สรุปองค์ความรู้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในประเด็น ความสุขของครูผู้สร้าง


จากการจัดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็น ความสุขของครูผู้สร้าง ซึ่งจัดขึ้น 2 ครั้ง ในวันที่ 30 ตุลาคม และ 19 ธันวาคม 2557 โดยมีอาจารย์นงเยาว์ มงคลอิทธิเวช ทำหน้าที่เป็นกระบวนกร อาจารย์ พรทิพย์ สารีโส เป็นผู้บันทึก มีอาจารย์เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งหมด 12 ท่าน สามารถสรุปเป็นองค์ความรู้สำคัญหรือพัฒนาเป็นแนวปฏิบัติได้ ดังนี้

1.ความสุขของครูผู้สร้าง คือ ความสุขเมื่อได้เห็นความสำเร็จของนักศึกษาทั้งเรื่องการเรียนและการใช้ชีวิต แม้แต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็มีความสุขแล้ว เช่น เห็นพัฒนาการของเด็ก เด็กสามารถทำหัตถการต่าง ๆ สำเร็จเป็นครั้งแรก สามารถสอบผ่านในแต่ละวิชาได้ เรียนจบกลับมาเยี่ยม ส่งข่าว หรือจากเด็กที่ไม่ชอบวิชาชีพพยาบาลกลับมาชอบและรัก อยากเป็นพยาบาล ถือเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในใจครู ทำให้ครูมีความสุข และมีพลังในการสร้างลูกศิษย์ให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น

2.วิธีการสอน ความสุขของครู คือ สอนอย่างไรให้เด็กมีความสุขในการเรียน เมื่อเด็กมีความสุข ครูก็มีความสุข มีพลังในการสอน การสอนที่มีพลังที่ช่วยให้เด็กมีความสุข และเรียนรู้ได้ดี เป็น Active Leaner ได้แก่

2.1 สอนตามสถานการณ์จริงหรือสภาพปัญหาที่พบในแต่ละกลุ่ม เช่น เด็กขาดการประเมินคนไข้ ก็จะให้เวลา เน้นให้ซักประวัติ ตรวจร่างกาย และให้ส่งเฉพาะการซักประวัติตรวจร่างกายให้ละเอียด ให้มีความเข้าใจมากขึ้น ทำให้การเรียนต่อยอดไปได้ดีขึ้น

2.2 สอนตามความสามารถเด็กรายบุคคล ทำความเข้าใจและยอมรับเด็กรายบุคคล เด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน เรียนรู้ได้ต่างกัน วิธีการสอนต้องปรับให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละคนด้วย

2.3 Teach Less Learn More สอนแต่น้อยให้เรียนรู้มาก ๆ โดยสอนให้คิด ค้นคว้าเอง โดยใช้คำถามมาก ๆ สอนแต่น้อย แต่ชี้แนวทางให้ไปค้นคว้าเพิ่มเติม ต้องมีสติ มีความอดทนมาก ๆ ในการไม่บอกคำตอบเด็ก

2.4 Learning by Doing เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ สอนให้คิดเอง และทดลองลงมือทำเอง ให้อิสระเด็กได้คิด และให้โอกาสได้ลงมือทำ ให้เด็กทุกคนได้ฝึกจนกว่าจะทำได้ ถ้ายังทำไม่ได้ไม่เป็นไรให้ทบทวนใหม่ ให้โอกาส ทำซ้ำเรื่อย ๆ จะ 10 ครั้งก็ไม่เป็นไรจนกว่าจะทำได้ เด็กก็จะมีความรู้สึกอยากจะฝึกและเมื่อทำได้ก็จะมั่นใจ และฝึกทำหัตถการอื่นได้ง่ายขึ้น

2.5 ใช้สื่อ Media ต่าง ๆ ในการสอนเรื่องที่เป็นนามธรรมมาก ๆ ใช้สื่อที่เป็นตัวตลก หนัง เพลง ละคร ต่าง ๆ เป็นตัวนำ ให้เห็นภาพก่อน ใช้ภาษาง่าย ๆ และยกตัวอย่างในสถานการณ์จริงประกอบ และสุดท้ายต้องมีการสรุป Main Idea ให้เด็กทุกครั้ง

2.6 สอนให้สัมพันธ์กับชีวิตจริงของนักศึกษา โดยการสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรม ผ่านการเรียนรู้จากตัวอย่างจริง ให้นักศึกษาวิเคราะห์ การดำเนินชีวิต เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้น ประเด็นทางจริยธรรม และสิ่งที่ต้องตระหนัก การนำมาปรับใช้กับชีวิตตัวเอง

2.7 Role model เป็นตัวอย่างที่ดีในกับนักศึกษาในทุกเรื่อง ทำให้ดู อยู่ให้เห็น เป็นตัวอย่างสำคัญกว่าคำสอน เราอยากให้เด็กรักในวิชาชีพ เก่ง เป็นคนดี เราก็ต้องทำให้เด็กดูด้วย สอนให้รักกัน รักในวิชาชีพเดียวกัน ช่วยกันเรียน ช่วยกันพัฒนาวิชาชีพไม่ว่าจะจบมาจากไหน สถาบันไหน จะชอบหรือไม่ชอบเป็นพยาบาลเมื่อมาอยู่ตรงนี้แล้วเราต้องช่วยกัน และเมื่อเด็กมีปัญหาต้องไวกับความรู้สึกของเด็ก ต้องเป็นที่พึ่งของเด็กให้เด็กสามารถพูดคุยได้ทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรียน เรื่องครอบครัว ความรัก อกหัก ช่วยให้เด็กได้ทบทวนเรื่องราวต่าง ๆ รับฟัง ให้กำลังใจ และชี้แนวทางที่ถูกต้องไห้เด็ก













































คำสำคัญ (Tags): #ครูพยาบาล
หมายเลขบันทึก: 595460เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2015 02:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กันยายน 2015 02:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ตามมาเชียร์การทำงาน

สงสัยว่าท้ายบันทึกเว้นไว้เยอะมาก

แก้ไขได้นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท