๔. ท้อ...แต่ไม่ถอย


วินาทีนั้น พูดไม่ออกบอกไม่ถูก รู้แต่ว่า..น้ำตาตกใน..งานอะไรต่อมิอะไร ก็ยังไม่ได้พัฒนาให้คืบหน้า แต่ต้องมาทำโรงอาหารใหม่ จะเอาเงินที่ไหนก็ยังไม่รู้เลย รู้แต่เพียงว่า ต้องรีบดำเนินการให้ทันเปิดเทอม.....เดือนพฤษภาคม..

ผมเคยบริหารโรงเรียนขนาดกลางมาแล้ว ๒ โรงเรียน ด้านหน้าอาคารเรียนของทั้ง ๒ โรงเรียน ก็จะเป็นทางเดินโล่งๆซึ่งเป็นบริเวณด้านหน้าของแต่ละห้องเรียน จะมีเสาเป็นช่วงๆ ผมจะจัดวางกระถางต้นไม้เรียงรายไว้โคนเสา มองดูเป็นระเบียบสวยงาม น่าแปลกใจอยู่อย่างหนึ่ง ที่ครูในโรงเรียนจะพูดเหมือนกันเลย

“ผอ.อย่าเอากระถางต้นไม้ไปวางเลยครับ เดี๋ยวปิดเทอมก็ตายหมด” ครูเตือนผม

“ทำไมมันจะต้องมาตายในช่วงปิดเทอมด้วยล่ะ” ผมถามครู คำตอบที่ได้เหมือนกันไม่มีผิดเพี้ยน

“ภารโรง..ไม่รดน้ำ ก็ตายน่ะสิครับ..”

พอเปิดเทอม..ปรากฎว่าต้นไม้ ทั้งไม้ดอกไม้ประดับ ในกระถางไม่มีล้มตายเลยแม้แต่ต้นเดียว สร้างความแปลกใจให้ครูเป็นอย่างมาก..แต่แล้วครูก็มารู้ทีหลังว่า ผลที่สุดแล้ว ผอ.นี่แหละเป็นคนรดน้ำต้นไม้ในกระถางด้วยตัวเอง..

ที่บ้านหนองผือ..ช่วงปิดเทอม ผมไม่ต้องรดน้ำในกระถาง พี่แบน..ผู้เป็นนักการฯจัดการให้เสร็จ ภารโรงเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน..การบริหารจัดการบุคลากรทางการศึกษา ในตำแหน่งนี้ ยังเป็นปัญหาในวงการการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทย..ไม่มีใครอยากแก้ไข หรือไม่คิดจะแก้ไข ก็มิอาจทราบได้ แต่คำตอบสุดท้ายที่โรงเรียนได้รับ ก็คือ เมื่อลูกจ้างประจำเกษียณ หรือตาย..ต้นสังกัดจะตัดตำแหน่งทันที

พอพี่แบน เกษียณอายุราชการไปแล้ว ปิดเทอมใหญ่ โรงเรียนจึงดูเงียบเหงาวังเวงชอบกล ผมไปตรวจเวรยาม และเดินสำรวจรอบอาคารเรียน ว่าจะต้องดูแลซ่อมแซมอะไรบ้าง หรือถ้าไม่ต้องซ่อมบำรุงสิ่งใด ก็จะใช้เวลาช่วงปิดภาคเรียนพัฒนาสิ่งแวดล้อม จะรอเปิดเทอมก็คงทำอะไรไม่ทัน

ผมเดินไปดูห้องที่กั้นด้วยสังกะสี ที่เก็บของจิปาถะ มองแล้วเหมือนโกดังเก็บของเก่า หลังคาก็มุงด้วยสังกะสี เข้าไปพักเดียวก็จะร้อนอบอ้าว ข้อดีที่มีพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง ผมมองไปรอบๆห้อง จากนั้นก็เริ่มฝันกลางวันทันที ถ้ามีเงิน..ไม่ต้องมากก็ได้ จะปรับปรุงห้องนี้ ให้เป็นห้องดนตรี แล้วกั้นห้องเพิ่มเติมให้เป็นห้องอุปกรณ์กีฬาและห้องพยาบาล จากนั้นก็จะขยายด้านหน้าอีกนิดหนึ่งให้เป็นห้องสหกรณ์ จะใช้งบประมาณเท่าไหร่กันหนอ...ไม่เป็นไร อดทนและรอคอยไปก่อน..ดีที่สุด

แวะเวียนไปดูถังน้ำฝน ที่มีอายุการใช้งานมากว่า ๒๐ ปี แต่ไม่มีน้ำฝนอยู่ในถังแล้ว ชำรุดทรุดโทรมไม่ได้ใช้งานมานานมาก ทีแรกผมตั้งใจจะปรับปรุงให้เป็นห้องน้ำห้องส้วมนักเรียน แต่ครูบอกว่าอยู่ใกล้อาคารเรียนมากเกินไป..อาจส่งกลิ่นรบกวนนักเรียนได้ เป็นอันยุติไปก่อน..

พอได้มาพินิจพิจารณาอีกครั้ง..ผมจึงคิดออกว่าจะใช้ถังน้ำฝนที่ชำรุดนี้ทำอะไรได้บ้าง ..ถ้าตัดครึ่งหนึ่งออกได้ ผมจะเลี้ยงปลา..แต่ยังนึกไม่ออกว่าจะเลี้ยงปลาอะไรดี..ปลาสวยงาม ปลานิล ปลาทับทิม หรือปลาดุก

เดินได้พักใหญ่ ก็ถึงเวลาต้องไปบันทึกการตรวจเวรยามที่ห้องพักครู ไม่ทันที่จะเดินไปถึงห้อง ลมกรรโชกแรงพัดอื้ออึงไปทั่ว ไม่นานนัก ฝนก็เทลงมา บ่งบอกเลยว่า นี่คือ..พายุฤดูร้อน ที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายน หรือเทศกาลสงกรานต์..

เสียงปิดประตูหน้าต่างห้องเรียน ป.๑ – ๒ ที่อยู่ข้างๆ ครูวัชชรี พุฒิตรีภูมิ หรือครูป้อม ที่เป็นครูประจำชั้น และเป็นครูเวร คงกลัวฝนจะสาดเข้าห้องเรียน

“วันนี้..ครูวัชชรีกลับไม่ได้แล้วครับ ฝนตกหนักเลย” ผมทักทายครูวัชชรี ที่เดินผ่านหน้าห้องไปทางโรงอาหาร ครูวัชชรีเดินผ่านไปได้ไม่ถึงเสี้ยววินาที ก็มีเสียงดัง..โครม..ดังสนั่นหวั่นไหว จนผมรู้สึกพื้นห้องสะเทือน..

ครูวัชชรี วิ่งหน้าตาตื่น สีหน้าท่าทางตกใจมาก วิ่งกลับมาบอกผมที่หน้าห้องพักครู

“ผอ.คะ ฟ้าผ่าโรงอาหารค่ะ”

ผมอึ้งไปพักหนึ่ง ตกใจพูดอะไรไม่ออกเหมือนกัน นึกถึงคำว่า..ฟ้าผ่า..ที่ครูวัชชรีบอก จะเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อฝนตกลมแรงก็จริง แต่ก่อนหน้านี้ ไม่มีเสียงฟ้าร้องคำรามเลยแม้แต่น้อย..จึงน่าจะไม่ใช่..ฟ้าผ่า แล้วถ้าไม่ใช่ เกิดอะไรขึ้นที่โรงอาหาร...

พอตั้งหลักได้ ผมกับครูวัชชรีก็ค่อยๆเดินไปที่โรงอาหาร ภาพที่เห็นตรงหน้า ทำให้ผมเข่าอ่อนแทบทรุดลงกับพื้น...

ต้นนนทรีขนาดใหญ่เกือบสองคนโอบ ที่ขึ้นเคียงคู่โรงเรียนมามากกว่า ๒๐ ปี อยู่ห่างจากโรงอาหารราว ๑๐ เมตร ล้มฟาดโรงอาหารแหลกละเอียด โครงหลังคาไม้หักสะบั้น หลังคากระเบื้องแตกละเอียดไม่มีชิ้นดี...

วินาทีนั้น พูดไม่ออกบอกไม่ถูก รู้แต่ว่า..น้ำตาตกใน..งานอะไรต่อมิอะไร ก็ยังไม่ได้พัฒนาให้คืบหน้า แต่ต้องมาทำโรงอาหารใหม่ จะเอาเงินที่ไหนก็ยังไม่รู้เลย รู้แต่เพียงว่า ต้องรีบดำเนินการให้ทันเปิดเทอม.....เดือนพฤษภาคม..

ฝนหยุดตกแล้ว..ลมสงบนิ่ง ผมใช้ความคิด วางแผนที่จะเก็บเศษไม้เศษกระเบื้อง ความรู้สึกท้อ..วิ่งเข้ามาสู่ขั้วหัวใจ..ต้องหายใจลึกๆ และบอกตัวเองว่า นี่..อาจเป็นบททดสอบ..ให้ผมต้องอดทน ต้องสู้ จะถอยไม่ได้ เพราะผมเลือกเอง เลือกที่จะมาอยู่โรงเรียนขนาดเล็กแห่งนี้...

ชยันต์ เพชรศรีจันทร์

๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๘




หมายเลขบันทึก: 596252เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2015 21:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 ตุลาคม 2015 15:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เคยเจอผลกระทบจากระบบบริหารงานแบบ

...ตีให้แตกแล้วแยกปกครอง...

น้ำตาไหล...สมองสั่งคำเดียวใฟ้...ลาออก !

น้องครูจ้าง เข้ามาบอกว่า....

" ทำไมไม่สู้... กับคนอื่น ๆ ครูบอกให้เขาสู้

ไม่ให้ถอย...แล้วทำไมครูจะถอยล่ะ"

เหมือนเจอ...ศอกกลับ...สมองหยุดทำงานไปเลย !!

๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕

ตอนนี้โรงเรียนร่มรื่นดีครับ

ถือเป็นประวัติการบริหารโรงเรียนได้เลยครับ

ท่านผ.อ.มาไกลมากเลยนะคะนี่ ดีแล้วที่บันทึกไว้เพราะเส้นทางยากเข็ญเหลือเกิน คนที่เห็นปัจจุบันจะได้รับรู้ว่าเป็นสิ่งที่ทำได้หากใจสู้และเรียนรู้จากประสบการณ์นี้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท