CADL _ โครงการสืบสานฯ ปี ๒๕๕๘ _ "สร้างคนดี เหนือสิ่งใด" โรงเรียนสัตยาไส อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี (๔) วิธีขับเคลื่อนปรัชญาฯ ของสัตยาไส


อ่านบันทึกที่ ๑ ที่นี่

อ่านบันทึกที่ ๒ ที่นี่

อ่านบันทึกที่ ๓ ที่นี่ ครับ

โรงเรียนสัตยาไส เป็นหนึ่งใน ๖๗ โรงเรียนศูนย์การเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐพอเพียงด้านการศึกษา วิธีการขับเคลื่อนหลักปรัชญาฯ แสดงไว้ข้างถนนคนเดิน ที่ผู้ศึกษาดูงานและนักเรียนทุกคน ต้องเดินผ่านหลายรอบ



แผนภาพด้านบนแสดงหลักการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนสัตยาไส จะเห็นว่าโรงเรียนสัตยาไส ปลูกฝังหลักปรัชญาฯ เป็นหลักคิดในการดำเนินชีวิต คือ "ก่อนจะทำอะไรต้องคิดก่อน" คิดบนหลัก ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข ๔ มิติ และเพิ่มเติมเงื่อนไขก่อนการตัดสินใจด้วย ๒ คำถาม

  • ดีต่อตัวเราไหม? .... ถ้าไม่ดี ไม่ต้องทำ ... ถ้าดี ถามต่อ
  • ดีต่อทุกคนหรือทุกสิ่งไหม? ... ถ้าดี ให้ทำได้เลย ... แต่ถ้าไม่ดีก็ไม่ต้องทำ

สรุปว่า ต้องต่อตัวเราและดีต่อทุกคน/ทุกสิ่ง จึงตัดสินใจทำ

ผมสังเกตเห็นลูกศร(สีเขียว)ที่เชื่อมโยง ๔ มิติ ชี้ออกมาจากตำแหน่งเฉพาะต่อไปนี้ จึงตีความว่า น่าจะมีความหมายสำคัญดังนี้

  • มิติวัตถุ เชื่อมโยงจาก ห่วงพอประมาณ จึงน่าจะเน้นปลูกฝังเรื่องการบริโภคหรือการใช้ทรัพยากรต่างๆ อย่างพอประมาณ ไม่สุดโต่งจนกลายเป็นบริโภคนิยมหรือทุนนิยมอย่างปัจจุบันนี้
  • มิติสังคม เชื่อมโยงจากเงื่อนไขคุณธรรม แสดงถึงการให้ความสำคัญของคุณธรรมของการอยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับคุณธรรม ๕ ประการ (เปรมา สัตยา ธรรมา สันติ และอหิงสา) ที่โรงเรียนใช้เป็นหลักในการปลูกฝังความดีให้กับนักเรียน
  • มิติสิ่งแวดล้อม เชื่อมโยงตรงจากเงื่อนไขความรู้ สอดคล้องกับกิจกรรมที่โรงเรียนกำหนดให้นักเรียนเรียนร่วมกันทั้งหมด และเน้นเรียนแบบรู้จริงเรื่อง พลังงานทดแทนตอน ม.๑ เรื่องเกษตรธรรมชาติตอน ม.๒ และเรื่องโลกร้อนตอน ม.๓ ... ผมตีเองว่า ... ท่านกำลังสอนว่า เราใช้วิทยาศาตร์เพื่อรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่ใช้วิทยาศาสตร์เพื่อเอาชนะธรรมชาติ
  • มิติวัฒนธรรม เชื่อมโยงจากห่วงเหตุผล นั่นน่าจะหมายถึง การปลูกฝังนักเรียนให้รู้จักเลือกรับวัฒนธรรมซึ่งหมายถึงสิ่งที่ดีงามจริงๆ ไม่ใช่รับเอาสิ่งที่เรียกว่า "วัฒนธรรม" ซึ่งทำตามกันมา หลายอย่างไม่รู้ว่าทำไปทำไม ไม่รู้ว่าดีหรือไม่ดี มีเหตุผลที่ถูกต้องหรือไม่

สาเหตุที่เขียนหลายที่ว่า "น่าจะ" เพราะผมไม่ได้สัมภาษณ์สนทนากับท่านอาจารย์ ดร.อาจอง หรือ ผอ. เรื่องนี้ ... ดังนั้นหากไม่ตรงตามความเป็นจริง ถ้าท่านผู้อ่านเป็นครูหรือศิษย์เก่า โปรดแก้ไขแนะนำด้วยเถิด เพื่อให้การขยายผลสู่ตนและคนอื่นๆ เป็นไปอย่างถูกต้องต่อไป










หมายเลขบันทึก: 595711เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2015 22:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2015 22:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท