต่างพื้นที่
  • กลุ่มปลูกพืชผักปลอดสารได้รับการยอมรับและมีความสำคัญพอๆ กับกลุ่มอาชีพอื่นๆ ในตำบลแวงน่าง
  • เกิดสัญลักษณ์กลุ่ม เช่น การสวมผ้ากันเปื้อนที่เขียนว่า “กลุ่มผู้ปลูกผักแวงน่าง”



บทส่งท้าย

นี่อาจเป็นเพียงกรณีศึกษาการขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ผ่านระบบและกลไกของการศึกษาเพื่อรับใช้สังคมของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กับ สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น ที่มุ่งให้นักวิชาการในมหาวิทยาลัยได้ปฏิรูปการเรียนรู้แบบใหม่ที่สอดคล้องกับศตวรรษที่ ๒๑ บนฐานคิดของการจัดการศึกษาที่ใช้ผู้เรียนและชุมชนเป็นศูนย์กลาง

กระบวนการเช่นนี้ มิใช่เพียงสร้างความเข้มแข็งต่อระบบการผลิตบัณฑิต หรือสร้างองค์ความรู้ให้กับมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่เป็นอีกหนึ่งกระบวนการของการพัฒนาชุมชน หรือท้องถิ่นผ่านระบบและกลไกของการศึกษาดีๆ นั่นเอง และกระบวนการสร้างองค์ความรู้และการพัฒนาชุมชนดังกล่าวก็เป็นกระบวนการที่เน้นการมีส่วนร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน หรือภาคีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

งานวิจัยดังกล่าวนี้ทำให้เห็นว่าอาจารย์ (ผู้สอน) ในฐานะของนักวิทยาศาสตร์ ก็ไม่จำเป็นต้องจ่อมจมกับการเรียนการสอนในชั้นเรียน หรือในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์เสียทั้งหมด เพราะการไปเรียนรู้กับชุมชน คือการเรียนรู้จริงที่หมายถึง “การเรียนรู้เพื่อให้เกิดการรู้จริง” ที่ประกอบด้วยรู้จริงใน “วิชาชีพ” และ “วิชาคน” เนื่องเพราะการเรียนรู้เช่นนี้จะช่วยให้ผู้เรียน หรือผู้ที่เกี่ยวข้องมองเห็นและสัมผัสจริงกับความเป็นจริงของชีวิตที่ไม่ใช่การจำลองการเรียนรู้ชีวิตผ่านห้องปฏิบัติการในมหาวิทยาลัย



กรณีเช่นนี้หากขับเคลื่อนสำเร็จ ย่อมหมายถึงว่าผู้สอนและผู้เรียนในฐานะนักวิทยาศาสตร์ย่อมมีความรู้และทักษะในการเป็นนักสังคมศาสตร์เพิ่มขึ้น เมื่อผู้เรียนสำเร็จการศึกษาก้าวออกไปสู่สังคม จึงย่อมมีโลกทัศน์และชีวทัศน์ที่ดีต่อการดำเนินชีวิต มีความตระหนักรู้และตื่นตัวต่อการรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม ดำรงตนได้อย่างมีคุณค่าและมูลค่าดังปรัชญาของการจัดการศึกษาเพื่อรับใช้สังคม


โดยส่วนตัวแล้ว ผมชื่นชมกับทีมวิจัยทีมนี้เป็นอย่างมากที่มุ่งสร้าง “ความมั่นคงต่อชีวิตผู้คนผ่านฐานการผลิตปลอดสาร” บนทุนทางสังคมของพวกเขาเอง โดยการเปิดใจที่จะบูรณาการความรู้ใหม่และความรู้เก่าเข้าด้วยกันอย่างเปิดใจและมีสติ และที่สำคัญคือการกำหนดเป้าหมายอนาคตของชุมชนโดยไม่ละเลยที่จะศึกษาทุนทางสังคมของตนเอง ดังจะเห็นได้จากกระบวนการสืบค้นถึงความรู้เดิมที่มีมาแต่โบราณกาล เพื่อเชื่อมโยงกับความเป็นจริงในปัจจุบันไปสู่การออกแบบพื้นที่ใหม่ในการหยัดยืนอย่างเป็นทีม โดยไม่สูญเสียเอกลักษณ์สำคัญของชุมชน ซึ่งประเด็นนี้ต้องให้ความเคารพและยกย่องต่อกลุ่ม “เครือข่ายอุ้มชูสารคาม” เป็นที่สุด



หรือกระทั่งการยกย่องให้กำลังใจต่อหัวหน้าโครงการวิจัยฯ (ดร.เพ็ญแข ธรรมเสนานุภาพ) นักวิชาการผู้อยู่ในวิชาชีพการเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ไม่เคยมีความรู้และทักษะในการวิจัยทางสังคมศาสตร์ หรือ “วิจัยเพื่อท้องถิ่น” แต่กล้าที่จะเปิดใจเรียนรู้ไปกับชุมชน และขอความอนุเคราะห์ให้ชุมชนได้ทำหน้าที่ในการเป็น “ครูช่วยบ่มเพาะนิสิต” ไปในตัวอย่างเสร็จสรรพ ซึ่งกระบวนการเช่นนี้ก็ช่วยยกระดับความเป็นครูในตัวตนของชุมชนด้วยเช่นกัน

เหนือสิ่งอื่นใดต้องชื่นชมกับผลลัพธ์ (Out come) ที่เป็นรูปธรรมจากงานวิจัยชิ้นนี้ เพราะความสำเร็จเชิงประจักษ์ที่เห็นได้ชัดตราบจนวันนี้ก็คือ กลุ่มปลูกพืชผักปลอดสารเกิดการรวมกลุ่มที่เข้มแข็งขึ้นกว่าแต่ก่อน เกิดงานและรายได้ในระดับครัวเรือนและกลุ่มอย่างเป็นรูปธรรม รวมไปถึงการเกิดพลังเครือข่ายของการเรียนรู้และพึ่งพากันกว้างขวางขึ้น ทั้งที่เป็นศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน เทศบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ร้านค้าท้องถิ่น เครือข่ายตลาดเขียว

และที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกันคือคนในชุมชนเห็นความสำคัญของการลดการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก เป็นการมุ่งมั่นสร้างสร้างสังคมสุขภาวะผ่านการผลิตและการบริโภคที่ปลอดสาร หรือในอีกนิยามก็คือการสร้าง “พื้นที่สีเขียว” ให้กับสังคมอย่างจริงจังอีกครั้ง



หมายเหตุ :

  • ต้นเรื่อง : ดร.เพ็ญแข ธรรมเสนานุภาพ/ดร.นิจพร มาจันทร์ และชุมชน
  • ภาพ อนุวัตร ทองพันชั่ง/บรรจง บุรินประโคน/พนัส ปรีวาสนา
  • เรียบเรียง : พนัส ปรีวาสนา
  • เรื่องเล่าดังกล่าวเรียบเรียงจากเอกสารรายงานความคืบหน้า และเอกสารสรุปผลการดำเนินงานวิจัยระหว่างทีมวิจัย กับ สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น ตลอดจนการสังเกต/สัมภาษณ์แบบมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วมในเวทีการขับเคลื่อนที่จัดขึ้นเป็นระยะๆ
หมายเลขบันทึก: 597361เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2015 08:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2015 08:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

-สวัสดีครับอาจารย์

-ตามมาอ่านเรื่องการเสริมหนุนชุมชนจากบันทึกนี้ครับ

-"ผักพื้นบ้าน"พยายามเก็บรวบรวมผักพื้นบ้านครับ...

-เชื้อราไตรโคเดอร์มา...คนข้างกาย(มดตะนอย)เธอทำไว้ให้ผมใช้ในไร่...

-ขอบคุณครับ

ชอบใจที่“ทีมวิจัย (อาจารย์-ชาวบ้าน) กับชุมชน” ....ได้เรียนรู้ร่วมกัน

เอาผักที่ปลูกกับนักเรียนมาฝากครับ

เราสอนเด็กๆ

ผลไปถึงบ้านนักเรียนด้วย

มีนักเรียนชายคนหนึ่งขยันมาก ผู้เขียนเลยให้พันธุ์ผักกวางตุ้งไปปลูกที่บ้าน นักเรียนชายคนนี้ค่อนข้างสนใจดี เก็บพริกเอาไปฝากที่บ้านด้วย(ไม่ค่อยงกเลย 555)..... อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/597283

ครับ อาจารย์เพชรน้ำหนึ่ง

นอกจากการรวบรวมชื่อผัพพื้นบ้านในชุมชนจากงานวิจัยนี้แล้ว ยังมีงานบริการวิชาการอื่นๆ ที่สืบค้นเรื่องนี้ ซึ่งผมเองกำลังจะนำมาบอกเล่าย้อนหลังเหมือนกัน -

มันเหมือนชวนให้ชาวบ้านได้ค้นหาต้นทุนทางสังคมเดิมๆ ของตนเองดีๆ นั่นเอง ครับ
ค้นหา และแฝงนัยสำคัญว่า จะ "เดินต่อ" อย่างไร

ตั้งประเด็นให้คิด แต่ไม่ชี้นำ ครับ





ครับ ดร.ขจิต ฝอยทอง

การเรียนจากโรงเรียน แล้วหมุนกลับไปยัง "บ้าน" (ครัวเรือน-ชุมชน) นั่นคือ outcome ที่น่าสนใจและต้องชื่นชม รวมถึงสร้างกระบวนการหนุนให้เคลื่อนหมุนเป็นวงจรเรื่อยไปครับ

ชื่นชมครับ- (สุดยอดมากๆ)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท