"ชาวพุทธไม่ควรรักษาศีล"



พันกว่าปี ที่พุทธศาสน์ ประกาศธรรม

ให้ละกรรม ทำชั่ว จะมัวหมอง

เผยแผ่ธรรม นำมา รักษาคลอง

ช่วยปกป้อง ผองสัตว์ ขูดขัดเกลา

ประเทศไทย ได้พุทธฝัง จากลังกา

เข้าพม่า รามัญ ถึงบ้านเจ้

ที่เคยมี ผีป่า บูชายาว

พุทธจึงก้าว เข้ามา รักษาแทน

แต่รากเหง้า เผ่าผี ยังมีอยู่

ที่อุ้มชู บูชา มานานแน่น

พุทธกับผี จึงมีสาย ไทยทั่วแดน

เป็นแก่นแกน แดนสยาม นามไทยมา

ผู้รับพุทธ จุดประกาย ให้สยาม

มีพระนาม "รามคแหง" แห่งอุษา

รุ่งอรุณ คุณพุทธ สุดอาณา

แดนธรรมะ อารยธรรม สุขล้ำเรือง

ปฐมพุทธ บุตรธรรม ต้องจำศีล

ป้องมลทิน มากินใจ ใกล้ผ้าเหลือง

ปฏิบัติ ขจัดกรรม ยามขุ่นเคือง

ให้ชาวเมือง เลื่องลือ คือพระไทย

ฆราวาส ญาติโยม ประณมนอบ

อยู่ในกรอบ รอบมณฑล ชนขวนขวาย

ให้ทานอวย ช่วยป้องจิต เป็นนิจไป

รักษาไว้ ในองค์ศีล ดูอินทรีย์

ศีลห้าข้อ ขอขยาย ให้แตกต่าง

ไทยมุ่งหวัง สร้างฐาน ยานวิถี

ต่างมุ่งหมาย สบายสุข ผูกปารมี

หรือโชคดี มีฐานะ พระคุ้มครอง

แท้ที่จริง กิ่งก้าน ถูกสานต่อ

เป็นฐานขอ มาห่อตน ให้พ้นหมอง

เป็นแค่คำ พร่ำวอน พรประคอง

หลักเลยหมอง มองไม่เห็น ให้เย็นจริง

ศีลห้าข้อ พ่อสอน สังวรเถิด

อย่าละเมิด ล่วงเกิน เดินทอดทิ้ง

เป็นประโยชน์ โทษ-คุณ หนุนพึ่งพิง

เพื่อนชายหญิง สิ่งจริงแท้ คือแม่ใจ

แต่ทำไม คนไทยพุทธ สะดุดศีล

พอได้ยิน ก็สิ้นเชื่อ เบื่อไปได้

เพราะเรียนรู้ อยู่ในศาสตร์ ขาดเข้าใจ

จึงห่างไกล นัยทัศน์ (พุทธ)ศาสนา

เป็นเพราะคำ พร่ำสอน ขาดตอนตัด

หรือพระขาด อธิบาย ในเนื้อหา

เจตจำนง ประสงค์ศีล สิ้นมนตรา

รับศีลมา พอพระกลับ ผิดฉับพลัน

ศีลห้าข้อ ขอแจง แถลงไข

มิได้แปล ว่า "ไม่" ในนัยนั้น

หรือมิใช่ ในคำว่า "ห้าม" กัน

แต่ปราชญ์ท่าน ยันมุ่งเน้น ว่า"เว้น"กรรม

ถ้าใช้มา ว่า"ไม่" ในทุกข้อ

ก็ไปล้อ ข้อว่า "อย่าหรือห้าม"

ศีลห้าข้อ เกาะขวาง หน่วงกระทำ

คนจึงล้ำ กล้ำเกิน เดินสวนทาง

เจตจำนง ประสงค์สั่ง ให้ย่างก้าว

เป็นเรื่องราว ให้ชาวพุทธ หยุดยั้งบ้าง

จากฆ่าสัตว์ หัดขโมย โหยกามนาง

พูดปิดบัง นั่งก๊งเหล้า เผาตัวเอง

ศีลที่ว่า ห้าข้อ ขอให้เว้น

อย่าไปเน้น เป็นข้อห้าม ตามตรงเผง

เป็นข้อควร ชวนสำรวม ในตัวเอง

ให้รีบเร่ง เกรงบาปกรรม ที่ทำลง

อีกเป็นฐาน ให้บ้านใจ ได้เข้าถึง

ให้ลึกซึ้ง ถึงธรรม ตามประสงค์

"เบญธรรม" คือคำตอบ กรอบดำรง

คือประสงค์ ตรงมีศีล ในถิ่นใจ

ธรรมข้อหนึ่ง ถึงเมตตา มหาสัตว์

ธรรมข้อสอง พึงจัด ขจัดให้

ธรรมข้อสาม กามมีกรอบ ครอบครัวใคร

ธรรมข้อสี่ นี้ไซร้ ให้สัจจริง

ธรรมข้อห้า ระลึกตัว ให้ทั่วพร้อม

สติหลอม ซ่อมปัญญา ให้หน้านิ่ง

พฤติกรรม ตามธรรม ย้ำความจริง

กรรมที่อิง พิงสติ ย่อมมีญาณ

ด้วยเหตุนี้ ขอชี้แจง แถลงไข

ศีลแปลไว้ ว่า"เว้น" เป็นเกณฑ์สาร์น

เป็นบทวัตร หัดฝึก นึกถึงกาล

ยามเจอด่าน ผ่านกาลนั้น มั่นคงไหม

เป็นสิกขา จารวัตร์ ฝึกหัดจิต

เป็นฐานทิศ วิทยา ศึกษาไว้

เพื่อไปสู่ ลู่ทาง สร้างฐานใจ

ให้ธรรมได้ ซึมซาบ เอิบอาบตน

ศีลจึงเป็น พื้นฐาน การเข้าถึง

เป็นที่พึ่ง ของธรรม ตามอีกหน

ศีลและธรรม กำหนด เป็นบทคน

ให้ส่งผล ต้นกำเนิด เกิดยอดธรรม

เพราะฉะนั้น ฉันขอกล่าว ต่อชาวพุทธ

อาจสะดุด ในหัวข้อ ใช่ส่อหยาม

ศีลห้าข้อ เป็นข้อเว้น อย่าเห็นตาม

อย่าไปย้ำ ทำรักษา รักษาศีล

เป็นข้อเว้น ในข้อห้าม ตามเนื้อหา

ไม่รักษา ควรสิกขา ให้ครบสิ้น

เป็นภาษา ที่แย้งอัตถ์ ขาดเคยชิน

อาจชวนจินต์ ให้หมิ่นศาสน์ มิอาจเอื้อม

-------------------

ขอทำความเข้าใจในเนื้อหาบทความกลอนนี้ดังนี้

ตลอดเกือบพันกว่าปี ที่ชาวพุทธได้นำเอาพุทธศาสนาแบบลังมาปฏิบัติ และมีองค์กรศาสนาคือ พระสงฆ์ พระราชา และผู้รู้ทั้งหลายที่สอนกันมาว่า พระพุทธศาสนาสอนผู้คนให้อยู่ในกรอบของศาสนา ในเบื้องต้นคือ ทาน ศีล และภาวนา และไม่ค่อยมีคนรุ่นหลังสงสัยในระบอบเช่นนี้มานาน จนสืบกันมาอย่างเคยชิน ในขณะเวลาเข้าพิธีรีตองเรากลับเห็นว่า พระสงฆ์ให้รับศีลก่อนให้ทาน และไม่มีข้อที่ ๓ คือ ภาวนา ตามมา

พอนานเข้า จึงเหลือแต่กรอบ ศีลและทาน ส่วนภาวนาเลยยกไปปฏิบัติในงานพิเศษหรือในที่ส่วนตัว ทำให้ชาวพุทธขาดความต่อเนื่องและขาดเอกภาพที่ควรอยู่กรอบด้วยกัน ผู้เขียนก็ไม่รู้เหมือนกันว่า เพราะอะไร จึงไม่มีระบบทั้งสามอย่างที่กล่าวไว้อย่างสวยหรูว่า "ทาน ศีล ภาวนา" ถ้ามีผู้คนบอกว่า ขอแค่ทาน หรือศีล หรือภาวนา อันใดอันหนึ่งละได้ไหม และดูเหมือนปัจจุบันจะมีแค่ ทานและศีล เท่านั้น ที่เน้นกัน

อีกอย่าง เรื่องทานนี้ชาวพุทธก็เข้าใจผิดอีกเช่นกัน การให้ทาน คือ การทำบุญ ที่แคบในพุทธมณฑล เพราะการทำบุญมีถึง ๑๐ ชนิด (บุญกริยาวัตถุ ๑๐) แต่กลับเน้นที่แค่วัตถุสังฆทานหรืออาหารเท่านั้น หากถามรุกอีกว่า การถวายทาน มีขั้นตอนอย่างไร ผู้รับ วัตถุ และผู้ถวาย มีผลสัมพันธ์กันอย่างไร ก็ตอบยากอีก ขอตอบให้กระจ่างว่า ทาน แปลว่า การให้ หมายถึง การให้มาจากการยึดมั่น การกอบโกบวัตถุในโลกนี้ แล้วยึดเป็นของตน จนเกิดการยึดมั่นว่า "ของกู" ทำให้จิตผูกพันจนหนีไม่พ้น แม้จะไปไหน ที่ไหน ไม่ต้องพูดถึงเวลาใกล้ตาย ทำให้จิตผูกพันกับโลกวัตถุ จนจิตไม่ปล่อยวาง

ทางออกที่พระพุทธศาสนาสอนให้ชาวพุทธรู้จักถ่ายเทการยึดมันถือมั่นนี้ ด้วยอุบายวิธีคือ การมอบสิ่งของ วัตถุของตนที่ดูแลรักษามา (เช่น เงินทอง ข้าวของ) ให้แก่ผู้มีศีลคือ พระสงฆ์ เพื่อให้จิตตนได้รู้จักว่าง โล่งเบา ไม่ผูกรัดดึงวัตถุนั้นๆ ไว้ในอก หรือในใจตนเอง จนกลายเป็นความยึดมั่น หรือความตระหนี่ ในขณะเดียวกัน พระสงฆ์ได้ปัจจัยจากชาวบ้านก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการอุปถัมภ์ของชาวบ้าน แล้วมุ่งปฏิบัติ ศึกษาจิตวัตร เพื่อให้ถึงต้นธรรมลึกๆ จะได้มาเจือจานชาวบ้านอีกด้วย นี่คือ ความสัมพันธ์ของการให้ทาน

แต่เท่าที่สังเกตเห็นคือ การให้ทานเป็นการมุ่งสร้างเจตนาเพื่อบำบัดความปรารถนาหรือความหวัง ความฝัน ความอยากของตนไปอีกทางเช่น ใครการงานไม่ดี การค้าขายไม่คล่อง ฝันไม่ดี อกหัก ดวงเคราะห์ไม่ดี วันเกิด วันตาย ฯ จึงไปถวายทานพระสงฆ์ ซึ่งพลาดที่จะรู้ความหมายพฤติกรรรมคำว่า ทาน นี้ไป ในขณะพระสงฆ์ก็กลับกลายเปลี่ยนนิสัยไปแบบเอาประโยชน์ตนฝ่ายเดียว (ไม่แสดงธรรม) ไม่รู้ว่าจะโทษใครกันแน่ที่ผิดเพี้ยนเปลี่ยนไป

ส่วนคำว่า "ศีล" ชาวพุทธก็เข้าใจผิดเช่นกัน กล่าวคือ เข้าใจว่า การขอศีล การรักษาศีล คือ การทำให้ตนเองโชคดี ล้างเคราะห์กรรมที่ไม่ดีได้ หรือถือศีลเพื่อต่อรองกับเจ้ากรรม นายเวร ไปโน่น อันนี้ก็ผิดเพี้ยนไปใหญ่ คำว่า ศีล แปลว่าตามศัพท์ว่า ศิลา หมายถึง หินศิลาแลง ที่หนักแน่น แข็งแกร่ง ไม่ผุกร่อนง่าย ผู้รู้จึงนำเอามาเปรียบกับหลักการปฏิบัติทางจิตใจ หากถือหลักการอะไรสักอย่าง ย่อมมีอาการหนักแน่นไม่แกว่งไปมาเหมือนเมฆ นุ่น แล้วผู้ถือศีลจะหนักแน่นดั่งศิลาจริงหรือ นั่นคือ ต้องไปศึกษาสิกขาบททั้ง ๕ ข้อ

ศีลคือ สิกขาบท (สิกขา แปลว่า ศึกษา เรียนรู้ + บท แปลว่า ข้อเบื้องต้น ปฐมบท ) อย่างหนึ่ง ศีล ๕ มีห้าข้อ ที่ชาวพุทธควรศึกษา สำรวมในทั้งห้าข้อ ให้เข้าใจและเว้นห่างไว้ คำว่า ศีล เรามักจะแปลว่า ห้าม ไม่ ฆ่าสัตว์ ฯ ส่วนคำว่า เวร แปลว่า งดเว้น ไร้ศัตรู สิกขาปทัง คือ สิกขาบท แปลว่า ข้อที่ควรทำการศึกษาในเบื้องต้นให้รู้ว่า เว้นการฆ่า การลัก การผิดในกาม การพูดเท็จ การเสพของมึนเมา ทีนี้มีการพูดไปมาว่า ทั้งเว้น ทั้งห้าม ทั้งไม่ จะเอาอันไหนละ

เมื่อเราบอกกันทั่วไปว่า "ไปรักษาศีล" มันคือ ไปรักษาข้อเว้น คือ ไปรับศีลแล้วงดเว้นข้อที่ห้ามนั้นเสีย ในเนื้อหาศีล เป็นข้อเว้นให้งดปฏิบัติตาม และสามารถพูดได้อีกนัยว่า เราไม่มีศีล (ที่ห้ามนั้น) นั่นคือ เรามีศีลนั้นด้วย มิได้แปลว่า รักษาศีลในลักษณะที่ตรงข้ามข้อเว้น นั่นคือ ละเมิดบทสิกขาบทนี้เสีย คือ ศีลให้งด เราก็ทำตรงข้าม คือ ละเมิดศีล จุดนี้ ผู้เขียนต้องการจะเขียนให้ยาก และเล่นภาษาเท่านั้น เพราะมีแท็กซี่คนหนึ่งพูดกับผู้เขียนว่า "ทุกวันนี้ ผู้คนไม่ค่อยรักษาศีล" ผู้เขียนก็ค่อยๆอธิบายว่า การไม่มีคนรักษาศีลนั้น ถูกแล้ว เขาถามว่า ยังไง ก็อธิบายที่แล้วข้างบน

ทีนี้เจตจำนงที่ท่านให้เว้นศีล (ที่ห้ามนั้น) ก็เนื่องจาก มิอยากให้เราประพฤติในกรอบห้าข้อนี้ แต่ให้ปฏิบัติในกรอบธรรม ห้าข้อคือ เมตตา ทาน สันโดษ สัจจะ และสติ นี่คือ เป้าหมายปลายศีลที่แท้จริง ศีลห้าข้อนั้น ไม่มีอะไรเลย (์Nothing else) นอกจากเป็นประตูทางเข้าเท่านั้น ข้างในศีลคือ ธรรม ๕ ข้อ นี่เอง ที่มนุษย์ควรประกอบให้สมบูรณ์ที่สุด แต่เวลาจริงๆ พระสงฆ์ทำไมไม่สอน ไม่อธิบายให้เข้าใจว่า ศีลสำคัญหรือไม่สำคัญ หรือธรรมที่ตรงข้ามต่างหากที่สำคัญ

ส่วนภาวนานั้น ไม่ขออธิบาย เพราะไม่ตรงประเด็นในที่นี้ จึงขอข้ามไปหรือท่านที่สนใจ พูดคุยกันได้นะครับ

ดงนั้น สรุปว่า

๑. ศีล เป็นข้อให้เว้น เราไม่ควรปฏิบัติตามในเนื้อหานี้ (No)

๒. ในการที่ไม่ปฏิบัติตามกฎที่ห้ามนี้ นั่นหมายถึง เราได้รักษากฎ (ข้อเว้น) คือ เรามีศีลในตัวเอง (Yes)

๓. เป้าหมายศีล มิใช่อยู่ที่ศีลเอง ศีลเป็นแค่บัตรประตูไปสู่ธรรม ที่ตรงข้ามศีลคือ เมตตา ทาน สันโดษ สัจจะ และสติ นั่นเอง

๔. หลักการประพฤติของชาวพุทธคือ ทาน ศีล ภาวนา แต่ภาคปฏิบัติกลับเอาศีลขึ้นก่อน เราคงต้องเปลี่ยนหลักการนี้ใหม่ว่า ศีล ทาน ภาวนาครับ

---------------------๘/๑๐/๕๘------------------------

คำสำคัญ (Tags): #รักษาศีล?
หมายเลขบันทึก: 595990เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2015 15:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 ตุลาคม 2015 22:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ทุกวันนี้พระจริงมีน้อย(คนห่มผ้าเหลืองมีมาก)

คนแท้ที่เข้าถึงแก่นพระธรรมอาจมีมากกว่าพระเสียอีก

แต่คนทั่วไปก็ยังกราบพระ(ทั้งแท้และเทียม)กันอยู่

คนแท้พระเทียม

คนเทียมพระแท้

คงคละเคล้ากันไปอยู่อย่างนี้

.................

เขียนแล้วงงนะครับอาจารย์


อ่านแล้วได้ความรู้มากเลยครับ

สาธุๆครับ

I agree with you absolutely.

It has been a long time that we put 'Buddhism' religion on the alter for worship. We have not looked at what we are really worshiping for a long time. It is time for a resolution ('สังคายนา') so we can all be (w)holy in harmony again.

Would anyone care to give 'exact translation' (from Paali - without rendering wih comments) of the 'siila'?

(In Pali - English:

Paa.na ti paataa vera ma.nii sikkha pada.m samaadi yaami

living beings killing refrain the rule of training/learning I undertake)

ลึกซึ้งเกินสติปัญญาที่จะเข้าใจ "ถ่องแท้" จากการอ่าน ๒ รอบนะคะอาจารย์

อาจารย์ที่สอนปฏิบัติพูดถึง "ศีล สมาธิ ปัญญา" สรุปความ (ตามความเข้าใจตัวเอง) ว่า การรักษาศีลเพื่อให้จิตบริสุทธิ์ ก่อให้เกิดสมาธิที่นำไปสู่ปัญญา เห็นแจ้งในการเกิดดับ ไม่เที่ยง และดิฉันก็ถ่องแท้ตรงนั้นทีเดียว

อาจารย์พูดถึงหลักปฏิบัติของชาวพุทธว่ามี ทาน ศีล ภาวนา

"ศีล" อยู่ตรงไหน ของ่ายๆ นะอาจารย์

ขอบพระคุณค่ะ

ศีลอยู่ไหน หมายถึง อะไรครับ?

ผมเข้าใจว่า ที่ผมบอกว่า เราไม่ต้องปฏิบัติตาม อ.อาจถามว่า แล้วเราจะมีศีลไหมหรือถือศีลอย่างไรใช่ไหมครับ คือ คำตอบอยู่ที่การอธิบายครับ มิใช่อยู่ที่การปฏิบัติ

เนื่องจาก ศีล (ห้า) เป็นข้อให้งดเว้น ไม่ควรปฏิบัติตามเนื้อหานะครับ เมื่อเราไม่ปฏิบัติตามเนื้อหา นั่นคือ เรากำลังรู้หลักที่จะเข้าประตูธรรม เพราะตัวศีลไม่มีแก่น (เป็นเพียงกฎ ข้อห้าม) เมื่อมีการเรียนรู้ข้อห้าม กฎเกณฑ์ต่างๆ ในเบื้องต้นได้แล้ว ความกังวลกับผลที่จะเกิดขึ้นกับตนก็บางลง แต่อย่าประมาทนะครับ เมื่อเคารพศีล (คือไม่ทำตามเนื้อหาศีล ที่เป็นข้อห้ามแล้ว) เราต้องก้าวจิตไปสู่เป้าหมายหรือสารัตถะของศีลคือธรรมครับ (ที่ตรงข้ามกับศีล)

ดังนั้น ศีลจึงอยู่ที่ "การศึกษาข้อปฏิบัติในเบื้องต้นให้เข้าใจ" เพราะคำว่า สิกขาบท แปลว่า การศึกษา สังวร ระวัง ในกฎหรือบทนั้นๆ เมื่อเข้าใจ จึงจะรู้ว่า ศีลเป็นแค่ประตู ไปสู่ธรรม ๕ ข้อนั้น

ไม่เหมือนศีลของพระสงฆ์นะครับ ศีลพระสงฆ์มีทั้งข้อห้ามและข้อต้องปฏิบัติตาม (ถ้าไม่ปฏิบัติตามปรับอาบัติด้วย)

ไม่ทราบผมตอบอ. กระจ่างไหม

ชอบบันทึกนี้มาก ดูเหมือนจะกระเทาะเปลือกความไม่รู้ของพุทธศาสนิกได้ดีมาก

มันคือความขัดแย้งที่เป็นความจริง ที่สังคมไทยส่วนใหญ่พากันยอมรับ นับถือ กันเอาไว้โดยขาดการใคร่ครวญหรือคิดให้ลึกซึ้ง (ว่าตามหลักการ) ชาวพุทธส่วนใหญ่ที่รู้ ไม่สามารถกล่าวถึงให้ลึกลงไปได้ในสถานการณ์จริง แต่สามารถแสดงการขีดเขียนผ่านอักษร ให้ผู้มีความรู้และสติปัญญามาก ผ่านการอ่านการศึกษาได้เท่านั้น

โดยความจริงไม่สามารถแสดงจุดยืนหรือความคิดเห็นได้ เพราะการยอมรับนับถือแบบประเพณี คือทำตามๆ กันมาเสียมากกว่า

โดยหลักการของบทกลอนและบทขยายดังกล่าวมาเบื้องต้น ถูกต้องแล้ว คือ แยกหรือแบ่งเกณฑ์การปฏิบัติออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มฆราวาส(ชาวบ้านทั่วไป) และ กลุ่มพระสงฆ์

กลุ่มชาวบ้านเน้นการทำบุญแบบ ทาน(การแบ่งปัน การให้) ศีล(การเว้น..) ภาวนา(เจริญสมาธิ ปัญญา)

กลุ่มพระสงฆ์เน้นการทำบุญแบบ ศีล(การเว้น..การปฏิบัติตาม..)สมาธิ(ทำจิตให้ตั้งมั่น) ปัญญา(รู้เห็นธรรมตามจริง)

ความบกพร่องอยู่ตรงการสอนให้ชาวบ้านเข้าใจแนวทางที่ถูกต้อง...

แล้วใครจะกล้าไปกล่าวแนะนำหรือชี้นำทางที่ถูกต้องได้ หากไม่ใช่พระสงฆ์..ใช่ไหมครับ

ขอบคุณความรู้ดีๆ ที่นำมามอบให้ได้อ่านกันครับอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท